ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

ภาพถ่ายบุคคลเป็นภาพถ่ายประเภทแรกสุดที่มนุษย์ในโลกยุคใหม่รู้จักหรือคุ้นเคยในฐานะภาพแทนตัว คงจะไม่ใช่การกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด หากจะพูดว่า ภาพถ่ายบุคคลถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ เพราะมันทำหน้าที่บันทึกภาพของทั้งคนเป็นและคนตายมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าร้อยห้าสิบปี 

 

 

ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล ช่างภาพหนุ่มที่มีงานภาพถ่ายบุคคลเป็นที่น่าจับตามอง ปัจจุบันเขาทำงานประจำนิตยสารอยู่ way และ วารสารสำนักพิมพ์หนังสือใต้ดิน

 

ปิยะวิทย์เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับความเป็นมาของเขาว่า “ตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมก็ทำงานทางด้านภาพถ่ายตั้งแต่ต้น ผมเรียนเอกวิชาหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้น นอกจากการเขียนข่าวและกระบวนการผลิตมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการถ่ายภาพ ตอนฝึกงานก็มีทั้งงานที่เป็นตัวหนังสือและงานที่เป็นภาพถ่าย เรียนจบก็ทำงานด้านหนังสือมาตลอด และถ่ายภาพเป็นหลัก

 

ปิยะวิทย์มีมุมมองเกี่ยวกับศิลปะว่า “คล้ายกับคนทั่วไปที่มักจะมองภาพวาด อ่านงานเขียน ฟังเพลง แต่โชคดีอย่างหนึ่งคือ พี่ชายผมเป็นสถาปนิก และเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ เกี่ยวกับทางสถาปัตยกรรมอยู่บ้าง ก็อาศัยโอกาสตรงนี้ได้เรียนรู้ แต่ว่าไม่ได้จริงจังอะไร เพียงแต่เห็นว่ามันอาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ทำให้ตัวเองพอจะรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร

 

“จริงๆแล้วผมอยากเรียนทางด้านสถาปัตย์ แต่ติดอยู่อย่างเดียวคือผมวาดรูปไม่เป็น (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่ามันมีอะไรบ้างที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพได้ มันก็มีเรื่องการถ่ายรูปเข้ามาในหัวสมอง ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าผมมีทักษะในการวาดรูป ผมก็คงเอาดีในด้านนั้น”

 

สำหรับการเป็นช่างภาพอาชีพเขาตอบว่า “จริงๆ แล้วคำถามนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ผมตอบอย่างนี้ดีกว่าว่า คำว่า ‘อาชีพ’ สามารถเปลี่ยนกันได้ทุกคนเมื่อโอกาสหรือจังหวะของแต่ละคนมาถึง ประเด็นของผมอยู่ตรงที่ การที่จะทำอะไรสักอย่างอย่างจริงจัง มุ่งมั่น คำว่าอาชีพอาจไม่เพียงพอ แต่ถ้าถามว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ แล้วมีใครบางคนตอบว่า ถ่ายภาพ เป็นช่างภาพ คำว่า ‘เป็น’ ในความคิดผม มันเป็นสิ่งที่ติดตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วถ้าถามผมว่าเป็นช่างภาพอาชีพตั้งแต่เมื่อไร คำตอบคือ ผมยังไม่นับว่าตัวเองเป็นช่างภาพอาชีพ อันนี้พูดจริงๆ ไม่ใช่พูดเพื่อให้ตัวเองดูดีหรือเป็นการถ่อมตัวแต่อย่างใด และแม้ว่าในหน้าที่การงานจะระบุว่าเป็นช่างภาพ แต่มันก็เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าใครทำหน้าที่อะไรบ้างก็เท่านั้นเอง แต่หากนับว่าถ่ายรูปเป็นอาชีพ โดยมีเงื่อนไขของตัวเงิน ของเวลามาเกี่ยวข้อง ผมก็เริ่มงานถ่ายภาพมาตั้งแต่เรียนจบควบคู่กับงานเขียนบ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเรียกตัวเองอย่างเต็มปากว่าเป็นช่างภาพหรือเป็นนักเขียน และคำเหล่านี้ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือวิเศษกว่าอาชีพอื่นๆ เพียงแต่ว่าการทำงานทุกอย่างย่อมต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เท่านั้นเอง

 

“ในความคิดของผม ภาพถ่ายบุคคลเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายยากที่สุด การจะถ่ายภาพคนให้สวย ให้มีความงามทางศิลปะไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของงานสารคดียิ่งเป็นระดับที่ละเอียดอ่อนมาก เอาให้ง่าย คนเป็นบุคคลซึ่งมีชีวิตชีวา มีความสามารถโต้ตอบได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการมอง การยิ้ม หัวเราะ ฯลฯ ฉะนั้นการจับอารมณ์ของคนต้องอาศัยจังหวะและเวลา ถ้ารอยยิ้มในจังหวะนั้นหายไปโดยที่เราไม่ได้กดชัตเตอร์ เราอาจจะไม่ได้เห็นรอยยิ้มนั้นอีกเลย และที่ยากกว่าการกดชัตเตอร์ คือการจะทำยังไงให้คนๆ นั้นปรากฏรอยยิ้มที่เป็นตัวของเขาเองให้มากที่สุด

 

“แน่นอนว่า สิ่งที่ทำเองกับมือ จำเป็นต้องมีความละเอียดและพิถีพิถัน ฉะนั้นไม่ปฏิเสธว่าภาพขาวดำ ยังไงก็ยังคงความมีเสน่ห์ และเอาเข้าจริงแล้ว ความงามที่เรารับรู้จากภาพขาวดำ ก็มีพลังบางอย่างที่ภาพสีไม่มี ลองนึกภาพตามนะ ที่ผนังบ้างโล่งๆ มีภาพถ่ายขาวดำติดอยู่ทั้งหมด กับภาพสีติดอยู่ทั้งหมด ถ้าเราหยุดยืนดู ถามว่าผนังไหนที่สร้างผลสะเทือนต่อเรามากกว่ากัน

 

“บางทีพลังของงานขาวดำ อาจอยู่ที่ขั้นตอน กระบวนการในการผลิต เรามองภาพขาวดำ เราอาจไม่ได้เห็นเพียงแค่ภาพถ่าย แต่เรามองเห็นกระบวนการในห้องมือ เราเห็นความพยายามอุตสาหะ และเราอาจจะเห็นกระดาษอัดรูปจำนวนมากกองอยู่ที่ถังขยะเพราะว่านำหนักของภาพยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ถ่าย ดังนั้นภาพขาวดำไม่มีวันตาย ถ้าความพยายามอุตสาหะยังคงอยู่คู่กับช่างภาพ แต่อย่าลืมว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ภาพถ่ายเป็นการบันทึกภาพในเสี้ยวชั่วขณะ และเป็นภาพตัวแทนของสิ่งที่ช่างภาพมองเห็น ฉะนั้นในแง่นี้ไม่ว่าจะเป็นภาพสีหรือขาวดำ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีราคาที่เท่ากัน”

 

ถามเขาว่าศิลปินหรือช่างภาพคนใดที่ถือว่าเป็นต้นแบบ ปิยะวิทย์ตอบพร้อมกับรอยยิ้มปนอารมณ์ดีว่า “จริงๆ แล้วผมก็ต้องชื่นชมอาจารย์ของผม แต่ว่าเป็นความชื่นชมจริงๆ ไม่ได้ขึ้นกับสถานะว่าใครเป็นใคร ผมเคารพอาจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์ ครูผู้ซึ่งสอนในเรื่องของความงามทางภาพถ่าย และระบบโซน งานของอาจารย์กันต์มีเสน่ห์ และอย่าลืมว่า อ.กันต์เป็นลูกศิษย์ของ Ansel Adam รุ่นท้ายๆ แล้วอ.กันต์ก็นำความรู้ต่างๆ มาสอนลูกศิษย์ และงานของคุณชำนิ ทิพย์มณี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของช่างภาพรุ่นใหม่ๆ ที่รักจะถ่ายงานสารคดี หรือวิถีชีวิตของผู้คน กระทั่งงานคอนเซ็บต์ของมานิต ศรีวานิชภูมิ ชุดพิ้งค์แมน ก็แสบสันต์ในการวิพากษ์วิจารณ์ภาวะสังคม

 

ข้อแนะนำสำหรับคนที่จะทำงานทางด้านภาพถ่ายเป็นอาชีพ “อย่างที่ออกตัวแต่แรก ผมไม่ใช่ช่างภาพอาชีพ เพียงแต่พอมีทักษะในด้านนี้อยู่บ้าง และก็พอจะทำได้ ดังนั้นจะให้แนะนำ ผมว่าอาจยังไม่ถึงเวลา เอาเป็นว่า ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกันดีกว่า ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นงานใดก็แล้วแต่ การเริ่มต้นควรเริ่มต้นที่ความอยาก ความสนใจ สิ่งเหล่านี้จะนำพาให้ตัวเราก้าวไปในเส้นทางที่ถูก และที่สำคัญเป็นเส้นทางที่เราเลือกเอง เคยมีรุ่นพี่ที่เคารพนับถือ บอกผมเสมอๆในเรื่องของการนับถือตัวเอง และความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง สิ่งนี้สำคัญมาก มันเป็นเหมือนตาข่ายที่คอยเตือนเราเสมอๆ ในการทำงาน ว่าหลังจากที่ผลงานออกไปสู่วงกว้างแล้ว เราจะนับถือตัวเองได้มากน้อยเพียงไร เราไปสร้างหรือทับทมปัญหาของสังคมหรือไม่อย่างไร หรือว่าเราทำงานที่สร้างสรรค์และไม่ทำร้ายสังคม”

 

______________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

You may also like...