โขนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

โขนในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งได้เป็น ๓ ยุค คือ ยุคที่ ๑ เป็นโขน ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคที่ ๒ เป็นโขน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคที่ ๓ เป็นโขน ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง

โขนยุคที่ ๑

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีและเสด็จ ขึ้นเถลิงถวัลย ราชสมบัติแล้ว ทรงฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ุกด้าน สำหรับการแสดงโขนนั้น พระราชมาน พระบรมราชานุญาต ให้เจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ หัดโขนได้ โดยไม่ทรงห้ามปราม เพราะฉะนั้น เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงได้ฝึกหัดโขน เพื่อประดับเกียรติของตน การแสดงโขนจึงแพร่หลาย กว้างขวางขึ้น นอกจากน ี้ยังโปรดให้ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่วยกันแต่งบทละคร เรื่องรามเกียรติ์ สำหรับใช้เป็นบทแสดงโขนละคร โดยพระองค์ทรงตรวจตราแก้ไข ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ก็ทรง พระราชนิพนธ์ บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องราวและคำกลอนกระชับขึ้น เหมาะ ในการใช้บทสำหรับแสดงโขนละคร

โขนในยุคต้นรัตนโกสินทร์เจริญรุ่งเรือง เพราะเจ้านายหลายองค และขุนนางหลายท่าน ให้การสนับสนุน โดยให้มีการหัดโขน อยู่ในสำนักของตน เช่น โขนของกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ (ต้นสกุลกุญชร) โขนของ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) โขนของ พระเจ้าพระยาบดินทร์เดชา และโขนของเจ้าพระนคร (น้อย ) เป็นต้น เมื่อเกิดมีโขนขึ้นหลายโรง หลายคณะ แต่ละโรง แต่ละคณะ ก็คงจะประกวดประชันกัน เป็นเหตุให้ศิลปะการแสดงโขน ในสมัยนั้น เจริญแพร่หลาย เป็นที่นิยมของ ประชาชนทั่วไป โขนของเจ้านายและขุนนางดังกล่าวนี้ เรียกว่า “โขนบรรดาศักดิ์”

ในตอนปลายสมัย รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรง พระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเอาพระทัยใส่ และทรงสนับสนุน การแสดง โขน โดยโปรดให้ฝึกหัดพวกมหาดเล็กแสดงโขน เรียกว่า “โขนสมัครเล่น” ผู้ที่ฝึกหัดโขนคณะนี้ล้วนเป็น โอรสเจ้านาย และลูกขุนนางมหาดเล็ก ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทั้งสิ้น ต่างเข้ามาฝึกหัดโขนโดย สมัครใจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงบทโขน และทรงควบคุมฝึกซ้อม บางครั้ง ก็ทรงแสดง ด้วยพระองค์เอง โขนสมัครเล่นโรงนี้ มีชื่อเสียงว่าแสดงได้ดี และเคยแสดงใน งานสำคัญ ๆ สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ หลายครั้ง

โขนยุคที่ ๒

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว จึงโปรดให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น และปรับปรุงกรมกอง ตลอดจนการบริหารงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการมหรสพ ให้ดีขึ้น ทรงทำนุบำรุงส่งเสริม ศิลปะ และฐานะของศิลปิน ให้เจริญก้าวหน้าถึงขีดสุด ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ แก่ศิลปินโขนผู้มีฝีมือ แม้แต่เจ้าหน้าที่ผู้รักษา เครื่องโขนก็โปรดให้มีบรรดาศักดิ์ด้วย นอกจากนี้ ยังโปรดให้ ตั้งโรงเรียนฝึกหัด ศิลปะการแสดงโขนละคร ดนตรีปี่พาทย์ ขึ้นในกรมมหรสพ เรียกว่า โรงเรียนพรานหลวง โขนยุคที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นยุคที่ เจริญรุ่งเรื่อง ถึงขีดสุดทั้งศิลปะและฐานะของศิลปิน

โขนยุคที่ ๓

โขนยุคที่ ๓ นับเป็น ยุคที่ เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่ระบอบ ประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว โขนก็ตกต่ำ ลงทันที รัชกาลที่ ๗ โปรดให้ ยุบกรมมหรสพ เพราะทรงเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ จำนวนมาก มีการดุนข้าราชการออกจากราชการ รวมทั้งข้าราชการกรมมหรสพด้วย แต่ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้ข้าราชการ กรมมหรสพที่ มีความสามรถรวมกันขึ้น แล้วตั้งเป็นกอง เรียกว่า กองมหรสพ สังกัดกระทรวงวัง มีการฝึกหัดโขน ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โขนหลวง กระทรวงวัง สามารถออกโรงแสดงต้อนรับแขกเมืองในงานสำคัญ ๆ หลายงาน

ครั้นต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ รัฐบาลให้โอนกองมหรสพ ไปขึ้นกับกรมศิลปากร ศิลปินโขน ละคร และดนตรีปี่พายท์ จึงย้ายสังกัดไปขึ้นอยู่กับกรมศิลปากรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนทาง กรมศิลปากรนั้น ได้จัดตั้ง ” โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ” ขึ้น และเปิดทำการสอน มาตั้งแต่ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๗๗ เมื่อรับโอนศิลปิน โขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์ มาจาก กองมหรสพ กระทรวงวัง จึงจัดตั้งกองดุริยางคศิลป และกองโรงเรียนศิลปากรเพิ่มขึ้น กองดุริยางคศิลป มีหน้าที่ เกี่ยวกับงานศิลปะ ของแผนกดุริยางค์ไทย และแผนกดุริยางค์สากล ส่วนกองโรงเรียนศิลปากรมีหน้าที่ ทางด้านโรงเรียน โดยแยกเป็น แผนกช่าง และแผนกนาฏดุริยางค์ โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ของ กรมศิลปากร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ” โรงเรียนศิลปากรแผนกนาฏดุริยางค์” และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสังคีตศิลป” การศึกษาของโรงเรียนนี้ ได้หยุดชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง ระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒

การที่โรงเรียนสังคีตศิลป ต้องหยุดการเรียน การสอนไป ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เพราะว่าตัว โรงเรียนถูกภัย จากระเบิดเสียหาย แล้วต่อมา ก็ถูกยืมไปใช้ใน ราชการอย่างอื่น จึงจำเป็น ต้องหยุด การเรียนการสอน ไปชั่วคราว ศิลปะการแสดงโขน ที่ทรุดโทรมอยู่แล้ว ก็ยิ่งทุรดโทรมหนักขึ้นไปอีก กรมศิลปากรไม่ได้ ฝึกหัดศิลปินโขนเพิ่มขึ้นมาอีกเลย เมื่อมีความจำเป็นจะต้องแสดงโขน ก็ใช้ศิลปิน ที่รับโอน มาจากกระทรวงวัง เป็นผู้แสดง ภายหลังศิลปินเหล่านั้น ก็ถึงแก่กรรมไปบ้าง ลาออกไป ประกอบอาชีพ อื่นบ้าง ศิลปินส่วนหนึ่ง ที่ยังเหลืออยู่ก็อายุมาก ไม่อาจออกแสดงโขนได้ เวลามีการ แสดงโขน จึงมีผู้ที่สามารถ แสดงโขนได้ไม่ถึง ๑๐ คน ไม่สามารถแสดงโขนชุดใหญ่ ๆ ที่มีเสนาพล พร้อมได้ ต้องแสดงชุดสั้น ๆ เช่น ทศกัณฐ์รบกับพระราม ถวายลิง ลงอุโมงค์ ฯลฯ เป็นต้น

ครั้นใกล้ จะสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลได้สั่งให้ กรมศิลปากร แก้ไขปรับปรุง การศึกษาของโรงเรียนสังคีตศิลป เปิดทำการเรียน การสอนอีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ กรมศิลปากร จึงเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนเสียใหม่ว่า “โรงเรียนนาฎศิลป” ต่อมาถึงปัจจุบันก็คือ วิทยาลัยนาฏศิลป นั่นเอง

เมื่อโรงเรียน นาฏศิลป เปิดสอนใหม่ ๆ นั้น มีนักเรียนเก่า ที่เคยเรียนอยู่เดิม กลับมาเรียนเพียง ไม่กี่สิบคน และเป็นนักเรียนหญิง ทั้งสิ้น เมื่อหลักสูตร การเรียน วิชานาฎศิลปโขน กรมศิลปากร จึงเปิดรับเด็กชายเข้ามาเรียนโขน แต่ก็หาเด็กที่สมัครใจมาเรียนยาก จึงรับไว้ได้ไม่กี่คนไม่เพียงพอ ที่จะฝึกหัดแล้วออก แสดงโขนได้ทั้งโรง เดือดร้อนถึงนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีต กรมศิลปากร ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสังคีต มีหน้าที่บังคับบัญชารับผิดชอบ โรงเรียนนาฏศิลปโดยตรง ต้องหา ที่จะรับเด็กชาย เข้ามาฝึกหัดให้มาก ๆ โดยการส่งครูโขนละครออกไป ชักชวน ลูกหลานของพวกที่ ตนรู้จักให้สมัครเข้าเรียนโขน นอกจากนี้ ยังชักชวนเด็กผู้ชายที่มีผู้ปกครอง ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่แถว ๆ ท่าข้างวังหน้า หรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปฝั่งตรงข้าม ซึ่งผู้ปกครอง ของเด็กผู้ชายหลายคน มีอาชีพ แจวเรือรับส่ง ผู้โดยสารข้ามฟาก ให้ส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนในโรงเรียนนาฏศิลป ซึ่งก็ได้ผลดี ตามสมควร เพราะปรากฏว่า มีเด็กผู้ชายสมัครเข้าเรียนกันเกือบร้อยคน

โดยเหตุที่ โรงเรียนนาฏศิลป ต้องการเด็กผู้ชาย เป็นจำนวนมาก มาหัดโขน เพื่อเป็นการฟื้นฟูโขน ให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ดังนั้น โรงเรียนนาฏศิลป จึงมิได้กำหนดวิทยฐานะ ในการรับนักเรียนชาย เข้าฝึกหัดโขน นักเรียนเหล่านี้ จึงมีพื้นความรู้ผิดแผกแตกต่างกันไป นับตั้งแต่ ไม่มีความรู้ทางด้าน หนังสือเลย ไปจนถึงมีความรู้ ระดับมัธยมตอนต้นลงมา โรงเรียนนาฏศิลป จึงต้องกำหนด หลักสูตร วิชาสามัญ ให้นักเรียนที่หัดโขน ได้เรียนควบคู่กันไปด้วย นักเรียนที่ไม่สนใจ การเล่าเรียนหนังสือ ต้องออกไปเสียกลางคัน ก็มีมิใช่น้อย ที่อดทนเรียนโขนไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย จนสำเร็จการศึกษา โรงเรียนนาฏศิลป ปัจจุบันรับราชการ อยู่ในกรมศิลปากรก็มีหลายคน กล่าวได้ว่า โขนกลับฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง ก็เพราะได้มีการฝึกหัด อย่างจริงจังในโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโรงเรียนนาฏศิลป เลื่อนวิทยฐานะ เป็นวิทยาลัยนาฏศิลป ก็ยังมี การฝึกหัดโขนกันอย่างต่อเนื่อง

ขอย้อนกลับไป เล่าถึงเมื่อ ตอนที่โรงเรียนนาฏศิลป เปิดรับเด็กผู้ชายฝึกหัดโขน เป็นครั้งแรกมีนักเรียน มาสมัครเรียน กันไม่มาก แต่ต่อเมื่อทางโรงเรียน พิจารณาคัดเลือกนักเรียน ที่เรียนดี และให้ได้รับ เบี้ยเลี้ยง ประจำเดือนๆ ละ ๖ บาท ต่อคน และบรรจุเข้าเป็นศิลปินสำรอง เพื่อจะได้ รับราชการ ในกรม ศิลปากรต่อไป เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทำให้มีเด็กผู้ชายสมัครเข้ามาเรียนโขน กันมากขึ้น และต่อมา เบี้ยเลี้ยง ของศิลปินสำรอง ก็เพิ่มขึ้นเป็น ๑๕ บาท เบี้ยเลี้ยงศิลปินสำรองนี้ เพิ่งมายกเลิก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื่องจาก นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร สามารถขอให้ ทางราชการ บรรจุ นักเรียนนาฎศิลป ที่สำเร็จการศึกษาตามระดับชั้น เข้าเป็น ข้าราชการ ในกรมศิลปากร และเรียนหนังสือ ไปด้วยพร้อมๆ กัน เช่น นักเรียนที่เรียนสำเร็จชั้นต้นปีที่ ๖ สามารถรับราชการ เป็นศิลปินจัตวา อันดับ ๑ นักเรียนที่เรียนสำเร็จชั้นกลางปีที่ ๓ สามารถรับราชการเข้าเป็นศิลปินจัตวาอันดับ ๒ และนักเรียนที่เรียน สำเร็จสู่ชั้นปีที่ ๒ สามารถรับราชการเป็นศิลปินตรี

เมื่อนักเรียน โรงเรียนชายนาฏศิลป ฝึกหัดโขน ในสมัยเปิดโรงเรียนนาฏศิลปใหม่ ๆ จนมีความรู้ ความสามารถออกโรงแสดงโขนได้ กรมศิลปากร จึงจัดโขนของโรงเรียนนาฏศิลป แสดงในงานต่าง ๆ เช่น งานรับรองพระราชอาคันตุกะ งานต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนงาน ของทางราชการและงาน ของเอกชนทั่วไป

ต่อมากรมศิลปากร ได้จัดโขนเป็นชุดๆ นำออกแสดง ณ โรงละครศิลปากร (ไฟไหม้แล้ว) เป็นประจำ ในฤดูแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อกรมศิลปากร นำโขนออกแสดงแรก ๆ ก็ได้รับอุปสรรค จากเยาวชนในสมัยนั้น ที่กำลังรุมหลงศิลปวัฒนธรรมทางตะวันตก จนดูหมิ่นการแสดง โขนของไทย หาว่าเป็นเรื่องเหลวไหลล้าสมัย ไม่สมควรจะนำมาแสดงกันอีก เรื่องนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งในสมัยที่ ท่านฟื้นฟูการแสดงโขนนั้น ดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ท่านเขียนเล่าไว้ในเรื่อง “เมื่อโขนคืนชีพศิลปินมลาย” ตีพิมพ์ในหนังสือ บทโขน ซึ่งกรม ศิลปากรจัดพิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ จมื่นสมุหพิมาน หรือ หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ) ความตอนหนึ่งมีว่า

“ในฤดูกาลจัดแสดงนั้น เมื่อจัดแสดงโขนชุดใด เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ก็ให้ช่างทำป้ายโฆษณา แล้วยกขึ้นติดตั้ง ณ ริมรั้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตรงหน้าโรงละครศิลปากร เป็นการประกาศ โฆษณาให ้ประชาชนได้ทราบ แต่มีอยู่วันหนึ่ง ในราว ๑๐.๐๐ น. ขณะที่ข้าพเจ้า ยืนดูช่างและคนงาน กำลัง ช่วยกันยก ป้ายแผ่นใหญ่ โฆษณาโขน ชุดนาคบาศ ขึ้นติดตั้ง ก็มีเยาวชน ในสมัยนั้น กลุ่มหนึ่ง เดินผ่านมา แล้วส่งเสียงอันดังเข้าหูข้าพเจ้าว่า “เอ๊ ยังมาเล่นโขนบ้าบออะไรกันอยู่อีกก็ไม่รู้ ถอยหลัง เข้าคลองแท้ ๆ ควรจะเอาไปฝั่ง หรือทิ้งน้ำกันเสียที” แล้วเขาก็หัวเราะกัน ทั้งนี้ แสดงถึงฐานะ ทาง จิตใจของเยาวชนไทย บางจำพวก ในสมัยนั้นที่มีต่อศิลปะประเภทนี้”

ถึงแม้ว่า จะได้รับการดูถูกเหยียดหยาม และไม่ให้การสนับสนุน การแสดงโขน ของกรมศิลปากร จาก เยาวชนบางจำพวก หรือจากคนไทย ที่หลงผิดหันไปสนใจใฝ่นิยม ศิลปะของชนชาติอื่น ในสมัยนั้น แต่ คนไทย ที่ยังรักศิลปะไทย รักโขนก็ยังมีอยู่อีกมิใช่น้อย โขนของไทย จึงฝ่าพ้นอุปสรรคทั้งปวงไปด้วยดี แสดงเมื่อใด ก็มีผู้สนใจเข้าชม กันอย่างเนื่องแน่น ปัจจุบันนี้ โขนเป็นนาฏศิลป์ คู่ชาติไทยที่ได้รับความ สนใจ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ นอกจากเรา จะแสดงโขนให้คนไทย และชาวต่างชาติ ชมในเมืองไทย แล้ว เรายังนำโขน ไปแสดงในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ชาวโลกได้ชมโขนของไทยกันอีกด้วย

การแสดงโขนของเรา ในทุกวันนี้ ก็วิวัฒนาการ ให้เหมาะกับ สมัยที่ผู้ชม ต้องการชมเรื่องอย่างรวดเร็ว ทันใจ ดังนั้น จึงมีการปรับปรุง บทสำหรับแสดงโขน ให้รัดกุมตัดทอน เรื่องให้ดำเนินไป อย่างรวดเร็ว ไม่อืดอาด ล่าช้าอย่างสมัยก่อน แต่การปรับปรุง ก็มิได้ทำให้เสียศิลปะแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ชมโขน ยังจะได้ความรู้ เกี่ยวกับ ตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์เป็นตัว ๆ ไปอีกด้วย โดยการนำเอา เรื่องราวของ ตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ในเรื่องรามเกียรติ์ มาจัดทำเป็นบทโขน ว่าด้วยเรื่องของตัวนั้น ๆ โดยเฉพาะเช่น แสดงประวัติชีวิต ของพาลีในชุดพาลีสอนน้อง แสดงประวัติชีวิต ของหนุมานในชุด หนุมานชาญสมร แสดงประวัติชีวิต ของพิเภกในชุดมารซื่อชื่อพิเภก ฯลฯ เป็นต้น จากการแสดงโขนชุดดังกล่าว มีผู้สนใจ เข้าชมกันมากมาย เพราะผู้ชมได้รับ ทั้งความบันเทิงและ ความรู้ควบคู่กันไปด้วย

ทุกวันนี้ นอกจากจะมีโขน ของกรมศิลปากรแล้ว ยังมีโขนของ คณะเอกชน อีกหลายคณะ ที่รับจัดแสดง ตามงานทั่วไป และโขนของสถาบันการศึกษา อีกมากมายหลายสถาบัน ซึ่งมีผู้แสดงนับ ตั้งแต่นักเรียน ระดับชั้นประถม ไปจนถึงนักศึกษาระดับปริญญา

ที่มา : สำนักการสังคีต

 

You may also like...