กิติคุณ คัมภิรานนท์

กวีเลือดใหม่อนาคตไกล กิติคุณ คัมภิรานนท์  ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย ‘บทกวี’ ไม่เคยห่างหายหรือเสื่อมมนตร์ขลังลงเลย ทว่าแม้ปัจจุบันบทกวีจะยังคงมีชีวิตอยู่เราก็อาจหา ‘กวี’ ผู้สามารถใส่ความร่วมสมัยลงในฉันทลักษณ์ได้น้อยเต็มที


แต่ในจำนวนน้อยกว่าน้อยนั้น มีชื่อของ ‘กิติคุณ คัมภิรานนท์’ อยู่ด้วยอย่างแน่นอน ความสามารถและประสบการณ์อันโชกโชนซึ่งแปรผกผันกับอายุของเขานั้น ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นสามารถสะท้อนความหมายของชีวิต ‘ร่วมสมัย’ ได้ชนิดบรรทัดต่อบรรทัด นั่นทำให้ผลงานรวมบทกวี “กวีนิพนธ์ของคนบ้า” ได้รับรางวัลของโครงการศิลปะเพื่อเยาวชนไทย Young Thai Artist Award 2006 และล่าสุดเรื่องสั้น “หมาขี้เรื้อน” และบทกวี “เพลงดอกรักในม่านระเบิด” เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2552 หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็ต้องถือว่า กิติคุณคืออีกหนึ่งกวีผู้ทำหน้าที่สืบสานลมหายใจกวีให้ยืนยาวต่อไปนั่นเอง

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นกวี และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นกวี
เหตุผลที่ทำให้ผมเริ่มเขียนหนังสือก็คงไม่แตกต่างไปจากนักเขียนหรือกวีคนอื่นๆ สักเท่าไหร่ คือหลังจากอ่านงานเขียนของคนอื่นๆ มาเยอะ ก็เกิดคันไม้คันมือ อยากเขียนงานของตัวเองบ้าง เมื่อนั้นเอง ผมจึงเริ่มเขียนหนังสือ

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผมยังคงเขียนหนังสือนั้น ขอมองในแง่ที่ว่า ถ้าเทียบกับนักเขียนรุ่นพี่ๆ แล้ว ผมยังเป็นเพียงเด็กเมื่อวานซืนเท่านั้น ผมเขียนหนังสือมาได้ยังไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ เรียกได้ว่ายังยืนอยู่บนช่วงของการเริ่มต้นเป็นนักเขียน ซึ่งโดยธรรมชาติของช่วงนี้ ไฟยังคุกรุ่น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่วนเวียนอยู่ในสมอง รอให้เขียนถึง และยังคงมีเรื่องราวหรือเหตุการณ์อีกมากมายในอนาคตที่รอให้ผมก้าวไปประสบ เพื่อที่จะเก็บกลับมาถ่ายทอดเป็นงานเขียนในวาระต่อไป เรียกได้ว่าผมยังอยู่ในช่วงที่ยังมีไฟ มีเรื่องที่อยากเขียน ผมจึงยังคงเขียนหนังสืออยู่ ก็หวังเพียงว่าไฟและเรื่องราวเหล่านั้นจะยังไม่มอดหรือเลือนหายไปในอนาคตอันใกล้

คุณลักษณะของนักกวีที่ดี และต้นแบบในการเขียนกวีของคุณ
ต้องสารภาพตามตรงว่า ผมเองก็ไม่ทราบ และไม่อยากหาข้อสรุปว่าความเป็นกวีที่ดีหรือไม่ดีนั้น ชี้ชัดวัดค่าได้จากตรงไหนหรืออะไร เพราะขึ้นชื่อว่ามนุษย์ แม้จะคลานออกมาจากท้องพ่อท้องแม่เดียวกัน ก็ไม่มีทางเลยที่จะเหมือนกันไปหมดทุกอิริยาบถหรือทุกเสี้ยวความคิดความรู้สึก มนุษย์มีความแตกต่าง กวีเองก็เป็นมนุษย์ ดังนั้นก็ย่อมแตกต่างกันไป และในทัศนะของผม มันเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดหรือนิยามคำว่า ‘ดี’ ได้ ดีของคนหนึ่งอาจเป็นเลวสุดกู่ของอีกคน กวีที่คนหนึ่งมองว่ามีคุณลักษณ์ดีเยี่ยม เหมาะสมจะเป็นกวี อาจไม่มีความหมายใดๆ เลยสำหรับอีกคน สำหรับผม ใครจะมีคุณลักษณ์ของความเป็นกวีที่ดี หรือใครจะเป็นกวีที่ไม่ดีอย่างไรก็คงไม่มีปัญหา งานเขียนหรือบทกวีของเขานั่นต่างหากที่ผมเห็นว่า ควรค่าแก่การพินิจพิจารณา

ส่วนกวีต้นแบบของผม คงเป็นการยากอีกเช่นกันที่จะชี้ชัดได้ว่าเป็นใคร รู้เพียงว่าผมเติบโตมากับบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อังคาร กัลยาณพงศ์, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และกวีไทยอีกหลายๆ ท่าน เช่นเดียวกับที่ผมเริ่มต้นการอ่านในวัยเด็กที่งานของเฮอร์มัน เฮสเส อ่านงานของรพินทรนาถ ฐากูร ในขณะที่เมื่อโตขึ้น ผมชื่นชอบงานของประกาย ปรัชญา ได้อ่านงานของปาโบล เนรูด้า และกวีทั้งไทยเทศอีกมากมายหลายท่าน ผมเชื่อว่านักกวีทั้งที่เอ่ยนามไปและทั้งที่ไม่ได้เอ่ยนามไป ไม่มีใครเป็นต้นแบบในการเขียนบทกวีของผมอย่างชัดเจน มากที่สุดก็คือส่งมอบอิทธิพลแก่ผมในช่วงเวลาหนึ่ง และผสมผสานหลอมรวม ให้แรงบันดาลใจ ให้แง่คิดคมคำในการเขียนบทกวีของตัวผมเอง

สิ่งสำคัญที่สุดในบทกวีชิ้นหนึ่ง
ผมมองบทกวีเป็นเพียงแขนงหนึ่ง เป็นรูปลักษณ์หนึ่งของงานเขียนเท่านั้น เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในบทกวีชิ้นหนึ่งสำหรับผม จึงไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่สำคัญที่สุดในงานเขียนประเภทอื่นๆ ซึ่งก็คือเนื้อสาร หรือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการส่งผ่านไปสู่ผู้อ่าน อาจเป็นสุนทรียภาพ อาจเป็นความรู้ อาจเป็นคมคิด อาจเป็นแรงบันดาลใจ หรืออาจเป็นคบไฟให้ผู้อ่านใช้ส่องทางในความมืด นั่นคือสิ่งที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดในงานเขียนของเราไม่ว่าเราจะเขียนงานออกมาในรูปแบบใด และมันจะยิ่งวิเศษมาก หากผู้อ่านทราบ หรือแม้กระทั่ง ‘ซาบ’ ถึงสิ่งที่เรานำเสนอ ผมว่าแค่นั้นมันก็เพียงพอแล้วสำหรับนักเขียนหรือกวีคนหนึ่ง

ปณิธานสูงสุดในฐานะกวี
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงตอบคำถามนี้ไปว่า คือการได้รางวัล คือการมีชื่อเสียง คือการได้รับการยอมรับนับถือ แต่หลังจากได้วนเวียนอยู่ในแวดวงการเขียนมาสักระยะ รวมถึงได้มองเห็นความเป็นไปของโลกมาช่วงเวลาหนึ่ง ผมก็ได้ตระหนักว่า ความเป็นกวีหรือความเป็นนักเขียน ในแง่หนึ่งก็ไม่ต่างจากอาชีพทั่วๆ ไป ที่มีเป้าประสงค์สูงสุดคอยกำกับ กวีและนักเขียนต่างก็ต้องการเงินเลี้ยงชีพ ต่างก็ต้องการการยอมรับนับถือในผลงาน เหมือนกับที่มนุษย์เงินเดือนทั่วไปต้องการ ต่างแต่เพียงกวีหรือนักเขียนอาจมีอุดมคติ มีความฝันสูงสุดที่อยากเห็นสังคมเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนทำงานเอ็นจีโอ หนำซ้ำ กวีหรือนักเขียนยังด้อยกว่าเอ็นจีโอเสียอีก ในแง่ที่ว่าในขณะที่เรากำลังเขียนอุดมคติบนหน้ากระดาษ เอ็นจีโอกำลังสร้างโลกอุดมคติด้วยหยาดเหงื่อของเขา แต่ก็นั่นแหละ มันก็ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังทำสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ถ้าหากงานของเราสามารถทำให้ใครคนหนึ่งเกิดพุทธิปัญญา เกิดจินตนาการ เกิดมุมมองใหม่ๆ หรือเกิดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตหรือการปฏิสัมพันธ์กับโลกใบนี้ แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทั้งโลกภายในตัวบุคคล หรือโลกภายนอก ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ผมว่าสิ่งที่เราทำก็ไม่เปล่าประโยชน์หรอก
แต่ก็นั่นเอง มันจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสามารถสร้างงานที่มีพลังเช่นนั้นได้หรือเปล่า

วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มต้นที่ไหนและจบลงที่ไหน
ต้องขอสารภาพว่า ผมเป็นนักเขียนที่นิสัยเสียคนหนึ่ง ตรงที่ว่างานเขียนชิ้นหนึ่งของผมนั้น เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจฉับพลันเสียเป็นส่วนใหญ่ และร้อยละ 90 ของงานทั้งหมดที่ผมเขียนออกไป ไม่ได้ผ่านกระบวนการวางโครงสร้างพล็อตเหมือนที่นักเขียนที่ดีทั่วไปกระทำกัน

แต่ก็นั่นเอง ดังที่ผมกล่าวไปตั้งแต่ต้น ว่าถึงที่สุดแล้ว คำว่า ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ แท้แล้วมันอาจไม่มีตัวตน ผมเองก็เคยเขียนแบบวางพล็อตเข้มงวด แต่สุดท้ายงานก็ออกมาไม่ได้ดั่งใจ จนผมค้นพบว่า ตัวเองสามารถเขียนงานที่ตัวเองพอใจได้ ก็โดยอาศัยการทำงานแบบอาศัยแรงบันดาลใจฉับพลัน คือเมื่อเกิดแรงบันดาลใจ ผมก็ลงมือเขียน และออกเดินทางไปพร้อมๆ กับงานเขียนของตัวเอง ในขณะที่ผมเขียนงาน งานก็กำลังเขียนผม ผมไม่ได้รู้มากกว่างานเขียนของตัวเอง เราต่างอาศัยอยู่ในกันและกัน และสุดท้าย เราต่างก็พอใจซึ่งกันและกัน

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 278
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...