Frida khalo

สาสน์แห่งความรักและความเจ็บปวด

หากเอ่ยชื่อ Frida khalo (ฟรีด้า คาห์โล) เราจะเห็นภาพหญิงสาวคิ้วเข้ม หน้าตาสะสวยในชุดพื้นเมืองของเม็กซิโก ผู้รักงานศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ ถึงแม้ร่างกายของเธอจะได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงตั้งแต่ ค.ศ. 1925 จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

และต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุครั้งนั้นจนวันสุดท้ายของชีวิต แต่เธอก็ยังคงวาดรูปและทำงานศิลปะกระทั่งบนเตียงนอนหรือตอนเจ็บป่วย

ฟรีด้าเกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นศิลปินนักถ่ายภาพ ในวัยเด็กนั้นเธอสุขภาพไม่ค่อยดีนัก และป่วยเป็นโรคโปลิโอ ส่งผลให้ขาขวาเล็กว่าปกติ เธอเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมอุดม ซึ่งนักรียนที่นี่ต่างก็มีกลุ่มเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นลัทธิมาร์กซ์ วรรณคดี นักปรัชญา พวกต่อต้านศาสนา ฟรีด้าสนใจในชีววิทยา วรรณคดี ศิลปะ เธอยังพูดภาษาสเปน เยอรมัน อังกฤษได้ และทำคะแนนได้ดีในเวลาสอบทุกครั้ง

ในปี ค.ศ. 1922 โรงเรียนเตรียมได้ว่าจ้างให้ ดิเอโก ริฟเวรา ศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวเม็กซิโกมาเขียนภาพฝาผนังของห้องประชุม ทั้งคู่จึงได้พบกัน ในตอนนั้นฟรีด้ายังเด็กและต่างมีที่คนที่ตนรักกันอยู่แล้ว ทั้งคู่จึงเป็นแค่เพื่อนที่ชอบหยอกล้อกันเท่านั้น

ช่วงที่ฟรีด้าศึกษาอยู่ในโรงเรียนเตรียม มีอุบัติเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับเธอ เมื่อรถเมล์คันที่เธอนั่งมากับแฟนหนุ่มถูกรถรางที่เสียหลักพุ่งเข้าชน  ราวเหล็กของรถรางหักและแทงทะลุตัวเธอตรงกระดูกเชิงกราน ผลจากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้กระดูกสันหลังหักสามแห่ง กระดูกสะบักหัก กระดูกซี่โครงที่สามและสี่หัก ขาขวาแตก 11 แห่ง เท้าขวาและไหล่ซ้ายเคลื่อน กระดูกเชิงกรานหัก 3 แห่ง ราวเหล็กสำหรับมือจับแทงทะลุท้องน้อย แล้วโผล่มาทางช่องคลอด นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอแท้งกับดิเอโกในเวลาต่อมา ไม่มีใครคิดว่าเธอจะรอดชีวิต แต่ฟรีด้าสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลา 3 เดือน  ผลของมันทำให้เธอกลายเป็นคนที่อดทนต่อความเจ็บปวดได้อย่างดีเยี่ยม

เมื่อเธอมีอาการดีขึ้น มันเป็นช่วงเดียวกับที่ครอบครัวของเธอต้องพบกับความยุ่งยากทางการเงิน ฟรีด้าตัดสินใจวาดรูปเพื่อหารายได้ให้กับครอบครัว และเธอได้ขอให้ดิเอโกเป็นที่ปรึกษา ดิเอโกเริ่มมีความประทับใจในตัวฟรีด้า ประกอบกับทั้งคู่เป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์เหมือนกัน ไม่นานทั้งคู่จึงมีความสัมพันธ์และได้แต่งงานกันในที่สุด

ความรักของคนทั้งคู่ไม่ได้ราบรื่นสวยหรูนัก เนื่องจากดิเอโกเป็นคนที่เจ้าชู้ และฟรีด้าเองก็เป็นเช่นนั้น ชู้รักของเธอที่รู้จักกันดีได้แก่ เลออน ทร็อตสกี้ และ อิซามุ โนกูจิ นักประติมากรรมชื่อก้องชาวญี่ปุ่น ฟรีด้ายังมีความพึงใจในเพศเดียวกันอีกด้วย ส่วนดิเอโกนั้นมักจะมีความสัมพันธ์กับนางแบบและดารา กระทั่งน้องสาวของฟรีด้าและเพื่อนของเธอ ส่งผลให้ทั้งคู่เดี๋ยวทะเลาะกันเดี๋ยวดีกันตลอดเวลา แต่ใครๆต่างก็รู้ดีว่าทั้งคู่รักและผูกพันกันมากแค่ไหน เห็นได้จากภาพวาดของฟรีด้าที่สะท้อนออกมา ล้วนเป็นความเจ็บปวดในความรักที่เธอมีให้กับดิเอโกทั้งนั้น อย่างเช่นภาพ Salf-Portrait with Cropped Hair และ The Two Fridas นอกจากนี้ภาพวาดของเธออีกมากมายหลายภาพยังสะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานที่ร่างกายของเธอได้รับจากอุบัติเหตุครั้งนั้น เช่นภาพ Broken Column และ Tree of Hope เป็นต้น

นี่คือการบำบัดความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจของเธอด้วยงานศิลปะ ภาพวาดแต่ละภาพของฟรีด้า จึงดูมีเรื่องราวและเต็มไปด้วยอารมณ์หลากหลายภายในนั้น

ในฤดูใบไม้ผลิปี 1953 ทางการเม็กซิโกได้ตกลงให้มีการแสดงภาพเขียนของฟรีด้า สิ่งนี้ทำให้เธอมีความสุขมาก ในขณะเดียวกันสุขภาพของเธอก็ย่ำแย่ลงไปเพราะการผ่าตัดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เธอก็มาปรากฏตัวในงานแสดงภาพของตนเองบนเปลพยาบาล ทั้งๆที่หมอได้สั่งห้ามไม่ให้เธอเคลื่อนไหว และงานแสดงภาพใของเธอในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ในเดือนสิงหาคม ฟรีด้าต้องตัดขาขวาทิ้ง เนื่องจากมีอาการปวดอย่างมาก ความทุกข์และความหดหู่ในครั้งนี้ ทำให้เธอกลายเป็นคนไม่พูด และเก็บตัว แต่เธอยังพยายามที่จะเขียนภาพโดยผูกตัวเองเข้ากับรถวีลแชร์ที่นั่งอยู่และเขียนภาพตราบเท่าที่จะทนเจ็บปวดได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะนอนเขียนอยู่ในห้องนอนแทน

เมื่อมีอาการดีขึ้น ฟรีด้าได้ฝืนคำสังหมอเพื่ออกจากบ้านไปร่วมเดินขบวนขับไล่ประธานาธิบดี อาร์เบน ออกจากตำแหน่งกับพวกกลุ่มคอมมิวนิสต์ โดยมีดิเอโกเข็นรถวีลแชร์ของเธอไปช้าๆตามถนน นี่เป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งสุดท้ายของฟรีด้า ต่อจากนั้นอีก 7 วัน เธอก็จากโลกนี้ไป และขณะที่ฟรีด้านอนป่วยอยู่นั้น ดิเอโกก็คอยมาดูแลอยู่ไม่ห่าง จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิต

ไม่มีใครรู้ว่าฟรีด้าฆ่าตัวตายเพื่อหลบหนีความทุกข์ทรมานหรือไม่ แต่สิ่งที่เรารู้คือ ไม่ว่าจะเจ็บปวดขนาดไหน เธอก็ยังเลือกที่จะเขียนภาพ ดังคำพูดของเธอที่เคยเอ่ยไว้ว่า “การเขียนภาพ ทำให้ชีวิตฉันสมบูรณ์” ผลงานของเธอบวกกับความอึด เป็นสิ่งที่ทำให้ฟรีด้า คาห์โล กลายเป็นศิลปินหญิงที่ผู้คนคารวะ และต่างจดจำกันทั้งโลก

 

You may also like...