ผลงานจิตรกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หลายปีมาแล้ว เมื่อผู้เขียนยังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา วันหนึ่งผู้เขียนได้หยิบหนังสือที่มีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายภาพเครื่องบินรบของกองทัพอากาศมาให้เพื่อชาวต่างประเทศดู เครื่องบินลำนั้นมีความเร็จเหนือเสียง เครื่องยังอยู่ในอากาศ แต่รายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องหมาย หมายเลขเครื่อง รายละเอียดทุกส่วนชัดเจน ราวกับเป็นภาพถ่ายของเครื่องบินที่จอดอยู่

เพื่อนของข้าพเจ้าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถ่ายภาพ แต่เขากล่าวชมว่า ช่างภาพนี้เก่งจริงๆ แม้แต่ตัวเลขทุกตัวของหมายเลขข้างลำตัวเครื่องบินชัดเจน อ่านได้หมด ไม่น่าเชื่อว่านี้คือภาพถ่ายเครื่องบินที่อยู่ในอากาศ ข้าพเจ้าบอกว่า ผู้ที่บันทึกคือพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของประเทศ ทรงมีความสามารถในงานศิลปกรรมหลายสาขา ชาวอเมริกันบางคนทราบว่าประเทศไทยมีนักดนตรีแจ๊สที่เก่งมาก เป็น king of Jazz แต่เขาไม่ทราบว่านักดนตรีที่เขากล่าวถึงคือ พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย

บทความนี้ ผู้เขียนขอมุ่งเน้น กล่าวถึงงานศิลปกรรมสาขาเดียว คือ งานจิตรกรรมซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง เท่าที่ผู้เขียนเคยสนทนากับผู้ใหญ่หลายท่านที่ได้ให้ความรู้มากมายถ่ายทอดมาสู่ผู้เขียน จึงได้ทราบว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทรงใช้เวลาทอดพระเนตร ศึกษา และซักถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของพาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และงานแบบเหนือจริง ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศเหล่านั้น รู้สึกประทับใจในความสนพระทัยต่องานศิลปะสมัยใหม่ที่พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย มีต่อศิลปะสมัยใหม่ตะวันตก แต่พวกเขาคาดไม่ถึงเลยว่า พระองค์เองก็ทรงเป็นศิลปินที่เตรียมศึกษางานเหล่านี้ไว้ เพื่อสร้างงานของพระองค์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

เมื่อยังทรงพระเยาว์ มีบัตรเชิญที่ทรงออกแบบเอง เป็นภาพของต้นสนขยายกิ่งก้านสาขาไปทางซ้ายและขวา องค์ประกอบลงตัวพอดี โดยมีลำต้นของต้นสนที่ยอดเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อยเป็นแกนกลางของภาพ มวลของต้นไม้สีเข้มตัดกับฉากหลังสีขาว แสดงความเชื่อมั่นในการวางองค์ประกอบที่ชัดเจนของผู้ออกแบบ เป็นตัวอย่างผลงานที่ฉายแววพระอัจฉริยภาพตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์

หลักสุนทรียศาสตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นแนวความคิด นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ทั้งงานจิตรกรรมและงานสาขาอื่นๆ มีคำสำคัญอยู่สองคำ สั้นง่าย แต่ลึกซึ้ง มีอยู่สองคำ คือ “ซึมซับ” และ “ถ่ายทอด”  ผู้เขียนขอขยายความ ตามความเข้าใจของผู้เขียนในหลักการสำคัญสองประการที่กล่าวมาแล้ว ดังนี้

ซึมซับ : ในชีวิตของมนุษย์เราทุกคน เราได้ประสบพบเห็น เรียนรู้ เรารับเอาสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราดีใจ หรือเสียใจ พอใจ ไม่พอใจ สุขหรือทุกข์ แปลกใจหรือเฉยๆ เก็บเอาไว้มากมาย

ถ่ายทอด : คำนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดผลงานในเมื่อเรามีเรื่องราว วัสดุและจิตใจที่พร้อมแล้วที่จะทำการสร้าง

จิตใจของเรา เหมือนกระดาษซับที่ซับเอาน้ำหมึก น้ำยา สีต่างๆ ไว้มากมาย สมองของเราบันทึกประสบการณ์เหล่านี้ไว้ และถ้าเชื่อตามทฤษฎีศิลปะของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ศิลปะคือประสบการณ์ (Art as Experience) การเรียนรู้เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เริ่มจากการเรียนรู้ที่จะหนีภัย รู้จักแสวงหาอาหารหรือสิ่งอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด อยู่ได้สบายกว่าที่เป็นมาในอดีต

เนื่องจากมนุษย์ มีภูมิปัญญา ความฉลาดสูง วัฒนธรรมที่เขาสร้างขึ้น เมื่ออยู่รอดปลอดภัยแล้วต้องก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น นั่นคือ การสร้างสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม และเก็บผลงานนี้ไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรม แต่ก่อนที่เขาจะก้าวไปสู่การสร้างสรรค์ กระบวนการขั้นแรกคือต้องมีวัตถุดิบ ซึ่งผู้เขียนขอแยกออกเป็นดังนี้

เรื่องราว : ไม่ว่าจะดูกันในระดับรูปธรรม เนื้อหา (Content หรือ Subject Matter) หรือลึกไปกว่านั้น เข้าถึงสาระ (Theme) ศิลปิน นักออกแบบทั้งหลายจะต้องเริ่มเก็บวัตถุดิบชนิดแรก คือ เรื่องราวที่นำไปทำงานสร้างสรรค์ต่อ ถ้าเป็นจิตรกร จะเขียนภาพอะไร ภาพคนที่เราคุ้นเคยรู้จัก ทิวทัศน์ของทะเล หรือภูเขา

วัสดุและเทคนิค : ศิลปินหรือช่างที่เก่ง ย่อมรู้จักวัสดุต่างๆ ดี เหมือนกับการที่เรารู้จักตนเอง เนื้อไม้หรือหินอยู่ไหน จะเหมาะสมที่สุดในการสลักงานชิ้นนั้น จิตรกรแต่ละคนจะเลือกผ้าใบที่มีผิวหยาบหรือละเอียด ขนาดเฟรมกว้างยาวแค่ไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด รวมทั้งการเลือกสี น้ำมัน อะครีลิค หรือวาดหมึกบนกระดาษ สื่อ วัสดุที่ดีเหมาะสมที่สุดเป็นการนำทางไปสู่การแสดงออกที่ราบรื่นในผลงานแต่ละชิ้น ตามทฤษฎีความหยั่งรู้ของเบ็นเนเด็ตโต โครเช่ (Benedetto Croce) นักสุนทรียศาสตร์ชาวอิตาเลียน อธิบายความหมายของศิลปะตามทฤษฎีความหยั่งรู้ (Art as Intuition) มีสาระสำคัญว่า ช่างหรือศิลปินมีความหยั่งรู้ หรือรู้แบบที่อธิบายเหตุผลไม่ได้ ว่าเขาจะเลือกทำอะไรกับวัตถุ สิ่งที่จะใช้สร้างงาน เขารู้ความพอดี รู้ขนาด รู้ถึงวิธีการที่เหมาะสม ช่าง และศิลปิน ต้องเรียน ซึมซับรับรู้ทั้งในเนื้อหา รู้จักวัสดุที่จะใช้มาก่อนที่จะทำงานเป็นอย่างดี แล้วเตรียมพร้อมที่จะสร้าง

แรงบันดาลใจ  : ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างนอกเหนือจากวัตถุ คือ ส่วนที่เกี่ยวกับความคิด จิตใจ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ งานจะจืดไร้ชีวิต เมื่อผู้สร้างงานไปประสบพบเห็นสิ่งต่างๆ เขามิได้เมินเฉย ความรู้สึกดีใจ ตื่นเต้น หรือแม้แต่ความรู้สึกในทางลบ เสียใจ กลัว เศร้า ล้วนมีพลังผลักดัน ทำให้เกิดการสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยพลัง ถ้าเราไปศึกษาประวัติของนักดนตรีคลาสิคหลายคน อารมณ์เศร้ากลายเป็นแรงกระตุ้นผลงานเพลงที่สูงค่าออกมามากมาย ผลงานของฟรานซิลโก โกยา เขียนสิ่งที่เขาเห็นแล้วเกิดความสลด เศร้า และกลัวออกมา เช่นเดียวกับความเจ็บปวดในชีวิตบั้นปลายของวินเซนต์ แวน โกะ (Vincent Van Gogh) ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดผลงาน ผู้ที่ใช้ความรู้สึกในทางบวกมาเป็นแรงกระตุ้นก็มี เช่น จอห์น คอนสเตเบิล จิตรกรอังกฤษ เขียนภาพชนบทที่น่าสบาย และมีจิตรกรส่วนหนึ่ง ที่แรงบันดาลใจมิได้มาจากอารมณ์สุขหรือทุกข์ แต่มาจากความอยากรู้ ความสนใจเฉพาะตัวเหมือนนักคณิตศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เพียต์ มองเดรียน (Piet Mondrian) จิตรกรชาวดัทช์ ผู้นำกลุ่ม De Stijl และ คาสซิเมอร์ มาเลวิช (Kasimir Malevich) จิตรกรชาวรัสเซียผู้นำกลุ่มสุปรีมาติสม์ (Suprematism)
ถ่ายทอด : คำนี้ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดผลงาน ในเมื่อเรามีเรื่องราว วัสดุและจิตใจที่พร้อมแล้วที่จะทำการสร้าง

ตามทฤษฎีการแสดงออก ของนักปราชญ์อังกฤษ โรเบิร์ต จี คอลลิงวู๊ด (Robert G. Collingwood) ศิลปะที่แท้จริงจะมีแต่วัสดุและฝีมือที่สมบูรณ์นั้นไม่ได้ ศิลปะต้องเป็นเสมือนพาหนะ เหมือนเรือ รถ หรือเครื่องบินที่จะนำอารมณ์ความรู้สึก ตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ จากใจศิลปิน ผ่านฝีแปรงหรือโน้ตดนตรีมาสู่ผู้ชมหรือผู้ฟัง

ในเมื่อวัสดุ เช่น สี ผ้าใบ และแปรง พร้อมเนื้อหาที่แสดงออก็มีข้อมูลอยู่ครบถ้วน ดังนั้นศิลปินก็จะหยิบยกเนื้อหาที่มีอยู่ ทำการตีความ (Interpretation) ตามบุคลิกเฉพาะตัวของเขา ออกมาเป็นผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นธรรมดาของศิลปินไม่ว่ามาจากเชื้อชาติ วัฒนธรรมใดๆ สิ่งที่สร้างขึ้น ต้องรับ เรียนรู้มาจากสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา หลายอย่างจากอดีต อาจมาจากวัฒนธรรมอื่น หรือวัฒนธรรมจากสังคมเดียวกัน ยุคสมัยเดียวกันก็ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในที่สุดงานจิตรกรรมที่ทรงสร้าง มีทิศทางที่รับอิทธิพลสำคัญ โดยเฉพาะคิวบิสม์ (Cubism) และเอ๊กซเพรสชันนิสม์ ที่ผู้เขียนขออัญเชิญตัวอย่างผลงานต่อไปนี้มาเพื่อให้เกิดความเข้าใจสำหรับผู้อ่าน

ระหว่างพุทธศักราช 2504 ถึง 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวาดภาพเหมือนจำนวนมาก เช่น ภาพสมเด็จพระราชบิดา เขียนในปี พ.ศ.2504 สีน้ำมัน ขนา 38.5 x 28.5 ซม. ภาพนี้เขียนแบบเหมือนจริง ฉากหลังเป็นพื้นสีน้ำตาล เล่นน้ำหนักอ่อนแก่ คือมีทั้งสีเหลือง น้ำตาลอ่อน กลางถึงเข้ม บริเวณที่เป็นพระเกศาใช้สีดำเป็นบริเวณ ไม่เน้นรายละเอียดเช่นเดียวกับพระขนงและพระเนตร ซึ่งเป็นการใช้สีดำเน้นเฉพาะโครงสร้างสำคัญเช่น ขอบพระเนตรและมุมพระโอษฐ์

ภาพหม่อมหลวงบัว กิติยากร เขียนในปี พ.ศ. 2504 ขนาด 35.5 x 23.5 เป็นแบบเหมือนจริงเช่นเดียวกับภาพสมเด็จพระราชบิดา แต่ภาพนี้เก็บรายละเอียดน้อยกว่า ส่วนล่างของภาพที่เป็นเสื้อสีเขียว มีรายละเอียดอยู่น้อย เพราะจุดเด่นของภาพอยู่ที่ใบหน้าของผู้เป็นแบบ ฉากหลังเป็นสีเขียว เหมือนกับอัญมณีที่เป็นจี้และต่างหู

ประมาณ พ.ศ.2504 ถึง 2506 มีภาพจำนวนมากที่ไม่ปรากฏชื่อ หลายภาพเป็นภาพสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เน้นรายละเอียดเฉพาะส่วนของพระพักตร์ ระยะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มพัมนาลักษณะการจัดภาพใหม่ ต่างจากอดีต คือเริ่มไม่เน้นเรื่องความเหมือนจริง

ภาพชื่อ ครอบครัว ตามความเห็นของผู้เขียน เห็นว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวในการสร้างรูปทรงที่บ่งบอกบุคลิกภาพความเป็นศิลปินเฉพาะของพระองค์ท่าน กล่าวคือ ภาพพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งอยู่ขอบบนซ้ายและบนขวาโดยลำดับ จะเริ่มแสดงรายละเอียดที่มีสัดส่วนห่างจากความเหมือนจริง เรื่องนี้ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเชี่ยวชาญการถ่ายภาพ ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลย พระองค์ทรงมีประสบการณ์เรื่องภาพที่อยู่บริเวณขอบ โดยธรรมชาติของเลนซ์จะทำให้สัดส่วนแปรเปลี่ยนไป ส่วนภาพพระราชโอรส พระราชธิดาที่อยู่ตรงกลาง จะรักษาความเหมือนจริงมากกว่า ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดของภาพนี้ คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดภาพที่มีส่วนของความเหมือนจริงมากและน้อยรวมไว้ในภาพเดียวกัน สำหรับเรื่องของสีภาพนี้ยังยึดแนวเหมือนจริงมาก ถ้าเทียบกับภาพต่อไป

ประมาณ พ.ศ.2506 ถึง 2510 มีภาพเหมือนหลายภาพ ที่ทรงเลือกสีที่ไม่เหมือนจริง ตัวอย่างเช่น ภาพ “ไม่ปรากฏชื่อ” พ.ศ.2506 ขนาด 28 x 20 ซม. เป็นสีเขียวเกือบทั้งภาพ บางส่วนมีสีน้ำเงินและดำแซกอยู่ ภาพ “ไม่ปรากฏชื่อ” พ.ศ.2509 ใช้เฉพาะสีเหลืองและดำเท่านั้น เสน่ห์ของภาพนี้คือความนุ่มนวลของโทนสี ไม่มีสีรุนแรง ดูคล้ายภาพถ่าย ถ้ามองในแง่การใช้สี ภาพนี้เป็นการสะท้อนความงามของโครงสีตามแบบจิตรกรรมยุโรปสมัยเรอเน็สซอง แต่เส้นและลายแปรงเป็นความงามของยุคสมัยใหม่

ภาพที่ใช้ชื่อเดียวกัน คือ ไม่ปรากฏชื่อ มีอีกหลายภาพ ที่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างมากจากหนังสือจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ หน้า 122 และ 123 เป็นภาพซ้อนของใบหน้าซ้อนกันประมาณ 5-6 ภาพ คล้ายกับภาพถ่ายที่เป็นการถ่ายภาพซ้อน (Multi exposure) ในทางจิตรกรรม แนวทางนี้ ศิลปินอิตาเลียนกลุ่มฟิวเจอริสม์ทำการทดลองเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 20 คือ ประมาณ ค.ศ.1911-1920 หรือ พ.ศ.2454-2463 มีภาพคนอีกหลายภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการทดลองเพื่อแสวงหารูปทรงแบบกึ่งนามธรรม โดยใช้แรงบันดาลใจจากร่างกายคนเป็นแบบ แล้วจึงทรงสร้างรูปทรงมีสี หรือสัดส่วน ต่างจากแบบที่เหมือนจริง บางภาพเป็นสีตัดกันระหว่างสีน้ำตาลกับเขียว บางภาพเป็นสีเขียวหรือน้ำเงินล้วนๆ
ในส่วนท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนขอให้ข้อสรุปดังต่อไปนี้  ผลงานระยะต้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการเริ่มต้นจากแนวเหมือนจริงหรือธรรมชาตินิยม เช่นเดียวกับที่จิตรกรในโลกอีกนับล้านๆ คน จะเริ่มก้าวเข้าไปแสวงหารูปทรง สิ่งที่ใหม่ มีความเฉพาะเจาะจง เป็นภาพสะท้อนตัวตน บุคลิกภาพที่ได้หล่อหลอมฝึกฝนขึ้นมา ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เห็นในงานจิตรกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือภาพคนที่เริ่มเน้นให้ความสนใจเฉพาะส่วนเช่นใบหน้า มีการปล่อยให้ส่วนที่เหลือของภาพ เป็นรูปทรงแบบนามธรรม ในบางภาพ ภาพคนจะถูกวาดแบบเหมือนจริง แต่ฉากหลังมีสีสดตามแบบศิลปะนามธรรม ลักษณะนี้ในบรรดาผู้มีความรู้ในจิตรกรรมร่วมสมัยย่อมจะชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ เพราะพระองค์ได้รวมเอาภาพคนแบบเหมือนจริงเข้าไว้กับฉากหลังที่มีสีเข้ม เน้นพลังตามแบบศิลปะนามธรรม งานแบบนี้พระองค์สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2505-2510 คือ ค.ศ.1962-1967 ซึ่งเป็นช่วงปลายของศิลปะสมัยใหม่ ยุคนั้น ศิลปะโพสต์โมเดอร์นยังไม่เกิด ดังนั้น ประชาชนชาวไทยควรชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ของเรา เพราะพระองค์ท่านเป็นจิตรกรจำนวนไม่มากนักในโลกที่กล้าทำการสังเคราะห์ รวมเอารูปทรงแบบเหมือนจริงกับนามธรรมเข้าไว้ในผลงานชิ้นเดียวกัน วิธีการนี้ เพิ่งใช้การแพร่หลายในช่วงประมาณสิบกว่าปีหลังจากนั้น คือหลัง พ.ศ.2514 สำหรับจิตรกรท่านอื่นๆ เท่าที่ผู้เขียนทราบ ที่ทำการทดลองใช้รูปทรงแบบนามธรรมปนกับภาพคนที่ค่อนข้างเหมือนจริงคือ James Rosenquist ศิลปิน Pop Art และศิลปินแบบนามธรรมกึ่ง Pop อีกสองท่าน จาสเปอร์ จอห์น (Jasper Johns) และ โรเบอร์ต รอสเชนเบอร์ก (Robert Raischenburg)

เมื่อได้ศึกษาพัฒนาการทางจิตรกรรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยละเอียด จะเห็นว่า การแสวงหารูปทรง และเอกลักษณ์ประจำพระองค์เริ่มจากการใช้ภาพคน ทำแบบเหมือนจริงก่อนแล้วจึงค่อยๆ ดัดแปลงเปลี่ยนสี และสัดส่วน จนต่างจากแบบเหมือนจริง สิ่งที่เป็นสัจจะในงานหลายชิ้นเป็นการใช้สัญลักษณ์ การอุปมา หรือทำให้เกินจริง เช่นรูปเครื่องดนตรี ลำของแตรโค้งงอไปตามลีลาของเพลง ภาพทิวทัศน์หลายภาพ เช่น ภาพทะเลกลางคืนที่ดูมืดมัวและว้าเหว่ น่าจะเป็นการแสวงหาส่วนพระองค์เพื่อเข้าถึงซึ่งอารมณ์ความรู้สึก อย่างที่จิตรกรบางคนเช่น คอนสเตเบิล เทอร์เนอร์ และฟรีดิช จะพึงแสวงหาในยุคโรแมนติค

มีผลงานบางชิ้น เช่นภาพ “ห้องแสดงภาพ” มีบรรยากาศที่ดูลึกลับวังเวงคล้ายกับผลงานของศิลปินเมตะฟิสิกัลป์ของอิตาเลียน แต่ในบรรดางานเหล่านี้ ที่น่าชื่นชมในความงามและให้ข้อคิดกับคนดูมากที่สุด เป็นเรื่องภาพของมนุษย์ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ การแสดงออกของพระองค์เป็นการแสดงออกด้วยสีหรือเส้นที่สวยงามในแบบที่ไม่เหมือนจริง ถ้าจะทำความเข้าใจกับผลงานจิตรกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทฤษฎีการแสดงออก (Expression Theory) และทฤษฎีรูปทรง (Formalist Theory) น่าจะมีความเหมาะสมสอดคล้องมากกว่าในการที่พระองค์ท่านจะได้ชี้ให้ผู้ชมเห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ และธรรมชาติของชีวิต มิใช้ด้วยการเขียนแบบเหมือนจริง แต่ใช้สีตัดเกินจริง รูปคนที่มีสัดส่วน มุมเหลี่ยม สีเกินจริง แต่นั่นคืออุปมาอันแหลมคมที่ทรงชี้ให้คนดูเห็น ด้วยการเปรียบเทียบ หรือด้วยเส้นสี ทั้งที่ตัดกันและสอดคล้อง เพื่อร้อยเรียงปรัชญาข้อคิดไว้ให้เราได้ศึกษาความคิด ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ของจิตรกรรมสมัยใหม่-ร่วมสมัย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์  ชมุนี

วันที่เผยแพร่ : 15 กันยายน 2550

แหล่งอ้างอิง
ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.
5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ.
Clive Bell, Formalist Theory.
Robert G Collingwood, Art as Expression of Feelings and Imaginations
John Dewey, Art as Experience.

ที่มา :   ใต้ถุน บ้าน : นิทรรศการเพื่อถ่ายทอดผลงานต้นแบบจากปฏิบัติการสร้างสรรค์ของคณาจารย์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2550 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.designinnovathai.com/th/article/detail/23
ที่มา : http://www.designinnovathai.com/th/designer/page/2
ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์นวัตกรรมการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

ที่อยู่ : มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
โทรศัพท์ : 034-275-030,089-809-6867
โทรสาร : 034-275-030
อีเมล์ : contact@designinnovathai.com
เว็บไซต์ : www.designinnovathai.com

 

You may also like...