วสันต์ สิทธิเขตต์

“บทกวีเหมือนกับการเจียรนัยเพชร สกัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือแต่แก่นสาระจริงงาม” วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นชาวนครสวรรค์ เป็นศิลปิน เป็นกวี เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นนักต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม เป็นชาวม็อบ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคศิลปิน และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายตามแต่ใครจะนิยามตัวตนให้แก่เขา


วสันต์เป็นศิลปิน งานศิลปะของเขาหลายคนว่าดิบ เถื่อน หยาบคาย หลายคนว่าแรง แสบสันต์ หนักหน่วง ขณะอีกหลายคนว่าสะใจ ไม่เสแสร้ง นานาจิตตังกันไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผลจากการทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องยาวนาน และคงมั่นในอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวต่อเสียงวิจารณ์และไม่หลงไปกับเสียงนิยม ทำให้วสันต์ได้รับเกียรติและรางวัลต่างๆ ไม่น้อย แต่ที่ทำให้ใครหลายคนต้องหันมามองเขาอย่างพิจารณามากขึ้น คือได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2550

และต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์ของผู้ชายที่ชื่อ วสันต์ สิทธิเขตต์

ในบรรดางานศิลปะที่คุณทำ ประเภทไหนมาก่อนมาหลัง
ผมเริ่มเขียนรูปมาตั้งแต่อนุบาล แต่มาทุ่มเทจริงจังเมื่อเรียนศิลปะที่ช่างศิลป์ เพราะมีพี่ชายเป็นจิตรกร ตระเวนวาดรูปไปขายทหารฝรั่งตามแคมป์ต่างๆ ช่วงสงครามเวียตนาม เขาเป็นนักคิดและนักอ่าน เอาหนังสือของท่านอังคารมายื่นให้ ผมเองก็สนใจอยู่แล้ว ประกอบกับผมเองกำลังแสวงหาความหมายของชีวิต และคิดว่ากวี-นักคิด-ศิลปินน่าจะเป็นคนเดียวกัน บทกวีช่วงแรกก็เป็นเรื่องธรรม และโรแมนติคพลุ่งพล่านแบบท่านอังคาร เช่น ‘อะโหมนุษย์โง่หลง ต่อสู้สงกามนามนี้ ตั้งแต่เกิดจนดับชีวี ไป่มีวันสิ้นสุดลง สงกามย่อมเกิดมา จากปวงมานุษย์ไหลหลง’ หรือบทที่เขียนถึงพ่อว่า ‘ปลิดดวงใจน้อย ประดิดประดอยเป็นดอกไม้ แขนขาต่างธูปเทียนไป ลมหายใจแทนกำยาน โลหิตคือสุธารส แลกายหมดต่างอาหาร หอบหิ้วด้วยวิญญาณ หัวใส่พานทองไป กราบกรานวิญญาณพ่อ ผู้ก่อดินน้ำลมไฟ ของลูกปลูกไว้ จงรับไปซึ่งสักการะเทอญฯ’ ส่วนงานจิตรกรรม ผมสนใจเขียนภาพชีวิตคนไร้ชื่อข้างถนน อิทธิพลจากแวนโกะห์ช่วงเขียนคนเหมืองที่บอร์ริเนจ เขียนคนงานก่อสร้าง ขอทาน โสเภณี

ศิลปะแต่ละแขนงมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ศิลปะมีหลายแขนง มีความเหมือนคือการแสดงออกในวิธีการต่างกัน ไม่ว่าเป็นสี หิน เหล็ก ดินหรือภาษา ถ้อยคำในงานวรรณกรรม ทั้งหมดคือมุ่งสื่อสารเรื่องภายในใจและโพรงสมองของเราผ่านประสบการณ์ทักษะ

ปณิธานสูงสุดในฐานะศิลปิน
หวังให้งานสร้างสรรค์ของผมมีส่วนทำให้คนมีประการณ์ใหม่ ฉุกคิดใหม่ ตื่นลุกขึ้นต่อสู้ เหมือนดั่งกวีปณิธานของผมว่า ศิลปะคืออาวุธ ใช้ขุดโค่นอำนาจร้าย ต้องพลีชีพทั้งใจ-กาย คือความหมายแห่งศิลปินฯ

สำหรับคุณ งานกวีเปรียบได้กับอะไร
บทกวีเหมือนกันการเจียรนัยเพชร สกัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือแต่แก่นสาระจริงงาม

วิธีการทำงานบทกวีชิ้นหนึ่งของคุณเป็นอย่างไร
ผมเป็นคนทำงานเร็ว เมื่อเกิดแรงบันดาลใจ ก็ลงมือเขียนทันที ตั้งแต่ต้นจนจบคราวเดียว อาจมีขีดฆ่า ไม่ค่อยมีระบบเท่าไหร่ เรียกว่าโต้ตอบฉับพลัน อย่างที่เขียนเพื่ออ่านบนเวทีเดินขบวนนี่ เขียนวันละหลายบททีเดียว อัพเดทสถานการณ์ และชี้นำ ปลุกปลอบใจคน

คุณลักษณะของนักกวีที่ดี และกวีต้นแบบของคุณ
นักกวีที่ผมนับถือ คือคนอ่อนไหว มีซิกเซนต์ มองเห็นชีวิตทะลุจักรวาล อย่างท่านอังคาร, จ่าง แซ่ตั้ง, ประเสริฐ จันดำ, สุรชัย จันทิมาธร และเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

ในประเทศนี้ คุณเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ทำงานต่อสู้กับความอยุติธรรมในบ้านเมืองตลอดมา จุดยืนของคุณเป็นอย่างไร ทำไมต้องออกมาต่อสู้ ในขณะที่ศิลปินคนอื่นๆ อาจนอนวาดรูป เขียนหนังสืออยู่บ้าน
เพราะศิลปินคือพลเมือง เมื่อเราครุ่นคิดถึงความจริงดีงามและความยุติธรรม จึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ถ้ารัฐบาลชั่วร้ายเราก็ต้องตะโกนร้องเตือนสังคม และร่วมกันโค่นล้มมัน เพราะเราไม่ยอมรับความอยุติธรรมที่เห็นเป็นอยู่กลาดเกลื่อน หากโลกมันร้อน เราก็ต้องแสดงออกเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เพื่อสังคมใหม่เป็นธรรมร่มเย็นร่วมกัน

มองวงการศิลปะในบ้านเรา
ดูคึกคักขึ้น มีศิลปินชั้นแนวหน้า ได้รับการยอมรับจากวงการศิลปะนานาชาติ แล้วยังมีศิลปินรุ่นใหม่ที่สะท้อนสังคมร่วมสมัยได้ลึกซึ้งเกิดขึ้นหลายคน แม้จะมีแนวคิดว่าศิลปะต้องบริสุทธิ์ ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่แนวทางศิลปะรับผิดชอบต่อสังคมก็มีมากขึ้น

ในฐานะศิลปินคนหนึ่งที่อยู่กันคนละด้านกับ ‘รัฐ’ มาแทบจะโดยตลอด คุณคิดอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า รัฐควรจะต้องเข้ามาอุ้มชูวงการศิลปะ-วรรณกรรม เพื่อยกระดับศิลปะในบ้านเราให้เจริญขึ้น
เราเลือกผู้ปกครองมาเพื่ออะไร ให้มาปล้น หรือมาช่วยดูแลผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งสังคม มันเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้วที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยพร้อมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เป็นองค์ความรู้ให้ชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้ และบ้านเราเองก็อ่อนแอทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว เรียกว่าอยู่กันแบบไร้ราก หลอกลวงตัวเองไปวันๆ

วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไร ทำงานศิลปะ เขียนบทกวีช่วงไหนเป็นหลัก
ก็เขียนรูปไปตามแผนงานที่กำหนดไว้แต่ละปีว่าแสดงที่ไหนเมื่อไหร่ อ่านหนังสือ เดินทาง และเขียนบทกวีบันทึกยุคสมัยของเรา หากเขียนงานชุดใหญ่ก็ต้องไปที่สตูดิโอชุมแสง บทกวีเขียนได้ทุกสถานการณ์ ไม่เลือกเวลา ขึ้นอยู่ว่าความคิดเกิดขึ้นตอนไหน เราพกสมุดติดย่ามตลอด

คำแนะนำถึงนักอยากเขียน ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร
เริ่มที่คุณต้องเป็นนักอ่านที่ดี คือรู้จักแยกแยะวิเคราะห์ อ่านชีวิตธรรมชาติและสังคม ลงมือเขียนเรียบเรียงความคิดให้เป็นถ้อยคำ หาวิถีของตนเอง

นักเขียนคนโปรด และหนังสือเล่มโปรด
คาฟกา, มิลาน กุนเดอรา, อาร์โน ชมิดช์, แซงเต็ก ซูเปรี, จ่าง แซ่ตั้ง, ท่านอังคาร, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
หนังสือที่อ่านชอบหลายเล่ม อย่าง คดีความ ของคาฟกา, แม่กับลูก ของจ่าง แซ่ตั้ง, กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์, ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ของกุนเดอรา, เจ้าชายน้อย ของ แซงเต็ก ซูเปรี, คนนอก และมนุษย์สองหน้า ของอัลแบรต์ กามูส์

คำโปรย

“ศิลปะคืออาวุธ ใช้ขุดโค่นอำนาจร้าย ต้องพลีชีพทั้งใจ-กาย คือความหมายแห่งศิลปินฯ”

“บทกวีเหมือนกันการเจียรนัยเพชร สกัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือแต่แก่นสาระจริงงาม”

“ถ้ารัฐบาลชั่วร้ายเราก็ต้องตะโกนร้องเตือนสังคม และร่วมกันโค่นล้มมัน”

“เราเลือกผู้ปกครองมาเพื่ออะไร ให้มาปล้น หรือมาช่วยดูแลผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งสังคม”

——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 277
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...