โตมร ศุขปรีชา

บรรณาธิการหนุ่มแห่งนิตยสาร GM นักเขียนและนักแปลชื่อดัง  ทั้งคอลัมน์ประจำและไม่ประจำในหนังสือต่างๆมากมาย

 

คุณโตมร มีแง่มุมในการมองโลกที่แตกต่างและน่าสนใจ  เห็นได้จากปลายปากกาในแต่ละเรื่องที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ให้เราได้ติดตามกัน

 

ในงาน Artbangkok symposium 2011ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ศิลปะเพื่อยกระดับความคิดและสติปัญญาของมวลชน”คุณโตมรได้แสดงสารัตถะสำคัญเกี่ยวกับงานศิลปะเอาไว้อย่างน่าฟัง

 

คิดเห็นยังไงกับงานศิลปะในบ้านเราตอนนี้

พูดถึงงานศิลปะแล้วนึกถึงอย่างอื่นไม่ค่อยออก นอกจากภาพวาด ภาพเขียน แกลเลอรี่อะไรประมาณนั้น ซึ่งถ้ามองเฉพาะเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่ามันค่อนข้างเฟื่องฟูพอสมควรเพราะว่ามี “อาร์ทดีเลอร์” เกิดขึ้นเยอะมากและพาศิลปินของไทยไปต่างประเทศเยอะ ผมมองว่ามันไม่สมดุลนะ ในขณะที่ส่วนมันเชื่อมต่อกับต่างประเทศเกิดขึ้นเยอะนั้นแต่ว่าศิลปินหรืองานศิลปะพวกนี้มันค่อนข้างตัดขาดออกไปจากผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ มันเหมือนกับชุมชนโลกเลือกช็อปศิลปินของไทยบางส่วนและดึงออกไปจากสังคมไทย แต่สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจไม่ค่อยรับรู้สิ่งเหล่านี้เลย มันดีสคอนเน็คกันโดยสิ้นเชิง ด้วยความที่มันไม่เชื่อมกันมันเลยพูดไม่ได้ว่าศิลปินเหล่านี้เป็นตัวแทนของสังคมไทย หลายอย่างก็สมาทานวิธีคิดไป การเขียนงานที่เป็นโลกตะวันตกซึ่งมันอาจจะเป็นกลไกทุนนิยมที่ทำให้งานตัวเองขายได้ แต่เราจะไม่เห็นภาพศิลปะอื่นๆที่ได้รับความเกื้อหนุนได้รับการซัพพอร์ตที่เท่าเทียมกัน เช่น ถ้าพูดถึงนักเขียนในต่างประเทศทำงานเขียนปีละเล่มก็อยู่ได้สบายตลอดชีวิตเพราะจะได้รับค่าตอบแทนเหมือนคนเขียนภาพ แต่ถ้าเป็นคนเขียนภาพในเมืองไทยเวลาเขียนแล้วสามารถได้เข้าไปอยู่ในชุมชนโลกเขาก็สามารถอยู่ได้สบาย มีการจัดเอ็กซิบิชั่นปีละครั้งหรือขายชิ้นงานได้หนึ่งชิ้นในราคาสูงๆ แต่ศิลปะงานเขียนหนังสือ กวี อะไรอื่นๆ มันไม่เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นภาพรวมศิลปะในบ้านเรามันไม่มีสมดุล

 

คุณคิดว่างานเขียนของตัวเองมีส่วนช่วยในการสะท้อนสังคมหรือไม่

ไม่เคยคิดว่างานเขียนจะช่วยสังคม ไม่เคยคิดว่างานที่ทำจะไปช่วยอะไรสังคม เพราะว่าไม่เคยคิดอยากเขียนงานเพื่อให้คนอื่นอ่านส่วนใหญ่เวลาเขียนงานเขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียนไม่ได้เขียนในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเป็น ผมไม่เชื่อในการเปลี่ยนโลก มากเท่ากับการเปลี่ยนตัวเอง การเขียนงานช่วยให้เราตรวจสอบตัวเองตรวจสอบความคิดของตัวเอง ถ้าเกิดว่ามันได้เผยแพร่ออกไปแล้วคนอื่นจะรับรู้และจะคิดด่าชอบจะเกลียดชังก็แล้วแต่เป็นอีกเรื่องนึง แต่ไม่ได้คิดในจุดตั้งต้นว่าชั้นจะเขียนเพื่อทำให้โลกนี้เปลี่ยนเพราะฉะนั้นมันจะไม่ได้เป็นแบบนั้น

 

คุณคิดยังไงกับงานครีเอทีฟในบ้านเรา

ถ้าถามในแง่ครีเอทีฟผมว่าในสังคมไทยมันโดดเด่น เพราะบริษัทโฆษณาต่างๆก็อยู่ในระดับโลก แต่ว่าเป็นความครีเอทีฟที่ไม่ค่อยมีฐานซักเท่าไหร่ ถ้าดูอย่างงานศิลปะแฟชั่นของวิเวียน เวสต์วู๊ด ก็เห็นว่ามีฐานของสังคมมารองรับทำให้เกิดงอกขึ้นมาเป็นงานออกแบบแฟชั่นที่มีลักษณะต่อต้านชนชั้น แต่ของเราเป็นการเด็ดยอดสิ่งต่างๆออกมาแล้วครีเอทีฟใหม่มันไม่ได้มาจากฐานของสังคมจริงๆคล้ายๆงานศิลปะที่อยู่ในชุมชนโลก มันจึงไม่ลงมาถึงผู้คนในสังคมในจำนวนที่มากนัก

 

_____________________________________

บทสัมภาษณ์ในงาน Artbangkok Syumposium 2011 “ศิลปะเพื่อยกระดับความคิดและสติปัญญาของมวลชน”

วันที่ 5 เมษายน 2554 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

You may also like...