โครงการแห่งความเจ็บปวด

โดย : โกสุม โอมพรนุวัฒน์   อาทิตย์แรก ตั้งเป้าหมายว่าจะกินข้าวกล้องให้มากที่สุด และเลี่ยงการกินแป้งขัดขาว

อาทิตย์ที่สอง ตั้งเป้าหมายว่าจะกินผักให้มากขึ้น ในขณะที่ยังไม่ทิ้งเป้าหมายแรก

อาทิตย์ที่สาม ตั้งเป้าตัดอาหารแปลงรูป (processed food) และระวังเรื่องการกินอาหารที่ สารปนเปื้อน (นอกเหนือจากยังคงกินข้าวกล้องและกินผักต่อไป)

อาทิตย์ที่สี่ ตั้งเป้าหมายว่าจะลดการกินน้ำตาลลง (ในขณะที่ยังคงรักษาเป้าหมายทั้งสามอาทิตย์ข้างต้นอยู่)

อาทิตย์ที่ห้า ตั้งเป้าหมายระวังเรื่องไขมัน โดยเลือกกินไขมันที่ดี และตัดไขมันที่เลว (โดยยังกินข้าวกล้อง กินผักเพิ่ม ลดอาหารปนเปื้อน และตัดน้ำตาลลง)”(1)
(ที่มา: กินให้สวย ของ สิทรา พรรณสมบูรณ์)

“อืมม์… เกิดจากอายุมากขึ้น แล้วก็เป็นเพราะว่าเราเป็นนางแบบ เป็นนักแสดง อะไรอย่างนี้ ก็เลยต้องใช้ร่างกาย เราใช้รูปร่างเรา ใช่มั้ยค่ะ? ก็เลยต้องออกกำลังกาย เพราะจากแต่ก่อนนี้ อดมื้อสองมื้อ หน้าท้องไม่มี ตอนนี้ อดสองสามมื้อ ไม่กินวันหนึ่ง หน้าท้องยังอยู่ ตายแล้ว ต้องเริ่มออกกำลังกาย”

“แล้วนี่ก็คือ ฟิตเน็ต ที่เกด… เออ…เล่นอยู่ในเวลาปัจจุบันนี้นะคะ ส่วนมากแล้วนะคะ มาออกกำลังกายเนี่ย อาทิตย์หนึ่งก็ประมาณสักสามวัน เกตจะสาธิตให้ดูนะคะ

ช่วงนี้ เกดกำลังฮิต เล่นลูกบอลนี้ จริง ๆ แล้วเนี่ย ลูกบอลนี้ แล้วเนี่ย จะได้ทุกส่วนของร่างกายเราเลยนะคะ เล่นหลังก็ได้…

แล้วตอนนี้นะคะ ก็เป็น class หนึ่งที่เกดชอบเต้นบ่อยเลยนะคะ อาทิตย์หนึ่งประมาณ 2-3 ครั้งนะคะ class นี้เรียกว่า body combat นั่นเองค่ะ

ตอนนี้นะคะ ก็จะมาออกกำลังกายอีกแบบหนึ่งนะคะ สำหรับผู้หญิงนี่ เราชอบที่จะให้ FIRM ให้กล้ามเราดู firm มีกล้ามแต่ดูไม่ใหญ่นะคะ วิธีนั้น ก็คือ การ burn ก่อนค่ะ”(2) (ที่มา: บทสัมภาษณ์ เมทินี กิ่งโพยม ในรายการสมาคมชมดาว)

“อย่ารอให้ถึงเลข 3 กว่าจะเริ่มดูแลผิวอย่างจริงจัง”(3)  (ใหม่ VISIBLE RESULTS จากสถาบันวิจัยด้านผิวพรรณ LOREAL)

“เห็นได้เลยว่าผิวดิฉันดีขึ้น”  (ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ACTIVA CELL ที่ช่วยฟื้นฟูสภาพผิว พร้อมปกป้องผิวในระดับ SPF 15)

“วันที่ 1 ผิว…นุ่มขึ้น
วันที่ 5 ผิว… เนียนเรียบขึ้น
วันที่ 8 ผิว… ริ้วรอยแห่งวัยลบเลือนลง
เพียง 8 วัน เริ่มต้นผิวสวยใสใหม่”
(ใหม่ VISIBLE RESULTS จาก LOREAL)

“เห็นผลได้จริง คุณค่าที่คุณคู่ควร”  (ที่มา: โฆษณาผลิตภัณฑ์ลบริ้วรอยทางโทรทัศน์ นำเสนอโดย นาตาลี อิมบรูเกลีย)

“คนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่สามารถเลือกที่จะดำเนินชีวิตได้ คนที่เกิดมาพร้อมรูปทรัพย์ มีหน้าตาสวย ผิวพรรณดี หุ่นดี รูปหล่อ มาดแมน นับว่าโชคดียิ่ง แต่บางคนเกิดมาอาจไม่พร้อมด้วยรูปทรัพย์ทั้งหมด ..จึงปรารถนาที่จะแก้ไขในจุดนั้น ๆ ให้ดูดีเป็นที่พึงใจ แน่นอนว่าการที่จะตบแต่งแก้ไขส่วนใด ๆ ของร่างกายให้ดูดีขึ้นและปลอดภัยนั้น ต้องใช้วิธีการทางการแพทย์ (หน้า 9)

“หมอจะขอแนะนำให้คุณ ๆ ได้รู้และเข้าใจอย่างง่าย ๆ ในเรื่องการทำศัลยกรรมตบแต่ง … แน่นอนว่าหมอจะค่อย ๆ พาคุณไปดูว่าแพทย์ที่รักษาเค้าทำกันอย่างไร คุณจะเจ็บมั้ย ใช้เวลานานเท่าไหร่ แล้วจะได้ผลดีแค่ไหน อ้อ…ราคาล่ะ…ราคาเท่าไหร่ แพงมั้ย ฯลฯ ทั้งหมดที่คุณอยากรู้หมอจะบอกไว้ในหนังสือเล่มนี้ (หน้า 10)

“มีเพื่อนหมออยู่คนหนึ่งมาหาหมอเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เมื่อก่อนเพื่อนหมอคนนี้ก็เป็นหญิงสาวตาขั้นเดียว แถมใส่แว่นหนาเตอะอีกต่างหาก เมื่อปีที่แล้วเธอได้มาให้หมอผ่าตัดทำตาสองชั้นให้ หลังจากที่พิจารณาดูถ้วนถี่แล้วว่า ขืนปล่อยให้ล่าช้าไปอีกก็อย่าได้หวังเลยว่าชาตินี้จะหาแฟนได้ หลังจากที่เธอได้รับการผ่าตัดทำตาสองชั้นแล้ว เธอก็โยนแว่นตาอันหนาเตอะทิ้งมาใส่คอนแทคเลนส์แทน ตั้งแต่นั้นเธอก็กลับมีดวงตากลมโตสวยใสปิ๊ง และคราวนี้เธอมาพบหมอเพื่อแจกการ์ด แต่งงาน แถมยังบ่นอีก รู้อย่างนี้ฉันทำตั้งนานแล้ว ไม่ปล่อยจนอายุสามสิบกว่าอย่างนี่หรอก !!!” (หน้า 12-13)(4) (ที่มา: สวยด้วยแพทย์ คู่มือ 45 วิธีสวยอย่างปลอดภัย โดย คณะแพทย์โรงพยาบาลยันฮี)

แนะนำโครงการร่างกาย
พื้นที่แรกของรายงานฉบับนี้ เต็มไปด้วยเนื้อหาที่ตัดตอนมาจากหนังสือคู่มือการรับประทานอาหาร เพื่อรักษาสุขภาพและความงาม หนังสือแนะนำการทำศัลยกรรมเสริมความงามโดยคณะแพทย์ บทสัมภาษณ์นางแบบในรายการทอล์คโชว์ทางโทรทัศน์ โฆษณา ผลิตภัณฑ์ลบ ริ้วรอย และโฆษณาสถานรักษารูปร่าง และทรวดทรงที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต เนื้อหาเหล่านี้ต่างพูดถึงสิ่งเดียวกัน คือ ความสนใจที่แต่ละบุคคลมีต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกายของ ผู้หญิง

ปริมาณของเนื้อหาที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่ง ที่มิอาจเทียบได้กับการให้ความสำคัญต่อร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และแพร่กระจายอยู่ ในชีวิตสังคม และในภาพตัวแทนที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนในปัจจุบัน ความสนใจที่มีต่อร่างกายนี้ ดำรงอยู่พร้อมกับความเชื่อที่ว่า “รูปลักษณ์ภายนอก ขนาด รูปร่าง หรือแม้แต่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถเปิดไปสู่การจัดการกับร่างกายให้สอดคล้องกับรูปแบบที่เจ้าของร่างกายต้องการได้” (Shilling, 1993: 5; 1997: 69)

การพยายามสร้างหรือค้นหาเทคโนโลยีเพื่อควบคุมและจัดการกับร่างกายนั้นมิใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็เช่น การมัดเท้าของหญิงชาวจีน การสวมใส่เครื่องรัดทรวงในหมู่หญิงชาวตะวันตก การสัก เจาะ และการสร้างรอยแผลเป็น Rudofsky พบว่าการมองร่างกายในฐานะ “วัตถุดิบ” ของ “ผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์” นั้นสามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ความแตกต่างสำคัญดูเหมือนจะอยู่ในขณะที่ในสังคมดั้งเดิม การดัดแปลงร่างกายให้เป็นที่สังคมยอมรับ (Rudofsky, 1986 อ้างใน Shilling, 1993: 4-5; สายพิณ ศุพุทธมงคล และคณะ, 2541: 17)

แต่ในปัจจุบัน ร่างกายมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรู้สึกด้านอัตลักษณ์ของปัจเจกชนสมัยใหม่ ตามแนวคิดของ Chris Shilling ร่างกายถูกมองว่าเป็น “หน่วย หรือ entity ที่อยู่ในกระบวนการกลายเป็นบางสิ่งบางอย่าง หรือเป็น โครงการ” ซึ่งหมายความว่า ร่างกายไม่ใช่สิ่งที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ในภาวะของการกำลังกลายเป็นสิ่งอื่น ที่ไม่มีวันจบสิ้น

ร่างกายจึงเป็นเสมือนโครงการที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ที่เรียกว่า “โครงการร่างกาย” หรือ “body project” เพื่อให้ร่างกายบรรลุเป้าหมายที่พึงปรารถนาและเป็นการสื่อถึงตัวตนหรืออัตลักษณ์ของปัจเจกชน ที่เป็นเจ้าของร่างกายนั้น (Shilling, 1993: 4-5; สายพิณ ศุพุทธมงคล และคณะ, 2541: 17)

โครงการร่างกาย(body project)นี้ แตกต่างไปจากการประดับประดาหรือการปรับเปลี่ยนร่างกายของคนในสังคมก่อนสมัยใหม่ (pre-modern societies) เนื่องจากโครงการร่างกายมีการผ่อนปรนมากกว่า และไม่ได้ยึดติดกับการกำหนดรูปแบบของร่างกาย ตามขนบหรือพิธีกรรมที่กระทำร่วมกันของคนในชุมชน

ในทางตรงกันข้ามโครงการร่างกายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่จัดการกับร่างกายของตนเอง (Mellor and Shilling, 1997)

นอกจากนั้น การปฏิบัติต่อร่างกายในฐานะที่เป็นโครงการไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตลอดเวลาหรือเปลี่ยนแปลงทุกส่วนของร่างกาย แต่เจ้าของร่างกายต้องให้ความสำคัญ และใส่ใจกับการจัดการ การบำรุงรักษา และรูปลักษณ์ของร่างกายของตนเอง ร่างกายจึงมีความหมายทั้งที่เป็นสมบัติส่วนบุคคลและสัญลักษณ์ทางสังคมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของเจ้าของร่างกายนั้น (Shilling, 1993: 5)

โครงการร่างกายของสิทรา พรรณสมบูรณ์ใน กินให้สวย ซึ่งแนะนำผู้หญิงทำงานที่ต้องการดำเนินชีวิตแบบทันสมัยว่าควรเลือกทานอาหารอย่างไร เพื่อก้าวสู่ความงามทั้งเรือนร่างและจิตใจ, โครงการร่างกายของเมธินี กิ่งโพยม ที่ให้สัมภาษณ์และสาธิตการออกกำลังเพื่อรักษารูปร่างนางแบบของเธอ ไว้ในรายการ สมาคมชมดาว, โครงการร่างกายของนาตาลี อิมบรูเกลีย ที่อาศัยผลิตภัณฑ์ ลบริ้วรอยเพื่อทำให้ผิวนุ่มขึ้น เนียนเรียบขึ้น และริ้วรอยลบเลือนลงภายใน 8 วัน, โครงการร่างกายของเอมม่า ที่เธอมอบหมายให้สถาบันรักษาทรวดทรง ทำให้รูปร่างของเธอสวยเพรียวอย่างรวดเร็วและง่ายดายภายใน 30 วัน และโครงการร่างกายของเพื่อนหมอ ที่หมอเล่าไว้ใน สวยด้วยแพทย์ คู่มือ 45 วิธีสวยอย่างปลอดภัย ที่นำเสนอแนวทางการมอบหมายให้แพทย์จัดการกับโครงการร่างกายไว้ถึง 45 วิธีด้วยกัน

นับตั้งแต่ ทำตาสองชั้น, ลดถุงไขมันใต้ตา, เสริมจมูก, ตัดปีกจมูก, ตบแต่งปากแหว่ง เพดานโหว่, เสริมคาง, ตัดกราม, ทำลักยิ้ม, ดึงหน้า ดึงหน้าผาก ดึงคอ, เสริมหน้าอก, ลดขนาดเต้านม, ตบแต่งหัวนม, กำจัดเหงื่อ, ดูดไขมันหน้าท้อง, แปลงเพศ, ทำรีแพร์, ตบแต่งแคมเล็ก, ตบแต่งเยื่อพรหมจารี, กำจัดสิว, ฝ้า, กระ, ลบรอยแผลขรุขระบนใบหน้า, ทำหน้าขาวใส, รักษากลากเกลื้อน และโรคเชื้อราบนผิวหนัง, จี้ไฝ หูด ขี้แมลงวัน ติ่งเนื้อ, รักษาปานและลบรอยสัก, รักษาแผลเป็น, ลดรอยตีนกา, รักษาด้วย IOTO และ PHONO, ขจัดเซลลูไลท์, การผลัดผิว, ปลูกผม, รักษาเส้นเลือกขอด, ลดน้ำหนัก, กำจัดขนรักแร้, สักเพื่อการรักษาและความงาม, ขัดผิวให้ขาวเนียน, ฟอกสีฟันให้ขาว, จัดฟัน, ทำเขี้ยว, ติดเพชรที่ฟัน, ไปจนถึง ตบแต่งช่องฟันห่าง “คุณจะได้สวยสมใจ สวยอย่างปลอดภัย สวยด้วยแพทย์

โครงการร่างกายต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเพียงบางตัวอย่างของโครงการจำนวนนับร้อยนับพันที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ในแต่ละวัน ภาพตัวแทนโครงการร่างกายเหล่านี้ ไม่เพียงแต่พยายามชี้ให้เห็นว่า คนในสังคมปัจจุบันหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับร่างกายมากขึ้นเพียงไร ด้วยวิธีการใดบ้าง แต่ยังแพร่กระจายความหมายว่า

“การลงทุนในร่างกายเป็นอีกวิถีทางหนึ่งในการสร้างตัวตนของเจ้าของร่างกายนั้น ทำให้รู้สึกดีกับตนเอง และตระหนักถึงความสามารถในการควบคุมร่างกาย เพราะแม้จะรู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถในการควบคุมสังคมที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุด ก็สามารถจัดการบางอย่างกับขนาด รูปทรง และรูปลักษณ์ของร่างกายได้” (Shilling, 1993: 7)

อย่างไรก็ตาม ภาพตัวแทนโครงการร่างกายเหล่านี้ มักงดเว้นไม่นำเสนอสัจจะข้อหนึ่งว่า “ร่างกายเป็นอนิจจัง” การลงทุนกับร่างกายมีข้อจำกัด โครงการร่างกายไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป ร่างกายแก่และเสื่อมลง และร่างกายต้องสิ้นสลายและตายไปในที่สุด ร่างกายไม่เพียงมีข้อจำกัดเพราะวันหนึ่งมันต้องสิ้นอายุขัยไปเท่านั้น เพราะแม้คนจะพยายามจัดการดัดแปลงร่างกาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้สำเร็จทุกคราวทุกเรื่องไป นอกจากนี้ การพยายามเปลี่ยนขนาดและรูปทรงของร่างกาย ยังมิใช่เรื่องที่ปราศจากความเสี่ยง อีกด้วย (Shilling, 1993: 7) เช่น ผลข้างเคียงที่เกิดจากการทำศัลยกรรมพลาสติก

ข้อจำกัดอีกประการหนึ่ง ที่สำคัญของการปฏิบัติต่อร่างกายในฐานะที่เป็นโครงการ คือ ภาพลักษณ์ของร่างกายที่พึงปรารถนา หรือร่างกายในอุดมคติ ที่แพร่กระจายอยู่ในสังคมนี้ รวมทั้งการติดยึดกับการจัดการกับร่างกายนี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่มีอยู่ในดำรงต่อไป

โครงการร่างกายสำหรับผู้หญิงบางคนเป็นไปเพื่อทำให้ร่างกายของตนสอดรับกับจินตนาการและความต้องการของผู้ชายหรือของความคาดหวังจากสังคม มากกว่าที่จะแสดงออกถึงความเป็นปัจเจกบุคคลของตน

เจ้าของร่างกายจึงไม่ใช่เจ้าของร่างกายที่แท้จริงเสมอไป แต่ร่างกายเป็นพื้นที่ของการต่อรองและช่วงชิงทางอำนาจระหว่างตัวปัจเจกบุคคลเอง กับแรงปะทะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ร่างกายยังได้กลายมาเป็นประเด็นการแบ่งแยกและสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างมนุษย์ด้วย

ความสำคัญของโครงการร่างกาย(body project)
คำถามสำคัญคำถามแรก คือ เพราะเหตุใดเจ้าของร่างกายจึงได้ทุ่มเททั้งเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ และยอมเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการจัดกระทำกับร่างกายของตน เพื่อแสดงออกซึ่ง อัตลักษณ์ที่ต้องการ? และอัตลักษณ์ที่ต้องการนั้นคืออะไร?

จากภาพตัวแทนโครงการร่างกายหลาย ๆ โครงการที่ได้กล่าวถึงไว้ในตอนต้น ทั้งนาตาลี, ลูกเกด, เอมม่า, และเพื่อนหมอ, เจ้าของร่างกาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิงนั้น มีวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการประการเดียวกันคือ ต้องการสร้างอัตลักษณ์ให้กับตนเอง ผ่านการจัดกระทำ บำรุงรักษา หรือประดับตบแต่งร่างกายของตนให้เป็นร่างกายที่สวยงาม เป็นที่พึงปรารถนา และมีเสน่ห์ดึงดูดใจ

การจัดการกับร่างกาย เป็นการสลายเส้นแบ่งแยกระหว่างภาพตัวแทนและการปฏิบัติ (Macdonald, 1995: 192) หมายความว่า เป็นการนำภาพในอุดมคติของร่างกายที่ปรากฏอยู่ในภาพตัวแทนต่าง ๆ มาสู่การปฏิบัติจริง ในการที่ผู้หญิงตัดสินใจว่าจะควบคุมอาหารหรือไม่ควบคุมอาหาร จะแต่งหน้าหรือไม่แต่งหน้า จะแต่งกายอย่างไร จะทำผมทรงใด

ผู้หญิงล้วนแล้วแต่เข้าไปมีส่วนร่วมในระบบการสร้างความหมาย ที่เชิญชวนให้ผู้หญิงโต้ตอบกลับกับนิตยสาร โฆษณาและสื่ออื่น ๆ ดังนั้น การที่ผู้หญิงลงทุนลงแรงอย่างมากมายกับร่างกายให้มีฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์นั้น ยิ่งทำให้ภาพตัวแทนของร่างกายมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนิยามความหมาย หรือนิยามความหมายใหม่ของความเป็นหญิง (Macdonald, 1995: 192)

อัตลักษณ์ของความเป็นหญิงที่แสดงผ่านร่างกาย สามารถลงรหัสได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งสัดส่วนและขนาดรูปร่างในอุดมคติ รูปแบบการแต่งหน้า การดูแลผิวพรรณและเส้นผม รวมไปถึงการเลือกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ และความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์และร่างกายของผู้หญิงสามารถปรากฏได้หลายรูปแบบเช่นกัน แต่มักไม่ได้มีการพูดถึงในภาพตัวแทนของสื่อมวลชน เช่น ผลของการมีประจำเดือน หรือการหมดประจำเดือน รูปร่างและการทำงานของร่างกายที่ผิดเพี้ยนไปหลังจากการคลอดบุตร หรือความรู้สึกสูญเสียที่เกิดจากการตัดเต้านมและมดลูก

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์และร่างกายที่เป็นจุดสนใจกลับไม่ได้อยู่ที่การมองว่าร่างกายเป็นระบบที่ทำงานได้ปรกติหรือไม่ แต่กลับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์และร่างกายในทางวัฒนธรรม ที่เน้นสนใจว่าร่างกายของผู้หญิงเป็นที่ดึงดูดใจชายหรือไม่ (Macdonald, 1995: 194)

ถึงแม้ว่าความดึงดูดใจหรือเสน่ห์ทางกายจะมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกดีเกี่ยวกับตนเอง ทั้งของผู้ชายและผู้หญิง (Adams, 1985 อ้างใน Tse?lon, 1995: 78) แต่ความสวยมักถูกมองว่าเป็นสิ่งคู่กันกับร่างกายของผู้หญิง และความสวยเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาสัมพันธ์กับเพศหญิงและความเป็นหญิง ทั้งในแง่ที่ว่าผู้หญิงรู้สึกอย่างไรกับตนเอง และผู้อื่นรู้สึกและปฏิบัติอย่างไรกับผู้หญิง (Lakoff and Scherr,1984; Suleiman, 1985 อ้างใน David, 1995: 39; Bar-Tal and Saxe, 1976; Unger, 1985; Mazur; 1986 อ้างใน Tse?lon, 1995: 78)

“เราจะต้องสร้างบุคลิกให้ดีขึ้น เราต้องไปพบลูกค้าทำให้พวกเขารู้สึกประทับใจหรือว่าเวลาคุยกับลูกค้าเหมือนกับว่าทำให้เราดูน่าเชื่อถือ มีความมั่นใจมากขึ้นนะ พอเริ่มเข้าสังคมเรื่องความสวยงามมีมากขึ้น ผู้หญิงเราเรื่องความสวยงามเป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว”(6) คำบอกเล่าของพี่ปุ๋ย (นามสมมติ) พนักงานฝ่ายศิลป์ อายุ 29 ปี ภูมิลำเนากรุงเทพฯ ได้ทำศัลยกรรมตาสองชั้น (หน้า 47)

“ตอนยังไม่ทำไม่เห็นมีใครมาจีบเลย ไม่สวยไม่มั่นใจ ผู้ชายหายหมด พอทำแล้วก็มีคนมามองเยอะ เทน้ำ เทท่า คนทำศัลยกรรมมาก็อยากสวย เสริมความมั่นใจของเรามากขึ้น” จากคำบอกเล่าของน้องแหม่ม (นามสมมติ) พนักงานประชาสัมพันธ์ วัย 21 ปี ภูมิลำเนากรุงเทพฯ ที่ได้ทำศัลยกรรมตาสองชั้น (หน้า 48)

“ไม่สวย ไม่น่ารักเห็นแล้วก็เฉย ๆ ธรรมดา ดูแล้วไม่สะดุดตา ผู้หญิงทุกคนก็อยากให้ ผู้ชายหรือฝ่ายตรงข้ามมองเรา ใคร ๆ ก็คิดแบบนี้ ทำแล้วก็สบายใจ มีความมั่นใจขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง” ความคิดเห็นของน้องแหวน (นามสมมติ) วัย 20 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย ภูมิลำเนากรุงเทพฯ ได้ทำศัลยกรรมตาสองชั้น เช่นเดียวกับน้องกุ๊ก (นามสมมติ) นักศึกษาวัย 21 ปี มี ภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ มีประสบการณ์ได้รับการทำศัลยกรรมตาสองชั้น น้องกุ๊กกล่าวว่า “หน้าตาก็ธรรมดา ไม่มีอะไรน่าสนใจคือถ้าเดินผ่านไปก็ผ่านไป ไม่มีใครมอง ไม่ได้ดูเด่นอะไรมากมาย ถึงเราจะหมวยแต่ก็มีตาสองชั้นคือดูดีขึ้นบ้างแต่สร้างสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองมากขึ้น” (หน้า 48)

“พอมาอยู่เคาน์เตอร์เครื่องสำอางเห็นว่าต้องทำให้หน้าดูสวยขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดทำเลย เราขายเครื่องสำอาง ลูกค้าจะมองหน้าเราก่อน ถ้าหน้าเราดูสวย เค้าก็อยากซื้อเครื่องสำอางเรา” คำบอกเล่าของน้องนิต (นามสมมติ) พนักงานห้างสรรพสินค้า วัย 20 ปี ภูมิลำเนาสุรินทร์ ได้รับการทำศัลยกรรมเสริมจมูก (หน้า 48)

“ถ้าทำแล้ว เผื่อขึ้นประกวดกับเค้าจะได้ตำแหน่งอะไรกับเค้าบ้างน่ะ” ความคิดเห็นของน้องเบน (นามสมมติ) พนักงานต้องรับวัย 22 ปี ภูมิลำเนา ขอนแก่น ทำศัลยกรรมตามสองชั้น และเสริมจมูก คล้ายคลึงกับความคิดเห็นของน้องแคท นักแสดงวัย 22 ปี ภูมิลำเนากรุงเทพฯ ทำศัลยกรรมตาสองชั้น ที่กล่าวว่า “อยู่ในวงการต้องทำ เพราะจะได้สร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น ต้องสวยจะได้มีงานเข้ามาเยอะ ๆ” (หน้า 49)

ทัศนะของผู้หญิงทั้ง 7 คนนี้ ดังที่ปรากฏในการศึกษาเรื่องกระบวนการทำศัลยกรรมความงามของ เชาวเลิศ มากสมบูรณ์ (2539) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ทำศัลยกรรมเสริมความงามซึ่งเคยรับรู้เกี่ยวกับหน้าตาของตนเองว่าไม่สวย ไม่มีเสน่ห์ ไม่ดึงดูดเพศตรงข้าม ได้ตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมจมูก หรือทำตาสองชั้น เพราะต้องการให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในการคบหาสมาคมกับผู้อื่น

ดังในกรณีของพี่ปุ๋ย หรือต้องการให้ตนเองเป็นที่สนใจของบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศตรงข้าม ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นในการพบปะสังสรรค์กับเพศตรงข้าม และการหาคู่ครอง ดังในกรณีของน้องแหม่ม น้องแหวน และน้องกุ๊ก รวมทั้งต้องการสร้างภาพความประทับใจแก่ผู้พบเห็น เพื่อความสำเร็จทางหน้าที่การงาน ดังในกรณีของน้องแคทและน้องเบน

ซึ่งไม่ต่างจากคำบอกเล่าของลูกเกด ที่กล่าวว่า “ก็เป็นเพราะว่าเราเป็นนางแบบ เป็นนักแสดง อะไรอย่างนี้ ก็เลยต้องใช้ร่างกาย เราใช้รูปร่างเรา ใช่มั้ยค่ะ? ก็เลยต้องออกกำลังกาย” ที่ต้องรักษาความสวยงามของร่างกายเพื่ออาชีพการงานของเธอ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนหมอ ที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้นแล้ว ประสบความสำเร็จในการหาคู่ครอง แล้วกำลังจะแต่งงาน

นอกจากนั้น ผลการวิจัยเชิงประจักษ์เป็นจำนวนมาก ยืนยันสมมติฐานเดียวกันว่า ความสวยมีคุณค่า ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามได้รับความนิยมชมชอบมากกว่าและได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถมากกว่า

ความสวยงามทางร่างกายถูกนำไปเชื่อมโยงกับการประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงาน และความสำเร็จในการเลือกคู่ครอง ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาสวยงามมักถูกมองว่าเบี่ยงเบน นอกจากนั้น การวิจัยเหล่านี้ ยังพบว่า การให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับรูปร่างหน้าตามีสูงในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมักถูกวิจารณ์และตัดสินจากรูปกายภายนอก และยังถูกปฏิเสธหรือไม่เป็นที่ยอมรับถ้าขาดคุณสมบัติด้านความงามทางร่างกาย (Jackson, 1992 อ้างใน Tse?lon, 1995: 79)

ผลการวิจัยเชิงประจักษ์ที่ศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงในประเด็นการรับรู้เกี่ยวกับร่างกายของตนเอง (Tse?lon, 1995: 79) ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความรู้สึกต่อภาพลักษณ์ทางด้านร่างกาย (body image) ของตนต่ำกว่าผู้ชาย (เช่น ในการศึกษาของ Berscheid et al., 1973; Fallon and Rozin, 1985; Franzoi et al., 1989) ผู้หญิงรู้สึกพึงพอใจในร่างกายของตนเองน้อยกว่า (Koff et al., 1990; Jackson, 1992) การมองภาพลักษณ์ทางด้านร่างกายของผู้หญิง เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ (Graham and Jouhar, 1983) ความสัมพันธ์กับชายคนรัก (Coombs and Kenkel, 1966; Berscheid t al., 1971; Koestner and Wheeler, 1988) และความเป็นหญิงด้วย (Deutsch et al., 1986)

การวิจัยเกี่ยวกับความดึงดูดใจทางรูปกายนี้ มักตั้งอยู่บนฐานคติที่สำคัญ คือ การย้อนกลับไปมองความเชื่อในสมัยวิกตอเรียน (Victorian belief) ว่าคุณลักษณะของบุคคลสามารถมองเห็นได้ผ่านรูปลักษณ์ภายนอกของบุคคลนั้น และความสวยงามทางรูปกายภายนอกสะท้อนความสวยงามในเชิงจิตวิญญาณภายในของบุคคล (Sennett, 1977; Finkelstein, 1991 อ้างใน Tse?lon, 1995: 85)

ดังนั้น ผลการวิจัยในภาพรวมจึงเป็นการตอกย้ำความเชื่อในสมัยวิกตอเรียนว่าร่างกายที่สวยงามเป็นสัญญาณบอกถึงคุณลักษณะที่สวยงามภายใน “สิ่งที่สวยงามคือสิ่งที่ดี” (What is beautiful is good.) ดังนั้น ผลการวิจัยจึงมักพบว่า ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามได้รับประสบการณ์ทางสังคมที่ดีกว่า มีบุคลิกลักษณะเป็นที่นิยมชมชอบมากกว่า (Patzer, 1985 อ้างใน Tse?lon, 1995: 85)

ฐานความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยอันหนักแน่นเกี่ยวกับความสวยงามทางด้านร่างกายของผู้หญิงในแวดวงวิชาการตะวันตก จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้เพื่อผู้หญิงเสมอไป แต่กลับเป็น “เครื่องมือทางอุดมการณ์” สำคัญประการหนึ่ง ที่เผยแพร่และส่งเสริมอุดมการณ์คุณค่าของความสวยงามทางด้านร่างกายของผู้หญิง ผลงานทางวิชาการกลายเป็นวาทกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง ร่วมกับวาทกรรมของนักโฆษณา อุตสาหกรรมความบันเทิง อุตสาหกรรมความสวยความงาม ที่ต่างเข้ามากำหนดคุณค่าของความงามทางร่างกายของผู้หญิง

ทฤษฎีทางจิตวิทยาถูกใช้เพื่อรองรับความชอบธรรมและเห็นชอบกับการปรับเปลี่ยนรูปกายภายนอกของผู้หญิงให้สวยงาม เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพจิต หรือเพื่อ “ความรู้สึกดี ๆ” (feeling good) ที่ผู้หญิงจะได้รับรู้เกี่ยวกับตนเอง (Tse?lon, 1995: 83-84) ประเด็นเรื่อง “ความรู้สึกดี ๆ” ของผู้หญิงที่เกิดจากการมีรูปร่างหน้าตาสวยงามถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในขณะที่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการ อดอาหาร การลดน้ำหนัก การใช้สารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งการทำ ศัลยกรรมพลาสติกแทบไม่ได้รับการพูดถึงอย่างทัดเทียมกัน

โครงการต้นแบบ
ร่างกายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิง ถ้าผู้หญิงเป็นผู้นิยามความหมายของรูปร่างหรือร่างกายในอุดมคติของตนเอง คงไม่มีปัญหา แต่ภาพตัวแทนทางวัฒนธรรม การแพทย์ ธุรกิจภาพเปลือย แฟชั่น และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มูลค่ามหาศาล ต่างเข้ามามีส่วนในการช่วงชิงความหมายและนิยามอัตลักษณ์ความเป็นหญิง โดยมีร่างกายเป็นศูนย์กลาง เป็นพื้นที่ที่ฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาช่วงชิง การมองปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านร่างกายในอุดมคติของผู้หญิงจะช่วยสะท้อนให้เห็นการปะทะระหว่างแรงผลักดันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่มีต่อการสร้างความหมายให้กับร่างกายของผู้หญิง

ในสังคมตะวันตก การปรับเปลี่ยนร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งความสวยนั้น มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อันเป็นประวัติศาสตร์ที่ผันแปรไปตามระบบของอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้ว่าการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสวยนั้น มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงแต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ในอดีตทั้งสองเพศต่างก็ประดับและตบแต่งร่างกายของตน ในยุโรปตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 18 การปรับแต่งรูปกายภายนอกจำกัดไว้แต่ในแวดวงของชนชั้นสูงเท่านั้น รูปลักษณ์สุภาพสตรีชั้นสูงชาวปารีส แทบไม่แตกต่างไปจากสุภาพบุรุษที่อยู่ข้างกายของนาง ทั้งสองต่างใช้แป้งผัดหน้าให้ขาว ระบายสีปากให้สว่างสุกใส สวมผมปลอมและรองเท้าส้นสูง (Perrot, 1984 อ้างใน David, 1995: 40) การปฏิวัติฝรั่งเศส ได้ลบล้างการยึดมั่นในความแตกต่างทางชนชั้นที่แสดงออกผ่านทางรูปกายภายนอกออกไป

ในทัศนะการมองความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย อัตลักษณ์ และสังคม แบบทัศนะร่างธรรมชาติ (naturalistic body) การศึกษาของ Thomas Laqueur (1990) พบว่า จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ร่างกายยังเป็นร่างกายที่ไม่มีเพศ (ungendered, generic body) ถึงแม้ว่าร่างกายผู้ชายจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐาน แต่ร่างกายของผู้หญิงก็มีทุกอย่างที่ร่างกายผู้ชายมี แตกต่างเพียงแบบแผนการจัดวางอวัยวะต่าง ๆ และความด้อยกว่าของแบบแผนของอวัยวะในร่างกายของผู้หญิง

การเปลี่ยนทัศนคติต่อร่างกายครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อมีแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับ “ความแตกต่างของลักษณะทางกายวิภาคและสรีระวิทยา” ผู้ชายและผู้หญิงถูกจัดแบ่งประเภทอย่างชัดเจน โดยอาศัยความแตกต่างทาง ชีววิทยาเป็นเกณฑ์ เมื่อถึงปลายศตวรรษ ความคิดเรื่อง “ภาวะความเป็นเพศ” (sexuality) ในฐานะคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้อัตลักษณ์ของบุคคลแตกต่างจากเพศตรงข้าม ได้พัฒนาขึ้นมา (สายพิณ ศุพุทธมงคล และคณะ, 2541: 20-21)

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งวิทยาศาสตร์พัฒนามากขึ้น ความคิดเรื่องความแตกต่างทางเพศนี้ยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ร่างกายซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งแสดงอัตลักษณ์และความแตกต่าง ยังถูกมองว่าเป็นที่มาของอัตลักษณ์และการแบ่งหน้าที่ในสังคม โดยที่มองว่าผู้หญิงมีร่างกายและจิตที่อ่อนแอกว่า และด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรทำงานที่จะถูกกระทบด้วยความรุนแรงทั้งทางกายภาพและจิตใจ

เมื่อความคิดนี้ถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่องสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าวิถีชีวิตและตำแหน่งทางสังคมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของร่างกาย จึงนำไปสู่บทสรุปว่า ร่างกายของผู้หญิงถูกสร้างขึ้นเพื่อการสืบเผ่าพันธ์ เลี้ยงดูเด็ก และเพื่อ “สร้างศีลธรรมธรรมชาติผ่านชีวิตครอบครัว” (Jordanova, 1989 อ้างใน สายพิณ ศุพุทธมงคล และคณะ, 2541: 22)

ความแตกต่างทางเพศได้กลายมาเป็นตัวการสำคัญในการสร้างความไม่สมดุลย์ทางอำนาจในสังคม (Laqueur, 1990) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงรูปกายภายนอก ผู้ชายเริ่มแต่งตัวตามสบาย ไม่ค่อยใส่ใจในรูปร่างหน้าตาภายนอก ในขณะที่ผู้หญิงยิ่งทวีความสนใจในการปรับเปลี่ยนร่างกายของตนเองให้สวยงาม เครื่องรัดทรง หรือคอร์เซ็ต (corset) ของ ผู้หญิงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นเสมือนเครื่องจองจำร่างกายของผู้หญิง (Kunzle, 1982) (ดูภาพประกอบที่ 2)

ระบบการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทีละจำนวนมาก และห้างสรรพสินค้า ทำให้แฟชั่นแพร่กระจายไปยังคนจำนวนมาก ร้านเสริมสวยเกิดขึ้น การประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปที่ทำให้ภาพถ่ายของร่างกายที่สวยงามแพร่กระจายไปสู่ระดับมวลชน ตั้งแต่นิตยสารผู้หญิงไปจนถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (Lakoff and Schorr, 1984; Wilson, 1985; Bowlby, 1987 อ้างใน Devis, 1995)

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ร่างกายของผู้หญิงในอุดมคติ หรือมาตรฐานของความสวยในยุคสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในสหรัฐอเมริกา ในทศวรรษที่ 1920 หญิงสาวแบบ “Gibson Girl”(7)(ดูภาพประกอบที่ 3) ที่มีรูปร่างส่วนโค้งเว้าเหมือนนาฬิกาทรายได้เปิดทางให้กับสาวปราดเปรียวแบบสาวรุ่น (flapper) ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายกับเด็กผู้ชายซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Coco Chanel และ Patou การปรากฏตัวของ ภาพลักษณ์ของหญิงสาวแบบที่เรียกว่า flapper(8) (ดูภาพประกอบที่ 4)

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 และต้น ทศวรรษที่ 1930 นี้ Martin Puphrey (1987 อ้างใน Macdonald, 1995: 199) ชี้ให้เห็นว่าหญิงสาวแบบ flapper เป็นการนำเสนอภาพอุดมคติของผู้หญิงที่สอดคล้องกับการเข้ามาของยุคสมัยใหม่ (modernity) เป็นครั้งแรกที่นำเสนอภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้จินตนาการภาพตนเองในรูปลักษณ์ที่ไม่ต้องคำนึงถึงชนชั้น ท่องไปได้ในระดับนานาชาติ และสามารถเข้ากับบรรทัดฐานความเป็นหญิงของผู้หญิงรุ่นแม่ได้เป็นอย่างดี เป็นรูปลักษณ์ที่ทำให้ใฝ่ฝันถึงเสรีภาพ อุตสาหกรรมแฟชั่น และภาพยนตร์ส่งเสริมให้ผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงในวัยสาวใฝ่ฝันถึงอิสรภาพจากความจำเจในสำนักงานหรือร้านค้าที่ทำงาน เพื่อให้นึกถึงกิจกรรมยามว่าง อุตสาหกรรมแฟชั่นและภาพยนตร์ยังเชื่อมต่อผู้หญิงกับโลกแห่งความโรแมนติกของฮอลลีวู้ด หรือปารีสอีกด้วย (ดูภาพประกอบที่ 5)

ความสวยแบบดาราฮอลลีวู้ดในยุค 1940 อย่าง Joan Crawford, Katherine Hepburn และ Betty Davis ถูกแทนที่โดย sex symbols และกระต่ายน้อย Bunnies ของ Playboy ของยุค 1950 (ดูภาพประกอบที่ 6)

ส่วนยุค 1960 นิยมผู้หญิงผอมบางแบบ Twiggy(9)(ดูภาพประกอบที่ 7) ซึ่ง Twiggy ถือว่าเป็นต้นแบบของร่างกายผอมบางในอุดมคติและทรงอิทธิพลอย่างมากตั้งแต่นั้นมา ถึงแม้ว่าแฟชั่นจะยังคงดำเนินต่อไปและเปลี่ยนแปลงไปหลากหลายรูปแบบก็ตาม (Macdonald, 1995: 198) รูปลักษณ์ผอมบางแบบ Twiggy เป็นการตอบโต้กลับ กับการนิยามความเป็นหญิงด้วยรูปลักษณ์กลมกลึง สมบูรณ์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นแม่และแหล่งสืบพันธุ์ Twiggy จึงได้รับการตอบรับจากผู้หญิงเป็นอย่างมากเพราะเป็นภาพลักษณ์ตรงกันข้ามกับภาพความเป็นแม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มมียาคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงออกใช้ รูปลักษณ์แบบ Twiggy จึงแฝงนัยยะของการขบถเอาไว้

ส่วนในปลายยุค 1970 นิยมการเพิ่มกล้ามเนื้อและแลดูสุขภาพดี จากกระแสความคลั่งไคล้การออกกำลังกาย และ Jane Fonda กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสวยแบบผู้หญิง (Banner, 1983; Lakoff and Scherr, 1984; Marwick, 1988 อ้างใน Davis, 1995)

โครงการแห่งความเจ็บปวด
ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอุดมคติความสวยเชิงวัฒนธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่คงเดิมคือ ความสวยมีค่ามากพอที่จะสละเวลา เงิน ความเจ็บปวด หรือแม้แต่ชีวิต ความสวยนั้นเจ็บปวด และผู้หญิงสมัยใหม่พร้อมที่จะผ่านช่วงเวลานั้นเพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนเองให้เข้ากับข้อกำหนดทางวัฒนธรรมของความเป็นหญิง ซึ่งการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสวยจะมีหลายหลายด้านหรือเป็นการประดับประดา แปลกประหลาดหรือธรรมดานั้น ขึ้นอยู่กับวาทกรรมความสวยในวัฒนธรรมนั้น ๆ

นอกจากนั้น การปรับแต่งร่างกายให้สวยงามมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการพัฒนาเทคโนโลยี Perrot (1984 อ้างใน Davis, 1995: 41) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คอร์เซ็ตอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทำให้หายใจไม่ออก หน้ามืดเป็นลม และอวัยวะภายในผิดรูปผิดร่างไป แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ผลิตคอร์เซ็ตที่บีบรัดผู้หญิงมากกว่า คือ ผิวหนังร่างกายของตัวผู้หญิงเอง

จากมุมมองของวงวิชาการแนวสตรีนิยม การที่ผู้หญิงติดยึดกับเรื่องรูปร่างหน้าตาภายนอกของตน สามารถมองได้ในบริบทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของความแตกต่างระหว่างเพศ รวมทั้งความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง แต่มีพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมแตกต่างกัน

นักสตรีนิยมมองด้วยสายตาเชิงวิพากษ์ว่า การแสวงหาความสวยของผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องของความเจ็บปวดและการกดขี่ ผู้หญิงถูกนำเสนอให้เป็นเหยื่อของความสวยและอุดมการณ์ความด้อยกว่าของผู้หญิง ซึ่งถูกผลิตและธำรงไว้ผ่านการปฏิบัติเพื่อบำรุงรักษาและปรับปรุงร่างกาย

ในเริ่มแรกนั้น เป็นการพยายามหาคำอธิบายว่าอะไรคือระบบของบรรทัดฐานด้านความสวยในเชิงวัฒนธรรม บรรทัดฐานเหล่านี้เรียกร้องความสวยแบบอ่อนเยาว์ชั่วนิรันดรและความสวยที่เป็นไปไม่ได้ ผอมบางแต่มีส่วนสัดองค์เอว ใบหน้าไม่มีริ้วรอยแม้กาลเวลาจะล่วงเลย และรูปร่างหน้าตาที่สอดรับกับขนบแบบชนชั้นสูง และความเป็นหญิงแบบตะวันตก (Perutz, 1970; Henley, 1977; Millan, 1980; Baker, 1984; Brwonmiller 1985; Chapkis, 1986; Wolf, 1991 อ้างใน Davis, 1995: 50)

นักสตรีนิยมเชื่อว่า การผู้ที่หญิงต้องปฏิบัติตนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสวยนั้นเชื่อมโยงกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของระบบความสวย ความสวยเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่า ความสวยถูกมองว่าเป็นวิธีการในอุดมคติที่ทำให้ผู้หญิงยังคงหลงเชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ โดยการเฝ้าดูแลร่างกายของตนเอง ซึ่งกิจวัตรการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสวย เป็นส่วนหนึ่งของ การจัดระเบียบร่างกายให้มีวินัย และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงร่างกายจนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ Michel Foucault เรียกว่า “docile bodies” หรือ “ร่างกายที่เชื่องแล้ว” และความเป็นหญิง ถูกสร้างขึ้นมาจากวาทกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจเข้าไปกำกับอยู่ อำนาจไม่ใช่เรื่องของการกดขี่จากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่างหรือการขัดขืน แต่อำนาจเป็นการส่งผ่านไปยังการสร้างความเป็นหญิงในทุกระดับของชีวิตสังคม

ระบบความสวยนี้ รวมไปถึง ขั้นตอนการปฏิบัติ เทคโนโลยี และพิธีกรรมที่ผู้หญิงปฏิบัติในชีวิตประจำวัน, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, ธุรกิจโฆษณา, และวาทกรรมเกี่ยวกับความเป็นหญิงและความสวย ความสวยเป็นศูนย์กลางของความเป็นหญิง ซึ่งผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกวางอุดมคติว่าต้องเกิดมาพร้อมกับความสวยงามทางร่างกาย ในขณะที่ผู้หญิงธรรมดาส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็น “ร่างกายที่จืดชืด อัปลักษณ์ เทอะทะ และน่ากลัว” (Young, 1990)

ความใส่ใจในร่างกายของผู้หญิงอย่างมากมายขนาดนี้มีส่วนมาจากการผลิตซ้ำของความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ทำให้กำลังงานของผู้หญิงต้องสูญเสียไปในการแข่งขันอย่างสิ้นหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งร่างกายอันสมบูรณ์แบบ

ระบบความสวยยังผสมผสานเอาการแบ่งแยกลำดับชั้นทางสังคมตามชนชั้น เชื้อชาติ และชาติพันธุ์ (Lakoff and Scherr, 1984; Chapkis, 1986; Collins, 1990; Young, 1990; Bordo, 1993 อ้างใน David, 1995) ในโลกของวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่า และความเป็นมนุษย์ที่ด้อยกว่า ถูกมองในเรื่องของ ความสวย และมาตรฐานของความสวยนั้น วัดได้จาก จมูก จมูกเล็ก จมูกแบนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความหมายกับชาติพันธุ์ ความแตกต่างของจมูกที่เล็กเกินไปเป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็บ่งถึงความแตกต่างทางคุณลักษณะ

ยิ่งกว่านั้น ความคิดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่รับมาจากการศึกษาทางมานุษยวิทยา กล่าวว่า จมูกแบบของคนดำและชาวยิวเป็นสัญลักษณ์ของ “ความป่าเถื่อน” (primitive) ของคนเชื้อสายนี้ เพราะจมูกที่แบนเกินไปถูกนำมาเชื่อมโยงเข้ากับลักษณะของจมูกของ ผู้ป่วยด้วยโรคซิฟิริส(10) ซึ่งเป็นเครื่องหมายของบาปและอันตราย และจมูกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ลักษณะอันเลวร้าย” นี้ ได้ประทับตราไว้อย่างชัดเจนบนใบหน้า (Gilman, 1999: 49) จากความคิดเช่นนี้ จมูกแบนจึงถูกมองว่าเป็นสาส์นเตือนภัยจากธรรมชาติ ถึงอนามัยและความเป็นอันตรายของคนชาติพันธุ์ที่มีจมูกแบนนี้ (Gilman, 1999: 85)

คำกล่าวอ้างที่ว่า จมูกเล็กเกินไปเป็นเครื่องหมายของความอัปลักษณ์ ของเชื้อชาติที่ด้อยกว่าได้แพร่ขยายออกไป ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากผลงานของนักกายวิภาคชาวดัทช์ Petrus Camper (1722-1289) ที่ “ค้นพบ” องศาของใบหน้า (facial angle) และดัชนีจมูก (nasal index) nasal index เป็นเส้นที่ลากเชื่อมต่อจากหน้าผากผ่านจมูกมายังริมฝีปากล่าง จากการลากเส้นดังกล่าว สามารถกำหนดองศาของใบหน้าได้ โดยดูจากการนำเส้นนี้มาตัดกับเส้นแนวตั้งที่ลากลงมาถึงขากรรไก เส้นนี้ใช้เป็นมาตรฐานการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์วานร (anthropoids) (ดูภาพประกอบที่ 8)

นักกายวิภาคในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นต่อมา นำองศาของใบหน้าตามแนวคิดของ Camper จัดแบ่งมนุษย์ชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยนำมาเปรียบเทียบว่าจมูกและองศาของใบหน้ามีความแตกต่างไปจากลิงมากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาจัดลำดับชั้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ Camper นิยาม “ใบหน้าที่สวยงาม” หมายถึง เส้นที่ลากจากใบหน้าทำมุม 100 องศา กับเส้นที่ลากลงมาใสแนวดิ่ง จากมาตรฐานนี้เอง ในงานเขียนของ Camper จึงกล่าวว่าคนแอฟริกันมีความสวยงามน้อยที่สุด เพราะมีความใกล้เคียงกับลิงมากที่สุด

จากแนวคิดดังกล่าว จมูกที่แบนสั้นจนเกินไปจึงแสดงถึงความป่าเถื่อนและการเป็นโรคเนื่องจากมีสัดส่วน “ไม่เหมาะสม” หรือ “ไม่สมมาตร” ทั้ง ๆ ที่สามารถทำหน้าที่ได้ไม่ต่างจากจมูกแบบอื่น ๆ ก็ตาม (Gilman, 1999: 87)

ในวัฒนธรรมตะวันตก วาทกรรมหลักเกี่ยวกับร่างกาย สร้างความชอบธรรมให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าในสังคม ทำให้ร่างกายของตนเองอยู่ในสถานภาพที่เหนือกว่า และกลายเป็นผู้กำหนด มาตรฐานและตัดสินผู้อื่น ผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าถูกนิยามจากร่างกายและนิยามตามบรรทัดฐานซึ่งทำให้ผู้ที่ด้อยกว่าไม่มีตัวตนหรือถูกลดคุณค่าลงไป ผู้ที่ถูกกำหนดจากวัฒนธรรมกระแสหลักว่า “เป็นอื่น” กลับถูกจองจำอยู่ในร่างกายของตนเอง

จาก “Changing Faces” รายงานสถานการณ์กระแสความนิยมการทำศัลยกรรมเสริมความงามของเอเชีย ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Time Magazine ฉบับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ กล่าวว่า “ประเด็นทาง วัฒนธรรมที่สำคัญในปัจจุบันนี้ คือ คนเอเชียเป็นจำนวนมาก ต้องการสร้างตัวตนของตนเองขึ้นใหม่ ให้มีรูปลักษณ์เป็นตะวันตกมากขึ้น … ต่างขอให้ศัลยแพทย์ ทำดวงตาของตนให้โตขึ้น จมูกโด่งขึ้น หน้าอกอิ่มเอิบขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะทางกายภาพที่ต่างไปจากชาติพันธุ์ของตน”

“หน้าพี่ตอนยังไม่ได้ทำนะ ดูไม่ได้จมูกแบนมาก เพื่อนชอบทัก ชอบแซวว่าเป็นคนอีสานรึเปล่า เป็นคนลาวเหรอ พี่ก็บอกเค้าไปนะว่าพี่เป็นคนเหนือ พี่กลุ้มใจมาก เราไม่ได้เป็นคนอีสานซักหน่อยมว่าเราเป็นคนอีสาน พี่เห็นว่า มันเลวร้ายมากนะ” พี่เกด (นามสมมติ) ช่างเสริมสวยวัย 31 ปี ภูมิลำเนาเดิมจังหวัดเชียงราย เล่าถึงความรู้สึกก่อนทำศัลยกรรมจมูก (หน้า 44)(11)

“คนในครอบครัวว่า จมูกแบนเหมือนคนลาว เพื่อนก็ล้อรับไม่ได้ ต้องทำ” น้องแหม่ม (นามสมมติ)พนักงานประชาสัมพันธ์วัย 21 ปี ก็รู้สึกอย่างเดียวกัน

จากความรู้สึกของทั้งพี่เกดและน้องแหม่มเกี่ยวกับจมูก และความสวยของตนเองก่อนทำ ศัลยกรรมเสริมจมูก สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก “เป็นอื่น” กับจมูกของตนเอง เพราะรับรู้ความหมายเชิงสัญญะของจมูกที่สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงต่างชนชั้น และชาติพันธุ์

นอกจากนั้น บรรทัดฐานที่ว่าผิวขาว และหน้าตาแบบตะวันตก เท่ากับความสวยนั้น ซึมซับเข้าไปในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้หญิงผิวขาวและผู้หญิงผิวสี ผู้หญิงผิวสีถูกโจมตีด้วยสารเชิงวัฒนธรรมที่ไม่เพียงแต่เชื่อมโยงความขาวไว้กับความสวยและความเป็นหญิง แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ เชื่อมโยงความขาวไว้กับ “ความเป็นผู้ดีการได้รับความคุ้มครองจากการตกเป็นแรงงาน มาตรฐานของชนชั้นสูงและความเหนือกว่าของ Anglo-Saxon” (Peiss, 1990: 164 อ้างใน Davis, 1995) หรือ ความขาวถูกเชื่อมโยงกับอำนาจนั่นเอง

การผูกโยงความขาวหรือผิวขาวเข้ากับอำนาจ ก็พบในกรณีการแบ่งวรรณะของอินเดียเช่นกัน “วรรณะ” แปลว่า “สี” ซึ่งสีในที่นี้ คือ “สีผิว” ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ (2545) ได้กล่าวถึงสีในวัฒนธรรมอินเดียว่า “เนื่องจากมีคนสองกลุ่มเข้ามาอยู่ในประเทศอินเดีย คือ คนที่อยู่เดิมหรือพวกทราวิด (Dravidian) ซึ่งเป็นคนผิวดำ แล้วพวกที่เข้ามาใหม่คือ พวกอารยันหรืออินโดยูโรเปียนที่มีผิวสีขาว เมื่อพวกผิวสีขาวเข้ามาสู่อินเดีย ก็ได้เข้ามาแย่งชิงพื้นที่แล้วก็มีการต่อสู้กันทางวัฒนธรรม รวมทั้งการต่อสู้กันทางยุทธวิธียุโธปกรณ์ด้วย เมื่อผู้มาใหม่ผิวสีขาวชนะ ก็ได้พยายามสถาปนาสิ่งที่เรียกว่าวรรณะหรือสีผิวขึ้นมา ให้มีกรอบกำหนดเพื่อแสดงชัยชนะ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่สมัยที่อารยันเข้ามาสู่อินเดีย จึงทำให้ “ผิวสีขาว” ถูกทำให้มีความหมายเหนือกว่า “ผิวสีดำ” นั่นหมายความว่า ผิวสีดำจะกลายเป็นความต่ำต้อย”

จมูกและสีผิว เป็นเพียงแค่สองตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ความหมายของรูปกายของผู้หญิงที่สวยงาม ที่ดึงดูดใจ และที่น่าพึงปรารถนานั้น เป็นผลึกของการซ้อนทับกันระหว่างโครงสร้างอำนาจต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อน แต่แฝงเร้นจนดูเหมือนเป็นธรรมชาติและมองไม่เห็น

กระแสความนิยมโครงการร่างกายในปัจจุบัน ทั้งโครงการลดน้ำหนัก โครงการเสริมจมูก โครงการรักษาความอ่อนเยาว์ และโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย …ได้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า โครงการของใคร? ร่างกายของใคร?

ภาพประกอบหมายเลข 1

“แค่ 30 วันก็สวยเพรียวได้อย่างรวดเร็ว” ภาพโฆษณาแบบนี้ สามารถหาดูได้ตามหน้าโฆษณาในนิตยสาร และเว็ปไซค์เกี่ยวกับการลดความอ้วน และไขมันส่วนเกินทั่วไป รวมไปถึงป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนหลังคาตึก เพื่อเชิญชวนให้มีการทำศัลยกรรมเสริมความงามทั่วไป และลดความอ้วน โดยมีการอ้างถึงสรรพคุณด้านเดียว โดยไม่มีการพูดถึงอันตรายข้างคียงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

ภาพประกอบหมายเลข 2

ความแตกต่างทางเพศได้กลายมาเป็นตัวการสำคัญ ในการสร้างความไม่สมดุลย์ทางอำนาจในสังคม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงรูปกายภายนอก ผู้ชายเริ่มแต่งตัวตามสบายในขณะที่ผู้หญิงยิ่งทวีความสนใจในการปรับเปลี่ยนร่างกายของตนเองให้สวยงาม เครื่องรัดทรง หรือคอร์เซ็ต (corset) ของ ผู้หญิงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นเสมือนเครื่องจองจำร่างกายของผู้หญิง (Kunzle, 1982)ขึ้นได้

ภาพประกอบหมายเลข 3

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ร่างกายของผู้หญิงในอุดมคติ หรือมาตรฐานของความสวยในยุคสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในสหรัฐอเมริกา ในทศวรรษที่ 1920 หญิงสาวแบบ “Gibson Girl”
ที่มีรูปร่างส่วนโค้งเว้าเหมือนนาฬิกาทราย ได้เปิดทางให้กับสาวปราดเปรียวแบบสาวรุ่น (flapper) ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายกับเด็กผู้ชาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Coco Chanel และ Patou
การปรากฏตัวของ ภาพลักษณ์ของหญิงสาวแบบที่เรียกว่า flappe

ภาพประกอบหมายเลข 4

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 และต้น ทศวรรษที่ 1930 นี้ Martin Puphrey ชี้ให้เห็นว่าหญิงสาวแบบ flapper เป็นการนำเสนอภาพอุดมคติของผู้หญิง ที่สอดคล้องกับการเข้ามาของยุคสมัยใหม่ (modernity) เป็นครั้งแรกที่นำเสนอภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้จินตนาการภาพตนเองในรูปลักษณ์ที่ไม่ต้องคำนึงถึงชนชั้น ท่องไปได้ในระดับนานาชาติ และสามารถเข้ากับบรรทัดฐานความเป็นหญิงของผู้หญิงรุ่นแม่ได้เป็นอย่างดี เป็นรูปลักษณ์ที่ทำให้ใฝ่ฝันถึงเสรีภาพ อุตสาหกรรมแฟชั่นและภาพยนตร์ส่งเสริมให้ผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงในวัยสาวใฝ่ฝันถึงอิสรภาพจากความจำเจในสำนักงานหรือร้านค้าที่ทำงาน เพื่อให้นึกถึงกิจกรรมยามว่าง อุตสาหกรรมแฟชั่นและภาพยนตร์ยังเชื่อมต่อผู้หญิงกับโลกแห่งความโรแมนติกของฮอลลีวู้ด หรือปารีสอีกด้วย (ดูภาพประกอบที่ 5)

ภาพประกอบหมายเลข 5 และ ภาพประกอบหมายเลข 6

ความสวยแบบดาราฮอลลีวู้ดในยุค 1940 อย่าง Joan Crawford, Katherine Hepburn และ Betty Davis
ถูกแทนที่โดย sex symbols และกระต่ายน้อย Bunnies ของ Playboy ของยุค 1950
จะเห็นได้ว่า เรื่องความสวยความงามในช่วงนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว(ดูภาพประกอบที่ 6)

ภาพประกอบหมายเลข 7

ส่วนยุค 1960 นิยมผู้หญิงผอมบางแบบ Twiggy ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของร่างกายผอมบางในอุดมคติและทรงอิทธิพลอย่างมากรูปลักษณ์ผอมบางแบบ Twiggy เป็นการตอบโต้กลับ กับการนิยามความเป็นหญิงด้วยรูปลักษณ์กลมกลึง สมบูรณ์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นแม่และแหล่งสืบพันธุ์ Twiggy จึงได้รับการตอบรับจากผู้หญิงเป็นอย่างมากเพราะเป็นภาพลักษณ์ตรงกันข้ามกับภาพความเป็นแม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มมียาคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงออกใช้ รูปลักษณ์แบบ Twiggy จึงแฝงนัยยะของการขบถเอาไว้

ภาพประกอบหมายเลข 8

นักกายวิภาคในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นต่อมา นำองศาของใบหน้าตามแนวคิดของ Camper
จัดแบ่งมนุษย์ชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยนำมาเปรียบเทียบว่าจมูกและองศาของใบหน้ามีความแตกต่างไปจากลิงมากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาจัดลำดับชั้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ Camper นิยาม “ใบหน้าที่สวยงาม” หมายถึง เส้นที่ลากจากใบหน้าทำมุม 100 องศา กับเส้นที่ลากลงมาใสแนวดิ่ง จากมาตรฐานนี้เอง ในงานเขียนของ Camper จึงกล่าวว่าคนแอฟริกันมีความสวยงามน้อยที่สุด เพราะมีความใกล้เคียงกับลิงมากที่สุด

Footnote

(1) สิทรา พรรณสมบูรณ์ (2545) กินให้สวย, กรุงเทพฯ: ครัวบ้านและสวน, หน้า 93-96.
(2) จากเทปบันทึกรายการ สมาคมชมดาว วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2545.
(3) บทบรรยายจากโฆษณาครีมลบริ้วรอย Visible Results จาก LoReal ออกอากาศเดือนกันยายน พ.ศ. 2545
(4) คณะแพทย์โรงพยาบาลยันฮี (2545) สวยด้วยแพทย์ คู่มือ 45 วิธีสวยอย่างปลอดภัย, กรุงเทพฯ: บริษัท กิจพาณิชย์ จำกัด.
(6)เชาวเลิศ มากสมบูรณ์ (2539) กระบวนการทำศัลยกรรมเสริมความงาม, วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(7) ภาพเขียนหมึกและปากกาของ Charles Dana Gibson เป็นตัวแทนของจิตวิญญาณในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในอเมริกา ภาพประกอบของ Gibson ปรากฏในนิตยสารยอดนิยมจำนวนมาก และด้วยฝีมือการวาดภาพของ Gibsonภรรยาของเขา Irene Gibson ได้เป็นผู้นำแฟชั่นและเป็นผู้หญิงอเมริกันในอุดมคติในสมัยนั้น ก่อนที่จะมีโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ The Gibson Girl เป็นผู้หญิงที่เลิศหรูในอเมริกา กลายเป็นต้นแบบของแฟชั่นที่ผู้หญิงอเมริกันต่างก็เลียนแบบ ส่วนผู้ชายอเมริกันก็นิยมชมชอบ ความงามและรูปลักษณ์ของ Gibson Girl มีอิทธิพลอย่างมากในอเมริกาในช่วงนั้นร่วม 20 ปี เรียบเรียงจาก “The Gibson Girl” Eye Witness – history through the eyes of those who lived it, www.ibiscom.com (2001)
(8) Flapper เป็นแนวความคิดเรื่องแฟชั่นแบบสมัยใหม่ (modern) เป็นภาพลักษณ์ที่ปรากฏอย่างจริงจังในช่วงปี ค.ศ. 1926 ซึ่ง “flapper” หมายถึง ผู้หญิงสาวรุ่นสมัยใหม่ที่สวมใส่เสื้อผ้าทันสมัย ตัดผมสั้น ชุดกระโปรงสั้นกว่าเดิม ไม่มีการเน้นทรวดทรง หน้าอกแบนเรียบแบบไม้กระดาน แต่งหน้าเมื่อไปในที่สาธารณะ สูบบุหรี่มีที่คีบต่อให้มวนยาว เวลาไปงานปาร์ตี้ เป็นนักเต้นเท้าไฟ เต้นรำกับเพลงแจ๊ซ ได้ทั้งคืน ฝรั่งเศสเรียกรูปแบบนี้ว่า “garconne” Gabrielle Coco Chanel นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ทำให้แฟชั่นแบบที่อเมริกันเรียกว่า flapper นี้แพร่หลาย เสื้อผ้าของ Chanel มีเฉดสีแบบธรรมชาติ ตัดเย็บด้วยผ้าเจอร์ซี่แบบง่าย ๆ ไม่มีการเน้นทรวดทรง ส่วนโค้งส่วนเว้าของเอวและสะโพก เป็นเสื้อผ้าที่ออกแบบให้ใส่สบายและสวมใส่ง่าย ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ เรียบเรียบจาก www.fashion-era.com
(9) Twiggy เป็นนางแบบและนักแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในทศวรรษที่ 1960 Twiggy เกิดปี ค.ศ. 1949 ที่ Neasden ชานเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้กลายเป็นวันรุ่นคนแรกที่โด่งดังอย่างรวดเร็วในฐานะ “supermodel” ด้วยวัยเพียง 15 ปี Twiggy มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการแฟชั่นระดับโลก
(10) การทำศัลยกรรมความงาม (aesthetic surgery) ในยุโรปเริ่มก่อตัวขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีที่มาจากการแพร่ระบาดของโรคซิฟิริส (syphilis) ซึ่งเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 โรคซิฟิริสเป็นโรคที่สร้างตราบาปให้กับผู้ป่วยอย่างยิ่ง การทำศัลยกรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า chirurgia decoratoria จึงพัฒนาขึ้นเพื่อเสริมจมูกที่แหว่งไปจากอาการของโรคขึ้นใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเป็นที่สังเกตุเห็นได้เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (Gilman, 1999: 10)
(11) เชาวเลิศ มากสมบูรณ์ (2539) อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 6

 

บรรณานุกรม

คณะแพทย์โรงพยาบาลยันฮี (2545). สวยด้วยแพทย์ คู่มือ 45 วิธีสวยอย่างปลอดภัย. กรุงเทพฯ: บริษัท กิจพาณิชย์ จำกัด.

นันทิรา ขำภิบาล (2530) นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ประมวล เพ็งจันทร์ (2545) ทัศนียวิทยาวัฒนธรรมอินเดีย สีในวัฒนธรรมอินเดีย. บทสนทนาวัฒนธรรมตะวันออก กระบวนวิชาปรัชญาศิลปะ ในส่วนของ “หัวข้อที่น่าสนใจ” โดยนักศึกษากลุ่มที่ 9 ชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2545 / วจศ. บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 214 ประจำเดือนกันยายน 2545. ../miduniv888/newpage11.html

สายพิณ ศุพุทธมงคล, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, พรรณราย โอสถาภิรัตน์ และสุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (2541). สำรวจทฤษฎี “ร่างกาย”. ใน ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (บรรณาธิการ) เผยร่าง-พรางกาย: ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

สิทรา พรรณสมบูรณ์ (2545). กินให้สวย. กรุงเทพฯ: ครัวบ้านและสวน.

Cullen, Lisa Takeuchi (2002) Changing Faces. In Time Magazine, 5 August 2002.

Davis, Kathy (1995). Reshaping the Female Body: The Dilemma of Cosmetic Surgery. London: Routledge.

Featherstone, Mike (1991). The Body in Consumer Culture. In Mike Featherstone, Mike Hepworth and Bryan S. Turner (eds.) The Body: Social Process and Cultural Theory. London: Sage Publications Ltd.

Gilman, Sandler L. (1999). Making the Body Beautiful: A Cultural History of Aesthetic Surgery. New Jersey: Princeton University Press.

Macdonald, Myra (1995). Representing Women: Myths of Femininity in the Popular Media. London: Edward Arnold.

Shilling, Chris (1993) The Body and Social Theory. London: Sage Publications Ltd.

Shilling, Chris (1997) The Body and Difference. In Kathryn Woodward (ed.) Identity and Difference. London: Sage Publications Ltd.

Tse?lon, Efrat (1995). The Masque of Femininity: The Presentation of Woman in Everyday Life. London: Sage Publications Ltd.

 

ข้อมูลจาก : http://61.47.2.69/~midnight/midarticle/newpage2.html

 

 

 

You may also like...