ทวีชัย เจาวัฒนา

ภาพถ่ายไม่เคยเงียบใบ้ หากมันได้สื่อความหมายบางอย่างออกมาด้วยเสมอ นี่คือหลักการพื้นฐานที่ทำให้งานภาพข่าวต้องบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นจริง เพราะในเมื่อภาพสามารถพูดได้ด้วยตัวมันเอง การกำหนดและควบคุมให้ภาพถ่ายพูดในสิ่งที่เราอยากให้มันพูดจึงเป็นเรื่องยาก 

 

 

ทวีชัย เจาวัฒนา หัวหน้าช่างภาพของศูนย์ภาพเนชั่น (The Nation ) ซึ่งเป็นหนึ่งในช่างภาพยุคบุกเบิกได้บอกเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับความเป็นมา และความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้ภาพข่าว ไม่เป็นเพียงการนำภาพจากมือเมสเซ็นเจอร์ไปสู่แท่นพิมพ์ “ ตอนนั้นผมเริ่มทำข่าว แต่เนื่องจากหนังสือพิมพ์เนชั่น ส่งข่าวก็ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกที เลยคิดว่าเป็นนักข่าวคงไม่รุ่ง เพราะเขาคงต้องมาแปลของเราอีกที ก็เลยเลือกมาเป็นช่างภาพ เป็นยุคแรกของช่างภาพข่าวที่เอาคนที่จบปริญญามาทำ ซึ่งเมื่อก่อน ภาพข่าวนี่เป็นในลักษณะที่ว่าใครก็ได้มาทำ พอดีเนชั่นก็เปิดโอกาสให้คนที่มีปริญญามาทำ ”

 

นี่เป็นจุดเริ่มของการมีช่างภาพหนังสือพิมพ์อาชีพ “ เราลองมาเปรียบเทียบกับเพื่อนที่เป็นญี่ปุ่น เป็นฝรั่งซึ่งเป็น Photo Journalist ทำไมของเขามันยิ่งใหญ่มากในสิ่งที่เราไปเห็น ของเขาก็เป็นมืออาชีพจริงๆ อย่างเรื่องก็จะมีนักข่าวแยกออกไป อย่างภาพเขาก็สนใจในการเล่าเรื่องด้วยภาพ เราก็เลย เฮ้ย อาชีพนี้ แล้วเมืองไทยมันขาดด้วยไงครับ แต่ก่อนรูปแค่กดชัตเตอร์ติดก็พอแล้ว แต่พอเรามามองต่างประเทศที่เขาเป็นรอยเตอร์ เอพี อะไรแบบนี้มันยิ่งใหญ่มาก สำหรับหน้าหนึ่งมันต้องค้นหารูปช็อตเดียวที่ใช้ให้ได้ คือถ้าเราเรียนทางวรสารมามันก็เออ มันไม่แค่ถ่ายอะไรก็มาลงได้

 

“ คือผมเริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพข่าว จากนั้นก็จะเป็นช่างภาพสารคดี คือพอเริ่มมีความถนัดมากขึ้นด้านหนึ่ง มันก็จะคอยเติมเต็มไปยังด้านอื่นๆ คือรู้สึกว่ามันเยอะเหมือนกัน อย่างรุ่นน้องๆ พอเขาถ่ายถึงขั้นหนึ่งเขาอยากรู้จักไฟ รู้จักการถ่ายสินค้า ซึ่งบางคนอาจเริ่มจากช่างภาพโฆษณาก่อนก็ได้ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งก็จะมาแลกกัน ”

 

ขั้นตอนในการทำงานภาพข่าว มักจะเป็นอะไรที่เราไม่สามารถกะเกณฑ์หรือล่วงรู้ก่อนล่วงหน้า “ สมมุติมีเหตุ ตูม รถนักเรียนชนกัน ก็จะเช็คเลยว่า ตอนนี้เหตุการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร มีคนเข้าไปถึงที่แล้วหรือยัง มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเคลียร์ได้มากน้อยขนาดไหน อันนี้คือในระหว่างเดินทางไป เพื่อว่า น้องที่เขาอยู่ใกล้ที่สุดเขาเข้าไปถึงก่อน เราตามไปสมทบ เราอาจจะไปตามที่โรงพยาบาลก็ได้ เราจะลิงค์ต่อเนื่องภาพกันได้

 

“ อย่างเหตุการณ์ที่ดินถล่ม น้ำท่วม ไฟไหม้อันนี้จะใช้ความชำนาญจากประสบการณ์ที่สะสมมาล้วนๆ เลย อย่างสมมุติถ้าไฟไหม้ อันแรกเราจะดูมุมสูงเจาะในรายละเอียด แต่ถ้าเป็นงานที่วางแผนอันนี้จะง่ายแล้ว สมมุติว่า งานแอลแฟชั่นวีค นี่เรารู้ล่วงหน้าแล้ว เราจะทำอะไรที่แตกต่างจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรวมคอลเลคชั่นของปีนี้และปีหน้าทั้งปี ทีนี้เราก็วางแผน อย่างปีที่แล้ว เรารู้ว่านางแบบเหล่านี้เวลาเดินจะมีภาพหลุดๆ อย่างมีอยู่ยุคหนึ่งมันมีภาพหลุดๆ ที่เหมือนกับจงใจให้เห็น เราก็เลยบอกช่างภาพในทีม พยายามสแน็ปเก็บภาพพวกนี้ แล้วนำมาใช้ ซึ่งมันจะได้อิมแพ็คคนดู แล้วตอนหลังก็เลยกลายเป็นกระแสไปเลยจริงๆ ”

 

อย่างทุกวันนี้ ก็ยังทำงานถ่ายภาพขาวดำอยู่ “ งานภาพถ่ายขาวดำส่วนใหญ่จะเป็นงานถ่ายสารคดี ภาพถ่ายบุคคล หรืองานที่เป็นโปรเจ็คท์พิเศษ อย่างสมมุติที่เนชั่นอยากให้ทำเกี่ยวกับสนามบินหนองงูเห่าที่เปลี่ยนไป แต่ผมนำเสนอภาพถ่ายขาวดำ ในทำนองว่าผมจะไม่จับไอ้ความศิวิไลซ์ เพราะอันนั้นคนเล่นไปเยอะ แต่เป็นตัวสังคมของหนองงูเห่าที่กำลังจะลบภาพในอดีตไป เราก็นำเสนอด้วยภาพขาวดำ ผมอาจจะไปจับหัวข้อของครอบครัวสักครอบครัวหนึ่งหรืออาชีพรอบๆ หนองงูเห่า แล้วก็พูดว่าต่อไปมันก็จะหายไปแล้ว และก็จะมีความศิวิไลซ์เข้ามาแทน

 

“ อย่างแต่ก่อนงานถ่ายภาพจะเป็นขาวดำเสียส่วนมาก งานภาพข่าวก็ต้องมาล้างอัดกันเอง แต่เดี๋ยวนี้งานที่ถ่ายก็คือถ่ายเป็นไฟล์ดิจิตอล แล้วก็กลับเป็นภาพขาวดำ ตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์ วิธีการก็จะคล้ายกับห้องมืดสมัยก่อนก็คือจะมีการเบิร์นอะไรแบบนี้ ก็ยังคงสนุกดี ”

 

_______________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...