ทินกร หุตางกูร

วงล้อแห่งจินตนาการ บนเส้นทางวรรณกรรม ทินกร หุตางกูร ในช่วงเวลาหนึ่งการออกไปเผชิญโลกของนักเขียนเป็นสิ่งจำเป็น การไปเห็นด้วยตาหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่รรจุอยู่ในเรื่องราวเป็นเหมือนภาระหน้าที่ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลงานของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อย่างเออร์เนส เฮมิ่งเวย์,จอร์จ ออร์เวล หรืออ็องเดร มาลโรซ์เป็นส่วนที่ช่วยขับขยายความคิดนี้

แน่นอนการเผชิญโลกเป็นการเรียกร้องต่อประสบการณ์ หรือการบอกเล่าเรื่องราวอย่างสอดพ้องต่อความเป็นจริง หากแต่วรรณกรรมเป็นเพียงผลผลิตของความจริงที่ตาเห็นเพียงเท่านั้นหรือ? คำตอบคือ ‘ ไม่ใช่ ‘ ความเป็นจริงสามารถสร้างวรรณกรรมได้ เช่นเดียวกันกับวรรณกรรมสามารถสร้างความจริงได้แต่การสร้างความจริงของวรรณกรรมอาจมาจากการเขียนถึงความเป็นจริงที่ไม่ได้ปรากฏขึ้นต่อหน้าเราด้วยเช่นกัน

ทินกร หุตางกูร เป็นนักเขียนในโลกยุคใหม่อีกคนหนึ่ง ที่ความจริงแบบตาเห็นมีอิทธิพลน้อยกว่าจินตนาการ นวนิยายโลกของจอม เป็นผลผลิตจากซีกด้านจินตนาการซึ่งเขามองว่ามันเป็นเหมือนภาพสะท้อนของความเป็นจริงที่ตาเราไม่เห็น และระหว่างที่เขากำลังเคี่ยวกรำอยู่กับการเขียนนิยายเล่มใหม่ เราจึงขอขัดจังหวะด้วยความสุภาพ เพื่อทำการสัมภาษณ์พูดคุยกับนักเขียนผู้รุ่มรวยจินตนาการคนนี้ และแน่นอน…เมื่อ HI-CLASS จะคุยกับนักเขียน ก็ต้องส่งนักเขียนเข้าไปคุย

กิตติพล : วรรณกรรมคืออะไร ? สำคัญต่อชีวิตแค่ไหน ?

ทินกร : วรรณกรรมก็คืองานเขียนที่เขียนดีๆ อะไรก็ได้

วีร์วิศ : หนังสือหักหลังผู้ชายนี่เป็นวรรณกรรมไหม ?

ทินกร : เราคิดว่าดีไหมละ ? ดีมันก็ต้องมีนิยาม คำว่าว่าดีของแต่ละคนก็นิยามต่างกันไป แต่สำหรับผมก็คือเป็นงานที่ยกระดับจิตใจของเราขึ้นมา ทำให้เรารู้สึกว่าเราเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น มีความเมตตาต่อคนอื่นมากขึ้น ถ้าหนังสือเล่มไหนที่ทำได้ขนาดนี้ก็โอเค แล้วมันก็ควรมีคุณค่าทางศิลปะด้วย ศิลปะจะช่วยยกระดับจิตใจอยู่แล้ว นี่เป็นธรรมชาติของงานศิลปะ ใช่ไหมครับ ? วรรณกรรมก็คืองานศิลปะแบบหนึ่ง และมนุษย์ต้องการอาหารทางจิตใจ งานศิลปะก็เปรียบเสมือนอาหารของจิตใจ

กิตติพล : ทำไมถึงเลือกที่จะเขียน ?

ทินกร : อาจจะเป็นความชอบละครับ แต่ละคนก็มีวิธีที่แสดงออกต่างกันไป บางคนก็อาจจะวาดรูป บางคนก็อาจจะเล่นดนตรี บางคนจะสร้างหนัง แต่ที่เขียนหนังสือก็เพราะมันเหมาะกับตัวเอง และก็ชอบอ่านด้วย แต่ชอบการทำงานศิลปะอย่างอื่นๆ ด้วย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำ แต่ก็คงทำได้ไม่ใช่ระดับเป็นอาชีพ แต่เขียนหนังสือนี่ก็คือเลือกแล้ว พยายามฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ

วีร์วิศ : แล้วถ้าสรรพากรถามว่าอาชีพอะไร ?

ทินกร : ก็คงเป็นนักเขียน แต่นักเขียนไม่ใช่อาชีพสำหรับประเทศนี้ เวลากรอกก็ต้องกรอกว่าเป็นอาชีพอิสระ

กิตติพล : นักเขียนนี่ไม่นับเป็นอาชีพ ?

ทินกร : ในประเทศไทยไม่มี อย่างพี่ชาติ กอบจิตติ เวลาเขาไปเมืองนอก ตอนที่ไปทำพาสปอร์ตนี่ไม่มีนะ แต่พี่ชาติเขาไปไฟท์ได้เพราะแกเป็นนักเขียนระดับประเทศ คือเป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้ว แกก็กรอกไปเลยว่าอาชีพนักเขียน

กิตติพล : หรือที่จริงก็คือ ‘ อาชีพอื่นๆ ‘

ทินกร : ใช่ๆ ประเทศไทยจะมีอาชีพก็แต่หมอ วิศวกร ข้าราชการหรืออะไรที่เป็นงานในลักษณะเฉพาะๆ น่าเศร้ามากเลย

กิตติพล : ตอนที่ทำงานอะไรอยู่ ?

ทินกร : ตอนนี้ก็เขียนนิยาย งานประจำก็ไม่ได้เขียนให้ที่ไหนเลย ตั้งแต่อะเดย์วีคลี่ย์ปิดไป ก็คิดว่าคงอีกสักพักหนึ่ง เขียนนิยายเสร็จ ก็อาจจะเขียนประจำให้สักที่สองที่

กิตติพล : แล้วนิยายตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ?

ทินกร : ก็ประมาณยี่สิบเปอร์เซ็นต์กะว่าจะให้เสร็จประมาณสิ้นปีนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จทันหรือเปล่า

วีร์วิศ : เล่าได้ไหมว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ?

ทินกร : ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม บริโภคนิยม เหมือนเดิม ตอนนี้รู้สึกว่า เขียนหนังสือมาสามสี่เล่ม อยากจะแบบ… คือมีคนบอกว่า งานมีแนวทางเฉพาะตัว ที่ผ่านมา ใช่ไหมครับ ? แต่ก็หวัง ก็อยากจะไปแนวทางอื่นแล้ว แต่ยังหามันไม่เจอ อย่างแนวทางที่เขียนก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมสมัยใหม่ เรื่องเกี่ยวกับความใฝ่ฝัน ความสุขทางด้านจิตใจ เรื่องที่ชอบอย่าง เรื่องของศิลปะ ดวงดาว จักรวาล เรื่องเกี่ยวกับเพลงหรือหนัง อย่างในงานชิ้นใหม่ก็ยังมีอยู่ แต่หลังจากจบงานชิ้นนี้ก็อาจจะต้องแสวงหาดู

กิตติพล : ลักษณะของการผสมผสานระหว่างความเรียงและการเล่าเรื่องแบบนิยายมีมาตั้งแต่เริ่มต้นเขียนงานเลยหรือเปล่า ?

ทินกร : ตั้งแต่แรกครับ เพราะว่าเป็นคนที่ไม่ชอบอะไรที่เรียกว่ากรอบ กฎเกณฑ์ หรือหลักการ อย่างงานศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่มีผิดมีถูก อยู่ที่เรา เราจะมีความคิดกับมัน เราก็ใส่เข้าไปได้ เพราะในตอนที่เรียน มันก็มีถึงขนาดเรื่องสั้นจะต้องไม่เกินกี่คำ กี่คำ แต่ที่หลังกฎข้อนี้ก็หายไป แล้วก็มีกฎอะไรตั้งหลายอย่างเกี่ยวกับนิยายเรื่องสั้นที่คนไทยถือๆ กันอยู่ แต่ก็ไม่อยากจะสนใจ อยากจะเขียน อยากจะใส่อะไร อย่างอันหนึ่งที่โดนว่าตลอดเวลาก็คือใส่วงเล็บภาษาอังกฤษ ใส่ไปทำไม มันรก งานวรรณกรรมมันไม่มีหรอก ลองนึกถึงงานที่มีความคอนทราสต์สูงๆ อย่างงานโพสโมเดิร์นหรืออะไรก็ตามแต่ แต่งานสารคดีจะเป็นงานที่แข็ง ก็เลยอยากจะเอาการเขียนและอารมณ์ความรู้สึกไปสู้กับมัน คืออยากให้มีส่วนหนึ่งในงานที่แข็งๆ แล้วเอาส่วนอารมณ์ความรู้สึกไปสู้ นี่เป็นความทะเยอทะยานส่วนตัวในการเขียน

กิตติพล : แล้วมองเห็นเป็นข้อจำกัดหรือข้อดีอย่างไร ?

ทินกร : ก็ไม่รู้หรอกว่ามันออกมาดีหรือไม่ดี แต่ก็อยากจะทำ แต่พอมีคนบอกว่าไม่ควรจะทำก็เลยอยากจะลองทำ แต่ก็ดีใจที่มีคนส่วนหนึ่งที่รับได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย

กิตติพล : จอม ตัวเอกในนวนิยายโลกของจอม มีวิธีคิดเกี่ยวกับตัวละครนี้อย่างไร หรือคิดอย่างไรกับคำวิจารณ์ว่าตัวละครนี้มีชีวิตเหมือนละเมอเดิน

ทินกร : ก็อาจจะจริงนะ เพราะมีคนวิจารณ์ว่าตัวละครนี้เหมือนไม่มีตัวตนอยู่จริงบนโลก แบบเป็นอุดมคติ แต่ว่ามันก็อาจจะใช่ เพราะไม่ต้องการที่จะเขียนเกี่ยวกับตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริงๆ บนโลก แต่อยากที่จะเขียนถึงเรื่องที่มีอยู่จริงๆ บนโลก คือเหมือนกับที่เราเคยอ่านนิทาน ตัวละครเหล่านั้นก็อาจไม่ได้มีอยู่จริงบนโลก แต่เมื่อเราอ่าน เราจะรู้สึกได้ว่า มันเป็นสิ่งที่เราสามารถเจอได้ในชีวิตประจำวัน หรือว่ามีอยู่จริงบนโลก มันเป็นกระจกที่ไม่ได้สะท้อนในเชิงกายภาพ หากเป็นการสะท้อนของสิ่งอยู่ข้างในออกมา ตั้งใจว่าจะให้งานเขียนมีลักษณะออกมาเป็นแบบนี้ ไม่ได้สนใจว่าตัวละครจะมีหรือไม่มี อย่างเขียนถึงนางเอกก็จะเป็นตัวละครที่สวยมาก หรือตัวละครเด็กผู้ชายก็จะอืม…ทำไมอ่านหนังสือเยอะจัง แต่จริงๆ แล้วมันมี แค่เราจะปฏิเสธว่าโดยส่วนใหญ่มันไม่มี คืออย่างวัยรุ่นโดยทั่วไป เราก็จะเห็นอยู่แล้วไม่มีสาระอะไรเลย ตัวละครเหล่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่าเป็นใคร เป็นใครอยู่ แต่มันเป็นตัวแทนของคนทุกคน แล้วที่ชอบเขียนถึงมัน ก็เพราะอายุ 18 เป็นวัยที่ยืนอยู่ระหว่างความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ แล้วชอบที่จะให้สองสภาวะที่กระโดดไปมา กระโดดไปมา

กิตติพล : แต่เราก็จะไม่เห็นตัวละครเหล่านี้เติบโต เพราะดูเหมือนเด็กเหล่านี้จะไม่เคยถูกนำเสนอให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งพวกเขากลายไปเป็นผู้ใหญ่จริงๆ

ทินกร : ใช่ครับ คนที่ทำงานศิลปะหลายคนก็เป็นแบบนี้นะ คือหวงแหนความสดใสแบบวัยเด็ก คือวัยเด็กมันฝันได้โดยไม่มีกรอบอะไร และก็เหมือนกับที่ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือตัวละครของเหล่านี้จะเจ็บปวดกับโลกของผู้ใหญ่มาก แล้วมันก็มีเกราะห่อหุ้มตัวเองเอาไว้ ก็คือมีส่วนหนึ่งละที่คงความเป็นเด็ก แต่ก็จะมีส่วนที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย เพราะตัวละครเหล่านี้ก็จะรู้ทั้งในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ หรือเพราะผมชอบเรื่องแบบนี้ด้วย ก็เลยอยากจะเล่นกับมัน

กิตติพล : ขณะที่เรานั่งอ่าน โลกของความเป็นจริงรอบตัวเราก็ยังดำเนินไปอยู่ เคยย้อนกลับไปอ่านผลงานของตัวเอง แล้วคิดอยากปรับแก้มันเพื่อให้มันสัมพันธ์หรือสอดพ้องกับสภาพเป็นจริงบ้างหรือเปล่า ?

ทินกร : ไม่เลย คือโลกที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เป็นโลกที่มาผิดทาง และการเขียนหนังสือก็อาจเป็นการบำบัดจิตใจนักเขียนด้วยส่วนหนึ่ง เพราะมันพูดถึงสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ งานเขียนของผมก็เลยถูกมองว่า เป็นงานที่กำลังจะเข้าไปเทศนาคนอื่น ที่จริงก็ไม่ได้เทศนาก็เลย ก็แค่เขียนความคิดของเราไป คนที่อ่านไม่เห็นด้วย เขาก็มีสิทธิ์ ก็เหมือนเรามานั่งโต้เถียงกันอยู่ รู้สึกว่างานวรรณกรรมที่เขามองก็คือไม่ควรจะไปตัดสินใจอะไรแทนคนอ่าน แต่ผมคิดว่า นักเขียนก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งทำไมจะมีสิทธิ์ใส่ความคิดเห็นในงานไม่ได้ เหมือนกับมีนักเขียนหลายคนอย่างมิลาน คุนเดอรา หรือซัลมาน รัชดีก็ทำใช่ไหมครับ อย่างงานเขียนยุคใหม่ๆ ก็ทำ งานเขียนที่ไม่พยายามจะตัดสินอะไร อย่างนี้น่าจะเป็นงานของศตวรรษที่ 19 หรือต้นศตวรรษที่ 20 มีจิตรกรชาวเยอรมันคนหนึ่งพูดว่า คนทำงานศิลปะที่ทำงานตามคิดของตัวเองโดยไม่กลัวว่าจะมีคนต่อต้านเป็นศิลปินที่มีความกล้าหาญที่สุด เพราะว่า มันเป็นการประกาศตัว พอคนไม่เห็นด้วย มันก็โยนหนังสือทิ้ง ทำไมเราจะต้องไปกลัวแค่นั้น คือผมมองว่า คนทำงานศิลปะต้องมีความกล้าหาญบ้าง เหมือนกับที่ดูเรื่อง 9 Songs หนังอังกฤษธรรมดาๆ เป็นเรื่องราวโรแมนติกเรียบง่าย แต่ที่ไม่ธรรมดาคือฉากเลิฟซีนนั้นโจ่งแจ้งแบบหนังโป๊ มีคำถามว่า ทำไมต้องทำอะไรขนาดนั้น ? จริงๆ แล้วหนังไม่ได้ดีอะไร แต่ก็ชอบคำให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับมากเลยว่า มันประหลาดดี ในหนังโรแมนติกเราจะเห็นแค่ฉากพระเอกกับนางเอกนอนกัน พอจูบกันก็ตัดเลย เขาก็เลยบอกว่า ทำไมจะทำให้เห็นไม่ได้ ก็เลยทำออกมา ผมชอบคนทำงานศิลปะแบบนี้ อย่างมนุษย์เองก็จะมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่จะไม่นำเสนอภาพในลักษณะนี้ ก็ไม่ใช่หลักเหตุผลด้วยซ้ำ มันเป็นอะไรที่ต้องเป็นแบบนั้นจริงๆ นี่คิดเองนะ ผิดหรือถูกอีกเรื่อง จุดมุ่งหมายสูงสุดของสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตอยู่ ยังไม่ต้องคิดถึงสติปัญญานะ ก็คือต้องมีลูก แต่มนุษย์พัฒนาด้านสมอง คือว่ามันฉลาด ถ้ามันต้องเสนอภาพโป๊หรือการร่วมรักซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะชิน ไอ้ความรู้สึกปรารถนาของมนุษย์จะลดลง เพราะความรู้สึกของมนุษย์จะพิเศษเหมือนปลาโลมาคือการเคล้าคลอกันของเพศหญิงเพศชายมันช่วยกันในแง่ของจิตใจด้วย ขณะที่สัตว์อื่นๆ จะไม่เข้าใกล้กันเลย ถ้าไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ แล้วพอมีลูกก็แยกกันไป หรือไม่ก็ฆ่ากัน แต่มนุษย์บางครั้งเราผู้หญิงอาจจะยังไข่ไม่ตก แต่ความรู้สึกระหว่างคนที่รักมันช่วยในแง่จิตใจด้วย มันอาจเป็นภาระบางอย่างที่มนุษย์ต้องรับตรงนี้ไป

กิตติพล : ผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาชอบงานชิ้นไหนเป็นพิเศษบ้าง ? หรือถ้าให้วิจารณ์มีข้อวิจารณ์อย่างไร ?

ทินกร : ชอบหมดทุกงานนะ แต่ถ้าจะให้วิจารณ์ก็จะมีเรื่องแบบ ‘ เขียนไปได้ไงวะ ?’ แต่ก็จะมีแบบ ‘ เขียนไปได้ไงวะ ดีจัง ‘ ด้วย เมื่อเราต้องโต ความคิดก็ต้องเปลี่ยนตลอดเวลาละครับ มันก็เป็นธรรมชาตินะ สำหรับการทำงานประเภทนี้ คือโดยทั่วไปแล้ว เราก็อยากจะทำให้ดีขึ้น แต่จะดีหรือไม่ดีนั้นอีกเรื่อง ก็เราก็ไม่รู้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำงานศิลปะก็ได้

กิตติพล : ระหว่างเรื่องสั้นกับนิยายชอบงานเขียนประเภทไหน ? หรือโดยส่วนตัวแล้วเรื่องสั้นกับนิยายมีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ?

ทินกร : ไม่รู้สิ ก็ต่างกันนะ อย่างเรื่องสั้นนี่จะเสนอซับพล็อตก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ก็เป็นงานเขียนเหมือนกัน เหมือนการเขียนบทความก็เป็นงานเขียนเหมือนกัน ก็เลยไม่ค่อยรู้สึกว่า จะชอบอะไรไปมากกว่ากัน

กิตติพล : แล้วการอ่านสำคัญมากไหม ?

ทินกร : ครับ แต่ก็เป็นธรรมดาสำหรับอาชีพทุกอาชีพบนโลกก็ว่าได้ ซึ่งถ้าจะต้องเขียนเราก็คงต้องอ่านงานของคนอื่นๆ ด้วย จะได้เห็นมุมมองที่ต่างไป หรืออย่างน้อยก็จะได้เห็นว่าเขาก้าวไกลไปถึงไหนแล้ว ก็จะได้ให้ตัวเองรีบปีนป่ายขึ้นไปบ้าง ก็เป็นเรื่องของการแสวงหาความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ คือมันยากที่นักเขียนจะไม่อ่านงานของใครเลย

กิตติพล : มีงานเขียนชิ้นไหนที่ถือว่าเป็นงานสำคัญขนาดที่เปลี่ยนแปลงชีวิตหรือมุมมอง

ทินกร : คิดว่าตอบบ่อยแล้วนะ ก็คือตอนเด็กๆ ผมจะชอบงานของฮานส์ คริสเตียน แอนเดอร์สันมากเลย เดี๋ยวน็ยังชอบอยู่แล้วก็อีกเล่มหนึ่งก็คือมันมีแต่ละช่วงนะ บทเรียนของเฮสเสก็เปลี่ยน มาอ่านความตายอันแสนสุขของอัลแบรต์ กามูส์ก็เปลี่ยน มาอ่านร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวของมาร์เกซก็เปลี่ยน มาอ่านความเบาหวิวเหลือทนของชีวิตของคุนเดอราก็เปลี่ยน อ่านกลองสังกะสีของกุนเทอร์ กราสก็เปลี่ยน แต่ก็มีหนังสืออื่นๆ ด้วย ก็อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับจักรวาล ดาราศาสตร์ หรือปกรณัมต่างๆ แต่นี่เราพูดถึงในแง่วรรณกรรม ที่จริงก็ยังมีอีกหลายเล่ม อย่างหนังสือฉันกับฬาของฆวน รามอน เจมิเนซก็ชอบ

กิตติพล : เคยคิดจะแปลงานบ้างไหม ?

ทินกร : เคยมีคนเสนอให้ทำนะ แต่ก็ยังรู้สึกว่าอยากทำงานของตัวเองมากกว่า แปลนี่น่าจะเป็นงานในช่วงที่เราทำอะไรของตัวเองไม่ได้แล้ว คือไม่รู้สินะ คนอื่นอาจะมีเวลาอาจจะทำได้ แต่ไม่รู้สิถ้าแปลอารมณ์ความรู้สึกต้องมาอยู่กับตรงนี้ แต่ตอนนี้อยากเขียนงานของตัวเองมากกว่า อย่างมีหลายเล่มอ่านแล้วชอบ แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจมาเขียนของตัวเองมากกว่า

กิตติพล : แล้วถ้าจะมีงานแปลในชื่อของทินกร หุตางกูรนักเขียนต่างประเทศคนนั้นจะเป็นใคร

ทินกร : ก็มีซัลมาน รัชดีที่ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยสักเท่าไร ก็อยากจะแปลเหมือนกัน อ่านเรื่อง Midnight’s Children ก็ชอบ เออคนไทยไม่ค่อยสนใจงานของนักเขียนคนนี้ก็เลยอยากจะแปล แต่ก็ยังไม่ได้แปล

กิตติพล : อ่านงานของนักเขียนไทยหรือเปล่า ?

ทินกร : ก็มีนะวีร์วิศ ก็อ่านนะ งานไทยที่อ่านมากที่สุดก็คืองานของเพื่อนกัน ก็คืออยากจะรู้ว่าเพื่อนเขากำลังคิดอะไรอยู่ บางทีเพื่อก็ให้มาอ่านเพื่อขอข้อคิดเห็น

กิตติพล : ขณะที่มีนักเขียนไทยพูดว่าอยากให้งานของเราแปลเป็นภาษาต่างประเทศ แต่ก็มีนักเขียนต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่มองว่า ไม่ว่าจะเขียนด้วยภาษาใด งานของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้อยู่แล้ว มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ?

ทินกร : แต่ลึกๆ แล้วนักเขียนเกือบทั้งหมดละอยากจะให้คนอ่านงานของเราเยอะๆ คืออยากจะรู้ว่าคนอื่นคิดยังไงกับสิ่งเราเขียน คืออาชีพนักเขียนโดยเฉพาะในประเทศไทย เกี่ยวกับค่าใช่จ่ายนี่ก็เลิกพูดกันเลย มันก็คงอยู่กันลำบากมาถ้าเขียนอย่างเดียว ความสุขใจอย่างหนึ่งก็คือเรารู้ว่ามีคนที่รับได้นะ มีคนที่คิดเหมือนเรา อย่างคนที่อยากให้งานของเราแปลเป็นภาษาต่างประเทศก็เป็นธรรมดานะ ก็เพราะเราอยากจะรู้ว่าคนอื่นเขาคิดยังไง อย่างมันอาจจะเป็นคนละแง่กับคนที่คิดว่าเขียนอะไรก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นคนละจุดมุ่งหมาย เขาคิดในมุมที่ว่าเขาได้สร้างบางสิ่งให้กับโลกแล้วนะ เป็นอันหมดหน้าที่ของเขา เขาก็เก่งนะที่คิดแบบนี้ คิดแบบนี้ก็ดี มันทำให้เราสงบดี

ทินกร หุตางกูรในโลกแห่งความจริง

วีร์วิศ : ศิลปะแบบทินกรสามารถมองได้ว่าเป็นศิลปะแบบชนชั้นกลางได้หรือไม่ ?

ทินกร : น่าจะเป็นอย่างนั้น คือจริงๆ ก็ไม่กล้าพูดแบบนั้น คือมองว่างานเขียนของผมน้อยคนมากที่อ่านรู้เรื่อง มันเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่มเหมือนกัน ที่ว่าจะมีคนชอบก็ชอบ คนไม่ชอบก็ไม่ชอบเลย ถ้าพูดกันแบบจริงใจหน่อย ก็คือในประเทศนี้หาได้น้อยนะที่งานเขียนจะเป็นของคนในทุกชนชั้น ส่วนมากจะเป็นชนชั้นกลางนั่นละจะเป็นเป้าหมายหลังใหญ่ของคนที่จะอ่านงานประเภทนี้ ไม่ใช่ว่า คนที่ไม่ใช่ชนชั้นกลางจะอ่านไม่ได้ เพียงแต่คนที่อาจจะมีฐานะต่ำกว่าชนชั้นกลางโดยทั่วไปเขาก็อาจจะมีเรื่องวุ่นวายอย่างอื่น การอ่านหนังสือไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ หรือถ้าสูงขึ้นไปเขาก็จะรู้สึกว่ามีช่องทาง เขาอาจจะไปอ่านงานภาษาต่างประเทศเลย

วีร์วิศ : เป็นคำถามที่ชวนให้ลำบากใจหรือเปล่า ?

ทินกร : ไม่ได้ลำบากใจ แต่จะพูดยังไงดี จริงๆ แล้วไม่ต้องพูดถึงชนชั้นเลยก็ได้ เอาภาพรวม สังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมที่อ่านหนังสืออยู่แล้ว ชนชั้นกลางอาจจะอ่านหนังสือเยอะที่สุด แค่ร้อยสองร้อยคนจากคนจำนวนมาก แต่ก็อยู่ในชนชั้นนี้ละ

กิตติพล : หรือเพราะชนชั้นกลางมีกำลังในการบริโภค ?

ทินกร : ครับ หรือเข้าใจได้ว่าเขียนอะไรอยู่ โดยเฉพาะคนที่อ่านหนังสือของผม ก็ไม่ต้องชนชั้นอะไรหรอก เอาเพื่อนกันเองนี่ละ ที่เรียนกันมาด้วยกัน ก็บอกว่า อ่านงานของผมไม่เห็นเคยจะรู้เรื่องเลย ก็โอเค มันเป็นเรื่องปรกตินะ

กิตติพล : แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะเขียนงานโดยไม่ติดว่าคนอ่านจะต้องไล่ตามความคิดทุกอย่างได้หมด อย่างน้อยเราก็คงไม่สามารถให้ความกระจ่างกับทุกคนอยู่แล้ว

ทินกร : ที่จริงผมก็เขียนแบบนี้นะ แบบที่ชอบหนะก็ไม่สนใจหรอกว่าใครจะต้องเข้าใจไหม ก็มีคนบอกให้ปรับมัน ให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้ปรับ

วีร์วิศ : สำหรับงานเขียนที่เหมือนกับต้องปีนบันไดอ่าน ถ้าเป็นเพลงก็ต้องปีนบันไดฟัง ในวันหนึ่งแล้วจะถูกจำกัดไว้ที่วรรณกรรมแบบไหน ?

ทินกร : ผมไม่รู้ว่าโพสิชั่นมันต้องอยู่ตรงไหน ? คือผมเขียนในสิ่งที่อยากเขียน และก็เหมือนกับนักเขียนโดยทั่วไปที่อยากให้งานขายได้บ้าง สงสารตัวเอง สงสารสำนักพิมพ์ แต่ถามว่าแรงพอที่จะให้เปลี่ยนไปเขียนแนวที่ไม่อยากเขียนหรือเปล่า รู้สึกว่ายังทำไม่ได้ เพราะตัวเองก็พออยู่ได้โดยไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย ทางสำนักพิมพ์ก็ยังยิ้มแห้งๆ ก็คือ คุณก็เขียนของคุณไป ต่างฝ่ายก็ยังไม่ลดขั้นจากความสุขไปสู่ความรู้สึกในทางต่ำมากนัก ก็ยังโอเคกับสภาพตรงนี้ แต่พอเขียนเสร็จแล้ว ก็ไม่ใช่หน้าที่ของผม ตอนนี้ก็คิดแบบนี้ละ อาจจะเป็นเพราะตัวเองยังไม่มีแรงกดดันอะไร แต่เท่าที่มีบางคนที่รู้จักเป็นนักเขียนด้วยกัน ก็มีที่ไม่รู้ว่าจะไปพิมพ์ที่ไหน ไม่มีรายได้ ไม่มีบ้าน เขามีแรงกดดันมากกว่า

วีร์วิศ : แล้วในชีวิตของทินกร หุตางกูรสิ่งที่โชคดีที่สุดและโชคร้ายที่สุดคืออะไร ?

ทินกร : ก็คือเกิดมาเป็นแบบนี้ก็โชคร้ายมากแล้ว แต่เปรียบกับคนทั่วไปก็ถือว่าเลวร้ายน้อยมากเลย เออ มันก็เป็นโชคร้ายละ โชคดีมันคือว่า ผมก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปรกติโดยทั่วไปได้ค่อนข้างมาก คือไม่ได้คิดว่าตัวเองจะ…มากมายนักเท่าไร ก็รู้สึกบ้าง ก็มนุษย์มันบางอารมณ์ บางเวลา มันก็เซ็งหวะ แต่ก็ผ่านจุดนั้นมาแล้ว พอถึงขั้นที่ว่า เราคิดเป็น เฮ้ย! มันเป็นแบบนี้ก็ต้องเป็น ก็รับสภาพไปก็พยายามแบบจัดการกับตรงนี้ให้ดีที่สุด

วีร์วิศ : ช่วงเวลาที่ว่านี้เมื่อไร ?

ทินกร : ตอนวัยรุ่นนี่ละ เป็นจัดๆ เลย คือในช่วงที่อยากสนุกสนาน อยากไปไหนมาไหนคล่องแคล่วว่องไว มันก็มีบ้างแต่บอกก็คือผมจะโชคดีที่มีคนช่วยเหลือเยอะ คือผมอาจจะแบบไม่สามารถซื้อมอเตอร์ไซค์ ขับไปเที่ยว แต่ก็จะมีเพื่อนที่แบบมาซ้อนท้าย เดี๋ยวจะไปไหนก็ไป ความโชคดีก็คือผมจะมีคนช่วยเหลือโดยตลอด ทุกขั้นตอนของชีวิต อย่างตอนนี้ก็ถือว่าโชคดีมากที่ได้มาเจอพี่นิด ทำให้ชีวิตผมปรกติ ถือว่าค่อนข้างปรกตินะ คือไม่ได้รู้สึกว่าตัวเอง โอ้ย! มีอะไรมากมายนัก

วีร์วิศ : ช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่ดูจะมีปัญหามากที่สุด แต่งานเขียนส่วนใหญ่ก็นำเสนอชีวิตของตัวละครในช่วัยรุ่นแทบทั้งนั้น มีส่วนสัมผัสกัน ?

ทินกร : จริงๆ แล้วไม่ได้มีส่วนสัมผัสกันเลย คือว่า อย่างเมื่อกี้ที่บอกว่าเป็นช่วงที่แย่ที่สุด แต่จริงๆ แล้วก็แค่วูบวาบ โดยพื้นที่ที่เหลืออีกแปดสิบเปอร์เซ็นก็แทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย ผมก็มีสิ่งชดเชยแบบที่เล่าให้ฟัง

วีร์วิศ : การดูแลของครอบครัวนี้ทำให้ทินกรดูมีความเป็นเด็กหรือรักษาความเป็นเด็กไว้ได้นานหรือเปล่า ?

ทินกร : ผมไม่แน่ใจว่า รักษาความเป็นเด็ก… อันนี้ไม่รู้นะ แต่ว่างานเขียน ตัวละครของผมตั้งใจ เพราะผมชอบวัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงเวลาของความสดใส อุดมคติ และความสุข ก็จะมาขัดแย้งกับช่วงเวลาที่เราโตขึ้น อย่างวัยเด็กของตัวผมเอง ผมจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีความสุขนะ หรือลึกๆ แล้วผมอาจจะเป็นคนที่ต่อต้านระบบหรือเปล่าไม่รู้ และอะไรที่มีใครบอกว่าทำไม่ได้ก็จะลองดู อย่างตัวละครจอม ผมเองก็อยากจะทำให้มันเป็นตัวแทนของมนุษย์คนหนึ่ง อาจจะฟังดูโอหังไปหน่อย แต่ผมก็ไม่ได้มองว่าจะเป็นเด็กอายุเท่าไร แต่ชอบตัวละครอายุขนาดนี้ก็เพราะอยากจะเล่น ตัวละครอายุขนาดนี้เล่นกับลักษณะที่แตกต่าง อย่างด้านหนึ่งตัวละครอยากเดินทางไปดูรุ้งกินน้ำ กับอีกด้านที่รับฟังข้อมูลหนักๆ ข่าวสารปลาวาฬโดนฆ่าก็รู้สึกเจ็บปวด ผมอยากจะเล่นกับการกลับไปกลับมาระหว่างสองด้าน เพราะไม่อยากเขียนงานที่เป็นสำหรับเยาวชนอ่านไปเลยอย่างเดียว เพราะถ้าจะกลับมาพูดในประเด็นหนักๆ ก็จะทำไม่ได้อีก

วีร์วิศ : จริงๆ แล้วเป็นเด็กดื้อหรือเปล่า ?

ทินกร : ก็มีบ้างนะ กับพ่อแม่ก็น้อยนะ แต่ก็ดื้อบ้าง แต่ไม่ใช่ดื้อแบบน่าเกลียด ผมอาจจะได้รับอิทธิพลจากพ่อด้วยมั้ง คือในตอนที่ผมโตนี่ก็มีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ พ่อของผมซึ่งเป็นหมอก็มีความเห็นอกเห็นใจทางโน้นมากเลย ถึงกับร่วมกันตั้งพรรคการเมืองที่มีชื่อว่าพรรคพลังใหม่ ซึ่งเคยมีหมอประสาน ต่างใจเป็นหัวหน้า แล้วก็ตอนผมเด็กๆ ก็จะมีคนมาที่บ้านแล้วก็คุยกันเรื่องการเมือง ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ได้สนใจมากนัก แต่ก็ได้ยินบ้าง แล้วก็จะได้เห็นหนังสือที่พ่อเก็บเอาไว้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาจะค้นบ้าน ก็ยังจำได้ว่ามีการขนหนังสือ ตอนที่ช่วงผมเป็นเด็ก พ่อเคยทำงานในโรงพยาบาลรัฐ พ่อก็คือข้าราชการใช่ไหมครับ แต่พ่อก็ไปเขียน บทความลงหนังสือพิมพ์ไปว่าผู้ว่าก็เลยจะย้ายพ่อจากนครศรีธรรมราชไปกระบี่ พ่อไม่ยอมย้าย ก็ลาออกแล้วก็มาเปิดคลินิกส่วนตัวก็ช่วยเหลือ อย่างตอนที่มีปัญหาคนเข้าป่าก็มีคนลงมาเอายาที่บ้าน ไม่รู้สิ อย่างผมก็เลยมองว่าสังคมที่มันเป็นอยู่อย่างนี้จะต้องแก้ไข และประเทศไทยเองก็ค่อนข้างเป็นพวกหัวเก่าไปเสียทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ในการเขียน การเรียน การสอน เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งผมไม่ชอบเอาเสียเลย ผมไม่ชอบพวกอนุรักษ์นิยม ผมก็เลยต่อต้านมันหมดเลย ก็อาจจะสะท้อนออกมาในงานเขียนด้วย

วีร์วิศ : แล้วการนั่งรถเข็นนี่มีส่วนที่ทำให้จินตนาการของทินกรต้องกว้างไกลหรือเปล่า ?

ทินกร : ผมไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเอง คำถามนี้ แต่ถ้าพูดในหลักการทั่วไป คืออาจจะเป็นกฎแห่งความสมดุลก็คือเสียอะไรไป อีกอย่างก็จะมีแรงเพิ่มขึ้น อย่างตัวผมเองอาจจะไปไหนมาไหนไม่สะดวก หลักธรรมชาติก็คือผมน่าจะมีการใช้จินตนาการที่มากขึ้น การใช้บ่อยๆ ก็เหมือนกับการฝึกกล้ามเนื้อ หรือการฝึกทักษะในการเล่นดนตรี จินตนาการของเราอาจจะไปไกล แค่คิดนะ เป็นในแง่ของหลักเหตุผล ผมรู้สึกมีความสุขกับการจินตนาการ คือมีความสุขกับมัน คือถ้าผมไปไหนมาไหนสะดวก ส่วนที่เราต้องจินตนาการก็จะน้อยลง เราก็ได้ใช้ในสิ่งที่ตาเห็นมากกว่า

วีร์วิศ : อย่างนักเขียนร่วมสมัยส่วนใหญ่มักจะเขียนในเรื่องราวของตัวเอง หรือกระทั่งเปลี่ยนสถานภาพของตัวเองเป็นผู้เล่า แต่อย่างงานของทินกรจะไม่มีอะไรเหล่านี้เลย

ทินกร : ใช่ครับ มันคงต่างกันตรงที่ว่า ชีวิตของผม มันไม่มีอะไรน่าสนใจ อย่างนักเขียนคิดว่าน่าจะเกินครึ่งด้วยซ้ำที่เขาเขียนเกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง อย่างมาร์เกซเรื่องที่เราคิดว่ามหัศจรรย์จริงๆ ก็มาจากเรื่องราวในบ้านของเขาหมดเลย ผมอ่านนวนิยายชีวประวัติของเขา ก็ไม่น่าเชื่อเลย อย่างอะไรที่แปลกๆ เขาก็เคยเห็นมาแล้วนะ เขาอาจจะมาเสริมมันเข้าไปด้วยจำนวน อย่างมาร์เกซอาจจะใช้หลักในการคูณเพิ่ม มาร์เกซมองว่าเขาไม่ได้กำลังเขียนเรื่องเหนือจริงนะ เขาแค่เพิ่มอารมณ์ความรู้สึกให้กับเรื่อง เหมือนฝนที่จะตกลงมาแค่เดือนหนึ่งเขาก็อาจจะเพิ่มเข้าไปเป็นสี่เดือนหรือปีหนึ่ง ในความคิดของมาร์เกซนี่เป็นแค่การลงน้ำหนักให้กับเรื่องราว แต่ผมก็งงมากเลยว่า ทำไมชีวิตเขาถึงได้มหัศจรรย์ขนาดนี้ ผมอ่าน Love in the Time of Cholera เป็นชีวิตของพ่อกับแม่เขาเลย พ่อที่ทำงานที่ไปรษณีย์เป็นนักไวโอลินและกวี ไม่เคยมีงานเขียนรวมเล่มก็ไปช่วยโสเภณีเขียนจดหมายรักอะไรแบบนี้ หรืออย่างตัวละครที่มาโผล่ในงานเขียนของเขาจะเป็นตัวละครที่มาร์เกซเจอในตอนเด็กๆ อะไรแบบนี้ตลอด ก็คือสำหรับตัวผม ผมไม่คิดว่ามันมีอะไรที่สนุก เป็นสีสันของชีวิต คือพอคิดไปถึงชีวิตตัวเองก็เรียบง่ายสบายๆ ก็เลยทำให้รู้สึกไม่อยากจะเขียนอะไรเกี่ยวกับตัวเอง หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือผมสนุกกับการจินตนาการมั้ง ก็เลยมองตัวเองเหมือนพระเจ้าหรือนักสร้างหนังที่สร้างโลกอีกอันหนึ่งขึ้นมา แน่นอนแต่ละจุดที่เรายืนก็ส่งผลต่องานเรา ถ้าเราไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนี้ งานมันต้องต่างอยู่แล้ว งานเขียนมันมีความน่าสนใจตรงที่แต่ละคนก็มีความต่างกัน

วีร์วิศ : สิ่งที่ทำให้มีความสุขที่สุดคืออะไร ? เกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่เกิด ?

ทินกร : ก็ยังไม่มีอะไรที่รู้สึกว่า ผมลองมานั่งนึกดูว่าอยากได้อะไรจริงไหม ? หรืออยากได้มากเลย โอเค ผมก็มีที่อยากได้อะไรที่งี่เง่าหน่อยก็คือทีวีจอพลาสม่า หรือคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงอะไรแบบนี้ แต่ถ้าถามว่าเป็นเรื่องหลักๆ ใหญ่ๆ จริง ก็นึกไม่ออก เพราะผมก็รู้สึกว่าชีวิตจริง ที่เป็นอยู่ตอนนี้ โอเค สิ่งที่อยากได้คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ผมอยากจะเดินได้ แต่ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ผมอยากจะคิดให้พี่นิด แก่เฒ่าลงจะสบายนะ มีหลักฐานมั่นคงกว่านี้ ต้องเป็นแบบไหนนะถึงจะเรียกว่ามีความสุขมากๆ อาจจะเป็นในแบบที่ผมได้ทำงานที่สุดยอดแล้ว อาจจะเป็นความรู้สึกว่าได้เขียนงานแบบนี้ละ

วีร์วิศ : แล้วจากจุดที่นั่งอยู่นี่มองไปยังโลก ไม่ต้องไปไกล โลกรอบตัวเป็นอย่างไร

ทินกร : นั่น ผมว่ามันผิด ผมไม่เชื่ออะไรละ ผมไม่เชื่อระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังจะไปไหน คือมองไม่เห็นทางเลยว่า ระบบนี้กำลังจะพาเราไปไหน มีความสุขไปวันๆ เท่านั้นเอง

วีร์วิศ : แล้วจากหนังสือมากมายที่อ่านพอจะทำนายได้ไหมว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

ทินกร : ถึงที่สุดแล้วก็ต้องล่มสลายนะ แต่สิ่งที่หลายๆ คนกลัวก็คือ ขืนเรารอให้มันสลายไปเอง โลกนี้อาจจะไปก่อน ใช่ไหม ? คือระบบนี้มันทำลายโลกอย่างมากมายมหาศาลจนแบบถ้าเราสนใจว่ามันน่ากลัวมากเลย ส่วนคนที่คิดว่าไม่เห็นเป็นไรเลย เราก็ยังมีความสุขดีนี่หว่า ไม่ มันไม่เห็นเป็นไรนี่ ปัญหาเรื่องโลกร้อน ประเทศใหญ่ๆ อย่างอเมริกาเองก็เป็นห่วงแต่อุตสาหกรรมในประเทศเขามากกว่า จริงๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์หรือแม้แต่คนอเมริกาเองจะไม่รู้เลยหรือว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขาเลือกที่จะแบบ ไม่สนใจ ไม่เป็นไรหวะ อีกนาน ถึงขนาดที่เราอยู่ไม่ได้อีกนาน หรือแทนที่จะหยุดระบบนี้เขาก็อาจจะหาทางเลือกไปอยู่ดาวดวงอื่น ที่จริงแล้วมันอันตรายมากเลย แต่เราอาจจะนึกภาพไม่ออก อย่างภัยธรรมชาติที่เกิดก็จะรุนแรงขึ้น เชื้อโรคที่ระบาดก็จะรุนแรงขึ้น เหมือนอย่างที่เราเห็น ภัยพิบัติในทุกที่ที่เราเห็นจะเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงมากที่สุดในรอบสิบปี ยี่สิบปี ทุกอย่างจะรุนแรงขึ้นหมดเลย อย่างผมจะสนใจปัญหาเหล่านี้ เรามาถึงคำถามนี้หรือยัง ? คือมีคนหลายคนในวงเหล้ามานั่งด่ากัน อย่างก็ด่ากันเล่นๆ นะ เพราะเป็นเพื่อนฝูงกัน ทุกคนต่อต้านทุนนิยมมาก ทุกคนก็จะย้อนกลับมาว่า ก็ผมนั่นละตัวทุนนิยม เข้าคำถามหรือยัง ?

วีร์วิศ : ก็นี่ละเป็นคำถามตอนแรกที่ว่า ทินกรเป็นชนชั้นไหน ?

ทินกร : คือผมรู้ว่าถ้าจะวัดกันในสภาพความเป็นอยู่ ผมก็จะเป็นชั้นกลางที่ค่อนไปในทางต่ำ แต่ว่า…

วีร์วิศ : มันไม่น่าจะต่ำ เพราะสิ่งที่เสพหรือบริโภคมันก็เป็นอีกแบบ การที่เราจะตีว่าต่ำมันยาก

ทินกร : แต่ว่า คำถามคืออะไร ?

วีร์วิศ : คือเหมือนกับว่าขณะที่เราต่อต้าน แต่สิ่งที่เราทำก็เหมือนกับสนับสนุนอยู่กลายๆ

ทินกร : ใช่ๆ มันถูกนะ ผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน อย่างผมร่วมลงชื่อต่อต้านการสร้างเขื่อน แต่ก็เปิดไฟฟ้ามากเลย หรืออย่างไฟเหลืองๆ นี่เขาก็ว่ามันกินไฟมากกว่าสีน้ำเงินอีก แต่ผมก็ยังเปิด ผมเองก็รู้ว่าตัวเองเป็น แต่ก็พยายามที่แบบ… พูดด้วยความจริงใจเลยว่า อะไรที่สละได้ก็แบบเอามันออกไป แต่ว่าไม่กล้าจะพูดว่าทำได้ขนาดไหน แต่สิ่งไหนที่คิดว่าตัวเองสลัดได้ก็จะทำ อย่างแอร์นี่ก็ถอดไม่เอา กระทั่งชิน ก็ทรมานเหมือนกัน ได้มาหนึ่งอย่าง

กิตติพล : แต่การเพ่งเล็งกับชีวิตเพียงอย่างเดียวก็ไม่น่าจะใช่วิธีต่อต้านทุนนิยมนะ

ทินกร : ผมก็อาจจะมีลักษณะแบบที่ว่า คือยังมีความสุขกับการใช้ชีวิต และถามว่าตัวเองมีส่วนกับระบบที่ว่านี้หรือเปล่าก็คงต้องตอบว่าเป็น แต่ที่ต่อต้านก็คือ ในเมื่อประเทศไทยผลิตข้าว ทำไมเราจึงต้องนำเข้าข้าวจากที่อื่น อย่างเราซื้อเครื่องหนังของพราดาในอิตาลี แต่เด็กกี่คนละในยูโกสลาเวียหรือสาธารณะรัฐเชคต้องทำงานตั้งแต่เย็นจนเช้า หรือรองเท้าไนกี้คู่หนึ่งทำไมจึงต้องใช้แรงงานเด็กในประเทศยากจนตั้งเท่าไรผลิตออกมา แทนที่เด็กเหล่านั้นจะได้นอนในเวลากลางคืน ใช่ไหม ? บริษัทก็คิดแต่ว่าเมื่อสินค้าขายดี ก็ต้องเร่งการผลิต แล้วเด็กละ ? ประชาชนที่ไม่มีทางเลือก ประเทศที่ยากจนหน่อยก็ต้องทำ ซึ่งผมว่ามันโหด ถ้าเราจะรู้สึกว่าทุกสิ่งที่มียี่ห้อ แทนที่จะยอมลดให้เด็กได้สบายขึ้นหน่อย ทำไมเราลดไม่ได้ อย่างนี้มากกว่าที่ผมไม่เห็นด้วย

วีร์วิศ : แล้วมนุษย์จำเป็นต้องมีชีวิตยืนยาวไหม ?

ทินกร : มันอยู่ที่ว่าเรายังมีอะไรต้องทำอะไรอีกไหม ? ถ้าอยู่มีชีวิตยืนยาวแล้วเราเป็นภาระคนอื่นก็ไม่จำเป็น ดูรายการคนค้นคน อย่างคุณลุงคนหนึ่งที่ปลูกต้นไม้เป็นป่าเลย อย่างนี้ผมอยากให้เขามีอายุยืนยาวไปสักร้อยห้าสิบปี แต่ถ้าโดยส่วนตัวก็ไม่จำเป็นนะ ถ้าเราได้ทำอะไรที่อยากทำแล้ว

วีร์วิศ : การฆ่าตัวตายเป็นบาปไหม ?

ทินกร : มีอยู่ช่วงหนึ่งนะที่ผมมองว่าเป็นสิทธิส่วนตัว แต่ตอนหลังเชื่อว่าเป็นบาป ตอนนี้ผมกำลังมีปัญหากับตัวเอง ตรงที่เชื่อว่ามีพลังบางอย่างที่ควบคุมเราอยู่ ผมอยากจะเชื่อว่า มนุษย์ไม่ได้เกิดมาด้วยความบังเอิญมันมีภาระหน้าที่บางอย่างอยู่ คือทุกชีวิตบนโลก ดังนั้นการจบชีวิตจึงควรจะเป็นการมอบหมายของบางสิ่งบางอย่างที่ผมว่า

วีร์วิศ : สามารถแยกตัวเองจากความทุกข์ได้หรือเปล่า ?

ทินกร : ไม่ได้ ผมก็พยายามปลอบใจตัวเองว่าเป็นบททดสอบ แต่ถ้าเรามีความทุกข์แล้วกระโดดตึกตาย ก็เพราะว่ามันถูกกำหนดให้เป็นอย่างนั้นแล้ว อาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ แต่ว่าจริงๆ แล้ว โอเค ทุกคนละเวลาเจ็บหนักก็ไม่มีใครอยากอยู่ แต่ถ้าคิดอีกแง่ พอผ่านตรงนี้ไปแล้วเราอาจจะได้เจอความสุขบางอย่างที่ยอดเยี่ยม

วีร์วิศ : เป็นการหลอกลวงในยีนส์ของมนุษย์เลยหรือเปล่า ?

ทินกร : จะบอกว่าเป็นการหลอกลวงเลยก็คงไม่ได้ อันนี้ละมันอาจจะเป็นข้อดีของการไม่รู้อนาคต เราทุกข์หนักแต่ถ้าเรารู้อนาคตแล้วว่ามันไม่หาย อย่างนั้นเราก็กระโดดตึกเลย คือมนุษย์ที่ผมว่า มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่สุดยอดมากเลยก็คือมันมีความหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดเลยของเรา เหมือนอย่างที่ถามเมื่อกี้ว่า ถ้ามีคนๆ หนึ่งที่เป็นโรคร้ายแล้วก็เจ็บหนัก ถ้าเขาไม่มีความหวังเลยเขาก็ฆ่าตัวตาย มันอยู่ที่ระบบคิด แต่เพราะเราไม่รู้อนาคตไง ถ้าเราแค่คิดว่า อย่าเพิ่งนะ อย่าเพิ่งฆ่าตัวตายนะ มันอาจจะมีวันที่ดีกว่านี้ก็ได้ มันเหมือนกับเราเดินข้ามทะเลทรายหนะ เราหิวน้ำแทบตาย และไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเรากัดฟันเดินไปอีกหน่อย แต่ถ้าเราได้เจอโอเอซิสได้กินน้ำ เราอาจจะรู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของชีวิต ผมเพียงแต่บอกว่า สำหรับผมนะ สำหรับคนอื่นผมมองว่าก็เป็นสิทธิของเขา ก็คือผมอยากจะมองว่า ชีวิตของผมมันขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น ที่เป็นพลังบางอย่างที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร ซึ่งเรามักจะใช้คำแทนว่า พระเจ้า

วีร์วิศ : แล้วในทางกลับกัน เคยมีความสุขจนไม่อยากจะมีพรุ่งนี้ไหม ? อยากจะตายเสียให้รู้แล้วรู้รอด ?

ทินกร : ไม่เคย เป็นไปได้ แต่คนนั้นจะต้องเป็นพวกสุดขั้วอย่างมหาศาล มีหนังฝรั่งเศสเรื่องหนึ่งชื่อ Hairdresser’s Husband ทำออกมาแบบนี้เลย มีผู้ชายคนหนึ่งมาหลงรักนางเอก ผู้ชายคนนี้ก็ไม่ได้หล่ออะไร แต่เขารักเธอมาก รักจนไม่รู้จะว่ายังไง วันๆ ก็ไม่ทำอะไร ได้แต่ชื่นชมเธอ คุณช่างสวยเหลือเกิน จนนางเองรู้สึกสำลักความสุข ไปกระโดดตึกฆ่าตัวตาย

วีร์วิศ : แต่มนุษย์ในทุกวันนี้ก็มีชีวิตหรือบริโภคเหมือนกับว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว

ทินกร : ใช่! ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่ามันผิด คือเราเอาแต่อะไรที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า และเพราะระบบนี้มันทำให้การเกื้อกูลกันมันหายไป ก็นี่ละที่ทำให้เห็นแต่ข้อเสียของมัน

วีร์วิศ : มนุษย์อยากจะไปให้ได้เร็วด้วยยานพาหนะ หรืออุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม มองว่าเมื่อมนุษย์เร็วถึงจุดหนึ่งแล้วมนุษย์จะไปไหน ?

ทินกร : นี่ละ มันก็มีศัพท์ของกวีที่ว่า Run to the Empty วิ่งไปสู่ความว่างเปล่า มันได้อะไรละ มันไม่ได้อะไร เหมือนอย่างที่มิลาน คุนเดอราเขียนโดยยกบทกวีของอาตูร์ แร็งโบด์มาว่า เขามีความสุขที่ได้เดินในชนบท อาจจะเดินไปที่นี่ละ แต่มันมีความสุข เพราะได้ดูสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายทาง แต่เดี๋ยวนี้เราคิดแค่ว่าเราจะไปแค่ถึงจุดหมายเท่านั้น และเราก็สูญเสียอะไรไปตั้งหลายอย่าง ยกตัวอย่าง อย่างตอนที่ผมไปเที่ยวน้ำตกกับเพื่อนตอนเด็กๆ ก็ไปกับเพื่อนๆ หลายคนเลย แต่เพื่อนก็บอกว่าน้ำตกชั้นล่างไม่สวยอะไรหรอก ข้างบนสวยกว่านี้เยอะ พวกมันก็บอกว่าเดี๋ยวพาไป มันก็ช่วยกันลากจูงไปจนถึงที่เลย ก็สวย สวยมากเลย กับตอนเมื่อไม่นานนี้เองมั้ง ตอนที่ผมไปตาก แล้วก็เพื่อนชวนไปดูทะเลหมอก รถโฟร์วิลก็ขึ้นถึงเลย มันก็สวยนะ แต่ก็ไม่รู้สึกว่าคุณค่าหรือความสุขความตื้นตันที่เพื่อนมอบให้เรา ซึ่งนั่งคุยกับเพื่อนบางครั้งน้ำตามันก็ซึมๆ เหมือนกันนะ พูดถึงตอนที่แบบช่วยกันพากันขึ้นไป ไปทีละนิด เหนื่อยก็พัก แต่ถามว่าทะเลหมอกสวยไหม ก็ดีนะแต่พอนั่งรถขึ้นไปเราก็เลยไม่รู้สึกว่าไอ้การขับรถมันมีคุณค่าอะไรมากนัก แต่สิ่งที่เราได้ตอนนี้กับสิ่งที่เราเสีย มองว่ามันไม่คุ้มกัน ขณะที่เราได้ความสะดวกสบายแทบทุกอย่าง เรากลับทำให้โลกเสื่อมสลายลงอย่างเร็ว

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...