“ผมชอบศิลปะพอๆ กับรถคลาสสิค…” เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาซึ่งทำให้เราได้รู้จักตัวตนอีกแง่มุมหนึ่งของ สมบัติ โสตถิวรนันทน์ นายกสมาคมรถคลาสสิคแห่งประเทศไทยคนล่าสุด แม้ว่าคนทั่วไปรู้จักเขาในฐานะผู้นิยมรถคลาสสิคเป็นชีวิตจิตใจก็ตาม แต่คำพูดที่เขาเน้นย้ำเสมอคือ “…รถยนต์โดยเฉพาะรถคลาสสิคเป็นงานศิลปะซึ่งเคลื่อนที่ได้”
หากจะเรียกว่าเป็นโชคชะตาฟ้าลิขิตที่ทำให้เขาได้เป็นเจ้าของ ALVIS Speed Twenty SB (Charlesworth coup?) ‘1934 ก็คงไม่ผิดนัก ความพิเศษไม่เพียงเป็นศิลปกรรมที่ประกอบด้วยรูปโฉมเส้นสายอันงดงามจากกระบวนการผลิตด้วยมือ สัญลักษณ์ด้านหน้ารูปนกอินทรีผงาด และที่สำคัญคือสีเขียว Old English Racing Green หรือ Green Man อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ALVIS (เหมือนกับ Ferrari ที่จะต้องเป็นสีแดง) ซึ่งทำให้คุณปู่วัย 74 ปีคันนี้เป็นส่วนผสมของศิลปกรรมและยนตรกรรมลงตัวด้วยประการทั้งปวง หากยังเป็นรุ่นที่มีการผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 23 คันเท่านั้นยิ่งเพิ่มความพิเศษและความภาคภูมิใจให้กับผู้เป็นเจ้าของยิ่งนัก และที่มองข้ามไปเสียมิได้คือความบังเอิญที่วัยของรถคันนี้กับราชาเพลงร็อคแอนด์โรลนั้นห่างกันไม่ถึงปีอีกทั้งชื่อที่เกือบจะเหมือนกันจึงมีหลายคนมักตั้งชื่อเล่นว่า “เอลวิส” อาจเพราะตัวสะกด ALVIS “อัลวิส” ที่คล้ายกันกับชื่อ Elvis Presley (8 มกราคม 1935 – 16 สิงหาคม 1977) แต่ผู้เป็นเจ้าของประสงค์ให้เรียก “อัลวิส” มากกว่า
“รถคันนี้ถูกนำเข้ามาจากอังกฤษเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ซึ่งเกือบสิบปีก่อนหน้านี้ผมเองเคยได้เห็นแต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะได้เป็นเจ้าของ ความรู้สึกตอนนั้นคือสวยคลาสสิคเชียวล่ะ ในที่สุดผมก็ได้เป็นผู้ครอบครองเมื่อได้เขามาแล้วผมก็เริ่มศึกษาประวัติที่มาและข้อมูลอย่างจริงจังทำให้รู้สึกรักรถคันนี้มาก คิดว่าโชคดีสำหรับเราเพราะหากต้องการรถที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ต้องบินไปซื้อจากต่างประเทศ”
“ที่ว่าพิเศษเพราะเป็นรุ่นซึ่งผลิตเพียง 23 คันเท่านั้น ตัวถังแบบนี้เป็นแบบ Drop Head Coup? ทำแซสซีเสร็จเมื่อปลายปี 1933 รหัสแซสซีคือ 1153 แล้วจึงถูกส่งเข้ามาประกอบตัวถังโดย Charlesworth เสร็จสมบูรณ์ในปี 1934 และเท่าที่ทราบคือมีอยู่ในประเทศไทยคันเดียวเท่านั้น เสน่ห์ของรถคันนี้นอกจากความสวยงามแล้วที่สำคัญยังขับได้ดี โดยระบบห้ามล้อยังคงเป็นแบบเดิมคือ Drum Break เป็นสายสลิง ส่วนตัวถังทำด้วยอลูมิเนียมนอกจากน้ำหนักเบาก็คือไม่เป็นสนิม สมรรถภาพในการวิ่ง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับรถในยุคนั้น ประกอบกับรูปลักษณ์ที่สง่างาม ประทุนเปิดได้ 2 จังหวะโดยสามารถเปิดครึ่งหนึ่งหรือเปิดทั้งหมดก็ได้ให้ความรู้สึกในการขับขี่ที่แตกต่างแล้วแต่ความชอบของเรา”
หลังจากใช้เวลาในการบูรณะให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมเพียงครึ่งปี จากความพิถีพิถันเมื่อครั้งผลิตทำให้จุดที่ต้องแก้ไขเป็นเพียงแค่การซ่อมช่วงล่างที่แปรสภาพไปตามกาลเวลา แต่สำหรับส่วนอื่นของรถแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงออกไปเลย ทุกวันนี้ในวันหยุดสุดสัปดาห์คุณสมบัติยังคงนำรถคันโปรดนี้ออกวิ่งเฉพาะบนถนนในหมู่บ้าน สำหรับโอกาสพิเศษเท่านั้นจึงจะนำอวดโฉมในงานแสดงรถของสมาคมฯ แต่ทุกครั้งเมื่อได้อยู่ท่ามกลางแสงไฟและสายตาผู้เข้าชมแววพระเอกตลอดกาลอันเกิดจากความลงตัวระหว่างศิลปกรรมอันทรงคุณค่าและยนตรกรรมที่เกิดจากความพิถีพิถันก็ยังคงฉาบทาอยู่มิเสื่อมคลาย
_________________________________________
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย