เมื่อเอ่ยชื่อของ “วรพจน์ พันธุ์พงศ์” หลายคนคงรู้จักเขาในนามของ “นักสัมภาษณ์มือหนึ่ง” ตามที่ใครบางคนได้เคยนิยามเอาไว้ หากแต่ที่มาของคำชื่นชมนั้นก็มิได้เป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้างหรือคำร่ำลือ เพราะความสามารถที่ได้บ่มเพาะ ขัดเกลา และฉายชัดให้เราได้เห็นตลอดในระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา
ผ่านตัวหนังสือ ทั้งจากบทสัมภาษณ์ บทความ และหนังสือต่างๆ ล้วนเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี ว่าเขายังเป็นทั้ง “นักเล่า”, “นักเขียน” และ “นักเดินทาง” ผู้ออกค้นหาปริศนาของคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้พบเจอระหว่างการเดินทางของชีวิต
อะไรที่ทำให้คุณเริ่มต้นเป็นนักเขียน
ตอนที่จบมา ผมทำอีกอาชีพหนึ่ง ผมเรียนจบฝรั่งเศสมา ก็เลยใช้ภาษาฝรั่งเศสในการทำงาน เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศอยู่ที่พัทยาครับ ทำอยู่ประมาณ 6 เดือน พอทำแล้วรู้สึกไม่สนุกก็เลยลาออก แล้วก็เข้ามาตกงานอยู่ในกรุงเทพฯ 9 เดือน ช่วงนั้นผมก็สมัครงานไปเรื่อยๆ สมัครทุกอย่างเท่าที่วุฒิปริญญาตรีจะสมัครได้ พอเดือนที่ 9 ก็ได้งานเป็นนักข่าว จริงๆ แล้วถ้าเทียบกับตอนที่ทำอยู่ฝ่ายต่างประเทศ ทั้งเรื่องความก้าวหน้าในชีวิต ความมั่นคง หรือเรื่องเงินเดือนมันดีกว่าทุกอย่าง แต่ผมรู้สึกว่า บางอย่างมันมั่นคงทางการเงินก็จริงแต่มันไม่ตอบโจทย์ทางจิตใจ เราก็จะไม่เลือกชีวิตแบบนี้ เราชอบที่จะสนุกกับมันไปด้วย ไม่ใช่เช้ามาฝืนใจ ตอกบัตรทุกวัน
เมื่อได้มาทำงานเป็นนักข่าว งานหลักก็คือการสัมภาษณ์ ก็เริ่มทำสัมภาษณ์มาตั้งแต่ปี 36 ครับ ก็ทำสัมภาษณ์แทบทุกวัน แต่ว่าพื้นที่ของหนังสือพิมพ์มันไม่เยอะ หมายความว่าไม่ว่าเราจะสัมภาษณ์เยอะหรือจริงจังแค่ไหน แต่ว่าพื้นที่ที่ลงมันก็มีจำกัด ผมทำหนังสือพิมพ์อยู่ 4 ปี ก็ออกไปทำนิตยสาร GM ซึ่งที่นี่ผมทำสัมภาษณ์ 10 หน้าครับ มันก็เหมือนกับว่า เมื่อเราเล่นบอลสนามเล็ก เราก็วิ่งได้อยู่แค่นี้ แต่เมื่อเรามีโอกาสได้เล่นบอลในสนามที่ใหญ่ขึ้นเราก็จะวิ่งได้มากขึ้น พื้นที่มันจะสัมพันธ์กับเนื้องาน ผมทำอยู่ที่นี่ 4 ปี แล้วก็มาอยู่ที่ Open จริงๆ การทำงานก็เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่อยู่ที่ GM แล้วครับ ว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบการสัมภาษณ์สิบหน้านี้อยู่ทุกๆ เดือน มันเป็นงานด้วย และก็เป็นวิชาชีพที่เราทำแล้วก็รู้สึกสนุกด้วย เรียกว่าการทำงานของผมมันเริ่มต้นจากเพราะว่ามันเป็นงานจริงๆ ไม่ได้เป็นความใฝ่ฝันในวัยเด็กที่อยากจะมาทำ การที่ผมเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ผมไม่สามารถขอเงินแม่ได้อีกแล้ว มันทุเรศ บ้านผมก็ไม่ได้มีเงินมากมายด้วย เราก็ต้องมีหน้าที่หาเลี้ยงตัวเอง ผมก็สมัครไปเท่าที่ได้ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองชอบทำอะไร ไม่ได้มีความฝันว่าอยากจะเป็นนู่นเป็นนี่ รู้แต่ว่าให้ไปเป็นครูไม่ชอบ พูดมาหลายอย่างก็ยังไม่ชอบ แต่ในเมื่อได้ทำแล้ว มันพูดเรื่องความอยากไม่ได้แล้วไง เพราะมันเป็นงานของเรา เรื่องบางเรื่องเราใช้ความอยากไม่ได้ มันเป็นไปตามงานที่เราต้องรับผิดชอบ เพียงแต่ว่าผมโชคดีที่พอได้ทำงานนักข่าวแล้วผมชอบ
หลังจากนั้น ประมาณปี 45 เพื่อนผมเขาทำสำนักพิมพ์ที่ Open ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาก็เคยทำ Magazine มาก่อน เขามีความคิดว่าอยากพิมพ์พ็อคเก็ตบุ๊ค ก็มาคุยกันว่าจะพิมพ์งานอะไรได้บ้าง ก็ช่วยกันหานักเขียนมา มันก็ทำให้เกิดการมองย้อนกลับไปข้างหลังว่าเราทำงานอะไรมา ตอนนั้นสิ่งที่คิดได้ก็คือการเอาสารคดี 7-8 เรื่องที่ทำมาในช่วง 3-4 ปี ก่อนหน้านั้นที่จัดแล้วมันเข้ากลุ่มเดียวกัน ตอนนั้นค่อนข้างจะอิงกับเรื่องของคนหนุ่มสาว อย่างพวกเรื่องนางแบบ เรื่องเด็กวัยรุ่น ก็นำมารวบรวมทำเป็นเล่ม พอทำเป็นเล่มมันก็เกิดช่องทางใหม่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปอยู่ภายใต้แบรนด์ของคนอื่น เพราะก่อนหน้านั้นเรามักจะคิดว่าเราต้องอยู่ใต้ไทยรัฐ เดลินิวส์ ต้องมีแบรนด์มีนามบัตรมาแปะติดที่ตัว เพราะก่อนที่เราจะไปสัมภาษณ์ เขาก็ต้องถามว่ามาจากไหนใช่ไหม ไอ้เราจะไปบอกว่ามาจากสนามหลวงก็ไม่ได้ มันต้องมีชื่อ แต่พอมีหนังสือออกมาก็เริ่มเห็นแล้วว่าเราสามารถสร้างแบรนด์ของเราเองได้ ก็เริ่มที่จะมีเล่มที่สองและเล่มอื่นๆ ตามออกมาครับ พ็อคเก็ตบุ๊คที่เราทำมันก็คงเหมือนเป็นอีกแนวทางหนึ่งของตลาด หมายความว่าที่ผ่านมาตลาดพ็อคเก็ตบุ๊คมันก็จะเป็นบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดีก็เป็นสารคดีอีกแบบหนึ่ง มันอาจจะเป็นแบบที่ยากๆ ความรู้สึกเวลาเราไปพูดตามมหาวิทยาลัย พอพูดถึงสารคดีคนจะเบือนหน้าหนีเลย รู้สึกว่าน่าเบื่อ ยุ่งยาก แต่ความที่ว่าเราเป็นนักข่าวมา เรามีหน้าที่ของการนำเสนอข่าวสารให้ถึงคน การตั้งชื่อเริ่อง วิธีเขียน เราก็เข้าใจสิ่งเหล่านนี้มาพอสมควร สารคดีที่เราเขียนมันก็จะไม่เหมือนสารคดีแบบที่เขาทำกันจำนวนมาก ช่วงนั้นงานผมใช้คำว่าสารคดีข่าว คือมันบวกกันระหว่างข้อมูลกับชั้นเชิงในการเขียนข่าว เลยกลายเป็นอีกแนวทางหนึ่งของพ็อคเก็ตบุ๊ค
นักเขียนต้นแบบหรือนักเขียนคนโปรด
จริงๆ เรื่องพวกนี้มันก็มีเป็นธรรมดา แต่ว่ามันเปลี่ยนไปหมดแล้วตามแต่ละยุคสมัย พูดง่ายๆ คือนักเขียนรุ่นครูทั้งหลาย ผมก็ศึกษามา มันเหมือนกับว่าเราเป็นนักฟุตบอล เราก็ต้องดูต้องศึกษานักฟุตบอลที่เตะมาก่อนอยู่แล้ว เพราะตัวเราเองก็อยู่ในวิชาชีพนี้ เช่นเดียวกัน เราเป็นนักเขียน เราก็ต้องเสพต้องอ่านงานของคนอื่นๆ สำหรับตัวผมเองก็อ่านงานทุกแบบ อ่านได้ตั้งแต่หนังสือยากๆ มาจนถึงการ์ตูน ทั้งแบบสั้น แบบยาว แบบจริงจัง แบบขำ ฉะนั้นในตัวผมมันค่อนข้างจะถูกผสมสานอย่างละนิดละหน่อย มันพูดยากว่าอะไรคือต้นแบบ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความที่งานของผมมันขึ้นอยู่กับการสัมภาษณ์คน มันก็จะมีแบบจำนวนมาก มีความคิดจำนวนมาก มันไม่ได้มาจากหนังสือแต่มาจากการสัมภาษณ์คน ผมศึกษาคนแทบจะมากกว่าการศึกษาหนังสือด้วยซ้ำ บางครั้งคุยกับคน 3-4 ชั่วโมง อาจจะดีกว่าการอ่านหนังสือสามสิบเล่มก็ได้
ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทยในปัจจุบัน
จริงๆ ผมก็ไม่ค่อยรู้มากเท่าไหร่นะครับ เพราะว่าอย่าง 2 ปีที่ผ่านมาก็จะทำงานของตัวเองมากกว่าที่จะไปติดตามงานคนอื่น คือมันเป็นวัยที่เราไม่ได้เสพงานคนอื่นมากมายเท่าไหร่แล้ว แต่เราอยู่ในวัยที่มุ่งผลิตงานของตัวเองมากกว่า เพราะฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่มันอยู่กับงาน เรื่องงานของคนอื่นก็ค่อนข้างจะรู้น้อย แต่ก็เห็นว่ามันมีความหลากหลายมากขึ้น มีเด็กๆ เกิดขึ้นใหม่ มีงานแนวใหม่ๆ เยอะขึ้น
ทัศนะต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน
ผมว่าเขาคงนิยมอ่านงานสั้นๆ กันนะครับ เพราะว่าโลกมันเร็วขึ้น เทคโนโลยีมันเร็วขึ้น มันมาบิดเปลี่ยนสมาธิคน โลกอินเทอร์เน็ต โลกมือถือ สิ่งเหล่านี้คงจะเป็นบุคลิกหลักของยุคนี้เหมือนกันว่า สั้นๆ เร็วๆ แต่ว่ามันก็มีข้อยกเว้นนะ อย่างพวกนิยายยาวๆ หรือเป็นซีรีย์ เขาก็อ่านกันได้ แล้วก็มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน อย่างสำนักพิมพ์แจ่มใส เมื่อก่อนไม่มีนะที่เด็กจะมาบ้าคลั่งกันได้ขนาดนี้ ไม่มีที่สำนักพิมพ์หนึ่งจะมีแฟนได้มากขนาดนี้ และยังเป็นเด็กด้วย แม่ง ทำได้ยังไงว่ะ (หัวเราะ)
วิถีชีวิตช่วงนี้
ตอนนี้ทำเรื่องการเมืองอยู่ครับ 2 ปีที่ผ่านมาทำเรื่องของคนเสื้อแดง ทำในความหมายเดียวกันกับตอนที่ผมลงไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยที่ผมลงไปเพราะว่ามันไม่ค่อยมีข่าวสารด้านอื่น เห็นแค่ด้านเดียว มากที่สุดก็มีแต่การวางระเบิดการฆ่ากัน มีแต่โจร ซึ่งผมไม่เชื่อ จริงๆ ก็อยากรู้เหตุผลการที่มีข่าวสารด้านเดียวเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย ยิ่งเราอยู่ในวิชาชีพนี้มันควรถูกนำเสนอ เพราะการพูดกันด้านเดียวมันทำให้สังคมเข้าใจกันผิด อย่างเรื่องของคนเสื้อแดงก็เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เราปฏิเสธการเกิดขึ้นหรือการมีอยู่ของคนเสื้อแดงไม่ได้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบเราจะไปไล่ฆ่าเขาให้ตายไม่ได้ สิ่งสำคัญเมื่อเกิดขึ้นและเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม ด้วยหน้าที่ผมก็ต้องเข้าไปศึกษา และนำเสนอข้อมูลมา ส่วนใครจะแก้ไขยังไงก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่มันต้องถูกศึกษา ไม่ใช่พอเกิดอะไรทีก็พิพากษา โดยที่คุณยังไม่มีความรู้อะไรเลย คือผมจะคิดว่ามันมีเรื่องอะไรสำคัญและมีคนทำหรือยัง อย่างผมเป็นผู้ชายก็ชอบดูผู้หญิง ผู้หญิงสวย ผู้หญิงแก้ผ้า แต่เมื่อตลาดมันมีหนังสือแอบถ่ายเยอะแล้ว ต่อให้เป็นสิ่งที่ชอบให้ตายแค่ไหน ผมก็จะไม่เอาตัวเข้าไปทำตรงนั้น เพราะว่ามันมีเยอะแล้ว จริงๆ แล้วผมก็ไม่ใช่คนบ้าการเมืองหรือว่าชอบการเมืองนะ แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมที่เราควรจะศึกษา
ปณิธานของการเป็นนักเขียน
ตัวผมเองเขียนหนังสือไม่ได้เอาการตลาดหรือเอากลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง คือทำอย่างที่เราชอบนี่แหละ แล้วก็อยากให้คนอ่านมากที่สุดเท่าที่ได้ ส่วนผลมันจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ เพราะถือว่าเรื่องพวกนั้นมันเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ผมก็ไม่ได้ปิดกั้นนะครับว่างานของเราต้องสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น คนผลิตงานทุกคนก็อยากให้คนชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มันเป็นเรื่องของผู้อ่าน เป็นสิทธิเป็นวิจารณญาณของเขา ส่วนเราก็มีหน้าที่ทำในสิ่งที่เราชอบ ถ้าเราชอบพอหนังสือออกไปถึงขายไม่ดียังไงเราก็ชอบ แต่ถ้าเราไม่ชอบเลย ก็คงไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนตัวเองได้ว่า ต้องเขียนด้วยวิธีแบบนี้หรือเรื่องที่เขาสนใจกันเป็นเรื่องไหน แล้วต้องไปทำตาม อาชีพแบบนี้มันเปลี่ยนยากที่จะไปรับใช้ใคร ผมเลือกทำเรื่องที่ผมสนใจ เลือกเอง ทำเอง โดยที่ผมก็ไม่รู้หรอกว่าใครจะว่าอย่างไร ใครจะอ่านหรือไม่อ่าน แต่ผมก็เชื่อเสมอว่าถ้าเราทำได้ดี ยังไงงานที่ดีก็ต้องมีคนเห็น
“บางอย่างมันมั่นคงทางการเงินก็จริง แต่มันไม่ตอบโจทย์ทางจิตใจ”
——————————————————————————–
Text : ณัชชา เฉลิมรัตน์
Photo : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ