อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก

ข้อคิดดีๆ สำหรับคนทำงานศิลปะ จาก อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2551 ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในคำว่าสร้างสรรค์อยู่แล้ว แต่เวลาทำงานจริงอาจจะมีความไม่เข้าใจตรงกัน มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ถ้าพูดแบบสั้นๆ ง่ายๆ การทำงานศิลปะ คือการสร้างสรรค์ สร้างสรรค์โดยคำของมัน มีนัยยะเชิงคุณภาพ หรือพูดได้ว่าเป็นคุณค่าสำคัญที่สุดของงานศิลปะ คำว่าสร้างสรรค์อยู่คู่กับคำว่าศิลปะมาโดยตลอด ตั้งแต่แรกเริ่ม ต่อมาคำว่าสร้างสรรค์ถูกหยิบไปใช้ในสาขาอื่นๆ กระทั่งทางธุรกิจ ทางการเมือง เอาไปใช้ทั่ว แต่ในทางศิลปะเราใช้คำว่าสร้างสรรค์ชัดเจน อย่างในยุคของผม ยุคของอาจารย์เดชา ของอาจารย์นนทิวัฒน์ คำว่าสร้างสรรค์บางทีเข้าใจไปเองว่าจะต้องเป็นงานนามธรรม คือ ไม่ใช่เขียนเหมือนจริง จะต้องเป็นงานนามธรรมถึงเป็นการสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ใช่ ความจริงนั้น หรืออย่างในยุคปัจจุบัน คำว่าสร้างสรรค์ต้องหมายถึงงาน  Installation การติดตั้งจัดวางหรือ Conception ก็ไม่ใช่ หรือบางทีเข้าใจคำว่าสร้างสรรค์เนี่ยอยู่ที่ขนาดหรือปริมาณ สังเกตว่าหลังๆงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติทำใหญ่ขึ้นๆ สุดท้ายทางมหาลัยต้องกำหนดขนาด เพราะใหญ่เกินเข้าหอศิลป์ไม่ได้ เข้าประตูไม่ได้ จริงๆ แล้วเป็นเชิงปริมาณ อย่างคนที่ทำภาพพิมพ์ถูกจำกัดโดยขนาดกระดาษ  จำกัดโดยแท่นพิมพ์ ก็ใช้วิธีมาต่อๆ ให้มันใหญ่ ซึ่งเป็นเชิงปริมาณทั้งสิ้น ไม่ได้เชิงเนื้อหา เชิงคุณค่า เชิงสาระเลย

 

 

จะต้องทำความเข้าใจกันให้กระจ่างชัดว่าจริงๆหมายถึงอะไร มันหมายถึงการทำสิ่งใหม่ แล้วสิ่งใหม่นี่คืออะไร ถ้าพูดแบบง่ายๆ คนในยุคปัจจุบันจะต้องค้นหาแนวทางของตัวเอง คือไม่ได้ทำเหมือนในแบบของยุคก่อน คือ เขียนหุ่นนิ่ง ทิวทัศน์ ภาพคน ทุกคนทำเหมือนกันหมด เป็นปัจเจก เป็นอิสระของศิลปินทั้งเรื่องราวเนื้อหาเฉพาะของตนเอง ตัวอย่างที่อาจยกมาว่า คนที่ทำเหมือนจริงคืองานสร้างสรรค์หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน คนที่ถ่ายรูป หรือถ่ายวีดีโออารท์หรืออะไรต่างๆ พวกนี้เป็นงานสร้างสรรค์รึเปล่า อย่างถ่ายรูปนี่ก็คือใช้เครื่องมือก๊อปปี้ธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ ใครๆ ก็ทำได้ หรืออย่างคนที่ทำเหมือนจริงก็ว่าลอกเลียนธรรมชาติ และมันเป็นงานสร้างสรรค์รึเปล่า เอาตัวอย่างงานเหมือนจริงขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจกระจ่างมากขึ้น เราต้องพิจารณาเข้าไปให้ละเอียดมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วคนที่ทำเหมือนจริงลอกเลียนธรรมชาติรึเปล่า ก็ไม่ใช่นะ ศิลปินบางคนไม่มีจุดมุ่งหมายในการลอกเลียนธรรมชาติ หรือลอกเลียนใคร หรือคล้ายใคร หรือเหมือนใคร ถ้าเราบอกว่างานสร้างสรรค์เป็นแนวทางของเราเมื่อไหร่ ถึงจะบอกได้ถูก ถ้าตอบแบบง่ายๆ คือว่ามันไม่เหมือนใคร ไม่คล้ายใคร ไม่ได้เลียนแบบธรรมชาติ ไม่ได้เลียนแบบใครเลย แม้กระทั่งไม่ได้เลียนแบบตัวเอง มันก็น่าอนุโลมได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ คือคำว่าสร้างสรรค์จริงๆ แล้ว มันคือการทำงานอย่างมีระบบ ระเบียบ ละเอียด มีระเบียบวิธีที่ชัดเจน เพียงแต่มันเป็นระบบเฉพาะปัจเจกของแต่ละคน ที่อาจจะไม่เหมือนกัน คนที่ทำงานเหมือนจริง จริงๆแล้วไม่ได้ลอกเลียนธรรมชาติ ความเหมือนเป็นเพียงแค่รูปแบบ เป็นเพียงแค่ภาษา เป็นความเชื่อแบบหนึ่ง เป็นความเชื่อว่าความงามมันมีอยู่จริงในโลกของวัตถุ ในโลกของความเป็นจริง เป็นเพราะพยายามเข้าถึงความจริง ความงามอย่างนึงให้ใกล้เคียงที่สุด ถ้าจะอธิบายกันง่ายๆ ถ้าเราดูแนวเหมือนจริงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันก็มีหลายแนว หลายลัทธิหลายกลุ่ม หลายแบบ ความเหมือนจริงของศิลปินแต่ละคนก็ต่างกัน ถ้าเราดูจะเห็นลยว่าแต่ละคนมีสไตล์เฉพาะตัวเอง อย่างจักรพันธ์ โปษยกฤต  วราวุธ ล้วนแต่มีสไตล์ของตัวเอง ไม่ก๊อปปี้ใคร หรือ เราดูไปจนถึงนักศึกษาที่ไม่ได้ทำงานศิลปะเวลาออกไปเขียนเหมือนจริงภายนอก ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง โยกย้าย มีการตัด มีการเริ่ม อย่างผมไปเขียนทิวทัศน์กับพวกลูกศิษย์นักศึกษา เมื่อสองสามปีที่แล้ว เด็กนักศึกษาปีหนึ่ง ปีสองบางคนมาดู ก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเห็นผมย้ายภูเขา ก็ว่าอาจารย์ย้ายภูเขาได้ด้วย นี่คือตัวอย่าง

 

เวลาเราเขียนเหมือนจริง เราไม่ได้ก๊อปปี้เค้า เราเลือกสรรแสงเงา เลือกสรรแง่มุม เลือกสรรเวลา และเราก็ต้องสามารถเข้าไปจัดการอะไรต่างๆ จะเพิ่ม จะลด จะเปลี่ยนสีสันเปลี่ยนน้ำหนักได้ทั้งสิ้น คือถ้ามีการแสดง มีวิธีการแนวเหมือนจริงกันเลย ถ่ายรูป มีวิธีการมาเปรียบเทียบด้วย อย่างทิวทัศน์และของจริงถ่ายรูปมาให้ดู ทิวทัศน์ ที่เขียนขึ้นมาจะเห็นได้เลยว่าศิลปินนั้นไม่ได้ลอกเลียนธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งหุ่นนิ่งหรือภาพคนเหมือนก็ตาม อย่างภาพในหลวงศิลปินเองก็เขียนไม่เหมือน อันนี้แสดงให้เห็นว่าแบบเหมือนจริงก็มีการสร้างสรรค์ แม้กระทั่งการถ่ายภาพ ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีศิลปินที่ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อในการทำงานศิลปะ ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่าภาพถ่ายมันเลียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยเครื่องกลไก คนทั่วไปก็มีกล้องถ่ายรูป ถ่ายออกมาแบบเดียวกันก็คงเหมือนกัน แต่จริงๆ ถ้าสมมติว่ามีการจัดประกวด อย่างวันนริศ จัดประกวดถ่ายวัดพระแก้วอย่างนี้ โดยเชิญศิลปินมาประกวดก็จะเห็นเลยว่าศิลปินแต่ละคนเนี่ยถ่ายออกมาไม่เหมือนกัน เพราะว่าต้องมีความคิดที่ว่าจะถ่ายอะไร ถ่ายทำไม อาจจะต้องเลือกสรรแง่มุม เลือกสรรเวลา เลือกสรรแสงเงา เลือกสรรทุกอย่าง ซึ่งตรงนั้นเป็นเรื่องของความคิดทั้งสิ้น  ประเด็นคือว่า ภาพถ่าย ภาพเขียนทั้งหลายนี่ก็เป็นเพียงแต่วิธีการ คุณค่าของงานอยู่ที่ตัวศิลปิน ที่จะคิดทำอะไร คิดทำได้แค่ไหน  เพื่ออะไร

คำถามง่ายๆ สามข้อ ที่นักศึกษา ศิลปิน คนทำงานศิลปะต้องตอบให้ได้ว่าหนึ่งทำอะไร สองทำทำไม สามทำอย่างไร จะมีอยู่สามข้อนี้ ที่มีผลในการทำงานศิลปะ ปัจจุบันทุกสถาบันมีการให้ทำงานวิทยานิพนธ์หรือศิลปนิพนธ์ บางแห่งเรียกเป็นโครงการต่างๆ ก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานศิลปะอย่างหนึ่ง มันมีระบบ ไม่ใช่การเขียนรูป ปั้นรูปตามอารมณ์ตามใจ ตามจินตนาการ เรามีการเสนอโครงการ อนุมัติหัวข้อ  แล้วโครงการก็ต้องมีการทำตามแผนที่เสนอเอาไว้ อันนั้นคือตัวอย่างของการทำงานศิลปะอย่างมีระบบแบบ เพื่อฝึกฝนให้ทุกคนรูจักการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งจริงๆ การทำงานอย่างเป็นระบบก็สามารถประยุกต์ใช้กับการประกอบอาชีพอื่นๆ ถ้าหากไม่ได้ทำงานศิลปะแล้ว

 

 

___________________________

Text : พรทิพย์ ทองขวัญใจ

Photo : ณัชชา เฉลิมรัตน์

You may also like...