เมื่อร่วมแปดสิบปีก่อน ณ บ้านเลขที่ ๔๙ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นที่ตั้งร้านค้าผ้าจีนของสองสามีภรรยาที่รู้จักกันทั่วไปว่า ท่านมหาสำราญ กับแม่ชุนกี บ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตลาดใต้ ตลาดเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยหมู่เรือนแถวไม้สองชั้นบุราณ เรียงเป็นแนวยาวขนานไปกับแม่น้ำท่าจีน ร้านค้าในห้องแถวอันแสนธรรมดานึ้เองเป็นที่ถือกำเนิดของเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เด็กชายบอบบางขี้โรค แต่มีสติปัญญาเป็นเลิศผู้นี้ เติบใหญ่ขึ้นมาเพื่อเป็นปราชญ์แท้คนสำคัญแห่งยุคสมัย
ที่แห่งนี้มีเรื่องราว
มหาสำราญ อารยางกูร เกิดที่ตำบลบ้านคอย เมื่อบวชแล้วไปอยู่วัดที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมโทและเปรียญ ๔ ประโยค แต่แล้วมีเหตุให้ตัดสินใจ จึงลาสิกขาบทแล้วกลับมาสุพรรณบุรี บ้านเกิด ตั้งต้นชีวิตใหม่ แต่งงานกับสาวลูกจีน ชื่อแม่ชุนกีเปิดร้านค้าขายที่ตลาดใต้ ริมแม่น้ำท่าจีน ที่อำเภอศรีประจันต์ มหาสำราญ เป็นคนซื่อตรง เห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งผ่านการบวชเรียนจนได้นักธรรมจึงเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในแถบนั้น ร้านใบรัตนาคาร เป็นร้านคูหาเดียว จำหน่ายผ้าไหม ผ้าทอ ฯลฯ ที่ก่อตั้งขึ้น เป็นที่รู้จักเชื่อถือของลูกค้า ต่อมาเปิดเป็นโรงเรียนมัธยมขึ้นเป็นแห่งแรกของอำเภอ ชื่อ บำรุงวุฒิราษฎร์ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนในระดับมัธยม เปิดสอนมาได้ไม่กี่ปี การคมนาคมก็สะดวกขึ้น ประกอบกับมีโรงเรียนแห่งใหม่มาเปิดโรงเรียนแห่งนี้จึงปิดกิจการลง เพราะหมดห่วงว่าเด็กๆ จะไม่มีโอกาสเรียนต่อภายหลังจากเลิกกิจการไปแล้ว ท่านมหาฯ เพิ่งมารู้ว่า นอกเหนือจากโต๊ะเก้าอี้ กระดานดำ ที่ตกค้างอยู่ภายในเรือนแถวที่ปิดตัวเองไป ได้มีสิ่งหนึ่งที่เจริญงอกงามเกินความคาดหมาย ก็คือ จิตวิญญาณแห่งครู ครูแท้ๆ ที่ปรากฏในตัวของลูกคนที่หก
เมื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับท่านมหาหนุ่ม แม่ชุนกี หญิงสาวลูกจีน ผู้ใจเย็น และเก่งด้านการตัดเย็บ งานฝีมือต่างๆ ก็กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความรักความอาทรของครอบครัว โดยเฉพาะในหมู่ลูกๆทั้งหมด เนื่องจากบุคลิกภาพเป็นคนใจดี ขยันอย่างยิ่งยวด ทั้งยังอดทน ให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อนตนเอง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ ล้วนถ่ายทอดมายังลูกชายคนเล็กที่แม่รักอย่างยิ่ง
ครอบครัวอารยางกูร เป็นครอบครัวคนชั้นกลาง ทำธุรกิจการค้า แต่ฐานะไม่มั่งคั่ง เพราะมีค่าใช้จ่ายมาก อันเนื่องมาจากท่านมหาฯ มีลูกหลายคน และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาเล่าเรียน พยายามส่งเสียลูกชายให้ได้เรียนสูงๆ ไปตามกำลังความสามารถ นอกเหนือไปจากการอบรมสั่งสอนในครอบครัว ด.ช.ประยุทธ์ เป็นน้องชายคนเล็กของพี่ชายอีกสี่คน คือ เกษม ผาสุก สรรค์ และเอนก พี่สาวคนหนึ่งเสียชีวิตไปก่อนในขวบปีแรก ถัดจากด.ช.ประยุทธ์ มหาสำราญกับแม่ชุนกีมีลูกสาวอีกสามคน ได้แก่ กานดา บุบผา และจิตรา
ย่อความจาก นิตยสาร ฅ.คน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ก้าวย่างทางธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๑ ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๔ สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ในขณะยังเป็นสามเณร จึงได้อุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นนาคหลวง ได้รับฉายาว่า “ปยุตฺโต” สอบได้ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและสอบได้วิชาชุดครู พ.ม. ใน พ.ศ. ๒๕๐๖
หลังจากสำเร็จการศึกษา ได้เป็นอาจารย์ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยเลขาธิการและต่อมาเป็นรองเลขาธิการ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ นอกจากสอนวิชาพระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว ท่านได้รับนิมนต์ไปบรรยาย ณ University Museum แห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ และที่ Swarthmore College สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ต่อมาได้รับนิมนต์ให้เป็น visiting scholar และได้รับแต่งตั้งเป็น research fellow ณ Divinity Faculty แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ท่านมีธรรมกถาที่เผยแพร่นับพันรายการ และมีผลงานหนังสือที่ใช้เป็นหลักอ้างอิงหลายร้อยเรื่อง เฉพาะอย่างยิ่งพุทธธรรม พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม และพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สถาบันการศึกษาชั้นสูงเกือบ ๒๐ แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และตำแหน่งเชิดชูเกียรติต่างๆ มี ตรีปิฏกาจารย์กิตติมศักดิ์ จาก นวนาลันทามหาวิหาร ประเทศอินเดีย และเมธาจารย์ (Most Eminent Scholar) จากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก เป็นอาทิ
ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๙ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบันโดยลำดับ ดังนี้
• ชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
• ชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี
• ชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที
• ชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก
• ชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ)ที่ พระพรหมคุณาภรณ์
สำนักของท่านในปัจจุบัน คือวัดญาณเวศกวัน ตั้งอยู่ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
พิพิธภัณฑ์ ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต จัดตั้งขึ้นโดยมูลนิธิ ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต ได้รับทุนบริจาคจากชาวท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเชิดชูเกียรติแก่พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และเป็นศูนย์ข้อมูลชีวประวัติและผลงานของนักปราชญ์แห่งยุคสมัย
ชั้นล่าง
ใบรัตนาคาร
จำลองบรรยากาศร้านค้า ที่พระพรหมคุณาภรณ์ถือกำเนิด และเจริญวัยขึ้นมาในท้องถิ่นแห่งนี้
แสงแห่งศรัทธา
จัดแสดงเรื่องราวบางแง่มุมของพระพรหมคุณาภรณ์ ผ่านศรัทธาและความทรงจำของบุคคลใกล้ชิด
ประทีปแห่งธรรม
ห้องหนังสือเล็กๆ หลังบ้าน ที่รวบรวมงานเขียนใหญ่ๆ ของพระพรหมคุณาภรณ์ ให้ผู้คนในชุมชนและผู้มาเยือนจากที่ห่างไกล ได้ศึกษาค้นคว้า
ชั้นบน
วิถีแห่งปราชญ์
บางเรื่องราวแห่งความประทับใจที่เคยปรากฏอยู่ในหนังสือ วิถีแห่งปราชญ์ ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบป้ายนิทรรศการ ให้ผู้เข้าชมได้รู้จักหรือหวนรำลึกถึงปฏิปทาจริยาวัตรของพระพรหมคุณาภรณ์ อันควรค่าแก่การดำเนินตาม
บำรุงวุฒิราษฎร์
จำลองห้องเรียนเก่า ครั้งเคยเป็นโรงเรียนมัธยมของเด็กๆ ในละแวกบ้าน และเป็นสถานที่ปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูให้แก่เด็กชายประยุทธ์ อารยางกูร
งานแห่งชีวิต
ผลงานธรรมนิพนธ์บางส่วนทั้งที่เป็นงานเขียนแท้ๆ และงานถ่ายทอดจากบทบรรยาย หรือสนทนาธรรม จัดแสดงไว้เป็นตัวอย่างให้ผู้ใคร่ในธรรมได้ติดตามหามาอ่าน
ชาติภูมิสถาน ป. อ. ปยุตฺโต
เลขที่ ๔๙ หมู่ที่ ๓ ตลาดศรีประจันต์ ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
โทรศัพท์ : ๐๓๕ ๕๔๘ ๗๒๒
เวลาทำการ: ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เว้นวันจันทร์ (ไม่หยุดในวันนักขัตฤกษ์)
เวลา ๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ไม่เสียค่าเข้าชม
ให้บริการ: ข้อมูลเพื่อการศึกษาค้นคว้า
: กิจกรรมทางการศึกษา
: นำชมกรณีมาเป็นหมู่คณะ