สินีนาฎ เกษประไพ พระจันทร์เสี้ยวการละคร

ความเป็นมาของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ประวัติของพระจันทร์เสี้ยวการละครต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นประมาณปี พ.ศ.2512 ตอนนั้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกลุ่มคนหนุ่มที่สนใจเรื่องงานวรรณกรรม รักในการอ่านหนังสือ และรวมกลุ่มกันพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรม มีการเขียนเรื่องสั้น และบทละคร โดยรวมตัวกันหลวมๆ ในชื่อของชมรมพระจันทร์เสี้ยว 

 

หนึ่งในนั้นก็มีครูคำรณ คุณะดิลก รวมอยู่ด้วย มีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี, คุณวิทยากร เชียงกูร ซึ่ง มีบทละครประมาณ 4 – 5 เรื่อง หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำละครร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “อวสานเซลล์แมน” โดยมีครูคำรณ เล่นเป็นตัวเอก ทางพระจันทร์เสี้ยวก็มีโอกาสได้ร่วมทำฉาก แสง สี เสียงด้วย นอกเหนือจากเป็นนักแสดง

 

ครูคำรณนั้นมีความสนใจเรื่องละครอยู่แล้วตั้งแต่ต้น พอครูเรียนจบก็ไปเป็นอาจารย์ที่เชียงใหม่ ชักชวนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปสังเกตการณ์ และใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน จากนั้นก็เริ่มทำละครซีรี่ย์ชนบท เรื่อง ชนบทหมายเลข 1,2,3 ซึ่งเป็นละครที่เรียกว่า Poor Theatre คือละครเวทีที่ไม่เน้นฉาก แสง สีเสียง แสดงที่ไหนก็ได้ นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาชาวนาผู้ยากไร้ เริ่มเล่นที่เชียงใหม่ก่อน แล้วก็กลับมาเล่นที่กรุงเทพ เป็นจุดเริ่มต้นทำให้นักศึกษาเริ่มมีความสนใจ และเริ่มมองเห็นปัญหารอบตัว

 

หลังจากนั้นครูก็เริ่มทำ Work Shopให้กับนักศึกษาหลายๆสถาบัน เริ่มมีความสนใจมากขึ้นๆ จึงรวมตัวกันแล้วก่อตั้งเป็นพระจันทร์เสี้ยวการละคร ในปี 2518 หลังจากนั้นก็มีละครหลายเรื่อง แต่ช่วงปี             2518 -2519       ก็จะหยุดทำไปเนื่องจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง

พระจันทร์เสี้ยวกลับมาในรุ่นที่สอง ตอนปลายปี 2529 เมื่อครูคำรณกลับมาจากฝรั่งเศส แล้วก็เขียนบทละครเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็ตระเวนแสดงมาปีกว่าๆ แล้วก็หยุดไป ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง ในปลายปี 2528 คือในช่วงที่หายไปก็จะมีคนอยู่ จะไปปรากฏตัวทำงานละครร่วมกับกลุ่มอื่นๆ อย่างครูก็จะสอนละคร แล้วก็ไปร่วมทำงานละครไปเป็นนักแสดงให้กลุ่มละคร 28 ซึ่งมันก็จะเป็นแบบชั่วคราว

 

ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี 2538 ตัวนาดเองเมื่อเรียนจบก็สนใจงานละครและอยากทำงานละครต่อก็เข้ามาช่วยงานละครกับคณะละคร 28 ทำให้ได้พบกับครูคำรณ ซึ่งตอนนั้นครูมาช่วยทำแล้วก็ร่วมแสดงละครเรื่อง แรด ของคณะละคร 28 ซึ่งครูก็บอกว่ามีโครงการที่จะจัดตั้งคณะละครถาวรร่วมกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ก็สนใจ แล้วก็เข้ามารวมกลุ่ม ถือเป็นสมาชิกลุ่ยที่สาม แล้วก็อยู่จนมาถึงทุกวันนี้

 

แต่สมาชิกช่วงนั้นก็จะมีสับเปลี่ยนเวียนเข้าเวียนออก บางคนก็จะมีหยุดไปบ้าง ไปทำงานอาชีพบ้าง พอติดต่อกันได้ก็กลับมาอีก

 

พระจันทร์เสี้ยวกับละครแนวสะท้อนสังคม คือส่วนใหญ่ เรามักจะนึกถึงเรื่องของปัญหาสังคม เรื่องที่จะพุดมากที่สุดก็คงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเราถือว่าเราต้องการนำเสนอปัญหาสังคมออกมาให้คนดูได้คิด หลังๆนี้ก็จะมีประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงอยู่ด้วย

 

เสียงสะท้อนของผู้ชม คือส่วนใหญ่เลยจะพูดตรงกันว่า เนื้อหาแรง (หัวเราะ) เนื้อหาเราค่อนข้างเข้ม เพราะว่าเป็นละครที่หนักคือเราจะสร้างละครที่ไม่ใช่มีไว้เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่ดูแล้วต้องคิดตาม วิเคราะห์ แล้วก็ตั้งคำถาม คนดูบางกลุ่มก็ชอบเนื้อหาหนักๆ แต่บางกลุ่มที่ชอบความบันเทิงก็จะบอกว่าเนื้อหามันหนักไป ก็มีทั้งสองส่วน แต่เราก็ถือว่า เออ…เราก็ยังมีแฟนส่วนหนึ่งล่ะ (หัวเราะ)

 

พัฒนาการของละครในเมืองไทย จากประสบการณ์ที่ทำงานละครมาเกือบ 10 ปี เห็นได้เลยว่ามันมีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณปี             2538-2539       ซึ่งสำหรับงานละครถือว่าได้รับการตอบรับ และมีผู้สนใจผลิตงานละครออกมาหลายรูปแบบ ช่วงนั้นก็มีเทสกาลละครที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ตอนนั้นก็รู้สึกได้ว่าแวดวงละครมีความเคลื่อนไหวมาก

 

การจัดเทศกาลละครขึ้นมานั้น ทำให้ละครเวทีออกนอกมหาวิทยาลัย ทั้งๆที่โดยปกติละครเวทีจะอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่พอหลังจากนั้นมันก็กลับซบเซาลงไปอีก เช่น ช่วงปี 2540 ปัญหาทางเศรษฐกิจของช่วงนั้นส่งผลต่องานละครเหมือนกัน อย่างพระจันทร์เสี้ยวการละครตอนนั้นก็ทำโครงการคณะละครถาวรได้ปีกว่าๆ ผลิตละครออกมา 4 เรื่อง แต่เรื่องหนึ่งเล่นอยู่ได้ประมาณ 30 รอบ ซึ่งมันน้อย ก่อนหน้านั้นเรื่องหนึ่งเล่นเป็นร้อย แต่พอหลังปี 2540

 

เศรษฐกิจที่ตกมันมีผลต่องานอย่างมาก ทั้งต่อคนสร้างงานหรือคนสนับสนุน งานละครมันมักเป็นอย่างนี้ คือคนที่ทำก็มักทำด้วยใจรัก แล้วก็พยายามทำ มันจึงขึ้นมาแบบวูบวาบ

 

แต่รู้สึกว่าตอนนี้ละครกลับมาเป็นที่รู้จัก เป็นที่กล่าวถึงกันอีกครั้ง เพราะงานเทศกาลละครกรุงเทพ ซึ่งเรามีส่วนร่วมตั้งแต่ปีแรกๆ แล้วก็มีส่วนร่วมในการจัดงานด้วย ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าละครไม่ได้อยู่ในโรงละครเท่านั้น ละครไม่ได้อยู่ในรั้วสถาบันเท่านั้น ละครสามารถเล่นในที่อื่นๆได้หลายที่ ละครสามารถไปหาคนดูได้ ทำให้คนทั่วไปเห็นละครได้ง่ายขึ้น แล้วรูสึกว่าละครไม่ใช่เรื่องยากที่จะดู ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปฏิสัมพันธ์ รู้สึกว่าเสียงตอบรับมันมากขึ้นๆ

รวมทั้งทำให้เวลาที่เราทำโปรดักชั่น ขายบัตรในโรงละครแล้วมีคนเข้ามาดูมากขึ้น แต่มันก็เริ่มมีความแตกต่าง กลุ่มละครที่เข้าร่วมในงานเทศกาลละครเคยมีเยอะมาก ประมาณ 40-50 กลุ่ม อันนี้เรารวมทั้งกลุ่มละครที่ทำงานต่อเนื่องมามากกว่า 5 ปี หรือกลุ่มละครใหม่ที่เปิดมาประมาณ 2-3 ปี รวมถึงกลุ่มละครของน้องๆนักศึกษาที่เพิ่งจบแล้วเข้ามารวมกลุ่มใหม่ และกลุ่มละครในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งในปีนี้ลดลง ปีที่แล้วประมาณ 40 กลุ่ม ปีนี้เหลือประมาณ 30 กลุ่ม คิดว่าเป็นเพราะเรื่องของเศรษฐกิจ ดีมานมันจึงลดลง

 

แต่ก็เท่ากับว่าสถานการณ์มันคัดกรองให้คนที่ตั้งใจจริง ต้องการพิสูจน์ตัวเอง และต้องการทำ มันอยู่เหมือนเดิม คือ 30 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เคยผลิตงานในเทศกาลละครร่วมกับเรามา แต่ว่าในปีก่อนๆจะมีกลุ่มละครหน้าใหม่เข้ามา กลุ่มที่อยู่นี้ก็จะพยายามสร้างงานที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น มีเนื้อหาสาระที่เข้มข้น แล้วก็ให้ความสำคัญกับงานโปรดักชั่นมากขึ้น นาดได้เข้าร่วมงานเทศกาลละครสั้น ซึ่งเป็นเทศกาลละคร ที่รวบรวมละครสั้น 5 เรื่องมาเล่นที่ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งผู้ทำละครทั้ง 5 เรื่องนั้นเคยสร้างผลงานในเทศกาลละครมาแล้วทั้งนั้น แต่เขาหันมาลงลึกในรายละเอียดมากกว่าเดิม

 

ความเปลี่ยนแปลงของผู้ดูและผู้แสดง กลุ่มมันเปลี่ยน คือมันไม่หยุดนิ่ง เมื่อก่อนเราเชื่อว่าคนดูส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เราพยายามติดต่อเข้าไปในสถาบันการศึกษา ที่เราสำรวจผู้เข้าชมในแต่ละครั้งเดี๋ยวนี้ มีนักศึกษาน้อยลง แต่เราได้คนดูในกลุ่มทั่วไปเยอะขึ้น โดยเฉพาะคนดูในกลุ่มอายุ 30-50 จะเยอะมากๆ

 

ละครเวทีถือเป็นรูปแบบการแสดงแบบตะวันตก การแสดงไทยเช่น ละครร้องหรือโขนเป็นการแสดงที่ฝังรากอยู่ในวิถีชีวิตคนไทย คนดูได้ทุกกลุ่มอายุ แต่ละครเวทีมีจุดเริ่มต้นจากตะวันตก แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผสมผสานให้เข้ากับความเป็นไทยมากขึ้น แต่รูปแบบอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับกลุ่มคนดูทั่วไปนัก

 

อีกอย่างหนึ่ง ละครเวทีเป็นเรื่องของนักศึกษา อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย คนที่รู้จักคุ้นเคยจึงเป็นนักศึกษา คนทั่วไปจึงมักนึกว่าละครมันเป็นของนักศึกษา ไม่ใช่ของคนดูทั่วไป แต่เราก็รู้สึกว่าเทศกาลละครทำให้คนดูหลากหลายมากขึ้น เปิดโลกละครสู่ผู้คน

 

เสน่ห์ของละครเวที มันไม่ต้องผ่านจอ(หัวเราะ) คือความสด นึกย้อนกลับไปว่าทำไมตัวเองถึงสนใจกาทำละคร ก็คือหลังจากที่มีโอกาสได้ลงเรียนละครได้เพียงวิชาเดียวเท่านั้นเอง พอจบวิชานั้นก็ทำละครตลอดเลย เพราะมีความรู้สึกว่าครั้งหนึ่งตอนปีสี่ พี่มีโอกาสได้กำกับละครเอง แล้วพอเสร็จแทนที่จะมีความสุข ก็รู้สึกว่าชีวิตมันขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่ง มันอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ตัดสินใจเลยว่าต้องทำละครให้ได้ ซึ่งตอนนั้นยังมองไม่เห็นทิศทางเลยว่าจะอยู่ได้อย่างไร(หัวเราะ) ถ้าย้อนกลับไปสัก 10 ปีมันอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว

 

มันมีความสด คนทำสนุกตรงที่มันได้สื่อสาร ไม่ใช่แค่พูดตรงๆกับใครแค่คนเดียว แต่เราได้สือสารกับคนมากมาย ด้วยภาษา ด้วยท่าทาง ด้วยอารมณ์ มันมีพลังงาน มีแรงที่อยู่ต่อหน้าต่อตาให้ได้เห็น ไม่เหมือนหนังหรือว่าละครที่ผ่านจอ มีการโคลสอัพ และมีการวางแผนแก้ไขได้ แต่ละครเวทีมันมีระยะ ที่เมื่อเขาส่งสารแล้ว เราจะได้คิด มันไม่จำกัด สามารถเปิดโอกาสให้คนดูได้คิดแล้วมองพร้อมกัน แม้จะมีการกระทำในเวลาเดียวกันตรงนี้ตรงนั้น แต่เราก็สามารถคิดร่วมได้อย่างไม่จำกัด ไม่ตามแค่คนนั้นคนเดียว เราก็รู้สึกว่า มันแปลก ดึงดูด และมีพลังบางอย่าง

 

ละครที่ดี เป็นเรื่องยากมากที่เราจะสร้างละครสักเรื่องหนึ่งให้ได้รับการยอมรับจากทุกคน และก็ไม่เรื่อง่ายกับการที่ใครสักคนจะชี้ได้ว่าละครเรื่องไหน ดีกว่าเรื่องไหน มันมีองค์ประกอบหลายประการ เนื้อหาที่เราจะพุดถึงมันต้องชัดเจน ลักษณะการนำเสนอหรือว่าบทมันก็ต้องชัดเจนว่าเราจะให้อะไรกับคนดู และท้ายที่สุดแล้วคนดูได้รับตามนั้นหรือไม่

 

นักแสดงก็ต้องทุ่มเท เต็มที่ เล่นออกมาได้ดี คุณต้องตีความบทของคุณให้ได้ บางครั้งเราก็ต้องทำความเข้าใจว่า เราควรแสดงผ่านบทหรือแสดงผ่านตัวเรา ตีความความคิดอ่านของตัวละครนั้นๆให้ได้ แล้วส่งผ่านออกมาให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราเข้าใจ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโปรดักชั่นใหญ่ ต้องลงทุนเรื่องของการสร้างสรรค์เรื่องของแสง สี เสียง เพียงแค่เราตั้งใจสร้าง พยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดออกมาให้คนดูได้เห็น

 

นอกจากนี้ ละครเวทีอยู่ได้ด้วยนักแสดงและการฝึกซ้อมเป็นหลัก ต้องทุ่มเทในจุดนั้นมากๆ จะไม่เหมือนกับละครทีวีหรือหนังที่ซ้อมนิดๆหน่อยๆแล้วมาถ่าย ไม่ดีก็ถ่ายซ่อมได้ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นโปรเจคในการซ้อมในการสร้างงานมันต้องใช้เวลา ต้องทุมเทในจุดนี้เป็นอย่างมาก

 

คนทำละคร จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ปัญหาคือคนทั่วไปมักไม่ทราบว่าจะหาช่องทางอย่างไร ตัวนาดเองก็ไม่ได้เรียนจบมาด้านละครโดยตรง เรียนมาแค่วิชาเดียว มีน้องๆหลายคนที่มาทำละครแต่ไม่ใช่เด็กละครมาแต่เดิม ต้องรู้ว่าตัวเองชอบและรัก ใช้เวลา ทุ่มเทฝึกฝน ละครของพระจันทร์เสี้ยวจะบอกอยู่เสมอว่าละครคือการฝึกฝน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปร่างหน้าตา หัวใจมันอยู่ที่การฝึกเพื่อจะรับบทบาท ฝึกการแสดง ร่างกายของนักแสดงมันเหมือนเครื่องมือ หรือเครื่องดนตรี ที่เราจะต้องฝึกฝน ใช้ทักษะทางร่างกายของเรา ให้เป็นพาหะ เป็นสื่อในการนำเสนอบทบาท รองรับจินตนาการ

 

เมื่อเราฝึกไปได้ระดับหนึ่ง เราสามารถที่จะรับบทบาทได้หลากหลาย เป็นคนก็ได้ มีคาเรกเตอร์ของตัวละครหลากหลาย รวมทั้งเป็นนามธรรมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอย่างเดียว

 

โครงการละครยายหุ่น โครงการละครหุ่น เป็นผลงานส่วนหนึ่งของพระจันทร์เสี้ยว เป็นการทำงานร่วมกันของพระจันทร์เสี้ยวกับมูลนิธิภาวนา ซึ่งเป็นมูลนิธิของครูองุ่น มาลิก ผู้ที่เคยทำงานให้สังคมในสมัยที่มีชีวิตอยู่ เคยทำงานด้านพระพุทธศาสนาแล้วก็โครงการสำหรับเด็กและเยาวชน

ครูองุ่นคือผู้ที่บริจาคที่ดินในการจัดสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ แล้วบ้านของครูก็อยู่ติดกัน ก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน พระจันทร์เสี้ยวเมื่อได้รับการแนะนำให้มาอยู่ที่นี่ก็มีส่วนร่วมในการจัดงานรำลึกครูองุ่น ก็ทราบซึ่งถึงประวัติชีวิต ประทับใจ แล้วก็เห็นหุ่นมือที่ครูทำ แล้วตอนนั้นน้องๆที่อยู่ที่นี่แล้วก็อาสาสมัครเขาก็อยากทำหุ่นมือ เอาไปเล่นให้เด็กๆได้ดู ก็คิดกันเล็กๆว่า เราจะสร้างโครงการหุ่นมือเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนขึ้นมา โดยเริ่มด้วยการทำหุ่นมือ ฝึกทักษะให้กับสมาชิกทั้งหมด ก็คือหัดเย็บหุ่นมือ หัดเชิด สร้างเรื่อง แล้วก็ทำละครขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ก็ออกตระเวนแสดง ในปี 2544 ก็เริ่มโครงการคณะละครยายหุ่น เหมือนกับการต่อยอดจากงานละครเวที คืองานละครเวทีผู้ชมเป็นผู้ใหญ่ เรื่องเป็นของผู้ใหญ่ เราไม่ค่อยมีละครสำหรับเด็ก เราก็เลยใช้หุ่นมาขยายฐานเป็นละครสำหรับเด็ก

 

ที่ผ่านมาเราก็มีละครสำหรับเด็ก 19 เรื่อง มีตั้งแต่ความยาว 7 นาที 10 นาที ถึง 20 นาที โครงการที่ใหญ่ที่สุดที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้ว คือโครงการละครหุ่นเสรีไทยเพื่อสันติภาพ ให้กับเด็กประมาณ 10 โรงเรียนแถวบึงกุ่ม ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพิ่มเปิดอนุสรณ์สถานเสรีไทย เราก็เล่นเรื่องราวของเสรีไทย และเรื่องราวของสันติภาพให้เด็กๆได้รู้จัก ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่มาก รวมๆแล้วมีผู้ชมประมาณเกือบ 5,000 คน

 

เด็กๆเป็นผู้ชมที่ซื่อตรงมาก ชอบก็คือชอบ ไม่ชอบก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เด็กกับหุ่นสามารถสื่อสารกันได้ง่ายมาก เพราะว่าหุ่นมันมีสีสัน มีลักษณะเป็นตุ๊กตา เด็กๆก็จะชอบมาก แล้วเราก็ใช้ดนตรีด้วย เด็กๆก็จะชอบกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าเวลาเราทำโปรดักชั่น เราก็ต้องดูว่าเด็กอายุเท่าไร ถ้าเราเล่นให้เด็กอนุบาลดู ส่วนใหญ่ตัวละครก็จะเป็นตัวสัตว์ สีสันเยอะ

 

อย่างละครหุ่นเสรีไทย เด็กก็จะเป็นเด็กประถม ป. 1, ป. 2 ไปจนถึง ป.4 เราก็สามารถสร้างเรื่องที่มันซับซ้อนมากขึ้นได้ สามารถใช้ตัวละครที่เป็นทั้งสัตว์และคนผสมกันได้ อันนี้ก็ต้องานั่งคุยกัน ทดลองเขียนบท ทดลองนั่งทำดู หลายขั้นตอนมาก

ก่อนที่จะถึงตรงนั้น เราก็ทำและเล่นมาหลายที่ จนพอจะจับทางได้ว่าเด็กๆชอบอะไร แล้วเด็กขนาดไหนรับสาร รับเรื่องราวได้มากน้อยขนาดไหน มีครั้งหนึ่งที่โครงการละครหุ่นของเราทำละครหุ่นเกี่ยวกับป่าชุมชนให้ผู้ใหญ่ดู เราก็ต้องมานั่งคิดว่าเราควรจะทำโปรดักชั่นอย่างไรให้ผู้ใหญ่ดูได้ เราก็คิดสร้างหุ่นให้ตัวใหญ่ขึ้น แล้วก็เชิดโชว์คนเชิดด้วย มีต้นไม้ มียักษ์ ที่ใหญ่มากจนต้องใช้สามคนเชิด เนื้อเรื่องซับซ้อน เพื่อดึงความสนใจของผู้ใหญ่

 

แนวทางของเนื้อเรื่องที่พระจันทร์เสี้ยวหยิบขึ้นมาพูดเสมอๆส่วนใหญ่เกี่ยวกับเนื้อหาทางสังคม ในแง่ของคนทำ แง่ของผู้กำกับก็ต้องมีความสนใจในเนื้อหาของปัญหาค่อนข้างมาก จนถึงกับสามารถสร้างเรื่องและคลุกคลีอยู่กับเรื่องนั้นจนสามารถนำมาเสนอได้ ดังนั้นคนทำก็ต้องมีแรงขับพอ มีความสนใจพอในเรื่องนั้นๆ เราสามารถหาแรงบันดาลใจได้จากความสนใจ

 

นาดจะทำงานออกมาในสองลักษณะ คือการเลือกบทบางบทออกมาแปลแล้วก็นำมาแสดง อันนี้ก็คืองานตีความ กับอีกอันหนึ่งคือ งานที่สร้างขึ้นมาใหม่จากความสนใจ จากความคิดความเห็นของเรา นาดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง ไม่ว่าละครที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิง เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหา หรือสถานภาพของผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ติดตัวเรามาแล้วก็นำมาวิเคราะห์หรือตีความ แต่ถ้าเป็นงานสำหรับเด็ก เราต้องมองที่เด็กก่อน มองว่าหากต้องเล่นให้เด็กเล็กๆดู เด็กเล็กกำลังต้องการอะไร เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ กำลังเริ่มต้นเข้าสังคม เราก็ต้องสร้างเนื้อหาที่สนุกสนาน สำคัญที่สุดคือเด็กๆต้องการความบันเทิงเป็นอย่างแรก

 

ละครกับสังคม มันต้องสอดรับกัน เพราะละครไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง แต่ละครคือการสื่อสาร ให้คนกลุ่มหนึ่งได้ติดต่อกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง บางครั้งเราถ่ายทอดเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่ง ที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่รู้เลย ให้กับสังคมได้รับรู้ ในขณะเดียวกันเมื่อเราได้รับรู้เรื่องราวจากข่าว จากเหตุการณ์ประจำวันที่มันเข้ามากระทบเรา เราก็อยากจะนำเสนอเรื่องราวนั้น ย่อให้เขาได้รับรู้ มันก็เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในข่าว แต่ละครก็ทำให้เห็น ชีวิตของคน ของตัวละคร ซึ่งมันกรทบกับใจได้มากกว่า

 

ในระยะหลังๆสังคมหรือแม้กระทั่งสื่อให้ความสำคัญกับละครเวทีมากขึ้น อย่างไรก็ตามละครเวทีไม่ค่อยมีช่องทางที่จะติดต่อสื่อสารกับผู้คน เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน ส่งข่าวไปที่ไหน มีน้อยมากที่จะลงให้ แต่ระยะนี้ ได้รับความสนใจมาก หนังสือหลายฉบับมีหน้าวัฒนธรรม และกิจกรรมเยอะขึ้น

 

วัฒนธรรมการชมละคร อันที่จริงการสอนทำละครก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถขยายฐานคนดูได้ เปิดโลกทัศน์ มุมมอง เมื่อเราเปิดเวิร์คชอปละคร ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างหรือเพื่อให้เกิดนักแสดงขึ้นมาอย่างเดียว แต่เราอยากให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาสัมผัสวิธีการสร้างงานละคร วิธีกามองละคร เพราะละครแต่ละเรื่องจะมีเรื่องของสไตล์ด้วย มีเรื่องของวิธีการเล่น ซึ่งถ้าผู้ชมได้รู้มากขึ้น มันก็จะเปิกโลกทัศน์ เปิดมุมมองในการเสพงานได้กว้างขึ้น

 

คือเมื่อจะต้องดูละครสักเรื่องหนึ่ง อย่าคาดหวังอะไรกับมันมากก่อนที่จะดู บางครั้งเวลามันมีความคาดหวังอะไรมา แล้วมันไม่ได้เป็นตามนั้น มันก็จะผิดหวัง ก็ต้องปล่อยๆไป ดูแค่ว่ามันกระทบอะไรเราไหม เมื่อละครจบมันก็ควรจะคิดอะไรต่อไปได้บางอย่าง

 

ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งหยุดเมื่อดูละครเพียงเรื่องหรือสองเรื่อง เพราะละครแต่ละเรื่องมันไม่เหมือนกัน มันมีแนวคิดและวิธีการนำเสนอที่ต่างกัน นักแสดงหรือผู้กำกับแต่ละคนก็มองเรื่องราวแต่ละอย่างในแบบที่แตกต่างกันออกไป ตอนนี้มัยมีพื้นที่ที่มีละครเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นละครแบบเก็บบัตรอย่างเดียว ก็สามารถดูละครเหล่านั้นเพื่อเป็นการฝึกฝน

 

บางคนบอกบัตรละครแพงกว่าหนัง เราก็บอกว่าหนังมันทำได้หลายก๊อปปี้ แต่ว่าละครแต่ละครั้งมันต้องรวบรวมผู้คนมากมายเอาไว้ นักแสดง ผู้กำกับ ช่างไฟ แล้วก็เรื่องของการจัดการ โรงละคร มันเยอะมาก

 

ทำละครต้องอาศัยแรงใจและพลังงานเยอะมากๆ เพราะว่ากลุ่มละครทางเลือกอย่างเราไม่ได้มีงบประมาณมาก ฉะนั้นการแบ่งสรรหน้าที่มันจะไม่เหมือนตะวันตก แบบบรอดเวย์ ที่แบ่งฟากการจัดการ และการผลิต

 

อนาคตละครไทย ตอนนี้มองอนาคตลำบากมาก อันที่จริงเราก็คุยกันอยู่เรื่อยๆว่า เรื่องเศรษฐกิจมันส่งผลกระทบมากเลย โดยเฉพาะเรื่องของทุนสนับสนุน เพราะว่ากลุ่มละครทางเลือกอย่างเรา เรื่องพื้นที่เป็นปัญหาหลักอยู่แล้ว คือโรงละครที่จะเล่นมันต้องเช่า เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในจุดนี้ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง แล้วพอเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เวลาเราหาผู้สนับสนุนมันก็หาได้ยาก หาได้น้อยลง มันทำให้กลุ่มละครผลิตงานได้น้อยลง และสื่อมวลชนสนับสนุนได้น้อยลง แต่อีกทางหนึ่งกลุ่มละครที่มีการผลิตผลงานมายาวนาน 5 – 7 ปีก็ยังคงผลิตผลงานอยู่ ต้องหาวิธีที่จะสร้างงาน แทนที่จะมีละครเวทีเล่นแบบนี้อย่างเดียวเราก็มีละครเพื่อการศึกษาตระเวนแสดงมากขึ้น อย่างปีนี้เราก็เห็นละครหลายเรื่องที่ลงลึกด้านเนื้อหา และทำโปรดักชั่นออกมาได้เนี้ยบ และได้รับเสียงตอบรับที่ดี คนที่จะทำละครได้คือคนที่มีความรักอย่างจริงจัง ฉะนั้นเรื่องของสภาพเศรษฐกิจมันค่อน

 

 

—————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...