พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่

คลองบางหลวงในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง

ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่
ชื่อเขตบางกอกใหญ่มีที่มาจากคลองบางกอกใหญ่หรืออาจคุ้นเคยมากกว่าชื่อ “คลองบางหลวง” ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เมืองได้สำเร็จ ได้ย้ายเมืองหลวงมาที่เขตบางกอกใหญ่นี้ เห็นได้จากร่องรอยประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามากมายที่พบเห็นได้ภายในพิพิธภัณฑ์เขตบางกอกใหญ่ รวบรวมไว้ ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพ เขตบางกอกใหญ่ ณ โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงนิทรรศการได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง มีทั้งภาพที่สวยงาม การจำลองตัวอย่างจริงอันอลังการและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ ครบถ้วนเหมือนดั่งได้เดินก้าวเข้าไปสู่ยุคก่อนอย่างไรอย่างนั้นทีเดียว

มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
มุมแรกจัดแสดงความสำคัญของเขตบางกอกใหญ่ในอดีต ซึ่งก็คือความเป็นศูนย์กลางการปกครองของกรุงธนบุรีจัดแสดงภาพการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี การสร้างพระราชวังเดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชภาพแสดงสถานที่สำคัญมากมาย รวมทั้งวัดที่สำคัญ เป็นความรู้ที่ได้จัดเก็บรวบรวมไว้ให้เราได้ศึกษาในสถานที่เดียว น่าดูติดตามไปชื่นชมสถานที่สำคัญเหล่านั้นให้เห็นกับตาทีเดียว

อีกมุมต่อมา ได้จำลองป้อมวิชัยประสิทธิ์นำเสนอพร้อมกับภาพกรุงเทพที่สวยงามมุมต่างๆ จากมุมองที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์เอง ป้อมวิชัยประสิทธิ์นี้เดิมชื่อป้อมวิชัยเยนทร์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชเพื่อใช้ป้องกันข้าศึกทางแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไม่ให้ก้าวล่วงเข้าพระนคร

นิทรรศการที่น่าสนใจอย่างยิ่งมุมต่อมาได้แก่นิทรรศการแสดงย่านคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐานย่านขุนนางสมัยก่อน นิทรรศการนี้ได้จำลองตัวอย่างของหน้าบ้านและระเบียงบ้านที่สวยงามของขุนนางสมัยก่อนมาให้ชม

หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley)

อีกจุดนึงที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เป็นเรื่องราวของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย์เป็นผู้ซึ่งริเริ่มโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับแรกได้สำเร็จ มีชื่อว่า “บางกอกรีคอเดอ” และยังพิมพ์พจนานุกรมไทยฉบับแรกได้ชื่อว่า “อักขราภิธานศรับท์”  “Dictionarty of Siamese Language”

จุดสุดท้ายพบกับวิถีชุมชน และผู้คนชาวบางกอกใหญ่ เดิมเป็นพื้นที่สวนเขตใกล้คียง แต่มีผลไม้ขึ้นชื่อที่แตกต่างได้แก่ ส้มโอ ส้มเกลี้ยง ลำไยเพกา มีเรื่องราวของแขกจามเปอร์เซียที่เข้ามาอาศัยตั้งแต่สมัยอยุธยา และประเพณีต่างๆของแขกจาม รวมทั้งพิธีการต่างๆที่สำคัญๆของชนชาวบางกอกใหญ่

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่
ตั้งอยู่ : ในโรงเรียนฤทธิณรงค์รอน
555 ซอยเพชรเกษม 2 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทรศัพท์ : 02-472-5542
เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น.

สำนักงานเขตบางกอกใหญ่
1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทรศัพท์ :
02-457-0067

ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333

 

You may also like...