Max Ernst

แอร์นส์ท เกิดวันที่ 2 เมษายน ปี 1891 ณ เมืองบรูห์ล เมืองเล็กๆของแคว้นไรน์ ประเทศเยอรมนี พ่อของเขาเป็นครูสอนโรงเรียนเด็กพิการทางหูและเป็นใบ้ แต่มีความชื่นชอบทางศิลปะ และได้ปลูกฝังให้แอร์นส์ทมีใจรักทางด้านศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก

ส่วนแม่ของเขา เป็นคนสวย ผมดำ ผิวขาว อารมณ์ดี เธอมีพรสวรรค์ในการเล่านิทาน พ่อของแอร์นส์ทได้พาเขาไปวาดรูปในป่าขณะที่เขามีอายุได้ 3 ขวบ แอร์นส์ทอธิบายไว้ว่า มีความรู้สึกผ่อนคลายเมื่อเข้าไปในป่าครั้งแรก เกิดความรู้สึกปีตียินดีในความเหนื่อยล้าและรู้สึกสดชื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกเหมือนถูกควบคุมไว้โดยต้นไม้หนาทึบรอบๆตัว มีความรู้สึกอิสระแต่ก็คล้ายถูกกักขัง และคำถามที่ต้องหาคำตอบในความสงสัย ตลอดจนความรู้สึกเกี่ยวกับป่านั้น ทำให้แอร์นส์ทแสดงออกทางภาพจิตรกรรมอย่างมากมายตลอดช่วงอายุของเขา

ปี 1897-1908 แอร์นส์ทเข้าศึกษาระดับชั้นประถมและมัธยมที่เมืองบูรห์ล พร้อมด้วยความชื่นชมและหวาดกลัวต่อระบบการปกครองของกษัตริย์พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมนี ที่ปกครองประเทศด้วยอำนาจแบบเผด็จการ จิตใจของแอร์นส์ทก็ค่อยๆเริ่มเข้าสู่การต่อต้าน ซึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น เป็นช่วงเวลที่ลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยมเริ่มกระจายไปทั่วทั้งยุโรป ชนชั้นสามัญได้พากันเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในทุกๆด้าน รวมทั้งด้านความเสมอภาคของทุกชนชั้น

ปี 1906 เมื่ออายุ 15 ปี นกแก้วที่แอร์นส์ทเลี้ยงไว้ชื่อฮอนนีบอม (เป็นนกแก้วหลากสี ฉลาดและแสนรู้) ตายในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นคืนเดียวกับลูกคนที่ 6 ของครอบครัวได้เกิดมา น้องสาวคนใหม่ชื่อปอลโลเนีย เป็นวัยที่ไร้เดียงสา ขณะเดียวกันก็ให้ความสุขกับชีวิต ทำให้แอร์นส์ทคลายความโศกเศร้าลงไปได้บ้างจากการที่นกแก้วได้ตายไป แต่ในความทรงจำตลอดจนจินตนาการของแอร์นส์ทเกี่ยวกับคนและนกมีความขัดแย้งหรือต่อต้านกันอยู่ โดยศึกษาได้จากภาพสะท้อนให้เห็นในผลงานของเขาซึ่งปรากฏรูปคนและรูปนกผสมผสานกันอยู่ (สอดคล้องกับภาษานก ที่ทางกลุ่มพยายามค้นหาความลี้ลับ และถือว่ามีความเป็นอิสระ)

หลังจากจบชั้นมัธยมแล้ว แอร์นส์ทได้เข้าศึกษาต่อในชั้นสูงสุดในมหาวิทยาลัยบอนน์ สาขาวิชาปรัชญา ครอบครัวของแอร์นส์ทเริ่มกวดขันด้านการศึกษาต่อของเขา แต่แอร์นส์ทก็มักจะหนีเรียนไปรับจ้างทำงาน โดยเป็นผู้ช่วยฮาร์พในการทำงานด้านศิลปะ เขาไม่สนใจในการเรียนหรือทำกิจกรรมที่จะเป็นผลดีต่อการเรียน แต่ไปสนใจในวิชาปรัชญาของกวีนอกรีต แอร์นส์ทซึมซับรับเอาทุกถ้อยความและเริ่มคิดอย่างสับสน

เขาสนใจศิลปินอย่างเช่น บอช, โกยา, โมเน่ต์, เบรอตง, แวนโกะ, กรุนเนอวาลด์, โกแกง, อาลเดอร์เฟอร์, เซอราท์, แมคคี, ฟริดริช, ปิคาสโซ, คานดินสกี และเดอลาวเนต์ รวมทั้งคนอื่นๆอีกมากมาย เขาจะทำอย่างไรดี ในใจเต็มไปด้วยคำถาม แอร์นส์ทเริ่มเที่ยวเตร่ เขาติดสุราและการพนัน บรรดารูปวาดและรูปปั้นที่สะสมอยู่ในคลินิกรักษาคนไข้โรคจิต (เป็นผลงานของผู้ป่วยทางจิต) กระตุ้นให้แอร์นส์ทถูกโน้มน้าวไปสู่ความสำเร็จ จนเกือบในบั้นปลายของชีวิตที่แอร์นส์ทค้นพบความจริงเกี่ยวกับกระบวนการสร้างงานอย่างไร้ขอบเขต จากการสร้างงานด้วยเทคนิคอัตโนมัติ ในปี 1925 ซึ่งเป็นกระบวนการที่แสดงออกของจิตไร้สำนึก จากเทคนิคการทำภาพพิมพ์ถู (Frottage) ผสมกับการระบายสี

นอกจากการเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มดาดาแล้ว แอร์นส์ทยังมีเพื่อนอีกหลายคน ซึ่งเป็นเพื่อนที่จริงใจต่อกันและยังจำกันได้ไม่มีวันลืม เช่น ออกัส แมคคี ผู้มีความกระตือรือร้น มีอารมณ์ขันแบบแหลมคม ซึ่งแมคคีก็ชื่นชมต่อแอร์นส์ทเช่นเดียวกัน  อีกทั้งพวกจิตรกร พวกกวี ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเซอร์เรียลิสม์นั้น ต่างก็มีความเกื้อหนุนกันอย่างดี นับตั้งแต่ครั้งรวมกลุ่มกันในนามดาดามาแล้ว

ปี 1919 แอร์นส์ทได้เข้าร่วมกลุ่มกับพวกจิตรกรและกวีดาดา จนกลายเป็นคนสำคัญระดับผู้นำของกล่มด้วยการเสนอแนวความคิด การต่อต้านขั้นพื้นฐานทางสายตาสัมผัส และสร้างผลงานภาพปะติดจนเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม

ปี 1921 หลังจากกลุ่มดาดาสลายตัวไป แอร์นส์ทได้รวมกลุ่มกับเบรอตง อพอลิแนร์ และคนอื่นๆที่ยังคงสืบทอดเจตนารมย์ของกลุ่มดาดาอยู่ ด้วยการก่อตั้งกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ เพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริงของการแสดงออก แอร์นส์ทได้เปรียบกว่าคนอื่นๆในกลุ่ม เนื่องจากเขาเข้าใจในความหมายเรื่องจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (ผนวกกับการที่ได้เรียนวิชาปรัชญามาก่อน) และได้นำมาเป็นแนวทางในการแสวงหาการทำงานด้านศิลปะจนค้นพบเทคนิคฟรอททาจ (ในปี 1925) และได้พัฒนามาเป็นลักษณะเฉพาะตัวในการสร้างงานด้านจิตรกรรมของเขา

ปี 1927 แอร์นส์ทได้แต่งงานกับ มารี เบอร์เท ออเรนซ์ (จากภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอความจำเสื่อมแล้วลี้ภัยไปอยู่สเปน แอร์นส์ทไม่ได้ติดต่อเธออีก) และเช่าบ้านอยู่ที่เมดอง ภาพอนุสาวรีย์นกเป็นภาพสุดท้ายที่เขาได้วาด ณ ห้องทำงาน โอ ฟูแซง ในช่วงของปีนี้เองที่แอร์นส์ทได้ค้นพบเทคนิคแกรททาจ จากการขดเส้นเชือกและเส้นด้ายที่วางอยู่บนโต๊ะ กระทั่งขยายไปสู่การใช้วัสดุอื่นๆต่อมา ได้มีการจัดแสดงภาพครั้งแรกในปี 1928 ที่หอศิลปะจอร์ช เบนแฮม

ปี 1939 เป็นปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2แอร์นส์ทถูกจับเป็นเชลยในฐานที่เป็นชาวเยอรมัน ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝรั่งเศส เขาถูกคุมขังและย้ายไปอยู่ค่ายกักกันเชลยศึกหลายแห่ง เขาพบกับความยากลำบาก ความหิว แต่ไม่ละทิ้งการเขียนภาพ ปี 1939-1940 เขาได้วาดภาพชุด The Robbing of the Bride เป็นภาพที่มีจินตนาการยิ่งใหญ่ ระหว่างถูกจับเป็นเชลยศึก แอร์นส์ทพยายามหลบหนีถึง 2 ครั้ง เมื่อมีการเซ็นสัญญาสงบศึก เขาจึงถูกปล่อยตัวและย้ายไปอยู่เมืองแซง มาร์แตง และเริ่มเขียนภาพชุด  Europe After the Rain II ก่อนออกจากฝรั่งเศส เขาไปเมืองมาเซย์ เพื่อเตรียมวางแผนการอนาคตข้างหน้าเพื่อย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา กระทั่งได้เดินทางถึงนิวยอร์ก ในวันที่ 14 กรกฏาคม  1941 ทำให้เขาได้พบและสนิทสนมกับเพกกี กุกเกนไฮม์ ชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งเป็นจิตรกรสมัยใหม่ที่ทำงานศิลปะได้ประทับใจเขา ต่อมาภายหลังทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกัน แค่เพียง 3  เดือน เขาก็หย่าจากกัน ทว่ายังคงติดต่อคบหากันแบบเพื่อน ทั้งยังคอยช่วยเหลือกันอยู่ ที่ในสหรัฐอเมริกา แอร์นส์ทได้พบกับเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเซอร์เรียลิสม์หลายคน ซึ่งหลบหนีภัยสงครามมาพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้รวมกลุ่มกันแสดงผลงานในนิวยอร์ก

ปลายปี 1942 เพกกี กุกเกนไฮม์ ได้มอบหมายให้แอร์นส์ทคัดเลือกภาพของจิตรกรหญิงเพื่อรวบรวมแสดง ณ หอศิลป์ที่เพกกีได้สร้างขึ้น แอร์นส์ทจึงได้รู้จักกับ โดโรเธีย เทนนิง ซึ่งเป็นศิลปินแถบตะวันออกกลาง ก่อนจะลงเอยด้วยการแต่งงานกัน (พวกเขาอยู่ด้วยกันในปี 1943 และแต่งงานกันในปี 1946 ที่บีเวอร์ฮิลส์ ส่วนจูเลียตแต่งงานกับแมน เรย์ ) แอร์นส์ทและโดโรเธียย้ายไปอยู่ในเขตชนบทที่เซโดนา แคว้นแอริโซนา ที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์แบบท้องถิ่น มีธรรมชาติ เช่น ทิวเขา ป่าไม้ แม่น้ำ อากาศร้อน มีสัตว์ชนิดต่างๆและที่สำคัญ มีหน้าผาหินเป็นแบบแกรนดืแคนยอน ซึ่งนำไปสู่แรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้แอร์นส์ทสร้างผลงานออกมาอีกหลายภาพ

แอร์นส์ทได้สร้างบ้านไม้ของเขาขึ้นเองบนเนินเขาในเซโนดา โดยมีช่างพื้นบ้านผู้ชายหนึ่งคนและมีโดโรเธียเป็นผู้ช่วย เป็นที่ที่มีทิวเขาล้อมรอบ มองลงไปเห็นลำธารอยู่เบื้องล่าง การเดินทางเพื่อไปทำธุรกิจในเมืองนิยอร์กก็ใช้รถคันเก่าๆรวมระยะทางไปกลับกว่า 2,500 ไมล์ แต่ก็มีคนพื้นเมืองเป็นเพื่อนบ้านที่มีอัธยาศัยดี เป็นเขตชนบทที่อบอุ่น

ในปี 1984 แอร์นส์ทได้โอนสัญชาติเป็นชาวอเมริกันจากความช่วยเหลือของเพกกี

ปลายปี 1949-1905 แอร์นส์ทออกจากนิวออร์ลีนส์ โดยสารมาทางเรือเป็นเวลาเกือบ  3 เดือน ไปปารีส เพื่อนำผลงานที่ทำขึ้นในช่วงที่อาศัยในเซโดนา แคว้นแอริโซนาไปจัดแสดงในปารีส ทำให้ได้พบเพื่อนเก่าๆหลายคน เช่น พอล อีลูร์ด, โจแอร์ บุชเกต์แพทริค วาลเบิร์กม โรเบิรต์ เลเบิล, อังเดร ปีแปร์ม, เดอ มองดิลากูร์ม จอร์ช บัลไทม์ม, กีอาโค แมคคีม เรอเน เบอเทล, เพนโรสม, ทริสซัน ทซารา และคนอื่นๆโดยความช่วยเหลือของฟรองซัวส์ วิคเตอร์ ฮิวโก แอร์นส์ทจึงได้เช่าห้องทำ Studio ถนนเรียบแม่น้ำแชงมิเชล ที่ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโบสถ์โนตเทรอะดาม เพื่อจะนำผลงานไปแสดงที่สหรัฐอเมริกา

ปี 1951 แอร์นส์ทนำผลงานไปแสดงที่บ้านเกิดของเขา ณ เมืองบูรห์ล เป็นการแสดงผลงานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนีของเขา ถึงแม้จะไม่ประสบผลด้านยอดการขาย และมีปัญหหาตามมาอีกมากมาย แต่ชาวเมืองก็ประกาศยกย่องให้เขาเป็นบุคคลดีเด่นแห่งเมืองที่สร้างชื่อเสียงให้แก่บ้านเกิด

ปี 1953 แอร์นส์ทและโดโรเธีย ตัดสินใจกลับไปพักอาศัยในปารีสเพื่อสร้างผลงานช่วงบั้นปลายชีวิตที่นั่น แต่เขากลับไม่ชอบสังคมเมือง ดังนั้นในปี1955 แอร์นส์ทจึงย้ายไปอยู่เมืองที่เงียบสงบ คือเมืองอุยส์เม ใกล้กับเมืองชีลนอง ในแคว้นดูแรง ของประเทศฝรั่งเศส

ปี 1954 หลังจากที่กลับมาอยู่ฝรั่งเศสได้หนึ่งปี แอร์นส์ทได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในงานมหกรรมจิตรกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิซ เบียนนาเล่ จากภาพชื่อ The Temptation of St.Anthony ที่วาดในปี 1945 เป็นเงินรางวัลสนับสนุนศิลปินยุโรป ผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นเลิศตลอดระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง แม้แอร์นส์ทรู้สึกไม่ยินดีนักกับเงินรางวัลที่ได้รับ ทว่าเขาก็ต้องรับเพื่อนำไปเป็นทุนสำหรับสร้างสรรค์ผลงานและการดำรงชีพ จนถูกสมาชิกในกลุ่มเซอร์เรียลิสม์เชิญให้ออกจากกลุ่ม แต่การติดต่อคบหาสมาคมกันด้วยมิตรภาพอย่างดีเยี่ยมก็ยังคงดำเนินไปอย่างปกติ

ปี 1963 ย้ายออกจากเมืองอุยส์เม ไปอยู่ที่เมืองซีลลังทางตอนใต้ของฝรั่งเศส จึงเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่แอร์นส์ทอยู่ที่ไหนนานเกินไปไม่ได้ ตลอดช่วงอายุของแอร์นส์ท เขาจะเสาะหาทำเลใหม่ๆประสบการณ์ใหม่ๆเพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการทำงานอยู่เสมอ

วันที่ 1 เมษายน ปี 1976 ชายแก่ผมสีขาว นัยน์ตาสีฟ้าสดใส ปลายจมูกโด่งคมสัน ร่างท้วมเล็กน้อย และชอบเล่นเปตอง ได้เสียชีวิตลงก่อนครบรอบวันเกิดปีที่ 85 เพียงวันเดียวด้วยอาการสงบ ณ กรุงปารีส เขาคือศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของกลุ่มดาดามาจนถึงเซอร์เรียลิสม์ Max Ernst

อ้างอิงจาก : ประวัติ ผลงาน และการศึกษาวิเคราะห์ ผลงานศิลปะของ Max Ernst  ศิลปินเซอร์เรียลิสม์ผู้ยิ่งใหญ่
โดย สี แสงอินทร์

You may also like...