กระแสนิยมการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีแววสดใสขึ้นมาบ้าง เมื่อเรามีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ศึกษาไปพร้อมๆกับได้จุดประกาย กระตุก กระตุ้นต่อมความคิด มีการปฏิวัติการศึกษาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตให้เป็นไปอย่างสนุกสนาน
จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แนวใหม่ แห่งแรกของประเทศไทย นั่นคือ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันนั่นเอง ภายใต้กิจกรรม นิทรรศการอันเข้มข้นและหลายหลายนั้น มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากทีมงานของ พิพิธภัณฑ์ และหัวเรือใหญ่อย่างคุณราเมศ พรหมเย็น ที่ตั้งใจจะให้มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีมาตรฐานระดับโลกในอนาคต
ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ผมเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ด้วยการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งองค์การมหาชน ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อเรียกว่าสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) โดยรับหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ OKMD หน่วยงานนี้ มีภารกิจสำคัญในการจัดทำแหล่งเรียนรู้นอกระบบคู่ขนานไปกับระบบการศึกษาเดิม ด้วยเป้าหมายที่จะเพิ่มโอกาสให้ประชาชน ในการพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา ผ่านระบบการเรียนรู้สาธารณะ ในหน่วยงานภายในของ OKMD เช่น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบออกแบบ (TCDC) อุทยานการเรียนรู้ (Tkpark) ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (Moral Center) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (Tcels) และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI หรือ Museum Siam ) เป็นต้น ต่อมา เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว จึงรับมอบหมายให้รับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ภารกิจหลักขององค์กรในส่วนที่คุณราเมศรับผิดชอบ
สำหรับภารกิจหน้าที่ในฐานะรองผู้อำนวยการ OKMD นั้น จะรับผิดชอบในงานสายงานบริหารตามที่ผู้อำนวยการใหญ่มอบหมาย แต่ภารกิจส่วนใหญ่ จะรับผิดชอบในตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติมากกว่า ซึ่งต้องขับเคลื่อนงานในขอบข่ายที่กว้างขวาง เราทำแหล่งเรียนรู้ทางเลือกแห่งใหม่ขึ้นมาให้กับสังคมไทย ในชื่อว่า มิวเซียมสยาม ภายใต้แนวคิดของ Discovery Museum หรือ “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” ซึ่งมีการนำเสนอและส่งต่อองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ที่จะสร้างประสบการณ์และทักษะของการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการกระตุกความคิด จุดประกายความอยากรู้ เกิดการตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบได้ด้วยตนเอง รวมถึงกระบวนการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับชุดนิทรรศการหรือกิจกรรมที่เราได้จัดทำขึ้น ผ่านการตีความในมุมมองแปลกใหม่ เรื่องราวของการนำเสนอก็จะเกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของผู้ชม ที่เราสามารถเล่น และเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน แบบ เพลินๆ (play+ learn = Plearn) การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในสภาวะของการเรียนรู้แบบเพลินๆ นี้จะส่งผลให้ผู้ชมจดจำและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เราทำมิวเซียมสยามเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ขึ้นมา ความรู้ที่เกิดจากการทดลองใช้ในมิวเซียมสยาม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในรูปแบบการจัดทำนิทรรศการ รูปแบบของการทำกิจกรรม รูปแบบการทำโปรแกรมการเรียนรู้ กลยุทธ์ทางการตลาด การประชาสัมพันธ์ จะถูกประมวลออกมาเป็นองค์ความรู้ที่เราจัดทำขึ้น และขยายผลต่อยอดไปสู่เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ตรงส่วนนี้ก็เป็นหลักสำคัญหรืองานสำคัญที่ผมรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่ง ด้วยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์เครือข่ายต่างๆ ในการยกระดับมาตรฐานในการจัดตั้งและมาตรฐานในการจัดการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของสถานที่ใช้ชีวิตของประชาชน ผ่านการปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างกระแสให้เกิดการยอมรับในพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ในฐานะที่เป็นสถานที่เรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ
ภารกิจเร่งด่วนและความจำเป็นในตอนนี้ที่ต้องเร่งดำเนินการ
สำหรับภารกิจเร่งด่วนนั้น ผมและทีมผู้บริหาร กำลังทบทวนและจัดสร้างนิทรรศการถาวรของมิวเซียมสยามชุดใหม่ เนื่องจากมิวเซียมสยาม เปิดให้บริการมามา 5 ปี แล้ว แม้นิทรรศการชุดเดิมจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างสูง แต่เมื่อสถานการณ์ในชีวิตจริงมีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที เราจึงไม่อาจยืนกอดความสำเร็จอยู่กับที่ได้ โดยนิทรรศการชุดใหม่จะเป็นชุดที่มีเนื้อเรื่องสร้างสรรค์ ใช้อดีตมาเพื่อสร้างอนาคต เป็นแกนเหวี่ยงเพื่อสร้างวิธีคิดที่ทรงพลัง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ให้สามารถมีปฎิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน รวมถึงเรากำลังทบทวนศักยภาพของการใช้พื้นที่ของมิวเซียมสยามให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปลี่ยนจากการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางเลือก มาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จำเป็นต้องมา เป็นที่ใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ เป็น One of the best place of the world ให้ได้ ด้วยความโดดเด่นจากการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แม้มิใช่พิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีความโดดเด่นเฉพาะตัว นอกจากนี้ ในปี 2559 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเริ่มเปิดให้บริการ จะมีสถานีรถไฟฟ้าที่ลึกที่สุด เนื่องจากต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่หน้ามิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นสถานีเดียวที่ใกล้ที่สุดสำหรับการเข้ามาที่เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นสถานีที่มี Site Museum อยู่ภายในสถานี เชื่อมโยงเรื่องราวมายังมิวเซียมสยาม เราพยายามสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวของเอเชียเอง ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ที่มีแน้วโน้มการเติบโตสูงมากในปัจจุบันและในอนาคต
ปรัชญาที่นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายคืออะไร
คือ “ทำสิ่งที่ควรทำ ให้สำเร็จ” อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ ผมจะ ตกลงกับทุกฝ่ายให้ชัดเจน ทั้งระดับคณะกรรมการผู้กำหนดนโยบาย ทีมบริหารและน้องๆ ที่จะมาช่วยกันทำงานว่า เรากำลังจะไปที่ใด เป้าหมายของมิวเซียมสยามอยู่ตรงไหน ระดับความสำเร็จในภาพใหญ่ของประเทศที่มิวเซียมสยามมีส่วนร่วมผลักดันคืออะไร ระดับความสำเร็จของแผนในระยะยาวและระยะสั้นเป็นอย่างไร ผมในฐานะหัวหน้าทีม ก็จะทำหน้าที่ผลักดัน สนับสนุน ช่วยเหลือให้กลไกในการทำงานที่เราร่วมกันตั้งไว้ สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น ตรงตามระดับความสำคัญของแผนงานและระยะเวลาที่เราตกลงร่วมกันไว้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างที่คาดว่าจะเกิดหรือไม่คาดว่าจะเกิด ดังนั้น เราจึงจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ มิฉะนั้น เราจะสำเร็จในสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะเรื่องความสำเร็จในอดีต ก็เป็นหลุมพรางของความสำเร็จในอนาคต เพราะความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นจะมาชักจูงความคิดให้ยึดติดกับวิธีการและ สามารถนำเราไปสู่ความเชื่อผิดๆ ในปัจุบันหรือในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้ แต่สำหรับงานของผมเอง ยังมีส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่อง “การตัดสินใจ” เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากของการบริหาร โดยเฉพาะในชิวิตจริง ไม่มีสีขาวหรือสีดำให้เราเลือก มีแต่สีเทาเข้มหรือเทาอ่อนๆ ดังนั้น การเลือกระหว่าง “สิ่งที่เกือบถูก” กับ “สิ่งที่เกือบผิด” อาจต้องใช้ทักษะ ประสบการณ์ สัญชาตญาณ อยู่พอสมควร แต่เมื่อจะตัดสินใจขอให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างแท้จริง สามารถมีผลในทางปฎิบัติได้จริงและง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อคุณราเมศพบกับปัญหาและอุปสรรคในการทำงานมีวิธีการแก้ไขเรื่องเหล่านี้อย่างไร
เรื่องของปัญหาเป็นเรื่องปกติของทุกองค์กร เราต้องแยกให้ได้ก่อนว่าอันไหนเป็นปัญหา อันไหนเป็นอุปสรรค บางครั้งสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่ปัญหาก็ได้แต่เรามองว่าเป็นปัญหา สิ่งบางอย่างอาจจะไม่ใช่อุปสรรคก็ได้ แต่เรามองว่าเป็นอุปสรรค เราต้องวิเคระห์ให้ชัดเจนว่าใช่หรือไม่เสียก่อน แล้วรากหรือต้นตออยู่ตรงส่วนใดก็ไปปรับปรุงให้ตรงจุด สิ่งเหล่านี้มีเกิดมีดับครับ ขอให้มองเป็นเรื่องเล็กๆ ปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นก็จะเล็กไปตามที่เรามอง และเ ราก็ดำเนินการจัดการไปที่รากหรือตรงต้นตอ บางครั้งในการการทำงาน เชื่อว่าหลายๆ ส่วนมีเจตนาดีต่อส่วนรวม ไม่ได้หวังร้าย แต่หลงดี และความหลงดีนั้นจะทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่ไม่มีขอบเขต ความหลงดีทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเหตุผล เราในฐานะหัวหน้าทีมก็ต้องเข้าไปที่จุดนั้น เพื่อนำเสนอและแนะแนวทางที่ดีอีกทางหนึ่งซึ่งอาจมีความเหมาะสมกว่า และเรื่องของทีมงานก็มีความสำคัญ เพราะคนหรือบุคลากรเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการนำสิ่งที่ต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม ในการทำงานให้องค์กรใหญ่ๆ เราต้องรักษาจุดสมดุลให้ได้ การที่จะทำให้คนเกลียดนั้นคิดว่าไม่ยาก การทำให้คนรักทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหัวหน้าทำให้ลูกทีมรักทั้งหมด ง่ายนิดเดียว คือ ปล่อยเขา มาทำงานบ้าง ไม่ทำบ้าง ลางานได้ตามอัธยาศัย กลับบ้านได้ตั้งแต่บ่าย อยากได้สิ่งใดขอให้บอก สนองตอบทุกอย่าง เป็นพี่ที่มีแต่ให้ รับรองลูกน้องรักหมด แต่องค์กรเสียหาย ภารกิจรัฐเสียหาย งบประมาณส่วนรวมเสียหาย ความเป็นหัวหน้าทีมยากตรงส่วนนี้ เราต้องเข้มแข็งพอ ต้องรักษาความสมดุลให้ได้ เป็นความสมดุลระหว่างประโยชน์ของลูกน้องกับประโยชน์ของสาธารณชน เรื่องเหล่านี้ เป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่ละเอียดอ่อน หัวหน้าทีมจะต้องใช้ “วิถีที่นุ่มนวล มั่งคง ชัดเจน” ในการรับมือกับเรื่องเหล่านี้
ความหมายของคำว่า พิพิธภัณฑ์ ของคุณราเมศ
ตามพจนานุกรรม มีความหมายรวมรวม สรุปว่า “สิ่งของนานาชนิด”อหากแปลตามความรู้สึกร่วมของคนไทย ก็คงจะหมายถึง สถานที่เก็บของเก่าๆ มีความขลัง ศักดิ์ศิทธิ์ เอื้อมไม่ถึง แตะต้องไม่ได้ มืดอับ มีฝุ่นเกาะ มีข้อห้ามมากมาย แต่ในความหมายของ ICOM (The International Council of Museum) หรือในความคิดเห็นของผมนั้น ต่างก็มีแก่นที่แกนหลักของพิพิธภัณฑ์ คือ “เพื่อการเรียนรู้” หรือเป็นสถานที่ที่ “Exhibit Knowledge” ส่วนสถานที่นั้น จะนำเสนอผ่านตัวกลางที่เป็นโบราณวัตถุ วัตถุมีค่า วัตถุจำลอง รูปภาพ งานอุตสาหกรรม งานศิลป สื่อเทคโนโลยีระดับสูงหรือผ่านสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มิวเซียมจึงต้องสนองตอบต่อพันธกิจในการนำเสนอเพื่อการเรียนรู้ หากสถานที่ใดสร้างกฎเกณฑ์หรือกติกาใดๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือขีดขวางปิดกันพันธกิจดังกล่าวจนเกินกว่าความจำเป็น สถานที่นั้นก็ไม่น่าจะอยู่ในความหมายของคำว่ามิวเซียม แต่สำหรับมิวเซียมสยาม นอกจากเรา Exhibit knowledge แล้ว เรายังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนออย่างมีเป้าหมาย เพื่อให้เรารู้จักตัวตนของเราในปัจจุบัน ในบริบทที่ทับซ้อนมาจากของอดีต (Discovering History , Discovering You) เป็นการเรียนรู้ในวิถีของเรา ผ่านการตีความในมุมมองใหม่ เพื่อซึมซับประสบการณ์และสร้างบันดาลใจในการกำหนดอนาคตได้อย่างเหมาะสม (an Insight into the Thai way of Life)
โครงการและกิจกรรมของมิวเซียมสยามในปี 2556
นอกจากงานเร่งด่วนที่กล่าวถึงในตอนต้นแล้ว ในปี 2556 นี้ เรายังคงสร้างสรรค์นิทรรศการหมุนเวียนขนาดใหญ่ 2 ชุด พร้อมสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับพิพิธภัณฑ์ผ่านกิจกรรม การเสวนา การแสดง ที่หลากหลายรูปแบบ การพัฒนาความร่วมมือด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ร่วมกับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ 10 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว การจัดทำโครงการ “เพื่อนพิพิธภัณฑ์” ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ในส่วนกลางและท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง เพื่อจัดทำกิจกรรม ถ่ายทอดความรู้หรือแลกเปลี่ยนชุดนิทรรศการระหว่างกัน การจัดทำ “พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่” หรือ Muse Mobile เคลื่อนไปยัง 6 จังหวัด เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชน ตลอดจนร่วมมือกับแหล่งเรียนรู้ในแต่ละท้องถิ่นสำหรับนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาถ่ายทอดต่อเจ้าพื้นที่ผ่านกิจกรรมที่จัดโดย Muse Mobile การพัฒนาศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม ให้เป็นมิวเซียมลำปาง สำหรับเป็นต้นแบบของ City Museum การพัฒนาพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณซับจำปาที่มีความโดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะ การจัดทำโครงการ Work Shop เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมและนวัตกรรมที่ต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมไม่น้อยกว่า 30 Workshop ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์กลุ่มอาเซียน เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันและกัน เป็นต้น
อยากให้มิวเซียมสยามเป็นอย่างไรในอนาคต
อยากให้ มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่มีมาตรฐานสูงระดับโลก มิวเซียมสยามเป็นสถานที่ที่ดี่ที่สุดที่คุณต้องมา เป็นสถานที่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่มาใช้ชีวิต มาแสวงหาความรู้และสร้างแรงบันดาลใจที่จะนำไปใช้ในอนาคต