ศักดิ์ชัย พจน์นันท์วาณิชย์

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ARS LONGA VITA BREVIS ? ศักดิ์ชัย พจน์นันท์วาณิชย์
คงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไรที่ใครหลายคนไม่เคยรู้เลยว่าอาคารเก่ารูปทรงตะวันตกที่ตระหง่านอยู่ตรงหัวโค้งถนนเจ้าฟ้าที่คนในยุคก่อนเรียกกันอย่างย่นย่อว่า “โรงกษาปณ์เก่า” หรือโรงกษาปณ์สิทธิการเคยเป็นโรงผลิตเหรียญใช้ภายในประเทศในยุคแรกๆ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกันหากใครหลายคนที่ว่าจะไม่รู้ว่าปัจจุบันสถานที่มากประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้ปรับเปลี่ยนขอบข่ายการทำงานไปสู่กิจกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับงานศิลปะอันแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการ และรากเหง้าความเป็นไทย

เป็นเวลาเกือบ 28 ปีแล้วที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ (หอศิลป์เจ้าฟ้า) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปะไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย เป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้า วิจัย งานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ผ่านการจัดสรรพื้นที่ในสองส่วนหลักอันได้แก่ นิทรรศการถาวรที่จัดแสดงศิลปะไทยประเพณี และผลงานศิลปะของศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงจากทุกยุคทุกสมัยเพื่อแสดงถึงวิวัฒนาการของการสร้างสรรค์งานศิลปะตั่งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงยุคปัจจุบัน ขณะที่อีกส่วนที่เหลือเป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่มุ่งนำเสนอผลงานศิลปะใหม่ๆของทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศที่ได้รับการเลือกสรรแล้วว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่ายิ่ง นำมาจัดแสดงหมุนเวียนให้ชมตลอดทั้งปี

นอกจากเรื่องการเก็บรักษารวมทั้งเรื่องการซ่อมสงวนแล้ว คุณศักดิ์ชัย พจน์นันท์วาณิชย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ยังขยายความต่อถึงหน้าที่และบทบาทที่สำคัญอีกประการของหอศิลป์ในด้านการช่วยเหลือศิลปินที่ยังไม่มีชื่อเสียงให้มีพื้นที่ในการนำเสนอตัวเองอีกด้วย

“เราเป็นสถาบันที่ให้พื้นที่เปล่าในการจัดแสดงงานทางศิลปะโดยไม่คิดมูลค่าแก่บรรดาศิลปินต่างๆ ที่เข้ามาใช้บริการ ทุกปีจะมีศิลปินส่งงานเข้ามาคัดเลือก เราก็รวบรวมไว้ ประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปีก็จะมีการสรุปงานที่ส่งเข้ามา แล้วจึงเชิญคณะกรรมการดำเนินงานมาคัดเลือกผลงาน ก็จะมีการพรีเซ็นต์ว่างานแต่ละคนเป็นอย่างไร จากนั้นก็ตัดสินงานเพื่อวางแผนสำหรับการจัดแสดงตลอดทั้งปีในคราวเดียวเลย”

“ศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาแสดงงานกับเราได้ก็เป็นเสมือนหนึ่งก้าวแรกในการยกระดับผลงานตัวเอง ทั้งยังสามารถใช้การแสดงงานครั้งนี้เป็นบันไดก้าวไปสู่การแสดงงานในต่างประเทศได้อีกทอดหนึ่ง”

ถึงแม้ว่าโดยปกติจะเป็นมารยาทที่หอศิลป์แห่งชาติในต่างประเทศที่ไม่อนุญาตให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดภายในหอศิลป์ แต่กฎทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น หากมีเหตุผล และเจตนาที่ดีในการกระทำ ผอ.ศักด์ชัยให้ความกระจ่างกับเราในประเด็นเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

“ที่นี่อนุญาตให้ผู้ที่มาแสดงงานในส่วนของกิจกรรมพิเศษ สามารถติดต่อซื้อขายงานได้ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือศิลปินเพราะว่างานแสดงแต่ละครั้งใช้เงินค่อนข้างสูง ทั้งค่าสี ค่าอุปกรณ์ ไหนจะเรื่องการขนส่งงานมาที่บริเวณงานจัดแสดงอีก นอกจากนี้ศิลปินเองก็ยังเป็นพวกหน้าใหม่อีกด้วย เราก็พยามช่วยเหลือเท่าที่เราสามารถทำได้”

ภารกิจต่างๆที่อยู่ในการรับผิดชอบของหอศิลป์ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทุนในการการดำเนินงานทั้งสิ้น ถึงแม้จะมีงบประมาณจากทางรัฐบาลเข้ามาจุนเจือแต่ดูเหมือนว่าน้ำเลี้ยงก้นบ่อจะไม่เพียงพอต่อการจัดกิจกรรมที่มากมายตลอดทั้งปีของหอศิลป์

“งบที่เราได้มาเพื่อจัดกิจกรรมหรือว่าเรื่องการบำรุงรักษาผลงานศิลปะเบื้องต้นก็ไม่มาก อยู่ที่ประมาณสองแสนกว่าบาทต่อปี โดยเงินก้อนนี้จะใช้ไปกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ของหอศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ หรือว่ากิจกรรมพิเศษ การเสวนา นอกจากนี้ยังมีเรื่องการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหอศิลป์อีก ถ้าเรารอจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวคงไม่ทันการณ์”

ปัญหาอีกเรื่องคือเรื่องความคล่องตัวในการทำงานของหอศิลป์เองที่มีความแตกต่างจากหอศิลป์ในต่างประเทศ

“ปกติเราจะมีเรื่องการแลกเปลี่ยนนิทรรศการกับต่างประเทศอยู่แล้ว และก็มีเรื่องการพัฒนาบุคลากรระหว่างกัน ส่วนเรื่องการพัฒนาในรูปแบบขององค์ความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น ตรงนี้ต้องรอนโยบายจากทางกรมฯ หอศิลป์เองไม่มีอำนาจในการดำเนินการหรือว่าตัดสินใจได้

ตรงนี้เองที่องค์กรของเราแตกต่างจากทางต่างประเทศเพราะว่า หอศิลป์ในต่างประเทศนอกจากจะได้รับการส่งเสริมจากรัฐในเรื่องงบประมาณแล้ว หอศิลป์ยังมีอำนาจเต็มในการทำกิจกรรมอื่นๆ เรียกว่ามีความคล่องตัวในการจัดกิจกรรมหรือว่าการตัดสินใจมากกว่าบ้านเรามาก ของเรายังมีอะไรที่เป็นขั้นตอนมากซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตของหอศิลป์เอง”

มีสำนวนที่จับใจเกี่ยวกับศิลปะที่ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตแสนสั้น” แต่จากสถานการณ์ที่ปรากฏในวันนี้ กลับกลายเป็นว่า ลมหายใจของศิลปะนั้นกำลังอ่อนระทวยเหมือนชีวิตมนุษย์ที่แสนสั้นก็ไม่ปาน

——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...