ฟ้า พูลวรลักษณ์

ผู้บุกเบิก การเขียนบทกวีแคนโต้  ฟ้า พูลวรลักษณ์ เป็นชื่อของชายสัญชาติไทย ผู้เป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 7 คนของตระกูลเศรษฐีของประเทศนี้ กระนั้น แทนที่จะเลือกดำเนินชีวิตในฐานะนักธุรกิจ ฟ้ากลับเลือกที่จะเป็นศิลปิน


ฟ้าชอบเขียนหนังสือ เขาเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เด็ก ด้วยจุดเริ่มต้นที่เหมือนกับนักเขียนอีกหลายต่อหลายคน นั่นคือ เพราะเป็นนักอ่านมาก่อน

“จุดเริ่มต้นคงมาจากการชอบอ่าน เช่นเดียวกับนักเขียนคนอื่นๆ”
กระนั้น ในการเขียน ฟ้ากลับไม่ชอบเขียนเหมือนใคร เขามีสไตล์ของตัวเอง และหนึ่งในสไตล์ที่เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิก ก็คือการเขียนบทกวีแคนโต้

แล้วแคนโต้คืออะไร?
ฟ้าตอบว่า “แคนโต้คือบทกวีสามบรรทัด คล้ายบทกวีไฮกุ แต่แตกต่างกันที่ Spirit ความรู้สึก อารมณ์ คือแคนโต้ซื่อกว่า ร้ายกว่า”

ลองคลิกเข้าไปในเว็บไซต์  www.thaicanto.com ที่ฟ้าเป็นผู้ก่อตั้ง ในนั้นได้ให้คำจำกัดความของแคนโต้ไว้ว่า ‘คือ บทกวีประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นกลอนเปล่า 3 บรรทัด แคนโต้เป็นเพียงบทกวีที่ประกอบไปด้วยกลุ่มถ้อยคำสั้นๆ แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ เมื่อกลุ่มคำเหล่านี้ถูกจัดเรียงเป็นสามบรรทัดแล้ว กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เมื่อได้อ่านแคนโต้ของใครผู้ใดก็ตามเป็นความยาวต่อเนื่องจำนวนมาก คุณจะกลายเป็นผู้ล่วงล้ำเข้าไปรับรู้ถึงอารมณ์และห้วงความคิดคำนึงของชีวิตใครผู้หนึ่งในลักษณะปะติดปะต่อ และในยามที่คุณเผชิญหน้ากับถ้อยคำสั้นๆ เหล่านั้น คุณจะได้พบกับความหมายบางอย่าง ผ่านความอ่อนไหวจากชีวิตเล็กๆ บนโลกนี้’

ฟ้าเริ่มเขียนแคนโต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 อืม…บอกก่อนสักนิดว่า เขาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2496 ดังนั้น เขาจึงเริ่มเขียนแคนโต้ตั้งแต่อายุแค่ 19 ปี และไม่ใช่เขียนธรรมดาๆ เขาเขียนแคนโต้ที่มีความยาวต่อเนื่องร่วม 400 บท
ฟ้าเขียนแคนโต้เรื่อยมา ภายใต้แนวคิดสั้นๆ ง่ายๆ ของเขาเองที่ว่า “ผมมองการเขียนเป็นการทำงานสร้างสรรค์”
เช่นเดียวกับปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน และสิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี ที่เขาตอบไว้ง่ายๆ สั้นๆ ว่า “เป็นที่รัก”

ทิ้งให้ผมและผู้อ่านท่านอื่นๆ ครุ่นคิดพิจารณากันเอาเองว่า เป็นที่รักของใคร และเป็นที่รักอย่างไร…
กระนั้น ในความเป็นนักเขียน ฟ้าก็ไม่ได้เขียนตลอดเวลา เขาเขียนบ้าง หยุดพักบ้าง ซึ่งบรรณพิภพก็คงจะต้องบันทึกผลงานของฟ้าว่า มีแต่เพียงแคนโต้อย่างเดียวไปแล้ว หากในวันที่เขาอายุ 49 ปี ฟ้าไม่ได้ลองหัดเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกขึ้น (เรื่องสั้นนั้นชื่อ ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก) ก่อนที่เขาจะรู้สึกว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้มันสนุกอย่างยิ่งยวด เมื่อนั้นเอง เขาจึงจัดการขยายเรื่องสั้นที่ว่า ให้กลายเป็นนวนิยายที่หนาบรมหนาขนาด 2 เล่มจบ ที่ชื่อ โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก

นับจากวันที่ฟ้าเริ่มเขียนหนังสือจนกระทั่งถึงวันนี้ เป็นเวลา 37 ปีแล้วที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกของการเขียน กระนั้น ก็ดังที่กล่าวไปก่อนหน้าแล้วว่า ฟ้าไม่ได้เขียนหนังสือตลอดเวลา เขาเขียนๆ หยุดๆ นี่เอง ที่ทำให้ในระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษในโลกการเขียนของเขา ฟ้ามีผลงานรวมเล่มตีพิมพ์เผยแพร่ออกสู่บรรณพิภพเพียงไม่กี่เล่ม 10 เล่ม อันได้แก่ แคนโต้หมายเลขสอง (2543), แคนโต้หมายเลขหนึ่ง (2544), โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก (2545), การแสดงภาพเขียนของศิลปินคนนั้น (2546) และ เจ็ดเรื่องสั้นของฟ้า (2547)

และในวันนี้ที่ผมได้สัมภาษณ์เขา เขาก็บอกอย่างชัดเจนว่า ตอนนี้เขาหยุดเขียน
“ชีวิตทุกวันนี้ของผมก็ดำเนินตามปกติ เรียบง่าย ช่วงนี้หยุดเขียน อาจนานสิบปี”
ซึ่งผมก็อดไม่ได้ที่จะถามเขาต่อว่า ทำไมถึงหยุด
“ที่หยุดเขียนก็เป็นเพราะงานสร้างสรรค์มีวันหมดได้ สมัยก่อนผมก็เคยหยุดนานถึงสิบปี ช่วงอายุ 25-34 เพียงแต่เวลาการทำงานของผมยาวนานมาก จนคนอื่นอาจไม่ทันสังเกต
“ผมทำงานล่วงหน้ายาวนานยี่สิบปี ดังนั้นแฟนงานจะมีงานอ่านไปเรื่อยๆ นานจนพวกเขาลืมไปแล้วว่า ผมหยุดทำงานไปนานแล้ว มันจะปรากฏตัวเรื่อยๆ ตามอารมณ์ของผม เร็วบ้างช้าบ้าง”
สมกับคำตอบของเขาที่มีต่อคำถามของผมที่ถามเขาว่า การทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของเขามีกระบวนการอย่างไร?
เขาตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “มันมาเอง”
เพราะ “การเขียนเป็นการทำงานสร้างสรรค์” การสร้างงานเขียนสำหรับฟ้าจึงต้องปล่อยไปตามอารมณ์ ไม่สามารถเค้นหรือเร่งรัดให้มันออกมาในช่วงเวลาที่ไม่พร้อมได้
“แน่นอน”

และอีกประการก็คือ “ที่ผมหยุดตอนนี้ หมายความว่าช่วงนี้หากเขียน จะซ้ำเดิม ซึ่งไม่เขียนจะดีกว่า”
แล้วเขาจะใช้เวลาช่วงนี้ไปกับอะไร? เดินทางหรือเปล่า? เพราะว่าผู้ชายที่ชื่อฟ้าคนนี้ เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเดินทางทั่วประเทศไทยมาแล้วครบทั้ง 76 จังหวัด และอีกกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และจนถึงทุกวันนี้ เขาก็ยังไม่หยุดเดินทาง
คำตอบที่ได้คือใช่ เขากำลังเดินทาง แต่การเดินทางนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง ที่จะนำเขาไปสู่เป้าหมาย ไปสู่สิ่งที่เขาอยากทำเท่านั้น

“ตอนนี้ผมยังไม่หมดพลังเสียทีเดียว สมัยก่อนผมไปเรียนคณิตศาสตร์ ยุคนี้ผมเรียนการทำหนัง จะทำได้ไหม ต้องคอยดูกันต่อไป”

แต่ถึงกระนั้น แฟนๆ ของฟ้าก็ไม่ต้องวิตก ว่าจะไม่ได้อ่านงานเขียนของเขาอีก ในเมื่อตัวเขาเองบอกไว้ชัดเจนว่าทำงานล่วงหน้าไว้มากมาย พร้อมทั้งยืนยันแม่นมั่นผ่านทางคำตอบเมื่อผมถามว่า ทำไมเขาจึงยังเป็นนักเขียน

“ที่ยังเป็นนักเขียนอยู่ ก็คงเพราะยังมีความสุขกับมัน และทำอย่างอื่นไม่เป็น”
และอาจต้องแสดงความยินดีล่วงหน้ากับนักอ่านหลายคนที่บอกว่า เข้าไม่ถึงงานของฟ้า อาจด้วยเพราะเขาซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ศิลปินแบบ “มันมาเอง” ของตัวเขาเองอย่างยิ่ง หรือด้วยเพราะความคิดเขาล้ำหน้าคนอ่านไปไกลก็ตาม เพราะเมื่อผมถามเขาถึงกรณีที่ว่า เขายอมรับ และให้ความหวังว่า
“น่าหนักใจ ผมพยายามจะทำให้ง่ายขึ้น”

**โค้ดคำ**
“ผมทำงานล่วงหน้ายาวนานยี่สิบปี ดังนั้นแฟนงานจะมีงานอ่านไปเรื่อยๆ นานจนพวกเขาลืมไปแล้วว่า ผมหยุดทำงานไปนานแล้ว”

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 279
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...