รางวัลยูเนสโก : เกียรติยศสำหรับหัตถศิลป์ไทย
งานศิลปหัตถกรรมมีความหมายสำคัญ เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่ลมหายใจแรกจนกระทั่งสุดท้าย ทุกชีวิตของมนุษย์ต้องสัมพันธ์กับสิ่งของและเครื่องใช้ ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย และสุนทรียะของการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมต่างๆ
งานหัตถศิลป์จึงเป็นดังกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของผู้คน และวิถีชุมชนในแต่ละยุคสมัย รวมทั้งบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของแต่กลุ่มชาติพันธุ์
จากคุณค่าและความสำคัญดังกล่าว ฝ่ายวัฒนธรรมองค์การยูเนสโก จึงได้มุ่งพัฒนาศักยภาพของช่างหัตถศิลป์ทั่วโลกเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ สามารถก้าวข้ามความท้าทายของกาลเวลา และสืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทักษะฝีมือ และการออกแบบระหว่างประเทศสมาชิก พร้อมทั้งขยายเครือข่ายมายังภูมิภาคอาเซียนในปี 2547 และมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยความร่วมมือของสมาคมส่งเสริมและพัฒนาศิลปหัตถกรรมอาเซียน (ASEAN Handicraft Promotion and Development Association : AHPADA) เพื่อช่วยยกระดับงานหัตถศิลป์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือ การมอบรางวัล UNESCO Award of Excellence for Handicrafts ซึ่ง UNESCO เชิญชวนประเทศสมาชิกส่งงานหัตถศิลป์เข้าประกวดเพื่อรับรางวัลอันเป็นการรับรองมาตรฐานพร้อมเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก
ในปีที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีที่งานหัตถศิลป์ของไทยได้รับการเชิดชูเกียรติด้วยรางวัลอันทรงคุณค่านี้ถึง 6 รางวัล จากจำนวนผู้เข้ารับรางวัล 19 ราย และผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งิส้น 112 ราย โดยมีการประกาศผลภายในงาน 25th Trade Expo Indonesia ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ไปในเดือนตุลาคม ผลงานของไทยที่คว้ารางวัลมาล้วนเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหมไทยซึ้งทอด้วยมือชาวไร่ชาวนาในภาคอีสาน ประกอบด้วย ผ้าพันคอไหมจากร้านชบาติก กล่องผ้าไหมลายหางกระรอก หมอน กรอบรูป จาก AHPADA ประเทศไทย และอ่างทรงขนุนจากร้าน Lamont Design
“ผ้าไหมที่ได้รับรางวัลเป็นผ้าผืนยาว 2 เมตร สีสันของผ้าทั้งผืนออกโทนสีส้มด้วยแรงบันดาลใจจากแสงอาทิตย์ยามพลบค่ำ ลักษณะเส้นสายลายผ้าเคลื่อนไหวราวกับสายน้ำที่สะท้อนแสงระยิบระยับกับผืนทราย โทนสีจึงให้นำหนักกับสีแดง ส้มเหลือง และสีฟ้า ผ้าผืนนี้เป็นฝีมือช่างทอจากหมู่บ้านห้วยขี้หนู อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีชื่อมากในเรื่องการทอผ้าไหมมัดหมี่ ที่เรียกกันว่า “หมี่ซ้อน” ก่อนหน้านี้ชบาติกก็เคยได้รับรางวัลด้านการทอผ้าจากยูเนสโกมาหลายครั้งจากความโดดเด่นในเรื่องการทอแบบ “หมี่ซ้อน” นี่แหละ ศศิวรรณ ดำรงศิริ ดีไซเนอร์เจ้าของผลงานที่เพิ่งได้รับรางวัลเปิดเผยถึงแรงบันดาลใจและเทคนิคการทอที่ทำให้สามารถชนะใจกรรมการ
ในส่วนของกรอบรูป กล่องเอนกประสงค์ และหมอนจากผ้าไหมอีก 2 แบบ เป็นผลงานที่สองดีไซเนอร์ไฟแรงจาก AHPADA ประเทศไทย พงษ์ศักดิ์ สุริโยทัย และวาสินี ทวีกาญจน์ เป็นผู้ไปคว้าชัยชนะในประเภทสินค้าตกแต่งบ้าน
“ชิ้นแรกคือ กล่องอเนกประสงค์ บุด้วยผ้าไหมลายหางกระรอก ซึ่งทอโดยฝีมือของชาวบ้านโนนแฝก โนนสำราญ จังหวัดนครราชสีมา ช่างทอกลุ่มนี้จะมีชื่อเสียงมากในเรื่องการทอผ้าไหมลายหางกระรอก ทั้งเพื่อจำหน่ายและส่งเข้าประกวดของโครงการมูลนิธิศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เราจึงเข้าไปหยิบเอาสีพื้นมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นกล่องผ้าไหม 1 ชุด มี 3 ชิ้น โดยที่ตัวกล่องใช้ผ้าพื้นสีทอง ซึ่งรับกับฝากล่องที่บุด้วยผ้าไหมหางกระรอกสีทองแกมน้ำตาลเหลือบขาว” พงษ์ศักดิ์บอกพร้อมกับเสริมว่า “ปีนี้งานของกลุ่มของเราที่ได้รับรางวัลมีทั้งหมด 4 ชิ้น โดยชิ้นที่ 2 เป็นหมอนขนาด 12×20 นิ้ว ใช้ผ้าไหมของบ้านหนองก้อม ในจังหวัดนครราชสีมาเช่นกัน ส่วนแรงบันดาลใจในการออกแบบเกิดจากธรรมชาติของคลื่นน้ำ เทคนิคการเย็บจึงค่อนข้างซับซ้อน เริ่มจากการตีเกล็ด แล้วทำจีบทวิสต์ไปตามด้านยาวของหมอน ตามด้วยการเดินเส้นทแยงมุมทับ หมอนใบนี้เป็นงานละเอียดมาก และใช้ผ้ามากกว่าหมอนธรรมดาถึง 4 เท่า”
จากคำบอกเล่าของวาสินี ผลงานของกลุ่มชิ้นที่ 3 เป็นชุดหมอนสี่เหลี่ยมใช้ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งทอจากบ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นผ้าไหมสีพื้นสลับกับไหมมัดหมี่ที่ใช้เทคนิคการทอแบบหมี่ซ้อน คือย้อมเส้นยืนเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อช่วยเพิ่มมิติของผืนผ้า หมอนขนาด 18×18 นิ้วใบนี้มีการนำผ้าไหมที่ตัดเป็นรูปโค้งราวกับทิวเขามาต่อกันแบบซ้อนทับ ปิดทับรอยต่อด้วยเทคนิคการปัก เพื่อเพิ่มหความหรูหรา จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ตกแต่งบ้าน ส่วนแรงบันดาลใจนั้นเธอบอกว่า เกิดจากทิวทัศน์ของภูเขาในท้องถิ่นที่พบเห็นได้ยามลงพื้นที่ไปกระจายงานให้กับชาวบ้าน
“ชิ้นงานสุดท้ายในกลุ่มเป็นกรอบรูปที่เราพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการนำผ้าไหมสีพื้นมาพิมพ์ลาย ประกอบกับเทคนิคการปัก ซึ่งฝ่ายเราจะต้องสเก็ตช์แบบเหมือนจริงทุกประการให้ชาวบ้านดู ต้นแบบจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และหลังจากที่ทางกลุ่มช่างชาวบ้านผลิตให้เราครบตามจำนวน เราก็อนุญาตให้ชาวบ้านเหล่านี้ผลิตสินค้าในรูปแบบเดียวกันออกจำหน่ายเองได้ ทางเราไม่สงวนลิขสิทธิ์ และรู้สึกยินดีด้วยซ้ำหากชาบ้านสามารถนำความรู้นี้ไปต่อยอด”
และอีกหนึ่งรางวัลที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง เป็นงานปั้นหล่ออ่างทรงขนุนซึ่งอาศัยเทคนิคเดียวกับการหล่อพระพุทธรูปแบบโบราณ ผลงานของ มร. เอล็กซานเดอร์ ลามอนต์ เจ้าของ Lamont Design Company “ผมได้แรงบันดาลใจมาจากขนุนผลไม้ไทยที่มีเนื้อสีเหลืองทอง รสชาติหอมหวาน ซ่อนอยู่ในเปลือกที่มีหนามสั้นๆ ทู่ๆ อยู่รอบๆ ขนุนจึงเป็นผลไม้ที่มีลักษณะเฉพาะอันโดดเด่น ช่วงที่คิดออกแบบงานชิ้นนี้บังเอิญว่าตรงกับฤดูขนุนพอดี ผมเลยเกิดความคิดว่าน่าจะนำรูปทรงของขนุนมาหล่อเป็นภาชนะทรงอสมมาตร เลียนแบบผลขนุนผ่าตามแนวขวาง ผมเอาผลขนุนจริงมาเป็นต้นแบบในการหล่อด้วยเทคนิคเดียวกับการหล่อพระของคนไทย ใช้บรอนซ์เป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ได้พื้นผิวที่ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสีสันของเปลือกหรือความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับหนามขนุน เนื่องจากในทุกชิ้นงานของ Lamont เราจะเน้นให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกดีๆ ราวกับได้สัมผัสกับของจริง”
งานศิลปหัตถกรรมล้วนสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้ความแตกต่างทางสภาพแวดล้อม ฐานทรัพยากร ประเพณี คติความเชื่อ ที่หล่อหลอมรวมกันเป็นแบบแผนวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ผ่านการรังสรรค์เป็นรูปทรง โครงสร้าง ลวดลาย วัสดุและฝีมืออันประณีต กระทั่งกลายเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่าทางจิตใจ และสินค้าที่มีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ให้แก่บุคคล ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการส่งออกไปยังต่างประเทศนำรายได้มาสู่ประเทศชาติและพัฒนาสังคมโดยรวม
โดย : บังอร ทองมาก
ที่มา : Living Thai ฉบับที่ 1 / 2554