สุวดี จงสถิตย์วัฒนา

กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด หัวใจในหนังสือ : สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
การจะสร้างหนังสือโดยเฉพาะวรรณกรรมขึ้นมาสักเรื่องมิใช่เรื่องยาก แต่การจะสร้างวรรณกรรมเรื่องนั้นให้ครองใจคนอ่านและยังประโยชน์ที่สมบูรณ์ให้สังคมได้นั้น แสนยุ่งยากและสลับซับซ้อน เพราะนอกจากจะต้องเข้าใจอะไรๆหลายสิ่งหลายอย่างให้ถ่องแท้แล้ว ยังต้องใส่หัวใจเข้าไปไว้ในตัวอักษรเหล่านั้นอีกด้วย


เช่นเดียวกับนานาหนังสือและวรรณกรรมที่ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา คัดเลือกและสร้างสรรค์ขึ้นมาให้โลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพ ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา ในนามบริษัท นานมี บุ๊คส์ จำกัด ซึ่งนอกจากความอดทน มานะพยายามแล้ว ยังต้องอาศัยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรักอย่างยิ่ง
“แต่ก่อนเราเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆในบริษัท นานมี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคุณพ่อ เปิดเป็นร้านขายหนังสือจีนอยู่ที่เยาวราช ก็ได้เห็นว่าหนังสือภาษาจีนนั้นมีประโยชน์มาก แต่หนังสือภาษาไทยมีน้อยที่เป็นแบบนั้น กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจทำหนังสือ โดยแปลจากหนังสือภาษาจีนมาให้คนไทยได้อ่าน ค่อยๆเริ่มจากสำนักพิมพ์เล็กๆที่มีดิฉันทำงานอยู่คนเดียว แล้วค่อยๆขยับขยาย จนเมื่อปี 2535 จึงได้แยกออกมาเป็นบริษัทนานมีบุคส์ จำกัด

“เราจะเน้นหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย เริ่มจากหนังสือแนวเสริมความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยหนักไปในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองว่าหนังสือแนวนี้ในเมืองไทยแทบจะไม่มีเลย แต่เด็กไทยจำเป็นต้องอ่าน เราจึงเริ่มต้นจากหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือกระแส ซึ่งยากตรงที่เราจะต้องให้การศึกษากับคนในสังคมด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอบรมครู อบรมพ่อแม่ และสร้างกิจกรรมกับเด็ก เพื่อให้เขารู้ว่าหนังสือพวกนี้มันสนุกนะ ไม่ได้น่าเบื่อ สนุกและมีความรู้ด้วย

“5 ปีแรกของนานมีบุคส์นั้น ต้องเรียกว่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะว่าแม้แต่คนในกระทรวงศึกษาธิการเองก็ยังไม่เข้าใจ ยังคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศยากจน กระทรวงศึกษาธิการจึงควรสนับสนุนแต่หนังสือที่ช่วยให้เด็กสอบผ่านก็พอ เช่น หนังสือเรียนกับคู่มือสอบ ส่วนหนังสือแบบที่เราเสนอเขามองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งในความเห็นของเรามันขัดแย้งมาก จนกระทั่งตอนหลังนี้เราจึงได้รับการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดริเริ่มมาตั้งแต่ต้นนั้นถูกต้อง

“ปัญหาสำคัญของบ้านเราไม่ใช่แค่คนไม่อ่านหนังสือ แต่คนยังไม่มีหนังสือที่ดีอ่าน เราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องกระตุ้นให้เด็กสนใจการอ่าน ส่งเสริมการอ่าน เราก็มองว่าต้องเริ่มต้นจากวรรณกรรมเยาวชนที่ดี คือนอกจากมีประโยชน์แล้ว มันก็ต้องสนุกพอ

“ต้องยอมรับว่าคนไทยรู้จักนานมีบุคส์ จากแฮรี่ พอตเตอร์ ซึ่งเราได้ข้อคิดจากแฮรี่ว่าเด็กไทยจริงๆแล้วพร้อมที่จะอ่าน เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังขาดหนังสือที่สนุกเท่านั้นเอง ในอดีตจนถึงปัจจุบันเราแทบจะหานักเขียนไทยที่เขียนวรรณกรรมเยาวชนไม่ได้เลย พากันไปเขียนนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่หมด คือเราจะมีนิทานแล้วก็นวนิยาย แต่ไม่มีหนังสือสำหรับเยาวชน อาจจะเป็นเพราะว่านักเขียนไทยยังไม่เข้าใจวรรณกรรมเยาวชน บางคนเขาบอกว่าถ้าเขียนหนังสือให้เด็กอ่านมันขายไม่ค่อยดี

“ก่อนที่เราจะพิมพ์แฮรี่ พอตเตอร์นั้น เรามีโอกาสได้พิมพ์หนังสือ แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน ของสมเด็จพระเทพฯ ก็ได้เห็นว่า จริงๆแล้ววรรณกรรมเยาวชนที่คนไทยเขียนก็มี แต่ไม่มีคนทำ พี่ก็เลยไปขอพระราชทานนามรางวัล เป็นรางวัลแว่นแก้ว แล้วก็มาจัดประกวดให้คนไทยหันมาเขียนวรรณกรรม ถือเป็นการกระตุ้นให้คนไทยอยากจะเขียนและอ่าน เชื่อว่านักเขียนที่จะประสบความสำเร็จจะต้องเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ เพราะสิ่งที่อ่านเข้าไปมันจะกลายมาเป็นวัตถุดิบในหัวของเราที่จะเอามาดัดแปลงให้มาเป็นของเราได้

“อีกเรื่องคือตอนนี้หนังสือในห้องสมุดมีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้คนมาอ่าน มันมีแต่ตึก เพราะเรามัวไปลงทุนกับตึกมากเกินไป แต่ไม่มีงบประมาณในการซื้อหนังสือ เราจะพัฒนาการเรียนรู้ และกระตุ้นการอ่านหนังสือให้กับผู้คนได้ก็ด้วยการสร้างห้องสมุดที่มีหนังสือครบครันเท่านั้น

“คุณไม่ต้องบอกเลยว่าเพราะหนังสือแพงทำให้คนจนไม่มีสิทธิ์อ่าน มันแน่นอน… แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะหาหนังสือมาให้ห้องสมุด เพราะหนังสือในห้องสมุดหนึ่งเล่ม มีคนอ่านได้เป็นพันเป็นหมื่นไม่มีรัฐบาลไหนที่แก้ปัญาหานี้ตกเลย สมัยก่อนรัฐบาลสับสนว่าสำนักพิมพ์คือโรงพิมพ์ ซึ่งจริงๆไม่ใช่ สำนักพิมพ์คือคนที่คิดว่าในสังคมนี้ควรมีหนังสืออะไร พยายามหาหนทางที่จะเข้าไปถึงผู้อ่านให้มากขึ้น คือทำอย่างไรให้หนังสือที่เรารับประกันได้ว่าดีมาก ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดี มีโอกาสเข้าถึงคนมากขึ้น

“ เราเชื่อว่าวันหนึ่งคนไทยก็จะสามารถเขียนหนังสือในระดับโลกได้เช่นกันแต่เราก็ต้องรู้จักค้นคว้า ไม่ใช่คิดไปเอง เราจึงจะมีอะไรที่ลุ่มลึกและมีแง่มุมที่จะสู้กับต่างชาติได้ แล้วถึงตอนนั้นนอกจากจะขายให้คนไทยได้อ่านแล้ว เรายังสามารถขายออกไปต่างประเทศได้อีก” สุวดีทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ
——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

You may also like...