พิสูตร ยังเขียวสด

“ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะมีมุมมองใหม่เกิดขึ้น ผมไม่อยากให้เค้ามองประเทศไทยมีแต่พัฒน์พงศ์ พัทยา ผมอยากให้เค้าพูดถึงวัฒนธรรมชั้นสูงบ้าง เราก็พยายามดันขึ้นไป เพราะเวลาผมไปเมืองนอกพอมีคนถามแล้วผมบอกว่าเป็นคนไทยปุ๊บ เค้าก็จะบอกอ้า..พัฒน์พงศ์ พัทยา กู๊ด.. เราก็รู้สึกว่า ทำไมตัวอื่นมีเยอะแยะนะ มีศิลปะมีหลายๆ ตัวที่คุณไม่รู้เรื่อง แล้วอยากนำเสนอในมุมมองใหม่บ้างเมืองไทยจะได้ดูดีขึ้น ” 

 

 

‘ หุ่น ‘ ประดิษฐกรรม ที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยจินตนาการ อาจเรียกได้ว่าหุ่นคือภาพสะท้อนมนุษย์ในอุดมคติก็ไม่ผิดนัก ในยุคแห่งเทคโนโลยีอย่างปัจจุบัน เราจะคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ จักรกลแห่งโลกอนาคตที่สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ในสายงานต่างๆ

 

หากย้อนกลับมาดูหุ่นของไทยในเชิงศิลปวัฒนธรรมแล้ว ความเป็นมาของหุ่นในทางนาฏศิลป์ อยู่คู่สยามประเทศมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ๓๐๐ ปีให้หลัง อาจกล่าวว่าชะตากรรมของหุ่นกำลังจะก้าวไกลไปอีกระดับและจะได้อวดสายตาชาวโลกมากขึ้น ด้วยกลยุทธเชิงรุกจาก พิสูตร ยังเขียวสด ผู้เปรียบเสมือนนายท้ายเรือ บังคับหางเสือเรืออย่างโจหลุยส์เธียเตอร์นำศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กล่องลอยนาวาฝ่าฟันอุปสรรคในโลกเทคโนโลยี จนฝรั่งตาน้ำข้าวอัศจรรย์กับภูมิปัญญาและศิลปะการแสดงของไทยแขนงนี้

 

“ ผมเรียนกับคุณพ่อโดยตรงนะ เริ่มจากโขน เกิดมาจากสายเลือด คนหัดก็คุณพ่อไม่ดีก็ตีเลยครับแนะนำว่าต้องเล่นอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ อย่างนั้น องค์ความรู้การทำหุ่นท่านก็สอนเรา พอมาเล่นสดๆ กัน และจากการดู จากการเดินทางไปเมืองนอก ได้ดูเธียเตอร์ได้เห็นอะไรเยอะแยะไปหมดก็เลยคิดว่าน่าจะทำที่เมืองไทยได้ ก็เลยมาทำที่เมืองไทย ”

 

หากลำดับรุ่นของผู้เชิดหุ่นละครเล็ก ครูสาคร ยังเขียวสด ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หุ่นละครเล็ก) ปี พ.ศ.2539 คือรุ่นที่ ๒ ซึ่งถือกำเนิดและศึกษาวิชาความรู้ทางศิลปวิทยามาในคณะ และเป็นผู้คืนชีพหุ่นละครเล็กของพ่อครูแก ศัพทวนิช บรมครูผู้สร้างและให้กำเนิดการแสดงหุ่นละครเล็ก ถึงปัจจุบันในช่วงการบริหารงานของในเชิงศิลปะบวกธุรกิจได้รุ่นที่ ๓ คือลูกๆ ของครูสาคร โดยปัจจุบันพิสูตร ยังเขียวสด บุตรชายคนกลางในจำนวนทั้งหมด ๙ คน ของครูสาคร ร่วมกับพี่น้องอีก ๘ คน พาหุ่นละครเล็กของไทย ไปอวดสายตาชาวโลกบนเวทีระดับนานาชาติมาแล้วนับไม่ถ้วน

 

มุมมองของพิสูตร โต้โผหนุ่มแห่งโจหลุยส์เธียเตอร์ต่อการแสดงหุ่นเชิดในระดับนานาชาติมองว่า

 

“ น่าจะไปอยู่ระดับโลกได้ ความรู้สึกส่วนตัวผมเชื่อว่าไปได้ เพราะว่าผมเองไปเล่นกับ ๑๖ คณะของโลกมาแล้ว และคิดว่าหุ่นบ้านเรานี่สู้เค้าได้ เพียงแต่ว่าเค้าไม่เห็น และไม่มีโอกาสได้เห็น เราก็เลยพยายามจะทำให้ทั่วโลกยอมรับ แต่เรายังไม่มีในโปรแกรมเลย ไม่เป็นที่ยอมรับ เรายังไม่อยู่ใน ๑๖ คณะของโลก ”

 

“ ทั้งที่ประเทศไทยมีงานดีๆ สู้เค้าได้สบายมาก แต่ที่ไปคราวนั้นไปในฐานะร่วมกับเพื่อนอีกคณะหนึ่ง ไปโชว์เฉยๆ แต่เรามาย้อนคิดดูก็..สู้เค้าได้สบายมาก อ่อนช้อยซะมากกว่า วิธีการเชิดก็มันส์กว่า แล้วทำไมไปยืนอันดับโลกไม่ได้ ก็เลยคิดว่าจะทำเธียเตอร์และก็พาทีมไปยืนตรงนั้นให้ได้ ต้องร่วมกันผลักดันหลายฝ่าย ผมคนเดียวคงไม่ได้ แต่ ณ วันนี้เราใกล้เข้ามาแล้วยูเนสโกยอมรับเราแล้ว เราพยายามประสานงานไปเล่นที่ฝรั่งเศส เพื่อให้ได้อันดับโลกที่นั่น เค้าจะจัดปี ๒๐๐๖ เราก็เสนอตัวเข้าไป เข้าไปเองโดยที่อยากเข้าไปร่วมกับระดับโลก เค้าจะได้เห็นเราบ้าง เราก็จะได้เห็นเค้าเต็มๆ ตา ในที่สุดถ้าเค้ายอมรับเราก็จะขึ้นสู่เวทีโลกอีกทีหนึ่ง ”

 

หุ่นละครเล็กของคนไทยเคยได้รับเชิญไปร่วมเวทีกับหุ่น ‘ ฮูรากุ ‘ ที่ญี่ปุ่น ซึ่งกินเนสต์บุคส์ฯ บันทึกความอัศจรรย์ไว้เพียงคณะเดียวในโลก ตอนนี้ฮูรากุไม่ได้มีคณะเดียวในโลกแล้ว ก็มีประเทศไทยอีกประเทศหนึ่งที่ทำได้ดี ฝีมือพอฟัดพอเหวี่ยงกับระดับโลก เป็นความภาคภูมิใจของผู้บริหารหนุ่มแห่งโจหลุยส์เธียเตอร์

 

ในความเป็นทายาทย่อมมีความเหมือนและความต่างอยู่ในตัว หากแต่ภาพที่สะท้อยออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้พิสูตร ยังเขียวสด เป็นเสมือนหนึ่งลูกไม้ที่หล่นใต้ต้น เติบโตใต้ร่มเงาและแข็งแกร่งขึ้นมาสืบทอดเส้นทางสายศิลปะที่อยู่ในสายเลือดของตนและเป็นวิถีแห่งครอบครัว

 

“ ความเหมือนที่เหมือนกับคุณพ่อก็น่าจะเรื่องอุดมการณ์ คุณพ่อเป็นคนแน่วแน่ในเรื่องศิลปะเรื่องการแสดง เราก็จะแน่วแน่เหมือนคุณพ่อ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นไม่ยอมแพ้สู้ตลอด แม้ว่าเมื่อตอนไฟไหม้บ้านหุ่นไหม้หมด คุณพ่อบอกว่าร้องไห้มันก็ไม่ทำให้หุ่นขึ้นมาหรอกมันต้องลุกขึ้นมาทำ นั่นแหละทุกคนลุกขึ้นมาทำ คุณพ่อไม่ไร้องไห้ แต่ว่าคุณพ่อเสียดายเสียความรู้สึก ”

 

ในเวลาอันใกล้นี้ หุ่นละครเล็กกำลังจะได้อวดสายตาคนไปทั่วทั้งโลก ด้วยการเริ่มต้นจากความเอื้อเฟื้อของการบินไทย เปิดโอกาสให้ฉายวีดีทัศน์ประชาสัมพันธ์การแสดง(เชิด)หุ่นละครเล็ก บนเครื่องบินทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งได้รับความกรุณาจากสายการบินอื่นๆ ในการบรรจุเป็นโปรแกรมหนึ่งสำหรับผู้โดยสารขณะเดินทาง ซึ่งจะเป็นการเปิดหุ่นละครเล็กให้คนนับล้านได้รู้จักถึงเสน่ห์และสมบัติอันล้ำค่าของไทย

 

‘ พ่อเป็นผู้ฟื้นคืนชีพหุ่นละครเล็ก ลูกเป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์ ‘ หากจะเปรียบเทียบถึงการฟันฝ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่หวังไว้ ไม่มีสูตรสำเร็จเสมอไป ที่จะถ่ายทอดให้แก่กัน หากแต่ประสบการณ์ กำลังใจ และความสมัครสมานสามัคคี คือสิ่งที่จะพาหุ่นละครเล็กของไทย ก้าวไกลไปสู่ระดับโลก แม้ว่าจะต้องฝ่าขวากหนาม ผ่านความเจ็บปวดสักเพียงใด และเลือดศิลปินในตัวพิสูตร ยังเขียวสด พี่น้องอีก ๘ คน และลูกศิษย์ลูกหา ในรุ่นที่ ๔ ยังคงพร้อมใจเผชิญปัญหา และสานต่อเจตนารมณ์ของครูสาคร ต่อไป

 

ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กของไทยยังไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นการแสดงในระดับโลก นี่คือสิ่งที่ท้าทายไม่น้อยเลยสำหรับบทบาทกรรมการผู้บริหารบริษัท โจหลุยส์เธียเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากพอๆ กับการที่จะทำให้ศิลปะการแสดงชนิดนี้มีผู้ชมและมีผู้สืบทอดศิลปะการเชิดและสร้างคู่สยามประเทศแห่งนี้ตลอดไปในฐานะทายาทของครูโจหลุยส์ ผู้คืนชีพหุ่นละครเล็ก เป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับลูกไม้ใต้ต้นคนนี้

 

 

————————————————

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...