ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร

สถาปัตยกรรมสีเขียว การออกแบบอย่างยั่งยืน การออกแบบเพื่อชุมชน กระทั่งการออกแบบเพื่อคนแก่-คนพิการ เรามักจะได้ยินประโยคเหล่านี้ทั้งในวงการสถาปัตยกรรม และวงการนักออกแบบมากขึ้นๆ

เหตุเพราะผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมรอบๆตัวเรามากขึ้นรึเปล่า การออกแบบจึงไม่ได้เน้นเพียงแค่ความสวยงามหวือหวา หรือพยายามทำให้ผลงานออกแบบแตกต่างจากผู้อื่น หากแต่เป็นความพยายามที่จะออกแบบกระบวนการที่สร้างความยั่งยืน รักษาความสวยงาม และคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเอาไว้ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากหากเราสนใจที่จะศึกษา ในวันนี้เราเชื่อว่าหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมภายใน (การบริหารจัดการออกแบบภายใน) สามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ครอบคลุม เราเชื่อว่างานออกแบบที่ดีนั้นคำนึงมากไปกว่าเพียงแค่ความสวยงามตื่นตา แต่ควรเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใช้งานนั้นๆได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และกระบวนการออกแบบที่ดีไม่ควรตอบสนองต่อคนกลุ่มเล็กๆเพียงกลุ่มเดียว แต่ควรขยายรวมไปถึงผู้คนอื่นๆที่อยู่ร่วมสังคมอีกมากมายหลากหลายได้อย่างสร้างสรรค์

วันนี้เราได้ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

ประวัติ และภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการ

ผมจบสถาปัตยกรรมจากศิลปากร ออกมาทำงานสายอาชีพอยู่ 3 ปี แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทด้านอินทีเรียดีไซน์ที่ลาดกระบัง จบแล้วเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ที่นี่ จากนั้นก็ขอทุนเรียนไปปริญญาเอกที่นิวคาสเซิล อังกฤษ เพิ่งกลับมาเมื่อปีที่แล้ว ภารกิจตามตำแหน่งคือเป็นผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาของคณะสถาปัตย์ อีกภารกิจที่ผมสนใจทำ คือ การดูแลศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ใช้งานวิจัยสนับสนุนงานออกแบบ ทางเราเห็นว่าการจะออกแบบอาคารหรือการออกแบบตกแต่งภายในควรเริ่มต้นจากการศึกษาวิจัยก่อน ซึ่งมันก็จะสอดคล้องกับการเรียนปริญญาโท คือการนำเอางานวิจัยมาเป็นฐานข้อมูลให้นักออกแบบไปออกแบบจริง ทางศูนย์วิจัยฯและหลักสูตรปริญญาโทจะเน้นไปทางวิชาการและงานวิจัย ตัวออกแบบจะเป็นส่วนหนึ่ง เราจะทำงานสนับสนุนคนที่จะออกไปทำงานภาคข้อมูลสำหรับพัฒนางานออกแบบเป็นหลัก

ทางคณะฯมีหลักสูตรปริญญาตรีที่ผลิตนักศึกษาที่ไปทำงานสายอาชีพได้โดยตรง ฉะนั้นเขาจะมาเรียน มาฝึกฝนในการสร้างประสบการณ์ในการออกแบบสถาปัตยกรรม แต่ปริญญาโทจะต่างออกไป เราจะคุยกันเรื่องแนวคิด ทฤษฎีต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น Green Design, Universal Design การออกแบบเพื่อความยั่งยืน การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม และอื่นๆ กลุ่มนี้จะเป็นทฤษฎีหลักๆของการออกแบบทั้งหลาย ปริญญาตรีจะนำแนวคิดเหล่านี้ไปเรียนไปประยุกต์ใช้ ออกแบบให้ประหยัดพลังงานทำอย่างไร ออกแบบให้คนพิการเข้ามาใช้อาคารได้สะดวกทำอย่างไร คือการเอาทฤษฎีมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจแล้วก็ออกแบบ แต่สำหรับปริญญาโทจะกระเถิบขึ้นมาอีกนิดนึง คือมีการตั้งคำถามว่างานออกแบบเหล่านั้นมันตอบสนองต่อการใช้งานได้จริงหรือเปล่า แล้วสิ่งที่คุณตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมามันจริงหรือเปล่า เราก็หาวิธีพิสูจน์กัน ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น จะทำยังไงให้อาคารหลังนี้เข้าได้ทุกคน แต่คุณมีสภาพร่างกายต่างจากคนทั่วไป คุณต้องนั่งรถเข็น แต่สมองคุณมันยังโอเค ยังเรียนรู้ได้ แต่สภาพแวดล้อมมันทำให้คุณเข้าไม่ได้ อาคารมันไม่เอื้อต่อการเข้าถึง อันนี้แหล่ะทำให้เขาเรียนรู้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่สามารถเรียนรู้ได้แต่เขาเข้าถึงอาคารไม่ได้ เราก็จะมาเรียนรู้ว่าทฤษฎีเหล่านี้ แนวความคิดเหล่านี้ งานออกแบบที่เขาพูดๆกันที่ตำราว่ามันใช่ ที่จริงมันตอบสนองต่อการใช้งานในปัจจุบันรึเปล่า มันคือการย้อนกลับไปตั้งคำถามกับสิ่งที่คนเขาออกแบบกัน

เนื่องจากผู้ใช้อาคารมีหลายประเภท ถ้าเรียนปริญญาตรีมันคือการฝึกออกแบบอาคารเพื่อที่จะให้คนที่เข้ามาใช้อาคารพึงพอใจ แต่อาจจะคำนึงถึงผู้ใช้อาคารน้อยกว่าที่ควรคำนึงถึงก็ได้ เพราะสถาปนิกอาจจะถูกเน้นให้ฝึกฝนเรื่องที่ว่าทำอย่างไรให้อาคารสวยงาม ทดลองค้นหารูปแบบ รูปฟอร์มที่แปลกใหม่ แต่ปริญญาโทจะศึกษาบนข้อมูลจริง เช่น ถ้าคุณเป็นนักศึกษาที่นี่ คุณอาจจะตั้งคำถามว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนที่เอื้อต่อการเรียนของคุณ หรือถ้าคุณอยู่ในชุมชนรายได้น้อย สภาพแวดล้อมของคุณมันดี มันเอื้อต่อชีวิตคุณจริงรึเปล่า ทำไมอยู่แบบนั้น เกิดอะไรขึ้นทำไมถึงต้องไปอยู่สภาพแวดล้อมที่มันค่อนข้างเสื่อมโทรม ในฐานะเราที่เป็นนักออกแบบจะทำยังไงให้คุณภาพชีวิตของชาวชุมชนดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่แค่คนรายได้น้อยที่อยู่ในสลัมหรือชุมชนที่มีรายได้น้อยเท่านั้นที่นักออกแบบจะต้องคิดถึง การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตมันต้องเพื่อทุกคน คุณภาพชีวิตที่ดีมันต้องดีสำหรับทุกคน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าห้องเรียนนี้ดีสำหรับเรา เราเข้าเรียนได้สบาย แต่แล้วมันจะดีสำหรับนักศึกษานั่งรถเข็นหรือสำหรับคนอื่นที่มีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์เช่นเราหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรล่ะถึงจะทำให้คนเหล่านี้เขถ้ามาใช้ได้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นปริญญาโทจะเรียนว่า ถ้าคุณและคนนั่งรถเข็นเป็นหนึ่งในผู้ใช้อาคาร นักออกแบบควรคำนึงถึงอะไร พวกเขาต้องการอะไร ง่ายที่สุดคือต้องออกไปถามเขา ไปศึกษา ไปดูพฤติกรรมเขา มันก็จะนำมาซึ่งคำตอบ

ความสนใจของนักศึกษาต่องานสถาปัตยกรรม

ถ้าเป็นนักศึกษาปริญญาตรีอาจจะมองในด้านของความงาม ความหวือหวา หรือเป็นกึ่งงาน Art หน่อย อันนั้นคือมุมมองของเด็กที่กำลังอยู่ในภาวะที่สนุกสนานกับชีวิต ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่คราวนี้ในมุมของนักศึกษาปริญญาโทเขาน่าจะโตมาอีกระดับนึง เพราะเบื้องหลังของความงามความสวยมันมีอย่างอื่น มันสวยด้วยการใช้งานสะดวกหรือเปล่า มันสวยด้วยการตอบสนองต่อความพึงพอใจของคนไหม มันสวยด้วยการทำให้คุณภาพชีวิตของคนมันดีขึ้นไหม อันนี้คือสิ่งที่เราเน้นย้ำ เพราะฉะนั้นงานออกแบบมันไม่ใช่แค่สวยงามของสถาปัตยกรรมที่เราเห็นแล้วสวยก็พอ แต่ต้องรู้จักตั้งคำถาม และตรวจสอบย้อนไปอีกทีว่าจริงรึเปล่าที่งานออกแบบของสถาปนิกมันตอบสนองต่อคนใช้งานได้จริงๆหรือมันทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นจริงๆ เหล่านี้คือเนื้อหาที่หลักสูตรปริญญาโทมุ่งเน้น หลักสูตรของการเรียนการสอน

หลักสูตรของเราจะมี 2 กลุ่มวิชา
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มวิชาเอกด้านการบริหารจัดการการออกแบบภายใน
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มวิชาเอกด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน

ในกลุ่มวิชาเอกด้านการบริหารจัดการการออกแบบภายใน เราตั้งเป้าว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่จบสถาปัตย์หรือจบจากคณะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโดยตรง สมมติคุณจบจากโบราณคดีแล้วอยากทำงานเกี่ยวกับการบริหารงานออกแบบ ซึ่งคุณอาจจะไม่มีเบสิคในการออกแบบโดยตรงแต่คุณอาจจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น ธุรกิจที่บ้าน เป็นผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรือคนที่ไม่มีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเลย แต่ชอบและสนใจงานด้านนี้ก็เข้ามาเรียนได้ คนที่จะเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้อาจจะไม่ได้ต้องการจบออกไปเป็นนักออกแบบโดยตรง เพราะถ้าต้องการเป็นนักออกแบบก็สามารถไปเรียนปริญญาตรีใบที่สองที่เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในที่ตรงกว่าได้

แต่คนที่เรียนการบริหารจัดการออกแบบภายในจะมองโครงการออกแบบเป็นเหมือนผู้จัดการ วิธีเรียนจะเริ่มตั้งแต่ การบริหารงานตั้งแต่อยู่บนกระดาษ สมมุติว่าลูกค้าเดินเข้ามาแล้วอยากจะทำร้านอาหารหรือโรงแรม แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร คนๆนี้จะสามารถบอกได้ว่าคุณจะต้องเริ่มจากตรงไหน ขั้นตอนแต่ละขั้นเป็นอย่างไร เสร็จออกมาเป็นอย่างไร คนๆนี้จะดูแลทั้งหมด คนๆนี้จะเป็นศูนย์กลางของการติดต่อต่างๆเช่น ฝ่ายคิดค้นความเป็นไปได้ของโครงการ เช่นว่าถ้าจะตั้งโรงแรมอยู่กลางสาทรลูกค้าควรเป็นใคร รายได้จะเป็นเท่าไหร่ ค่าห้องจะเท่าไหร่ ค่าก่อสร้างจะเป็นเท่าไหร่ นี่คือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คนๆนี้อาจจะไม่ได้ทำเอง แต่ถ้าคนที่มาเรียนมีพื้นฐานทางการตลาดมา คนๆนี้อาจจะทำได้ดีก็ได้ ถ้าเขาไม่ใช่เขาก็สามารถไปหาว่าใครเป็นคนทำให้เขาได้ พอการคิดความเป็นไปได้โครงการเสร็จ ก็เป็นขั้นการออกแบบ หากเขาไม่ใช่นักออกแบบเขาก็จะติดต่อนักออกแบบ แต่หากคนที่มีพื้นฐานมีความรู้ด้านการออกแบบก็สามารถทำในส่วนนี้เองได้

เนื่องจากหลักสูตรนี้จะสอนในบางวิชาที่เกี่ยวกับการออกแบบด้วย เพื่อที่ให้รู้ว่าการทำงานออกแบบเป็นอย่างไร นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาพรวมของโครงการ เพราะฉะนั้นเขาสามารถเป็นผู้จัดการบริหารเชื่อมโยงหน่วยต่างๆเข้าด้วยกัน ส่วนที่ออกแบบ ส่วนที่ก่อสร้าง ถ้าเขามีบริษัทรับเหมาเขาก็ทำเอง แต่ถ้าเขาไม่มีเขาก็จะไปหาผู้รับเหมา แต่เขาจะรู้ว่าก่อนจะถึงผู้รับเหมาต้องมีวิศวกร มีใครบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ระบบไฟ ระบบแอร์ ระบบน้ำทั้งหลาย ผู้บริหารโครงการจะเป็นคนติดต่อดูแลให้ จนโครงการแล้วเสร็จ หลังโครงการเสร็จก็อาจจะต้องช่วยดำเนินการต่อเป็นที่ปรึกษาในด้านอื่นๆ กระบวนการของการทำงานมันอาจจะยืดยาวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นนักออกแบบผมจะทำแค่กระบวนการออกแบบ ซึ่งเป็นขั้นตอนนึงของงานออกแบบโครงการทั้งหมด แต่ถ้าคนที่เป็นนักบริหารจัดการงานออกแบบ เขาจะเริ่มต้นตั้งแต่จับกระดาษเปล่าๆไม่มีอะไรเลยในโครงการ อาจจะดูว่าอยากทำอะไร แล้วก็ยาวไปจนถึงออกแบบก่อสร้างอาคารและจนโครงการเสร็จ อาจจะรวมไปถึงการบริการหลังจากนั้นก็ได้ หรืออาจจะรวมไปถึงขั้นที่ว่า เมื่อคุณใช้งานไปซักระยะ เช่น ฃัก 5 ปี คุณก็อาจจะกลับมาประเมินมันอาคารนี้ ว่ามันยังตอบสนองต่อการใช้งาน ตอบสนองต่อเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไหม มันมีปัญหาอะไรไหม ถ้ามีก็ศึกษาว่าอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไปพอมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะทำยังไงเราต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น และทำให้อาคารมันใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ตอบสนองต่อคนใช้งานได้จริง นี่คือกลุ่มวิชาแรก ที่พูดถึงเรื่องบริหารงานออกแบบ ฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องจบสถาปัตยหรือต้องจบอินทีเรียโดยตรง จบอะไรมาก็มาเรียนได้ แต่ถ้าคุณจบไม่ตรง มันก็จำเป็นที่จะต้องไปเรียนปรับวิชาพื้นฐานที่เกี่ยวกับงานออกแบบบ้าง เพื่อให้รู้ภาษาของคนที่เขาใช้ในวงการออกแบบ เพราะบางภาษามันอาจจะไม่เหมือนกัน มันมีคำ มีศัพท์เฉพาะ แล้วก็เรียนรู้ทักษะในการออกแบบบ้างบางส่วนเพื่อให้เข้าใจว่านักออกแบบทำงานยังไง

ส่วนกลุ่มวิชาเอกด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน ก็จะเรียนคู่ขนานกันไปแต่จะเน้นเฉพาะกลุ่มคนที่จบโดยตรงมา แต่สมมติถ้าคุณจบอย่างอื่นมาแต่อยากจะเรียน คุณจำเป็นต้องไปเรียนปริญญาตรีการออกแบบภายในบางตัวให้หน่วยกิจมันพอที่จะเป็นนักออกแบบได้ เพื่อที่คุณจะได้สิทธิในการไปสอบใบประกอบวิชาชีพได้ คุณจบโรงเรียนสถาปัตยเรียน 5-4 ปี คุณสามารถมีสิทธิไปสอบได้ แต่คุณเรียนปริญญาโท 2 ปี คุณไม่มีสิทธิเพราะหน่วยกิตมันไม่พอ คุณต้องไปเรียนปริญญาตรีเพิ่มเติมในบางวิชา เพื่อให้ครบหน่วยกิตตามที่สภาสถาปนิกกำหนด จึงจะมีสิทธิในการไปสอบเป็นนักออกแบบ แต่ถ้าคุณเรียนปริญญาตรีด้านออกแบบสถาปัตย์มาโดยตรง คุณเรียนปริญญาโทเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการทำวิจัยทางด้านสถาปัตยกรรมภายใน ซึ่งเราจะเน้นศึกษาหาข้อมูลความรู้ เพื่อไปสนับสนุนงานออกแบบ เพราะฉะนั้นจะไม่ได้ออกแบบโดยความชอบ ตามความรู้สึกว่ามันเท่ห์มันเก๋แล้ว แต่ออกแบบทุกอย่างตามเหตุและผลที่เป็นหลักวิชาของมัน

กลุ่มของคนที่มาเรียนส่วนใหญ่ที่นี่ หนึ่งคือมีความรักและความชอบในงานออกแบบ ถึงแม้จะไม่ได้จบจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมโดยตรง คนกลุ่มนี้จะมาเรียนเยอะกว่าที่จบตรงมา มีทั้งพวกเรียนบริหาร ฟู๊ดไซน์ นิเทศ ศิลปะ ถ้าเทียบสัดส่วนกับกลุ่มที่จบตรงมาก็ประมาณ 70/30 ได้ คนกลุ่มที่จบอย่างอื่นมาแล้วมาเรียนต่อหลักสูตรนี้มักจะมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่าง เช่น เป็นผู้รับเหมา เป็นเจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ รับเหมาทำผ้าม่าน ส่วนใหญ่อยู่ในวงการ แต่ก็มีบางคนที่มาจากความชอบเฉยๆเลยก็มี ถ้าเทียบกับกลุ่มแรกก็น้อยกว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นนักออกแบบที่เขารู้สึกว่าบางทีเขาทำงานไปซักพักเขารู้ว่าเหตุผลบนงานออกแบบมันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เขาก็จะเข้ามาหาความรู้เพิ่ม

ที่นี่เราเรียนภาคค่ำ เหมาะกับคนที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย หลายคนก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วอยากเรียนปริญญาโทรึเปล่า หรืออาจไม่รู้ว่าปริญญาโทเรียนกันยังไง แต่เมื่อเวลาในการเรียนมันเอื้ออำนวย เพราะทำงานไปเรียนไปด้วยได้ก็มาลองเรียนดู ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อลองแล้วก็เรียนจนจบ เพราะว่าไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไร คนที่เรียนในภาคปกติตอนกลางวัน มันทำให้โอกาสในการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยน้อยลง เราเรียนตั้งแต่ 18.00 น.-21.00 น. เรียน 3/สัปดาห์ หมายถึง 3 วิชา/สัปดาห์ เรียนยาวไปประมาณ 16 สัปดาห์ มีวิชาให้ลงเรียน เช่น วิชาการทำวิจัย สัมมนา สถิติ เรียนในห้องเรียน 1 ปี ส่วนปีที่ 2 ทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นเรื่องของความสนใจส่วนบุคคล นักศึกษาจะทำงานกับที่ปรึกษาอีก 2 คน ตลอดช่วงการทำวิทยนิพนธ์ หลักสูตรมัน 2 ปี แต่เรียนในห้องจริงๆเรียนปีเดียว

การเรียนปริญญาตรีจะมุ่งไปทางสายอาชีพ เป็นหลักอย่างที่บอกตั้งแต่ต้น คือเขามาเรียนเพื่อการออกแบบ จะได้เรียนกับนักออกแบบป็นส่วนใหญ่ นักออกแบบหมายถึง คนที่ทำงานอยู่ในสายอาชีพที่นั่งออกแบบ เขียนแบบ จะได้เรียนกับคนที่เป็นสถาปนิกชั้นนำ อย่างที่เราเคยเรียนเชิญมาบรรยายก็เป็นอาจารย์นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ ดวงฤทธิ์ บุนนาค ฯลฯ ในแง่อาจารย์ที่เป็นนักวิชาการ ก็จะเป็นผู้ประคองดูแลเนื้อหาด้านวิชาการ ดูแลหลักสูตร แล้วก็เติมเนื้อหาในงานวิชาการเข้าไป

ส่วนปริญญาโทจะต่างกัน คนที่เข้ามาสอนปริญญาโทส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการ หมายถึงเขาทำงานในมหาวิทยาลัยต่างๆเช่น คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ศิลปากร ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง ผมก็เชิญเขามาสอน เหล่านี้คือคนดังในสายวิชาการ ซึ่งมันจะต่างจากคนดังในสายวิชาชีพ

ในสายวิชาการเราจะเห็นงานเขียน แนวคิดของเขาแล้วเราจะตื่นเต้นกับวิธีคิดของเขา อาจไม่ได้ตื่นเต้นในตัวงานออกแบบ คือ ถ้าสายวิชาชีพจะเอาแนวคิดไปออกแบบ ทางสายวิชาการก็จะศึกษาทดสอบเรื่องแนวคิด ดูความเปลี่ยนแปลง หาข้อมูลสนับสนุน วิเคราะห์และสรุปเป็นแนวคิดใหม่ออกมา แล้วคนที่เรียนออกแบบก็เอาไปประยุกต์ใช้ เพราะฉะนั้นคนที่มาสอนปริญญาโทจะเป็นกลุ่มคนที่ทำการศึกษาเรื่องแนวคิดต่างๆเพื่อพัฒนาแนวคิดเหล่านี้ให้มันขยับไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้ชุมชนสำหรับคนรายได้น้อย ชุมชนเขาก็สร้างบ้านเองได้ แต่อาจจะไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบของกฎหมายอาคารทุกอย่าง คนก็จะเข้าไปศึกษาว่าทำยังไงให้ภูมิปัญญาของเขามันมาพอดีกับกฎหมายอาคารหรือกฎระเบียบของสังคมที่ตั้งขึ้น กฎมันก็เปลี่ยนได้ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้มันต้องมาเจอกันในมุมใดมุมนึงที่เหมาะสม เช่น บ้าน ที่คนจนสามารถจ่ายไหวและถูกต้องตามกฎหมายอาคาร แนวคิดการออกแบบที่ดีต้องตั้งเป้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนใช้งานให้ดีขึ้น เช่น หากเรามองว่าแหล่งเสื่อมโทรมทำให้เมืองเสื่อมโทรม เราก็อาจจะคิดง่ายๆว่าไล่รื้อแหล่งเสื่อมโทรมเหล่านั้นออกไปเพื่อทำสวนสาธารณะเมืองก็จะสวย แต่ถามจริงๆว่าเมืองยังอยู่ได้ไหมถ้าปราศจากคนเหล่านี้ ใครจะมาทำงานเป็นแม่บ้าน ใครจะมาทำงานเก็บขยะรีไซเคิลของเมือง เมืองต้องการคนเหล่านี้ แรงงานเหล่านี้ใช่ไหม แต่เมืองไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น

ในทางกลับกัน แทนที่จะไล่เขาออกไปแล้วทำอะไรที่ดี ที่สวย แต่เปลี่ยนเป็นการหาทางที่จะอยู่ด้วยกันได้ไหม ปรับสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นสวยขึ้น เราช่วยได้ไหมในด้านของการเป็นนักออกแบบ ถ้าเขามีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โอกาสที่เมืองจะดีไปด้วยก็สูงขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตของคนร่วมสังคมก็อาจจะปลอดภัยมากขึ้น ตัวอย่าง เราเคยมองว่าคลองเตยเป็นแหล่งเสพติด เป็นแหล่งอาชญากรรม แต่ถ้าเข้าไปศึกษาจริงๆมันเป็นแค่คนกลุ่มน้อยในกลุ่มใหญ่ตรงนั้นเท่านั้นเอง แนวคิดดั้งเดิมคือถ้าเอาคนชุมชนคลองเตยออกไป ยาเสพติดก็จะน้อยลง ถามว่ามันจริงไหม ปัจจุบันแนวคิดนี้อาจจะเป็นเรื่องไม่จริง เพราะว่ายาเสพติดมันยังอยู่ อยู่ในบ้านคนรวยก็มี อยู่ในบ้านชนชั้นกลางก็เยอะแยะ

แต่หากลองมองมุมใหม่ คือถ้าเราใช้ความสามารถในการออกแบบช่วยปรับที่อาศัยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การสร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างการเข้าถึงการศึกษา มันต้องเริ่มต้นจากบ้านก่อน ถ้าบ้านดี รายได้ก็จะดีขึ้น รายได้ดีขึ้นลูกก็มีโอกาสมีการศึกษาที่ดีขึ้น ตรงนี้จะค่อยๆลึกลงไป นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ไม่มีใครอยากติดยาเสพติดหรือไม่มีใครอยากก่ออาชญากรรมหรอก ผมเชื่อว่าอย่างนั้น ถ้าสิ่งเหล่านั้นลดลง ความปลอดภัยในชีวิตของคนในเมืองมันก็สูงขึ้น มันจะขยับแนวคิดจากเดิมจากการไล่รื้อมาเป็นการอยู่ร่วมกัน แต่มันยังไม่ถูกพิสูจน์อย่างรอบคอบว่านี่เป็นแนวคิดที่มันจะโอเคไหม มันจะถูกต้องเหมาะสมจริงหรือเปล่า มันต้องใช้เวลาพิสูจน์ต่อไปว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่ หรือก่อปัญหาใหม่ๆตามมา คนที่มาสอนในหลักสูตรปริญญาโทของเราก็เป็นคนพวกนี้ เขาจะสอนว่าทำอย่างไรในการศึกษาเรื่องเหล่านี้ เขาจะบอกวิธีการหาความรู้ได้อย่างมีหลักการและน่าเชื่อถือ

อาเซียนกับสถาปนิกและนักออกแบบ ทางมหาวิทยาลัยมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อก้าวเข้าสู่ AEC

การเปิดแล้วรวมกันเป็นกลุ่มก้อนผมว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้องอยู่แล้ว ในภาวะปัจจุบันประเทศมันจะอยู่โดดๆไม่ได้ มันต้องทำงานร่วมกัน มันต้องอยู่ร่วมกัน ทีนี้การอยู่ร่วมกันจะทำยังไงให้ทุกอย่างมันขับเคลื่อนไปด้วยดี มันก็มีกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มประเทศยุโรปที่รวมกัน เขามองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจมันต้องไปด้วยกัน ถึงจะต่อสู้ในระดับโลกได้ ของเราก็แนวคิดคล้ายกัน คือต้องรวมกันเพื่อเป็นอำนาจในการต่อรองกับระบบโลก ในสเกลที่ใหญ่อย่างนี้ก็คงมีบางด้านที่มากระทบกับพวกเราแน่นอน อย่างในสายอาชีพของการออกแบบ การรวมกันหลายๆประเทศเป็นอาเซียนทำให้เรามีโอกาสในการทำงานมากขึ้น นอกจากในประเทศของเราเอง เราก็สามารถไปทำที่ประเทศอื่น เราอาจไปทำงานที่อินโด มาเลเซีย สิงค์โปร์ ตอนนี้สถาปนิกไทยไปอยู่ฮ่องกง อยู่สิงค์โปรเยอะมาก มันไหลไปอยู่แล้ว สถาปนิกดังๆหลายคนก็ทำงานในระดับภูมิภาค เขาไม่ได้มองสเกลแค่ประเทศเรา เขามองสเกลว่าในอาหรับหรือในเอเชียมันจะมีงานที่จ้างเขาไหม สถาปนิกไทยบางคนรับงานในประเทศแถบยุโรปก็มี กลับกันถ้าเราไปทำงานที่อื่นได้ เขาก็มาทำงานที่เราได้เช่นกัน มันแน่นอนอยู่แล้ว เพราะว่าการเปิดมันก็ต้องแลกเปลี่ยน ในการแลกเปลี่ยนตรงนั้นผลกระทบคือเราอาจจะหางานยากขึ้น แต่เราต้องเตรียมตัว เช่นการเตรียมเรื่องภาษา

ตอนนี้หลักสูตรเราเป็น Bilingual ในภาษาเทคนิคที่เราใช้ก็มีภาษาอังกฤษปนอยู่แล้ว เราก็มีภาษาอังกฤษที่เป็นศัพท์เฉพาะในการออกแบบและเราอยู่ระหว่างช่วงที่จะเปลี่ยนไปสู่หลักสูตรอินเตอร์ในเวลาอีกไม่นาน ในปีการศึกษาหน้าผมเชิญอาจารย์ท่านนึงมาทำงานกับเรา จากเพอร์ดู ที่อเมริกา เขาเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งอาจจะมาช่วยหลายๆอย่าง เช่น ให้คำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ของเด็กให้เป็นภาษาอังกฤษ แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคน เพราะมันอยู่ระหว่างการเปลี่ยน เราก็พยายามเตรียมตัวเรื่องภาษาเป็นเรื่องหลักที่เราทำในตอนนี้

อย่างที่สองเรื่องความเป็นสากล แต่ก่อนเราหยิบยืมแนวคิดจากตะวันตกมาใช้ตรงๆเยอะ แน่นอนมันไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมเข้ากับสังคมเราได้อย่างเหมาะสม สิ่งที่เราทำคือ เราพยายามศึกษาแนวคิดสากลเหล่านั้น เราเอามาดู เอาความเป็นเรา วัฒนธรรมแบบเราเข้าไปจับมัน มันใช้ได้จริงไหม มันตอบคำถามสิ่งที่เราเป็นอยู่รึเปล่า เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่ อย่างแนวคิดยูนิเวอร์แซลดีไซน์หมายถึงว่า ทุกคนเข้ามาได้ ใช้ประโยชน์ได้ ตะวันตกบอกว่าต้องมีราวจับ คนพิการควรช่วยตัวเองได้หมด 100% แต่พอเข้ามาในสังคมไทย คนไทยรู้สึกว่าการมีราวจับในห้องต่างๆมันทำให้บ้านดูเป็นโรงพยาบาล ดูแล้วหดหู่ อันนี้ถ้าเราเป็นนักออกแบบเราทำให้มันสวยได้ไหม มันอาจจะไม่เห็นเป็นราวจับ เห็นเป็นอย่างอื่น ที่มันใช้งานได้จริง มันก็มีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง และการทำให้สวยแล้วต้องใช้งานได้จริงนั้นต้องทำยังไง

นอกจากนั้นเราไปศึกษาแนวคิดดูว่าเพื่อนบ้านรอบข้างไปถึงไหนแล้ว ทางหลักสูตรเองก็มีความพยายามในการจะออกไปข้างนอก เป็นนโยบายของทางมหาลัยที่พยายามสร้างความร่วมมือกับประเทศรอบๆข้าง กัมพูชา ลาว ทางมหาลัยได้ไปติดต่อ ไป MOU ไว้แล้ว ถ้าผมมีคอนเนคชั่นของผมเอง ผมก็จะไปของผมเอง แต่ถ้ามีคอนเนคชั่นทางมหาลัยผมก็จะไปกับมหาลัย มันก็คือการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพราะฉะนั้นเราจะไม่ศึกษาเฉพาะแค่วัฒนธรรมไทยอย่างเดียวแล้ว เราพยายามจะศึกษาข้ามวัฒนธรรม

นักศึกษาที่จบไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเพิ่งเข้ามาทำยังไม่เต็มสองปี เพราะกลุ่มที่ผมดูแลตั้งแต่ต้นเขากำลังจะทำวิทยานิพนธ์ แต่ถ้าย้อนไปดูหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตออกมา กลุ่มแรกสนใจไปทำงานวิชาการตามที่ต่างๆซึ่งไม่เยอะมาก กลุ่มที่สองจะไปเป็นผู้ประกอบการกิจการของตัวเอง กลุ่มนี้จะเยอะกว่า อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า หลายคนมาจากพื้นฐานผู้รับเหมา เป็นเจ้าของโรงงาน หรืออาจจะเป็นมีพ่อเป็นเจ้าของโรงงาน ตัวเองอยากเข้ามาเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจที่มันอยู่ในสายเหล่านี้ พอเข้ามาเรียนและจบไปแล้วส่วนใหญ่ก็จะกลับไปช่วยพ่อ หรือไปทำกิจการเป็นของตัวเอง

เดิมมีนักศึกษาที่มาเรียนที่นี่เขามีโรงงานผลิตโต๊ะ เก้าอี้ให้ห้างสรรพสินค้า พอจบไปเขารู้กระบวนการทั้งหมดแล้วก็เริ่มขยับไปเป็นร้านค้า เขยิบไปเป็น Food court ที่ใหญ่ขึ้น แทนที่จะผลิตเก้าอี้ให้ Food court อย่างเดียว ก็เริ่มเข้าไปทำส่วนครัวบ้าง ทำพื้นที่ขายบ้าง ร้านค้าบ้าง เขาก็รับงานได้สเกลใหญ่ขึ้นได้

เราสอนความเป็นเจ้าของและการบริหารงานออกแบบภายในซึ่งสามารถเอาไปพัฒนาต่อให้ตัวเองเติบโตขึ้น หลายคนมีทักษะในการโน้มน้าวเพิ่มขึ้น เพราะศึกษามาแล้วว่า ถ้าจะทำโครงการอะไรอันนึง มันต้องรู้อะไรบ้าง คือศึกษาข้อมูลก่อน ตึกนี้ โลเคชั่นนี้ควรจะสร้างยังไง มันไม่ใช่แค่งานออกแบบ มันคือการศึกษาข้อมูล ให้ลูกค้าเขามั่นใจว่างานที่มาให้เราออกแบบมันไปถูกทางแล้ว อยู่บนพื้นฐานของความรู้ทั้งหมด พอเขาตอบคำถามลูกค้าได้มากขึ้น บนฐานข้อมูลที่เขาศึกษามาจริงๆ ลูกค้าก็มักจะไม่ปฎิเสธ เพราะข้อมูลที่จะไปสนับสนุนงานออกแบบได้ถูกค้นคว้าและวิเคราะห์อย่างรอบคอบมาแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนสามารถติดตามข้อมูลได้ที่

http://admission.bu.ac.th/index.php/master/architecture/madesign?view=item&layout=item

ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร
Rittirong Chutapruttikorn(PhD)
School of Architecture,Bangkok University

About me

I have been working as a full-time lecturer in school of Architecture, Bangkok University since 2003. I was an architect in professional firm for three years and also was a part-time art instructor which expertises in oil painting.

Contacts: (66) 02 902 0299 – 2796
Mobile: (66) 083 243 4524
e-mail: Rittirong.c@bu.ac.th, Rittirong72@yahoo.co.uk

Institute / Address
School of Architecture, Bangkok University,
Rangsit Campus Phaholyotin Road, Klong 1, Klong Luang, Pratumthani,12120, Thailand

Education
2011 Doctor of Philosophy in school of Architecture, Planning and Landscape, Newcastle University, UK

2007 Certificated of Attendance Postgraduate Certificate in European Spatial Planning, Newcastle University, UK

2003 Master of Architecture Program in Interior Architecture, King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang, Thailand

1996 Bachelor of Architecture, Silapakorn University, Thailand
Thesis topic: Life Museum of Chaopraya River

Research
Present-July 2013 Topic: “Risks and Vulnerabilities evaluation on low-income settlements in Bangkok” Funded by the Thailand Research Fund, the Office of the Higher Education Commission and Bangkok University on TRF grant for new researches

May 2011–June 2012 Research for Low-income housing network on topic: “Experiences on fight for right to the city and housing development of low-income communities under by the Four Region Slum network Slum Sea Paak”. Funded by the Four Region Slum Network and the Community Organisations Development Institute (CODI)

2007-2011 (January) Research for PhD Thesis, “Life on the Tracks: Reconstructing Home in Informal Railway Settlements, Bangkok”

Publications
List of Publications in Journals
Chutapruttikorn, R. (2009) “Squatter Life in Transition: an Evaluation of Participatory Housing Design”. Newcastle University Forum E-Journal 9: 13-30 (http://coconutcurry.wordpress.com/2011/04/28/squatter-life-in-transition-an-evaluation-of-participatory-housing-design/)
Chutapruttikorn, R. (2009) “We speak louder than before: A reflection on participatory housing design in Bangkok”. Trialog: Journal for Planning and Building in the 3rd World, 102/103: 64-68 (http://coconutcurry.wordpress.com/2011/02/28/298/) (http://coconutcurry.wordpress.com/2011/02/28/%e2%80%9cwe-speak-louder-than-before%e2%80%9d/)
ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร (2552) “บ้านร้านค้า: อีกหนทางหนึ่งของการลดหนี้ที่อยู่อาศัยของคนจน (Shop-house: another way to reduce the poor’s housing debt)”. Veridian E-Journal, Silpakorn University, 2(1): 21-32 http://tar.thailis.or.th/handle/123456789/460?mode=full
ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร (2551) ‘House หรือ Home ความหมายของบ้านในวัฒนธรรมตะวันตก (House or Home the meaning of dwelling in western culture)’, Journal of Interior Environment, King Mongkut’s Institute of Technology at Ladkrabang, Devision of Interior research, 5: 1-14
ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร (2549) ‘บ้านสลัม (Slum House)’, Journal of Interior Environment, King Mongkut’s Institute of Technology at Ladkrabang, Devision of Interior research, 3: 1-7
ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร (2549) ‘พิพิธภัณฑ์ บ้านเขายี่สาร (Bann Kao Yee Sarn Museum)’, Journal of Interior Environment, King Mongkut’s Institute of Technology at Ladkrabang, Devision of Interior research, 2: 15-19

List of Publications in Proceedings
Chutapruttikorn, R (2013) “An Assessment Framework of Vulnerabilities caused from Flooding within the Low-income Settlements, Bangkok” Conference proceeding: The 2nd EnvironmentAsia International Conference on Human Vulnerability and Global Environmental Change. Chonburi Province, Thailand. May 15-17, 2013
Chutapruttikorn, R (2012) “Professionals-People Collaborative Housings as Vernacular Design: Discussion of housing design process in Bangkok’s informal settlements” Conference proceeding: International Seminar on Vernacular Settlements (ISVS) on Contemporary Vernaculars: Places, Processes and Manifestations, Famagusta, North Cyprus. 18-20 April 2012
Chutapruttikorn, R & Sawadsri, A (2011) “Continuity of Home and Change of House: Impacts of re-housing on informal dwellers in Bangkok”. Conference proceeding: IAPS 2011 Symposium, Deagu, South Korea. 10-14 October 2011
Chutapruttikorn, R (2009) “We speak louder than before: A reflection on participatory housing design for low-income people”. Conference proceeding: 10TH N-AERUS Conference “Challenges to open cities in Africa, Asia, Latin America and he Middle East: shared spaces within and beyond”.
Chutapruttikorn, R (2008) “The Transformation of Domestic Architecture Vernacular Modification in Bangkok”. Conference proceeding: International Seminar on Vernacular Settlement 2008, India.
ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร (2546) ‘องค์ประกอบบ้านที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับระดับการยอมรับของคนกรุงเทพมหานครซ กรณีศึกษาโครงกาบ้านสบายแลนด์ แอนด์ เฮาส์ (Architectural Components of Sustainable House According to the Acceptability for Bangkok People: A Case Study on Baan-Sabuy Land and House)’, The proceedings of the 1st Professional and Academic Collaborative Symposium, Innovation: Educational Professional and Technological Progress, Kasedsart University, Bangkok, 275-283

List of Publications in Books
Chutapruttikorn, R (Forth coming) “We are not “squatter” anymore: An image reconstruction and capital conversion of informal settlements in Bangkok”, Book chapter in International Perspectives on Contemporary Urban Research: Environment, Process and Practice.
Chutapruttikorn, R & Kellett, P (2012) “Housing development and vulnerability reduction in informal railway settlements in Bangkok”, In Kabisch. S, Kunath. A, Schweizer-Ries. P and Steinführe. A (eds), Vulnerability, Risks and Complexity Impacts of Global Change on Human Habitats, Advances in People-Environment Studies Vol. 3, Hogrefe Publishing, Germany pp.121-132
ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร, อภิรดี เหล่าดารา, พิษณุ ธนประสิทธิ์พัฒนา & ปีรพจน์ เพชรมีศรี (2556) ประสบการณ์การต่อสู้ เครือข่ายสลัมสี่ภาค. กรุงเทพ. บริษัท เทคนิคพริ้นท์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด

ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร : https://sites.google.com/site/rittirongnornchutapruttikorn/

You may also like...