ปราย พันแสง

“เขาบอกว่าวรรณกรรมไทยขายยาก”  ปราย พันแสง นักเขียนหญิงที่มีผลงานและได้รับการยอมรับในแวดวงวรรณกรรมไทยคนหนึ่ง ปรายเริ่มต้นเขียนงานตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปลาย ด้วยแรงกระตุ้นจากการได้อ่านผลงานของนักเขียนท่านอื่นๆ จนเกิดแรงบันดาลใจอยากเขียนผลงานของตัวเอง  ปรายคร่ำหวอดในแวดวงหนังสือมายาวนาน ทั้งในฐานะกองบรรณาธิการ นักข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ฯลฯ

 ปัจจุบันนอกจากเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ เธอยังเป็นหัวเรือใหญ่ นำพานิตยสารและสำนักพิมพ์ freeform โต้คลื่นมรสุมแห่งมหาสมุทรวรรณกรรมไทยที่ไม่เคยได้ดั่งใจ ให้สามารถไปสู่ฝั่งฝันที่ต้องการให้จงได้!

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
คงเริ่มต้นเหมือนคนเขียนหนังสือทั่วๆ ไป ที่เริ่มจากการเป็นคนอ่านมาก่อน ที่บ้านชอบอ่านหนังสือค่ะ แม่ป้าน้าอาชอบอ่านนิยายกันมากๆ อย่างหนังสือสกุลไทย ขวัญเรือน หรือบางกอก ที่บ้านก็อ่านประจำ เด็กๆ เราเติบโตมาก็เห็นหนังสือพวกนี้ เห็นทุกคนในบ้านอ่านกัน เราก็อ่านบ้าง แรกๆ อาจจะเริ่มจากเซ็คชั่นสำหรับเด็กที่แทรกอยู่ในหนังสือ อ่านนิทานอะไรอย่างนั้น แต่จำได้ว่าตอนเด็กๆ ก็ชอบอ่านเซ็คชั่นเด็กอยู่แป๊บเดียวก็เลิกอ่านแล้ว จะชอบอ่านนิยายหรือเรื่องอื่นๆ ในหนังสือแบบที่ผู้ใหญ่อ่านกันมากกว่า

พออ่านเยอะขึ้นก็เริ่มอยากเขียน เพราะจากที่ได้อ่าน เราก็รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้เราน่าจะเขียนได้ ก็คิดไปประสาเด็กค่ะ เพราะพอเราเริ่มมาลงมือเขียนหนังสือเองจริงๆ ก็พบว่าการเขียนหนังสือมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด บางเรื่องเวลาเราอ่านของคนอื่นมันเหมือนจะเขียนออกมาง่ายๆ แต่ลงมือทำมันก็ยาก หรือเรื่องง่ายๆ บางเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เราก็จะไปทำตามอย่างนั้นก็ไม่ได้ เราก็ต้องคิดเรื่องใหม่ เขียนเรื่องใหม่อยู่ดี ทุกวันนี้เขียนหนังสือเป็นอาชีพมาหลายปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่นั่งลงเพื่อเขียนเรื่องใหม่ ก็ยังรู้สึกว่างานเขียนเป็นสิ่งที่ยากอยู่เสมอล่ะค่ะ

ส่วนที่ยังทำให้เขียนหนังสือมาจนถึงวันนี้ ก็เพราะว่าสิ่งที่เราเขียนออกไปมันมีคนอ่านอยู่บ้าง ยังมีคนชวนให้เขียนโน่นเขียนนี่อยู่เรื่อยๆ เมื่อเขียน เมื่อพิมพ์หนังสือเป็นเล่มออกมาก็พอมีคนติดตามบ้าง มันก็เลยทำให้เราสามารถทำงานออกมาได้เรื่อยๆ ที่ยังเขียนอยู่ก็เพราะยังมีคนอ่านงานของเราอยู่ค่ะ แต่ก็คิดว่าต่อไปถึงไม่มีใครอ่านสิ่งที่เราเขียนเลย แต่ถ้าเราอยากเขียน มีสิ่งที่อยากจะเขียน ก็เขียนเองอ่านเองคนเดียวก็ได้นะ

คุณลักษณะของวรรณกรรมที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
คุณสมบัติของวรรณกรรมที่ดี ถ้าในแง่ศิลปะวรรณกรรม ดิฉันคิดว่ามันก็ต้องมีหลักเกณฑ์ของมันอย่างที่ใช้กันทั่วไป ว่างานวรรณกรรมที่ดีต้องเป็นอย่างไร ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง อย่างรางวัลซีไรต์ เขาก็จะมีกรอบเกณฑ์ของเขาในการประเมินที่ค่อนข้างชัดเจน มีมาตรฐานของมันอยู่ และดิฉันก็ยังเชื่อว่าเกณฑ์พิจารณาคุณค่างานศิลปะวรรณกรรมก็ยังต้องอาศัยมาตรฐานที่ว่านี้ไปอีกนาน เพราะมันปลอดภัยที่สุดแล้วในการคัดเลือกหรือตัดสินอะไรสักอย่าง

ส่วนต้นแบบในการเขียนหนังสือ ดิฉันชอบนักเขียนไทยยุคสุภาพบุรุษนักประพันธ์ค่ะ นักเขียนยุคนั้นทำให้ดิฉันรู้สึกว่าอาชีพเขียนหนังสือหรือทำหนังสือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและสง่างามมาก

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียนของคุณ และวันนี้ทำได้สมปณิธานนั้นหรือยัง
มาไกลเกินฝันมากแล้วค่ะ วันนี้คือกำไรชีวิตล้วนๆ

คนทั่วไปรู้จัก ปราย พันแสง ทั้งในฐานะของนักเขียน กวี นักแปล ฯลฯ แต่ถ้าให้คุณนิยามถึงตัวเอง
กวีกับนักแปลนี่คงไม่ใช่หรอกนะคะ ถ้าในฐานะคนเขียนหนังสือคนหนึ่ง น่าจะเป็นคนเขียนคอลัมน์หรือคอลัมนิสต์มากกว่าอย่างอื่น

การทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหนและจบลงที่ไหน
ถ้าเป็นงานเขียนคอลัมน์ ส่วนมากจะเริ่มที่การคิดประเด็นหรือข้อมูลค่ะ เพราะตั้งกฎให้ตัวเองว่าจะเขียนอะไรสักอย่าง ต้องมีความรู้ใหม่ๆ หรือมุมใหม่ๆ อะไรสักอย่าง ถ้าไม่มีอย่าเขียน จากนั้นตามมาด้วยชื่อเรื่อง เพราะส่วนมากชื่อเรื่องก็คือคอนเซ็ปต์ที่จะเขียน เป็นตัวคุมงานทั้งชิ้นของเรา ดิฉันเคยทำงานหนังสือพิมพ์มาก่อนค่ะ เลยติดว่าเนื้อหาข้างในจะต้องอธิบายพาดหัวข่าวได้ทั้งหมด จากนั้นก็จะให้ความสำคัญกับการเปิดเรื่องและจบเรื่อง เปิดเรื่องต้องสะดุด ทำให้อยากอ่านต่อ จบเรื่องต้องคม มีอะไรติดปากติดใจให้คิดนึดนึง ส่วนมากก่อนจะลงมือเขียนอะไรสักชิ้น ต้องมีชิ้นส่วนพวกนี้ให้ครบก่อนค่ะ ถ้าไม่ครบมันจะเขียนไม่ลื่น อย่างถ้าเขียนๆ ไปแล้วเบื่อ เขียนไม่จบ หรือจบแล้วไม่พอใจเนี่ย เราจะรู้เลยว่าเรามีของไม่ครบ เหมือนแม่ครัวจะทำกับข้าว แต่เครื่องปรุงไม่ครบ มันก็เซ็งค่ะ บางทีต้องเปลี่ยนประเด็นเขียนไปเลย

วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไรใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือเป็นหลัก
ช่วงนี้เขียนบล็อกบ้างประปราย (http://prypansang.blogspot.com)  แล้วก็กำลังเขียนนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง แต่เขียนๆ หยุดๆ เพราะต้องมาดูแลงานผลิตหนังสือที่ฟรีฟอร์มเป็นหลัก อยากให้มันอยู่ได้ในแง่ธุรกิจ ให้เลี้ยงตัวเองได้ เราจะได้พิมพ์หนังสือที่เราอยากอ่านออกมาได้เรื่อยๆ ดิฉันทำฟรีฟอร์มมาสองสามปีแล้ว ที่ผ่านมาก็ต้องก็ทำงานหนักพอสมควร เลยต้องหยุดงานเขียนคอลัมน์ประจำทั้งหมด แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นมากแล้ว อีกไม่นานคงปล่อยให้คนอื่นทำแทนได้เต็มตัวแล้ว สำหรับงานเขียนส่วนตัว ตอนนี้ก็หวังแค่ว่าปีนี้ถ้าจบนิยายลงได้ ก็จะสบายใจที่สุด เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

มองวงการวรรณกรรมไทย
กลุ้มค่ะ ถ้าใครเริ่มเขียนหนังสือตอนนี้ก็ยิ่งกลุ้มแทน ดิฉันเคยพิมพ์หนังสือของนักเขียนไทยท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นการช่วยๆ กันของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักกันเท่านั้น เพราะพิมพ์น้อย ถึงขายหมดก็ยังไม่มีกำไร แต่ปรากฏว่าบริษัทจัดจำหน่ายไม่ยอมรับไปขายให้ เขาบอกว่าวรรณกรรมไทยขายยาก ขายไม่ได้  นักเขียนต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปติดต่อบริษัทจัดจำหน่ายเอาเอง ซึ่งดิฉันมองแล้วก็รู้สึกว่าทำไมนักเขียนไทยเรามันลำบากกันจังนะ การจะเขียนหนังสือให้ดีก็ยากพอแล้ว ยังหาที่พิมพ์ยาก หาที่ขายยากอีกหรือ กลุ้มจริงๆ

มีน้องคนหนึ่งรู้จักกัน เพิ่งลาออกจากบริษัทเพื่อมาเขียนหนังสืออย่างเดียว เพิ่งเขียนนิยายเสร็จไปเรื่องหนึ่ง ก็ส่งมาให้ดิฉันช่วยอ่าน ดิฉันอ่านไปก็กลุ้มไป ถ้ายิ่งเขียนดีเนี่ยคงยิ่งกลุ้มใจกว่านี้ พอดีน้องเขาเพิ่งเริ่ม ยังเขียนได้ไม่ค่อยลงตัวนัก ถ้าเอาจริงก็คงต้องใช้เวลาฝึกฝนอีกนานพอสมควร ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อน้องเขาเขียนเก่งดีแล้ว วงการวรรณกรรมไทยเราจะเปิดกว้างกว่านี้ แต่คิดว่าคงยากค่ะ ใครเขียนหนังสือตอนนี้ก็คงลำบากหน่อย ถึงคุณมีเงินพิมพ์หนังสือของตัวเองออกมาได้…ก็ไม่แน่ว่าจะมีที่ขายนะคะ จะเป็นนักเขียนตอนนี้ให้เวลาคิดใหม่ได้อีกที หรือต้องหาทางหนีทีไล่ให้ตัวเองดีๆ ไม่งั้นอยู่ยากค่ะ

“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม
จำเป็นนะคะ ยิ่งมีมากๆ ยิ่งดีค่ะ มันน่าจะสื่อถึงการดิ้นรนหาทางรอดตายของวรรณกรรมนะคะ แนวโน้มคงเป็นทั่วโลก ไม่เฉพาะในบ้านเรา ขนาดสำนักพิมพ์ใหญ่ในต่างประเทศบางแห่ง ยังคิดถึงขนาดว่าจะหานายแบบหนุ่มหล่อมาเป็นพรีเซ็นเตอร์อ่านหนังสือ เพื่อส่งเสริมการอ่านขนาดนั้น อย่างวรรณกรรมไทยตอนนี้ มันก็แทบจะไม่มีชั้นวางในร้านหนังสือแล้ว การมีรางวัลขึ้นมา มันก็เหมือนส่องไฟสป็อตไลท์ไปตรงหนังสือเล่มนั้นให้มันเด่นสะดุดตาขึ้นมา คือในแง่หนึ่ง มันก็เป็นการให้กำลังใจคนทำงาน ถึงหนังสือขายไม่ออก แต่มันได้รางวัล คนทำงานก็คงมีกำลังใจทำต่อไปใช่ไหม หรือมองอีกแง่ การให้รางวัลมันเป็นการตลาดที่ดูดีที่สุดแล้วค่ะในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้หนังสือเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป

ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร แล้วเคยคิดที่จะเลิกเขียนไหม
เคยคิดว่าถ้าไม่อยากเขียน หรือไม่มีอะไรจะเขียน ก็คงไม่จำเป็นต้องเขียนหรอกค่ะ ไปเป็นคนอ่านอย่างเดียวคงสนุกกว่า ส่วนเรื่องเลิกเขียน เคยคิดว่าถ้าแก่มากๆ หรือป่วยหนักจนใช้มือเขียนเองไม่ได้ แล้วต้องพูดให้คนอื่นเขียนให้อะไรอย่างนั้น ดิฉันอาจจะไม่ทำ คงเลิกเขียนไปเลย เพราะคงจะเขินๆ คนที่จดให้เราน่าดู คงไม่ชินแน่เลยกับการทำงานอย่างนั้น แต่ก็ไม่แน่ใจหรอกว่าถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ เราจะต้องทำหรือเปล่า คือถ้าแรงขับภายในมันเยอะมากก็คงต้องทำนะคะ แต่ก็หวังว่าตัวเองคงไม่ต้องจนมุมถึงขนาดนั้น แต่ชีวิตคนเรามันก็ไม่แน่นอน ใครจะรู้ใช่ไหม

คำแนะนำถึงนักอยากเขียนว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร
ก็คงแนะนำได้แต่เพียงว่า ถ้าอยากเขียนอะไร ก็พยายามศึกษาและอ่านงานประเภทนั้นให้เยอะที่สุด และให้หลากหลายที่สุดค่ะ

รายนามนักเขียนคนโปรด และรายชื่อหนังสือเล่มโปรด
หลายปีมานี้เคยตอบเรื่องนักเขียนคนโปรดกับหนังสือเล่มโปรดมาหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ไม่ค่อยซ้ำกันเลย คงขึ้นกับว่าช่วงนั้นสนใจอะไรอยู่ เอาเป็นว่า “โปรด” ในช่วงเวลาหนึ่งเวลานั้นก็แล้วกันนะคะ สำหรับ
“5 โปรด” สำหรับหนังสือและนักเขียนช่วงนี้ก็มีดังนี้ค่ะ

1.Sixty Million Frenchmen Can’t Be Wrong : Jean Benoit Nadeau, Julie Barlow
หลายปีมานี้ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้หลายรอบ เพราะหน้าที่การงานทำให้ดิฉันมีโอกาสพบปะเกี่ยวข้องกับคนฝรั่งเศสค่อนข้างมากกว่าชาติอื่น โดยเฉพาะคนฝรั่งเศสที่อยู่ในเมืองไทย จากที่เคยทำงานร่วมกันหลายครั้ง ก็รู้สึกถึงความแตกต่างด้านวัฒนธรรมค่อนข้างมาก เช่นว่าทำไมสรุปกันแล้วยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือเวลานัดกันทำไมเขาชอบมาสาย เอ๊ะ มันเรื่องปกติสำหรับเขาหรือเปล่านะ บางทีเขามาเลทเป็นชั่วโมง คนก็รอกันเต็มเลย พอมาถึงเขาก็ร่าเริง สดชื่น ไม่มีการขอโทษ ทุกอย่างปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ เอ๊ะ มันยังไงนะ พออ่านหนังสือเล่มนี้ก็เข้าใจมากขึ้น อย่างชื่อหนังสือก็ฮาแล้ว “คนฝรั่งเศสหกสิบล้านคนไม่เคยผิด” มันเป็นไปได้ไง นักเขียนสองคนนี้เขาเป็นนักข่าวแคนาดาที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสหลายปี แล้วเขียนหนังสือเล่มนี้ คาดว่าคงเขียนขึ้นมาด้วยข้อสังเกตเบื้องต้นคล้ายๆ เรา หนังสือจึงมีรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมย่อยค่อนข้างเยอะ อ่านแล้วค่อนข้างทึ่งกับหลายๆ อย่างที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นฝรั่งเศส

2.วันใบไม้ร่วงของคนไกลบ้าน : อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
หลายปีก่อน ดิฉันมีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์อารยา ลงตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ตอนนั้นเธอจัดแสดงผลงานศิลปะของเธอที่หอศิลป์เจ้าฟ้า น่าจะเป็นการแสดงงานคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตยุคแรกๆ ของเมืองไทย จำได้ว่าเดินเข้าไปในหอศิลป์แล้วเหวอมาก เจอเตียงคนไข้ เจอเลือด เจออะไรดำๆ มืดๆ เราเดินดูอยู่คนเดียวตอนเย็นๆ ก็ใจหายใจคว่ำ บอกตรงๆ ว่ากลัวมาก แต่พอได้คุยกับเธอก็ประทับใจ ดิฉันถามเธอว่าทำไมจึงคิดจัดแสดงนิทรรศการนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ใช่นิทรรศการขายรูปที่จะทำให้ศิลปินมีรายได้อะไรเลย แล้วเธอก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการทำงานทั้งหมด เธอตอบว่ามันน่าจะมีประโยชน์กว่าเอาเงินไปซื้ออายครีมแพงๆ ฟังแล้วก็ทึ่ง
สองสามปีมานี้ พอได้มาทำนิตยสารฟรีฟอร์ม ดิฉันก็มีโอกาสได้เจอ มีโอกาสได้สัมภาษณ์อาจารย์อีก ก็พบว่าอาจารย์ยังมีจุดยืนเหมือนเดิม แต่ชัดเจน แล้วก็มีพลังยิ่งกว่าเดิม ก็เลยกลับมาอ่านงานเขียนเก่าๆ ของอาจารย์อีก เราก็เจอตัวตนหลายๆ อย่างของอาจารย์มากขึ้น ก็ทำให้ยิ่งชอบมากขึ้น พอปีนี้เราทำสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม พิมพ์พ็อคเก็ตบุ๊คของเราเองด้วย ก็เลยอยากพิมพ์ผลงานของอาจารย์ให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำงานแบบนี้ให้ได้อ่านกัน ในแง่การตลาด การพิมพ์หนังสือเล่มนี้ต้องใช้พลังเยอะมากค่ะ เพราะร้านหนังสือบ้านเราตอนนี้ แค่พาดปกว่า “เรื่องสั้นไทย” คนขายหนังสือเขาก็กลัวมาก ไม่มีใครอยากเอาไปวางขายในร้านหนังสือแล้วค่ะ เขาบอกว่าเรื่องไทยขายไม่ได้ แต่ดิฉันกับทีมงานก็อาศัยลูกบ้าหลายอย่าง ในการผลักดันให้หนังสือเล่มนี้ขึ้นไปอยู่บนแผงให้ได้ ซึ่งตอนที่ตอบไฮคลาสอยู่นี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย แต่ดิฉันก็ภาคภูมิใจมากค่ะที่ได้พิมพ์ ได้นำเสนอผลงานของศิลปินท่านนี้

3.เกียวโตไดอารี่ : ปาลิดา พิมพะกร
เล่มนี้มีความประทับใจส่วนตัวเป็นพิเศษหลายอย่าง เริ่มจากตัวคนเขียนซึ่งรู้จักกันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ดูเหมือนตอนนั้นเธอยังเรียนหนังสืออยู่ แล้วก็มาเจอกันในฐานะเป็นแฟนหนังสือรุ่นแรกๆ ของ’ปราย พันแสง หลังจากนั้นก็คบหากันในฐานะคนอ่านกับคนเขียนมาเรื่อยๆ ก็สนิทสนมกันประมาณพี่ๆ น้องๆ ที่ปรารถนาดีต่อกันเสมอมา ทุกครั้งที่น้องเขาไปไหนมาไหน ก็จะเขียนโปสการ์ดส่งมาให้ตลอด เป็นคนที่สม่ำเสมอมาก น้องเขาเคยรวมเรื่องของตัวเองเป็นหนังสือทำมือ ให้เราเขียนคำนิยมให้ ตอนหลังน้องเข้ามาทำหนังสือ เป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร ต่อมาก็ทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง เราก็ยังติดต่อคบหากันมาเรื่อยๆ เจอกันบ้างตามวาระ น้องเขาเป็นคนชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก เรียนภาษาญี่ปุ่น ไปเที่ยวไปอยู่ญี่ปุ่นบ่อยมาก จนเราล้อว่าชาติก่อนต้องเป็นคนญี่ปุ่นแน่เลย จนวันหนึ่ง น้องเขาก็มีหนังสือเล่มนี้ออกมา เราอ่านดูแล้วก็รู้สึกประทับใจ ตื้นตันใจหลายอย่าง
จากตัวหนังสือของน้องที่เราได้อ่าน นอกจากได้ความรู้ต่างๆ มากมาย ยังเหมือนเราได้เฝ้ามองใครสักคน เห็นการเติบโต เห็นพัฒนาการของเขา ได้เห็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จากเด็กซื่อใสไร้เดียงสา เติบโตขึ้นมาเป็นหญิงสาวน่ารัก ที่มีเสน่ห์ มีความรู้หลากหลาย มีวุฒิภาวะเต็มตัว เลยเป็นการอ่านไกด์บุ๊คที่ประทับใจมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ดิฉันยังไม่เคยไปเกียวโต แต่คิดว่าถ้าได้ไปเมื่อไหร่ ก็อยากจะไปเรียนจัดดอกไม้ในคอร์สที่น้องเขาแนะนำไว้ในเล่มนี้สักครั้งค่ะ

4.ผู้หญิงสีฟ้าครึ้มฝน : แคลร์ วัลเนียวิคซ์
ดิฉันเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ เลยมีโอกาสอ่านหลายรอบ ทุกครั้งที่อ่านก็จะได้ความรู้สึกแปลกๆ ความคิดใหม่ๆ หลายอย่าง อย่างแรกคือจำได้ว่าเมื่ออ่านรอบแรกนั้นอึ้งไปเลย ดิฉันไม่คิดว่าเรื่องสั้นฝรั่งเศสยุคใหม่จะมีหน้าตาแบบนี้ เพราะที่ผ่านมา ดิฉันจะได้อ่านเรื่องฝรั่งเศสเฉพาะที่มีคนแปลออกมาเป็นภาษาไทยเท่านั้น และหลายเล่มที่ได้อ่าน ก็จะเป็นวรรณกรรมคลาสสิค หรือวรรณกรรมตามแบบแผนการเรียนการสอนวรรณคดีในมหาวิทยาลัยบ้านเรา เราจะรู้จักโกแลต, บัลซัค, ชาร์ต, กามูส์ ซึ่งจะว่าเก่าก็เก่ามาก เหมือนเราจะไม่ค่อยได้รู้เลยว่า วรรณกรรมฝรั่งเศสร่วมสมัยที่คนฝรั่งเศสเขาอ่านเขาเขียนกันอยู่ตอนนี้มันเป็นอย่างไร พอได้อ่านจากเล่มนี้ก็อึ้งไปอย่างที่บอก

ดิฉันคิดว่างานเขียนที่เป็นยุคทองของวรรณคดีฝรั่งเศส คนไทยเราคงได้อ่านกันไปหมดแล้ว เมื่อยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว ฝรั่งเศสคงไม่ได้ผลิตนักคิดนักเขียนอย่างนั้นให้กับวงการวรรณกรรมโลกมาหลายปีแล้ว เมื่อก่อนนักเขียนฝรั่งเศสอาจจะเป็นผู้นำทางความคิด แต่นักเขียนฝรั่งเศสยุคใหม่อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น อย่างงานของแคลร์ วัลเนียวิคซ์เล่มนี้ ดิฉันคิดว่าเธอได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกันค่อนข้างเยอะ อย่างเรื่องแรกที่เป็นชื่อเล่ม ก็น่าจะได้อิทธิพลจาก Chic lit มาเต็มๆ เลย แต่คงเป็นเพราะเขาอยู่ฝั่งยุโรป การนำเสนอก็เลยค่อนข้างสงวนท่าที ไม่โฉ่งฉ่าง เรื่องของเขาที่ออกมาก็เลยน่าอ่านกว่า ลึกกว่า มีมิติทางวรรณศิลป์มากกว่า ก็ถือว่าเปิดมุมมองเกี่ยวกับวรรณกรรมฝรั่งเศสร่วมสมัยให้ดิฉันได้มากเลย

5. Conditions of Love : John Armstrong
ถ้าเจอหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือ ดิฉันคงไม่มีทางชายตาแลหรือหยิบขึ้นอ่านมาแน่นอน แต่บังเอิญมีคนเอาหนังสือมานำเสนอที่สำนักพิมพ์ ให้ดิฉันซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทย แล้วคนที่อยากแปลงานเล่มนี้เป็นภาษาไทยนั้น ก็เป็นนักเขียนนักแปลชื่อดัง ดิฉันก็เลยแปลกใจมาก เพราะพี่เขาไม่น่าจะสนใจอะไรแบบนี้แล้วนะ จึงสนใจว่าหนังสือมันมีดีตรงไหน ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้วก็ทึ่ง (อีกแล้ว) ว่ามันยังมีเรื่องที่เรายังไม่รู้ หรือคิดไม่ถึงเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ของมนุษย์เราเยอะแยะมากมายขนาดนี้เชียวหรือ อย่างที่เขาบอกว่า ความสามารถในการ “รัก” ใครสักคนนั้น มันเป็นเรื่องที่เราได้รับการถ่ายทอดมาทางยีนหรือกรรมพันธุ์ หรือแม้แต่การเกลียดใครสักคนนั้น มันก็มีวิวัฒนาการ มีลำดับขั้นตอนของมันอย่างชัดเจน ด้วยทฤษฎีและวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์หลากหลายมุมมอง

คนเขียนเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ก็เลยมีบทวิเคราะห์ทั้งในเชิงจิตวิทยา วิวัฒนาการมนุษย์ รวมถึงประวัติศาสตร์สังคม มาอ้างอิงให้เราคิดตามได้อย่างรอบด้าน หนังสือค่อนข้างอ่านยากนิดนึง แล้วคนเขียนก็ไม่ได้สรุปตายตัวว่ามันอย่างนั้นอย่างนี้ เวลาอ่าน เราต้องตะล่อมหาข้อสรุปเอาเอง โดยการเปรียบเทียบกับตัวเราเองหรือเรื่องราวที่เราเคยผ่านพบ ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่เปิดมุมคิดใหม่ๆ ได้มากที่สุดอีกเล่มหนึ่ง ก็เลยชอบเป็นพิเศษค่ะ

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 271
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...