การลงทุนในศิลปะเป็นการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้มีความมั่งคั่งสูง การลงทุนในศิลปะแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้ “ศิลป์” มากกว่า “ศาสตร์” เนื่องจากมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีประเด็นและแง่มุมที่ต้องพิจารณาแตกต่างไปจากการลงทุนอื่นๆ
หากวัดกันตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตแล้ว?สิ่งที่อาจจะจัดได้ว่า มีประโยชน์หรือคุณค่าต่อคนเราจริงๆ ก็มีแค่ปัจจัย4 แต่ช่างเป็นเรื่องน่าคิด และออกจะน่าตกใจมิใช่น้อย ที่มนุษย์โลกอย่างเราๆท่านๆ ได้ช่วยกันสร้างคุณค่าสมมุติให้สิ่งต่างๆรอบตัวเรามากมาย ส่งผลให้ราคาค่างวดของสิ่งที่สมมุติจนเชื่อกันว่ามีคุณค่านั้นสูงลิบลิ่ว กลายเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้คนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่าง อัญมณี ทองคำ หรือแม้แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างเช่น…ผลงานศิลปะ
จริงอยู่ ศิลปะ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ แต่สำหรับการลงทุนในงานศิลปะ ซึ่งมิได้เป็นวัตถุที่เป็นปัจจัยในการมีชีวิตอยู่ของคนเรา การกำหนดคุณค่า ความต้องการ หรืออุปสงค์อุปทานของตลาดมาจากอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล หรือบางทีเหตุผลอาจจะมาจากความ ไม่มีเหตุผลอันใดเลย นอกเหนือไปจากความนิยมชมชอบสถานเดียว
นักลงทุนที่ร่ำรวยด้วยการลงทุนในงานศิลปะส่วนใหญ่ จะเป็นคนที่รวยอยู่แล้ว และซื้อศิลปะมาสะสมไว้เป็นการลงทุนทางเลือก แต่สิ่งที่ควรรู้ หากคิดจะหวังเอาร่ำเอารวยทางนี้ คือปัจจัยที่ถูกสมมุติจนเชื่อกันว่าเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาคุณค่าสมมุติของงานศิลปะ เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการสร้างราคา ซึ่งคนในธุรกิจค้าขายงานศิลปะยอมรับนับถือกันมานานทั่วโลก
ไม่ว่าผลงานศิลปะชิ้นใด เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะสวยงามขนาดไหน แต่ปัจจัยแรกที่จะใช้พิจารณาในการตัดสินใจซื้องานศิลปะกลับเป็นชื่อเสียงของศิลปิน ราคาขั้นแรกของศิลปะถูกกำหนดโดยการตั้งราคาขายของศิลปิน ก็เหมือนหุ้น IPO ที่ถูกกำหนดราคาก่อนเข้าตลาดโดยเจ้าของกิจการ แต่หลังจากนั้นจะมีราคามากน้อยขึ้นกับตลาด และชื่อเสียงของศิลปินที่มีการ กระจายเสียงออกไปช่วยดันราคา
เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้น งานศิลปะก็ต้องการ ‘เรื่องราว’ ในการปั่น ราคาให้สูงขึ้น แม้ว่างานบางชิ้นของศิลปินคนดัง อาจดูเหมือนเด็กอนุบาลหลับตาใช้เท้าเขียน แต่หากมีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลัง ก็ทำให้ราคาของงานพุ่งขึ้นได้เยอะ
งานศิลปะก็เหมือนสินค้าทั่วไปที่ต้องมีสภาพดี ถึงจะขายได้ราคาดี ความสมบูรณ์ของตัวงานที่เกิดจากการจัดเก็บที่ถูกวิธี สามารถยืนยง ผ่านการเวลามาได้นาน ย่อมราคาดีกว่างานผุๆ
อายุขัยและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของเก่าบางชิ้น เป็นของเก่าเก็บ ในขณะที่ของบางชิ้นเป็นวัตถุโบราณล้ำค่า ขึ้นอยู่กับว่ามันมี ร่อยรอยหรือมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์มากแค่ไหน
ความเป็นหนึ่งเดียวในโลก ของหายาก มีจำนวนจำกัด เป็นธรรมดาที่จะกระตุ้นความอยากได้ให้คนช่วงชิง ศิลปินที่ผลิตงานซ้ำๆ หรืองานประเภท ภาพถ่าย บางยุคถือว่าไร้ค่าเพราะผลิตซ้ำได้ง่าย บางทีไม่ถือเป็นศิลปะด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ไม่น่าจะนำมาเป็นเกณฑ์กำหนดคุณค่าราคาอะไรได้ แต่ในวงการศิลปะก็ถือว่าเป็นเกณฑ์อย่างหนึ่ง นั่นคือรสนิยม ความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งบางทีก็เหมือนนิทานเรื่องหมาหางด้วน กล่าวคือ เมื่อมีใครสักคนทะลึ่งจ่ายเงินจำนวนมหาศาลไปกับงานที่ชอบ ไม่ว่าจะด้วยรสนิยมอันสูงส่งหรือด้วยความโง่ ก็ต้องป่าวประกาศให้คนอื่นเห็นชอบด้วย (แบบว่าไม่ยอมโง่คนเดียวว่างั้นเถอะ) ว่าสิ่งที่ซื้อมานั้นดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใด และก็เป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่ชอบเห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง อะไรที่คนรวยซื้อ มักจะถูกให้คุณค่า ว่าน่าจะเป็นของดีมีรสนิยมขึ้นมาทันที เมื่อถูกทำให้เชื่อว่า คนรวยมีรสนิยมดี ราคาของงานศิลปะที่เขาเลือกก็จะแพงขึ้นมาทันตาเห็น ศิลปินบางคนจึงแอบทำสัญญาลับๆ กับเศรษฐีชื่อดังเอาไว้ว่า ตัวเองขายงานให้ในราคาแพงอย่างนั้นอย่างนี้ โดยความจริงอาจจะให้ฟรีหรือขายกันแบบถูกๆ เมื่อแมงเม่าเห็นว่า เป็นงานชิ้นที่เศรษฐีกล้าทุ่มเงินซื้อ ก็กระพือปีกบินตามมาเข้ากองไฟกันยกใหญ่ ราคางานของศิลปินคนนั้นก็พุ่งกระฉูด เศรษฐีคนที่มีงาน เหล่านั้นเอาไว้ในคอลเลคชั่นก็รวยไปตามๆกัน บ้างก็มีการซื้อขายกันเพื่อปั่นราคาในกลุ่มของตัวเอง หลักการเดียวกับการปั่นหุ้นนั่นแหละ แต่อันนี้ไม่มี กลต. มาคอยจับผิดหรือตรวจสอบ
และเมื่อสมมุติกันเสร็จว่างานศิลปะนั้นมีค่าสูงลิบลิ่วแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการตั้งกฎกติกาหรือดัชนีชีวัดที่เป็นมาตรฐานกลาง มากันให้มันดูเป็นจริงเป็นจังเข้าไปอีก นั่นคือ New MEI Moses Annual All Art Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาศิลปะ ซึ่งก็คล้ายๆกับดัชนีตลาดหุ้น ตลาดทองคำ หรือตลาด พืชผลเกษตรนั่นเอง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนีราคางานศิลปะนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้น หรือตามดัชนี เศรษฐกิจโลกซะด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามานี้ ก็เพื่อให้เห็นเป็นความสะใจในฤทธิ์เดช แห่งการสมมุติของมนุษยชาติ มิได้เชิญชวนให้ใครมาลงทุนในงานศิลปะ เพื่อหวังเป็นเศรษฐี การซื้องานศิลปะมาครอบครองโดยหวังจะขายต่อเอาร่ำเอารวยแต่ไม่รู้สึกชอบนั้น เป็นความขาดทุนตั้งแต่เริ่มต้น และพึงระลึกไว้เสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ!
แม้ในสังคมส่วนมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยเราจะมีความเห็นว่า การซื้อขายงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อความสุขในการชื่นชม หรือเป็นการซื้อเพื่อสะสมลงทุนระยะยาว เป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ บนยอดปีระมิดของสังคมที่มีความรู้ด้านศิลปะสูงส่ง รสนิยมสูง และมีกำลังซื้อสูง แต่ก็มิได้หมายความว่า ธุรกิจด้านสุนทรียะนี้จะเป็นสิ่งที่ยากเกินจริง เพราะมีนักค้างานศิลปะมืออาชีพ จำนวนไม่น้อยที่ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจนี้ได้มาเป็นเวลานาน จนเป็นที่รู้จักกันอย่าง กว้างขวางทั้งในหมู่ผู้ซื้องานและผู้สร้างงาน
——————————————————————————–
ขอบคุณที่มาจาก http://dooqo.com/detail_page.php?sub_id=1655