ปราบดา หยุ่น

นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2545 จากรวมเรื่องสั้น “ ความน่าจะเป็น ” ปราบดา หยุ่น

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน

ความอยากเขียนมีมาตั้งแต่เด็ก ระหว่างเป็นนักเรียนก็มักเขียนเรื่องสั้น คิดพล็อตเรื่องไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา แม้จะไม่เคยมั่นใจว่าจะสามารถเป็นนักเขียนอาชีพได้ ก็คิดว่าอย่างน้อยจะพยายามทำงานเขียนเป็นงานอดิเรกไปด้วย ในชีวิตนี้ถ้าได้พิมพ์หนังสือออกมาสักเล่มก็จะดีใจ

สำหรับผม การเขียนหนังสือหรือความอยากเขียนจึงเป็นธรรมชาติ เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นเองโดยไม่เกี่ยวกับคำว่าอาชีพเท่าไรนัก เหมือนกับการวาดรูป ที่บางวันจู่ๆ ก็อยากวาดขึ้นมา ไม่มีใครบังคับ ไม่มีแรงกดดัน บางคนอาจเรียกว่าความคัน คันที่จะทำ และเมื่อได้ทำแล้วจริงๆ ถึงขนาดเป็นอาชีพ มีแฟนหนังสือคอยตามอ่าน ก็ถือเป็นความสุขอันดับต้นๆ ของชีวิตที่อยากรักษาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมค่อนข้างเชื่อว่าธรรมชาติกำหนดหน้าที่ของมนุษย์แต่ละคนในสังคม หน้าที่ตอนนี้ของผมคงเป็นการเขียน หรือการทำงานศิลปะ ผมไม่คิดว่ามันเป็นทางเลือก แต่คิดว่าเป็นธรรมชาติ โชคดีที่มันเป็นหน้าที่ที่ผมเองก็ชอบ นี่คือเหตุผลที่ยังคงจะเขียนหนังสือต่อไป จนกว่าผมจะทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือธรรมชาติเปลี่ยนให้ผมไปทำอย่างอื่น

ปัจจุบันนี้การเขียนหนังสือยังเป็นกิจกรรมที่ท้าทายที่สุดขณะทำ และอิ่มเอมที่สุดเมื่อทำเสร็จ คำว่า “นักเขียน” ในทัศนะของคุณต้องมีคุณลักษณะอย่างไร และใครคือ “ต้นแบบ” ในการเขียนหนังสือของคุณ

นักเขียนมีหลายรูปแบบ แต่สำหรับผม นักเขียนคือผู้ใช้ทักษะและศิลปะทางภาษาในการบันทึกความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ธรรมชาติของนักเขียนแบบนี้ น่าจะต้องชอบศึกษาความเป็นมนุษย์ น่าจะต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิดทบทวน หาความรู้เพิ่มเติมเสมอ มีความเข้าใจความเป็นไปต่างๆ ได้กว้างพอสมควรโดยไม่ยึดติดมากนัก

ผมไม่คิดว่าคนทำงานศิลปะคือผู้ชี้นำสังคม แต่เป็นผู้สะท้อนและวิเคราะห์สังคมมากกว่า นักเขียนจึงน่าจะเขียนสะท้อนรายละเอียดทุกๆ แบบที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ได้ คนอ่านจะเป็นคนตัดสินเองว่านักเขียนคนไหนสามารถนำสังคม หรือเป็นเสียงของสังคม ผมไม่คิดว่าตัวนักเขียนควรคิดไว้ในหัวว่าจะชี้นำ ผมไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่กำหนดได้โดยตัวนักเขียนเอง

อาจไม่สำคัญนักที่นักเขียนต้องทดลองหรือเล่นกับขนบทางภาษา แต่ผมมักชอบคนที่ทำ นอกจากจะสนุกตามไปด้วยแล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในทุกสิ่ง ยิ่งถ้าสามารถเล่นกับภาษาอย่างเมามันเท่านักเขียนอย่างเจมส์ จอยซ์ ยิ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนตั้งคำถามกับขนบและกรอบต่างๆ ได้มาก ผมเชื่อในการตั้งคำถาม เชื่อในการท้าทายธรรมเนียม เพราะมันมักจะทำให้เกิดการตรวจสอบที่เป็นประโยชน์

ต้นแบบของผมสมัยเด็กกว่านี้คือฮิวเมอริสต์ หรือครูอบ ไชยวสุ เรียกได้ว่าทั้งชีวิตและผลงานของครูอบคือภาพของความสมบูรณ์แบบในความเป็นมนุษย์ในสายตาของผม งานของแกสนุก ตลก แสบสันต์ ทันสมัย หลากหลาย แฝงการสะท้อนสังคม มีความรู้ความเข้าใจทางภาษาดีเยี่ยม ทั้งไทยและอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันก็สื่อออกมาอย่างสบายๆ ไม่แสดงตัวเป็นปราชญ์หรือเป็นผู้นำอะไร ไม่ยัดเยียดอุดมการณ์อะไรให้ใคร ในชีวิตจริงก็มีทั้งด้านที่มีสีสัน คบค้าสมาคมกับคนน่าสนใจแห่งยุคสมัยทั้งนั้น แต่ก็มีด้านสงบ อยู่บ้านเงียบๆ มีครอบครัวที่ดี ตายเพราะชราภาพ ผมนึกไม่ออกเลยว่าชีวิตใครจะดีไปกว่านั้น

ผมไม่ค่อยได้กลับไปอ่านงานของครูอบเท่าไรนัก และผมได้รู้จักงานนักเขียนอีกหลายคน แต่ถ้าถามว่าต้นแบบเป็นใคร ก็ต้องเป็นครูอบ ถ้าผมทำได้ครึ่งหนึ่งที่แกเคยทำ ผมก็คงพอใจแล้ว

แต่อย่างที่บอกว่านักเขียนมีหลายรูปแบบ ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี ไม่ใช่ทุกคนต้องเป็นอย่างคนที่ผมชอบ ตราบที่แต่ละคนเขียนได้มีคุณภาพในสาขาของตัวเอง ยกตัวอย่าง ผมไม่ชอบงานแดน บราวน์ ไม่ใช่เพราะเขาเขียนนวนิยายแนวนั้น แต่ที่ไม่ชอบเพราะผมรู้สึกว่าเขาเขียนได้ไม่ดี ไม่มีศิลปะในการเขียนที่น่าประทับใจ ถ้าเขาเขียนได้ดีผมก็จะชอบ ที่จริงแนวที่แดน บราวน์เขียนก็คือหนังสือแนวเชอร์ล็อค โฮล์มส์ของยุคสมัยนี้ ซึ่งตอนเด็กผมติดงอมแงม แต่คนเขียนสมัยก่อนเขียนได้มีศิลปะกว่ามาก หรืออย่างพวก chic lit ผมไม่อ่านเลย แต่ไม่อ่านเพราะไม่สนใจเนื้อหาของมัน ไม่ใช่เพราะไม่ชอบที่นักเขียนไปเขียนเรื่องทำนองนั้น ถ้าเขาเขียนดี ผมก็ว่าไม่เป็นปัญหา ผมไม่อ่านก็มีคนอ่านเป็นล้านอยู่แล้ว ขอให้เขียนดีเถอะ

ที่สำคัญ นักเขียนคือคนที่ต้องมีงานเขียน หรือเขียนอยู่เสมอ ไม่ใช่เรียกตัวเองว่านักเขียนแต่ไม่เขียนอะไรเลย การเคยเขียนมาแล้วไม่ได้แปลว่าเป็นนักเขียน มันแปลว่าเคยเป็นนักเขียนมากกว่า เวลาผมไม่ได้เขียนอะไร ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเขียน กระดากปากที่จะเรียกตัวเองว่านักเขียนด้วยซ้ำ เรียกว่าเป็นนักอ่านยังดีกว่า เพราะอ่านทุกวันจริงๆ การเป็นนักเขียนหรือศิลปินไม่น่าจะเป็นนามธรรมขนาดนั้น ถ้าไม่เขียนก็ไม่ใช่นักเขียน

ปณิธานสูงสุดในฐานะ “นักเขียน” ของคุณคืออะไร และถึงวันนี้ คุณทำได้สมปณิธานที่คุณตั้งไว้หรือยัง

ปณิธานสูงสุดคือเขียนให้ได้อย่างที่คิด เท่านั้นเอง เพราะโดยปกติกระบวนการคิดจะซับซ้อนและสนุกสนานกว่าตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ ผมรู้สึกว่าบ่อยครั้งเขียนไม่ได้ดั่งใจ แต่มีหลายครั้งที่ตัวหนังสือบนหน้ากระดาษดีกว่าสิ่งที่คิดอยู่ ก็ปนๆ กันไป

ในทัศนะของคุณ สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี คืออะไร และทำไม

ความน่าอ่าน ไม่ว่าจะในรูปแบบใด เพราะถ้าไม่น่าอ่าน ก็ไม่รู้จะมีขึ้นมาทำไม

การที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งจะได้ชื่อว่า “ห่วยแตก” นั้น คุณคิดว่ามีเหตุผลมาจากอะไร

บางทีผมคิดว่าไม่มีอะไรที่ห่วยแตก มีแต่สิ่งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์

ณ วันนี้ คุณมอง “วงการวรรณกรรมไทย” เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับ “วงการวรรณกรรมต่างประเทศ”

ในแง่ของความเป็นวงการ ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ทางการอ่านและการเขียนที่แข็งแรงทั้งหลาย ย่อมต้องยังมีระบบที่ชัดเจนและต่อเนื่องกว่าวงการในเมืองไทย แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพของการเขียนและการอ่าน คงจะคล้ายๆ กันยิ่งขึ้นทุกที คนอ่านหนังสืออย่างเป็นกิจวัตรน้อยลง นักเขียนที่โดดเด่นมีน้อยลง และหนังสือใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจในระดับกว้างมีน้อยลง

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก วรรณกรรมอาจจะถึงจุดอิ่มหรือจุดเปลี่ยนบางอย่างแล้วก็ได้ เพราะจะว่าไป พูดถึงวรรณกรรมดีๆ โลกของเราก็มีอยู่มากมายในปริมาณที่ชีวิตคนคนหนึ่งก็อ่านไม่หมด ที่จริงไม่จำเป็นต้องมีคนเขียนเรื่องใหม่ๆ เพิ่มก็ได้

ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเป็นพิเศษคือคนวรรณกรรมไทยมีความยึดติดสูง ยึดติดว่าอะไรคือวรรณกรรม มีความเชื่อฝังลึก มีทัศนคติจำกัด และมีอคติกับสิ่งแปลกปลอม ทั้งๆ ที่ความรู้ความเข้าใจทางวรรณกรรมไม่กว้างขวางอย่างเป็นระบบนัก ผมคิดว่านิยามของคำว่าวงการวรรณกรรมไทยอาจจะเกิดขึ้นมาในยุคหนึ่ง ยุคที่นักเขียนถูกสรรเสริญหรือสำคัญตนเป็นปราชญ์ เป็นผู้นำทางอุดมการณ์ เป็นชีวิตที่โรแมนติก หรืออะไรต่างๆ ที่เป็นภาพลักษณ์ และปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อเหล่านั้นหลงเหลืออยู่มาก ทำให้ประเด็นของการเขียนไม่ค่อยหลากหลายเท่าที่ควร

ที่น่าสนใจคือคนวรรณกรรมจำนวนไม่น้อยมีทัศนคติไม่ดีกับคำว่าปัจเจกนิยม ตีความว่าคือการสนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจสังคม แต่ผมกลับรู้สึกว่าวงการวรรณกรรมไทยมีแต่งานแบบปัจเจกนิยมทั้งนั้น เพราะงานเขียนส่วนใหญ่เขียนความรู้สึกตัวเอง ทัศนคติของตัวเอง อุดมการณ์ตัวเอง โดยไม่มีการค้นคว้าข้อมูล ไม่มีการศึกษาอะไรเพิ่มเติมเท่าไรนัก ในขณะที่นักเขียนต่างชาติส่วนใหญ่จะต้องทำงานหนักในการหาข้อมูลก่อนจะเขียนหนังสือสักเล่ม เขามักจะสนใจเขียนเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ จึงต้องไปศึกษาก่อน แต่นักเขียนไทยมักเขียนเรื่องที่ตนคุ้นเคยและเชื่อแล้ว

ที่ทางและทิศทางของ “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ของไทย ณ วันนี้ ในทัศนะของคุณเป็นอย่างไร

โดยธรรมชาติ ไม่ว่าที่ไหนในโลกวรรณกรรมสร้างสรรค์เป็นพื้นที่เล็กๆ ของคนกลุ่มน้อย และในเมืองไทย วรรณกรรมที่จะเรียกว่าสร้างสรรค์จริงๆ ก็มีไม่มาก หลายคนตีความคำว่าสร้างสรรค์เป็นการสร้างสรรค์จรรโลงสังคม แต่คำว่าสร้างสรรค์ที่ผมเข้าใจคือคำว่า creative หรือ artistic นั่นคือมีความน่าตื่นเต้นทางการทดลอง มีความแปลกใหม่ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ซึ่งเท่าที่เห็นในเมืองไทยก็มีบ้าง แต่น้อย

ที่จริงผมเห็นว่าสังคมไทยมีประเด็นมากมายที่น่าเขียนถึง ผมอยากอ่าน โดยเฉพาะบางเรื่องที่ผมไม่สามารถเขียนเองได้เพราะไม่รู้พอ อยากให้คนอื่นเขียนกันเยอะๆ อย่างช่วงไหนมีข่าวพระมั่วเซ็กซ์ ผมอยากให้มีคนเขียนนวนิยายเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ออกมา มันจะน่าสนใจมาก แต่ก็ไม่มีใครเขียน ประเด็นความเสื่อมของศาสนาพุทธในไทยเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากในยุคนี้ เพราะเรามักจะภาคภูมิใจในความเป็นพุทธกันเหลือเกิน มันสะท้อนอะไรมากมาย เหมาะจะมีนวนิยายเด่นๆ มาช่วยสะท้อนได้ แต่ก็ไม่เห็นมีใครเขียน หรือมีแล้วแต่ผมอาจจะโง่เองที่ไม่รู้

เรื่องทางการเมืองก็ไม่มีคนเขียนแบบรู้ความเคลื่อนไหวภายใน จะมีอย่างมากก็เสียดสีนักการเมือง นักการเมืองไม่ดี ขี้โกง บ้าอำนาจ บ้าเงิน แต่ไม่มีนวนิยายที่พาเราเข้าไปในชีวิตของคนพวกนั้นจริงๆ สมัยก่อนคุณ ‘ รงค์ วงษ์สวรรค์เขียนเรื่องสะท้อนสังคมจากวงในไว้เยอะ แต่สมัยนี้แทบไม่มีใครทำเลย เพราะนักเขียนมักแยกตัวเองออกมา เขียนจากความรู้สึกและความเชื่อ มากกว่าจะเขียนจากความรู้

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

ยนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2545 จากรวมเรื่องสั้น “ ความน่าจะเป็น ” ปราบดา หยุ่น

You may also like...