สมบัติ วัฒนไทย The Art of Art Dealer ใครจะอาจหาญปฏิเสธได้ว่า คุณค่าที่แท้จริงของงานศิลปะบรรเจิดอยู่ในจิตใจของผู้สร้างและผู้เสพ ไม่มีค่าใดมาเทียบเปรียบได้ หากต้องยอมรับว่าบางครั้งค่าเหล่านั้นเป็นนามธรรมที่ยกจะจับต้อง การสร้างคุณค่าที่เป็นรูปธรรมให้กับงานศิลป์อันบรรเจิดจึงกลายเป็นภารกิจสำคัญของ Art Dealer ผู้มุ่งหมายจะนำงานศิลป์สู่การยอมรับของสังคม
สมบัติ วัฒนไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมบัติเพิ่มพูน จำกัด เจ้าของ สมบัติเพิ่มพูนแกลลอรี่ อาณาจักรศิลปะของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือผู้หนึ่งที่ดำเนินชีวิตบนวิถีของการบริหารศิลปะมานานกว่า 20 ปี
“ดิฉันเริ่มสนใจงานด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ ครอบครัวของดิฉันทำงานทางด้านการโฆษณา คือ เขียนโปสเตอร์หนัง ต่อมาเมื่อเปิดบริษัท อาร์ต โฟร์ดี ก็ยังเป็นงานทางด้านนี้อยู่ บริษัทนี้เปิดมาเกือบ 50 ปีแล้ว จากจุดนั้นถึงเริ่มมาเปิดร้านขายรูปอยู่แถวสีลม เพราะว่าเวลาไปซื้อรูปตามสถานที่แสดงงาน ก็นำมาติดบ้าน กลายเป็นการสะสมมาเรื่อยๆ ก็เลยเปิดร้านที่สีลม ก่อนจะขยายไปเปิดอยู่ที่ริเวอร์ซิตี้ โรงแรมโรแยลออร์คิดส์ ดุสิตธานี สยามอินเตอร์คอนฯ ฮิลตัน งานโฆษณาก็ถือว่าเป็นงานศิลปะเหมือนกันเพียงแต่ว่ามันเป็นแบบ 3 เดือน 6 เดือน รื้อทิ้ง ในขณะที่งานแบบนั้จมีคุณค่าพิเศษที่มันอยู่ได้นาน งานของเรา 70 เปอร์เซ็นต์เป็นงานของอาจารย์และศิลปินจากกรมศิลปากร นอกนั้นเป็นศิลปินอิสระ ตอนที่เริ่มทำอาร์ต ดีลเลอร์ใหม่ๆ อายุคงสัก 28-29 ปีเอง ทำธุรกิจเปิดร้านขายรูปภาพเล็กๆ มาตั้งแต่ปี 2523 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี ได้เติบโตขึ้นมาจากสาขาแกลลอรี่ตามโรงแรมใหญ่ๆถึง 5 แห่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมาในธุรกิจอาร์ต ดีลเลอร์ ด้วยความรักในอาชีพและศิลปะ ทำให้มีความคิดที่จะมีอาคารของตัวเอง เมื่อเปิดเป็นแกลลอรี่โดยเฉพาะ ติดตั้งแสดงผลงานเป็นจำนวนมากได้ในคราวเดียวกัน อาคารสมบัติเพิ่มพูนแกลลอรี่ เปิดเมื่อปี 2538
ลูกค้าจะมีอยู่ 3 กลุ่ม นักสะสมจะน้อยหน่อย ที่มากจะเป็นพวกที่ซื้อเป็นของขวัญของกำนัล และพวกที่เห็นเป็นของตกแต่งบ้าน คือเรามีทั้ง 3 อย่าง ก็เลยไปได้เรื่อยๆ อย่างงานที่ราคาจาก พันกว่าบาทจนถึงหลายๆร้าน
ความเชื่อมโยงของศิลปะกับธุรกิจ – ศิลปะกับธุรกิจเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การที่ศิลปะเกิดเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดว่าศิลปะนั้นมีคุณค่าขึ้นมาเป็นรูปธรรม ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้ชมได้ จากที่ศิลปะชิ้นหนึ่งๆ มีคุณค่าเป็นนามธรรม เมื่อเกิดการซื้อขายทำให้ศิลปะชิ้นนั้นมีคุณค่าเป็นรูปธรรมขึ้นมา
ลักษณะเด่นของงานศิลปะในประเทศไทย – ศิลปะไทยมีจุดเด่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของการดำเนินชีวิตแบบไทย ความเชื่อ และศาสนา จุดด้อยของศิลปะไทยคือ ยังไม่หลากหลายนักเมื่อเทียบกับต่างชาติ
พัฒนาการของวงการศิลปะ – มีผู้คนหันมาสนใจงานศิลปะในยุคนี้มากขึ้น ร้อยละ 60
ธุรกิจกับสุนทรี – ทั้งสองปัจจัยมีผลควบคู่กัน ในการพัฒนาศิลปะไทย ดิฉันให้อิสระในความคิดแก่ศิลปิน ให้ทำงานศิลปะ ตามสุนทรียศิลป์ของศิลปินเอง ซึ่งทำให้ผลงานที่ออกมาดีกว่าที่จะกำหนดให้ศิลปินวาดตามความต้องการของธุรกิจ
ศิลปินที่ชื่นชอบ – ตัวดิฉันเอง เป็นคนเลือกผลงานของศิลปินเข้ามาในร้านด้วยตัวเอง ส่วนมากงานทุกชิ้นที่ร้านจะเป็นผลงานที่ชอบทั้งหมด แม้บางชิ้นจะเป็นพาณิชย์ศิลป์ราคาไม่สูงนัก เราก็จะเลือกผลงานที่มีคุณภาพ โดยเลือกที่ความเข้าใจสีเป็นอันดับแรก ต่อมาเป็นเรื่องขององค์ประกอบภาพและเนื้อเรื่อง
หลักในการคัดเลือกงาน – ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยดูจากความเข้าใจสีเป็นอันดับแรก ตามด้วยองค์ประกอบ และเนื้อเรื่อง ภาพที่ราคาสูงก็จะดูจากประวัติการทำงานของศิลปินด้วย งานที่จะออกสู่ท้องตลาดเราก็จะดูที่นักเขียนด้วย ดูที่ลักษณะงานด้วย ชาวต่างชาติจะชื่นชอบงานที่มีเอกลักษณ์ไทยๆ
บริหารหอศิลป์ – เนื่องจากเราเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว และค่อยๆเติบโตขึ้นมาจึงไม่มีปัญหามากนัก ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง ผู้บริโภคงานศิลปะในประเทศไทยยังไม่มากนัก ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจด้วย การแก้ปัญหาก็มีบ้าง เมื่อลูกค้าซื้อรูปภาพไปนานๆ ก็จะมีการเปลี่ยนกรอบรูปใหม่เพื่อให้ดูดีและทันสมัยขึ้น
สังคมสื่อสารกับศิลปะ – ในประเทศไทยยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับชาวต่างชาติ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับศิลปะมากนัก ยังเป็นคนเฉพาะกลุ่มอยู่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานภาคศิลปะของรัฐก็กำลังช่วยกันผลักดันให้หอศิลป์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติหรือชาวไทยเองรู้จักมากขึ้น อาคารของเราถือได้ว่าเป็นสถานที่แสดง งานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยจำนวนงานที่จัดแสดงด้วย นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเขาก็บอกว่าในเอเชีย แกลลอรี่ของเราเป็นแกลลอรี่ส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุด ในช่วง 15 ปีมานี้ คนเริ่มสนใจงานศิลปะกันมากขึ้น
ดิฉันไม่เชื่อว่าคนไทยดูศิลปะไม่รู้เรื่อง แต่ด้วยเหตุผลหลายๆอย่างทำให้คนเหล่านี้มองว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งจำเป็นของชีวิต ในขณะที่ชาวต่างชาติเขามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลย จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ตอนนี้เราหันมาสนใจงานศิลปะกันมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับต่างชาติก็ยังถือว่าน้อยอยู่ดี
ในฐานะคนไทย เราก็อยากให้คนหันมาสนใจงานศิลปะให้มากขึ้น เพื่อชีวิตที่มีสุนทรียะ แต่ในฐานะอาร์ตดีลเลอร์ เราก็ต้องออกตัวว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง เชื่อไหมคะว่า การมีศิลปะอยู่ในบ้านมันก็ช่วยกล่อมเกลาเด็กด้วยเหมือนกัน
สำหรับภาครัฐนั้น คุณก็เห็นได้ว่าตอนนี้หอศิลป์มีมากมาย อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้มันเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม มีการดูแลอย่างจริงจัง เราจึงชื่นชมโครงการท่องเที่ยวที่เริ่มหันมามองหอศิลป์มากขึ้น
——————————————————————————–
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย