ณัฐวีร์ ลิมปนิลชาติ

ถึงจะเป็นโรคไขข้ออักเสบ และต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ ก็ยังวาดรูปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต แม้แต่ ฆอร์เค ลูอิส บอร์เคส นักเขียนชื่อดังชาวอาร์เจนติน่า ก็ไม่เคยหยุดเขียนหนังสือตอนที่ตาของเขาบอดสนิท พวกเขาเหล่านี้ทำให้เราเชื่อเรื่องพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์เมื่อใดที่พระเจ้าต้องการความสามารถของเราคืน เราจะหยุดหรือไปต่อ

คุณณัฐวีร์ ลิมปนิลชาติ (นัด) ก็เชื่อเช่นนั้น นอกจากความเชื่อในเรื่องพรสวรรค์และพรแสวงแล้ว เมื่อพระเจ้ามอบความสำเร็จในเส้นทางสายนักเขียนให้เธอ งานของคุณนัด สิ่งที่คุณนัดสร้างสรรค์จะต้องเป็นประโยชน์ และให้อะไรกลับคืนสู่สังคม

สิ่งที่ทำให้คุณเป็นนักเขียนและยังเป็นอยู่
ตอนที่นัดเรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 6 ยุคนั้นเป็นช่วงที่การเขียนกลอนเปล่าดังมากในหมู่วัยรุ่น ก็มีหลายสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือกลอนออกมาวางขาย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ใยไหมที่นัดติดตามอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้สำนักพิมพ์ยังเปิดโอกาสให้เราได้แต่งกลอนส่งไปเพื่อพิจารณาต้นฉบับรวมเล่มด้วย นัดก็ลองแต่งส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาอยู่เกือบ 6 ปี จำได้ว่าตอนนั้นส่งประมาณปีละ 2 ครั้ง รวม 6 ปีก็ร่วม 10 ครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธมาตลอด มันน่าแปลกใจตรงที่ เราอาจจะผิดหวังเวลาที่เราทำอะไรแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ แต่ช่วงเวลานั้นนัดไม่ได้มีความหวังว่าจะต้องได้รวมเล่ม นัดทำเหมือนมันเป็นเรื่องสนุกๆ มากกว่า แค่แต่งกลอนครบ 50 บท แล้วส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณาแล้วก็รอผล เค้าจะตอบกลับมาพร้อมกับคำแนะนำว่าสัมผัสเราเป็นอย่างไร การนำเสนอ หรือการใช้ภาษาของเราเป็นอย่างไร ซึ่งนัดก็จะกลับมาปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำนั้น ด้วยการแต่งใหม่ ส่งใหม่ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าต้องเอาชนะ แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าต้องได้รวมเล่ม ทำไปเรื่อยๆ ชอบ สนุกดี กระทั่งอายุประมาณ 17-18 ที่สำนักพิมพ์เค้าก็ตอบกลับมาว่าเราผ่าน เป็นครั้งแรกที่ได้มีผลงานรวมเล่มหนังสือกลอนของตัวเอง

นัดเขียนกลอนมาซักพักนึง จนพัฒนาจากกลอนมาเป็นความเรียง สไตล์งานเขียนเป็นเรื่องราวความรักวัยรุ่นหน่อย แล้วก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนมาเขียนบทความ หลักๆจะเป็นแนวจิตวิทยาประยุกต์ ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักในมุมมองของเด็กวัยรุ่น ให้เด็กวัยรุ่นอ่าน อาจจะเป็นด้วยความที่นัดเป็นคนอ่อนไหว บวกกับช่วงนั้นเราก็อยู่ในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่นด้วยเหมือนกัน เรื่องความรักหรือความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่เราค่อนข้างให้ความสนใจมากกว่าเรื่องอื่น หนังสือที่นัดเขียนส่วนมากจึงมักเป็นไปในแนวทางนั้น

นัดมีงานแนวบทความครั้งแรกช่วงอยู่มหาวิทยาลัย เป็นเล่มที่ได้รับผลตอบรับจากคนอ่านดีมาก ได้พิมพ์ซ้ำหลายครั้งเลยทีเดียว ชื่อหนังสือ “ฉันจะรักตัวฉันเอง” มันจะออกต่อเนื่องมาสองสามเล่ม คือ “ฉันจะรักตัวฉันเอง” “วันใหม่ของชีวิตเก่า” “รักเรื่องเล่าเรื่องเศร้า” ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิตที่ทำให้มีคนรู้จักนัดมากขึ้น ภายใต้นามปากกาว่า “มาบุชี่”

พอหลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้วเริ่มทำงาน ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาเขียนหนังสือมากนัก นัดเลยหยุดพักเรื่องการเขียนหนังสือไปพักใหญ่ จนกระทั่งสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาจึงได้กลับมาเขียนใหม่ ก็บูมขึ้นมาอีกหน่อย หนังสือสามารถพิมพ์ได้ถึงห้าครั้งหกครั้ง ซึ่งสำหรับช่วงเวลาในยุคที่สื่อดิจิตอลหรือเทคโนโลยีมีบทบาทในชีวิตผู้คนมาก การที่หนังสือของนัดยังมีคนหาซื้อไปอ่านในระดับนี้ก็ต้องถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจมากแล้ว

ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทยในปัจจุบัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา นัดไม่ค่อยกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนด้วยซ้ำ นัดเป็นแค่คนที่เรียบเรียงสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาเป็นตัวหนังสือมากกว่า ในทัศนคติของตัวเอง นัดคิดว่านักเขียนคือคนที่ทำงานในเชิงศิลปะ และจำเป็นต้องมีความสามารถในการประพันธ์ชั้นสูง อย่างเช่นคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, คุณทมยันตี หรือศิลปินอีกหลายๆ ท่าน ซึ่งเป็นนักเขียนในแบบที่ตัวนัดเองเป็นไม่ได้

ที่นัดเห็นมาตลอด ทุกวันนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป รสนิยมของคน การเสพงานศิลปะ การเสพหนังสือมันเปลี่ยนไปแล้ว จากความซับซ้อนมันมาสู่ความง่ายมากขึ้น บางทีนัดก็มองว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียใจเหมือนกันว่างานวรรณกรรมหลายๆ งานที่เป็นงานที่มีคุณค่า กลับกลายเป็นงานที่หลายๆ คนมองไม่เห็น พอยุคสมัยมันเปลี่ยน ทำให้คนหันมาเสพงานฉาบฉวยมากขึ้น นัดมองว่างานของนัดค่อนข้างเป็นไปตามความต้องการของตลาดมากกว่า มันอาจจะไม่มีคุณค่าในเชิงวรรณกรรม แต่เป็นยุคที่ต้องเข้าใจแล้วว่าในการเขียนหนังสือ สุดท้ายถ้าเราเข้าใจว่ามันเป็นศิลปะที่มันไม่มีกรอบไปยึดมัน เพราะทุกอย่างมันถูกประดิษฐ์มาจากความคิดเหมือนกัน นี่มันก็อาจจะเป็น “ศิลปะ” ในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

นัดเคารพนักเขียนหลายๆ ท่านที่เป็นศิลปิน เป็นนักเขียนที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณจริงๆ ถ้าเป็นไปได้นัดก็อยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ และคิดว่าถ้านักเขียนหรือใครหลายๆ คนที่กำลังมีความฝันอยากทำงานศิลปะ พยายามช่วยกันรักษาเอกลักษณ์หรือความสร้างสรรค์ของงานวรรณกรรมไว้ได้โดยไม่มองแค่ผลกำไรอย่างเดียว มันน่าจะทำให้วงการนักเขียนไทยได้รับการยอมรับในแบบที่ยั่งยืนและน่าชื่นชมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทัศนะต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน
นัดเชื่อว่าคนไทยอ่านหนังสือเยอะขึ้น อ่านเยอะขึ้นจริงๆ เค้าจะอ่านหนังสือที่ตอบคำถามต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชีวิตของเค้า ที่เค้าพบเจอในปัจจุบัน หนังสือที่มันขายได้ส่วนใหญ่จึงเป็นหนังสือที่ค่อนข้างทันสมัย ทันยุค ทันเหตุการณ์ เรากำลังอยู่ในยุคของเทคโนโลยี บทบาทของคนแต่ละคนที่จะต้องหาวิธีเอาตัวรอดในสังคมที่เหมือนมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จนดูเหมือนเราห่างไกลกับธรรมชาติมามากแล้ว การที่คนจะนั่งอ่านงานเขียนที่เกี่ยวกับภูเขา ลำน้ำ ลำไพร ก็คงไม่ใช่

คนที่มีกำลังซื้อหนังสือ เราต้องดูว่าเค้ากำลังมองหาอะไรจริงๆ เหมือนชีวิตมันยากขึ้นด้วยนะ ถ้าให้เปรียบเทียบในระยะเวลาแค่ 10 ปี ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเยอะมากเลย จากยุคที่เราไม่มีอินเตอร์เน็ต เราไม่ต้องมีโทรศัพท์มือถือ แต่ทุกวันนี้ของพวกนี้มันแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของเราไปแล้ว เป็นเรื่องที่คิดแล้วนัดว่ามันแปลกดี ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นมาก กลับกันว่าหนังสือมันอยู่ของมันมานานมาก แต่ก็ต้องถามด้วยว่าแล้วหนังสือมันจะต้องไปต่อยังไงหล่ะ

สิ่งสำคัญในงานของคุณ
ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือหรือการวาดรูป นัดจะมีปณิธานในการทำงานที่บอกตัวเองเสมอคือ สิ่งที่นัดนำเสนอออกมามันสร้างสรรค์อะไรให้คนอื่น หรือให้สังคมได้บ้าง ไม่ใช่เขียนออกมาเพื่อระบายความคิดของตัวเองเพียงอย่างเดียวแล้วก็จบกันไป แต่คือคนที่ได้อ่านหนังสือของนัด เขาอ่านแล้วได้อะไร คนดูรูปที่นัดวาดแล้วเค้าได้อะไรจากตรงนั้น

รางวัลจำเป็นไหม
ไม่เคยคิดถึงรางวัล สำหรับนัดคิดว่ามันไม่จำเป็น แต่ทุกวันนี้นัดคิดว่ามันเป็นความท้าทายอย่างนึง มีเหมือนกันที่คิดว่าอยากทำหนังสือซักเล่ม เพื่อส่งประกวดซักงาน มันมีหลายเวทีในวงการนักเขียนที่เราหาเวทีที่เหมาะกับเราได้ นัดไม่เคยฝันถึงซีไรท์เพราะนัดรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไม่เคยฝันถึงหนังสือยอดเยี่ยม แต่มันก็มีโจทย์หนังสือวรรณกรรมเยาวชน ที่เคยคิดเคยหาคำตอบอยู่ว่าถ้ามีเวลา หรือได้ทำอะไรขึ้นมาซักเล่มที่คนในสังคมยอมรับว่ามันมีคุณค่าจริงๆ ที่เราสามารถปิดทุกจุดที่เป็นข้อด้อยของเรา แล้วทำให้มันสมบูรณ์แบบออกมาซักชิ้นนัดก็อยากลองทำเหมือนกัน

นักเขียนคนโปรดและหนังสือเล่มโปรด
นัดเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นบทความ สารคดี หรือแม้แต่นิยาย ถ้าถามว่าหนังสือเล่มโปรดรวมถึงนักเขียนคนโปรดที่นัดประทับใจมากๆ คงเป็นนิยายแปลของประเทศไต้หวันเรื่อง “ผู้ชายเหมือนระเบิด” ซึ่งเขียนโดย “หวงเหยี่ยน” ถือเป็นนักเขียนที่มีวิธีการวางโครงเรื่องและการเล่าเรื่องที่แปลกและน่าสนใจมากๆ ส่วน “วีรวิศ์” ก็เป็นนักเขียนอีกหนึ่งท่านที่นัดชอบ นัดมีนักเขียนคนโปรดจากมุมมองความคิดที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรที่นักเขียนแต่ละท่านถ่ายทอดออกมา โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความสนใจส่วนตัวเป็นหลัก ซึ่งก็คือการใช้ชีวิต ความรัก และความสัมพันธ์ ส่วนนักวาดภาพประกอบนัดก็มีเยอะเหมือนกัน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็คงเป็นงานของคุณภัทรีดา คุณนวลตอง ประสานทอง

ปณิธานในการเป็นนักเขียน
นัดมองว่าการวาดรูปกับการเขียนหนังสือของนัด มันเป็นเหมือนพรสวรรค์ เป็นของขวัญที่ทำให้นัดสามารถวาดรูปเป็น เขียนหนังสือได้ ซึ่งนัดก็จะพยายามใช้ความสามารถตรงนี้เพื่อตอบแทนโอกาสดีๆ มากมายที่ตัวเองได้รับ พูดง่ายๆ เลยคือเป็นเหมือนการตอบแทนสวรรค์ ที่สวรรค์อุตส่าห์ให้ความสามารถพวกนี้กับนัดมา ไม่ว่าจะทำงานอะไรออกมาก็ตาม มันต้องเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์อะไรบางอย่างให้กับคนอื่นด้วยเช่นกัน บางคนเขียนเพื่อทำลายคนอื่น วาดเพื่อทำลายคนอื่น หรือทำลายอะไรบางสิ่งบางอย่าง นัดเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก คืองานเขียนของนัดหรืองานวาดของนัดจะต้องไม่ทำลาย ไม่ทำร้ายใคร มันต้อง “สร้าง” มากกว่าที่จะทำให้ “เสีย” เพราะบนโลกที่ชีวิตไม่ค่อยมีอะไรแน่นอน ใครจะไปรู้ว่า ถึงวันหนึ่ง สวรรค์อาจจะอยากขอคืนพรที่เคยมอบให้เรามาก่อนหน้านั้นก็ได้ 

นัดเชื่อว่าสิ่งที่เราทำในทุกวันนี้มันคือส่วนหนึ่งที่จะบอกเราได้ว่าวันพรุ่งนี้ของเราจะเป็นแบบไหน ซึ่งถ้าเราสามารถใช้ความสามารถที่เรามีทำทุกสิ่งทุกอย่างออกมาให้มันดีที่สุด ผลตอบแทนในสิ่งที่เราทำทุกวันนี้มันน่าจะคุ้มครอง และสร้างอะไรเผื่อไว้ให้เราในวันที่ยังมาไม่ถึง

You may also like...