สื่อแฝงในบรรยากาศ

“เราไม่มีทางหนีโฆษณาพ้น” คำกล่าวนี้อาจเป็นจริงสำหรับชีวิตคนไทยและคนทั่วโลกในปัจจุบัน ในยุคของการทำการตลาดแบบผสมผสาน หรือ IMC : Integrated Marketing Communication ทำให้สื่อโฆษณาอยู่กับเราอย่างใกล้ชิดไปทุกที่ ดังจะเห็นได้จาก สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงบ้านเรือน

และเมื่อเราก้าวออกจากบ้าน เราก็จะพบป้ายโฆษณาตามท้องถนน ซึ่งมีขนาดและรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบป้ายธรรมดา ป้ายแบบไตรวิชั่น (Tri-Vision) จนกระทั่งเป็นจอภาพขนาดใหญ่ที่ฉายภาพเคลื่อนไหวมีสีสันสวยงามสมจริง หรือแม้แต่ตามห้างร้านต่างๆ เช่น ในซุปเปอร์มาร์เกต เราจะพบสื่อ ณ จุดขาย (P.O.P : Point of Purchase) ในรูปแบบต่างๆ เพื่อชักจูง เชิญชวนให้เราเชื่อถือ คล้อยตาม แล้วก็ซื้อสินค้าหรือบริการในที่สุด ที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมการตลาด (Event Marketing) ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างสูงในปัจจุบัน การประชาสัมพันธ์ (Public Relation) การตลาดทางตรง (Direct Marketing) การส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) ฯลฯ

ย้อนกลับไปถึงสื่อโทรทัศน์ หลายคนอาจคิดถึงภาพยนตร์โฆษณา ซึ่งเราเห้นกันอยู่เป็นประจำทุกวันในฟรีทีวี ในยุคหนึ่งผู้ชมรายการโทรทัศน์จะกดเปลี่ยนช่องโทรทัศน์เพื่อชมรายการอื่นขณะพักโฆษณา แต่ปัจจุบันบรรดานักสร้างสรรค์งานโฆษณาหรือที่เราเรียกว่า Creative ต่างสรรหาวิธีการทำโฆษณาให้กลายเป็นสื่อบันเทิงที่คนอยากจะดูมากขึ้น และภาพยนตร์โฆษณาบางเรื่องกลายเป็นสิ่งที่คนนำไปพูดถึงด้วยความประทับใจไปทั่วบ้านทั่วเมือง (Talk of the town) แต่การโฆษณาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แม้แต่ในรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ที่ผู้ชมกำลังชมอยู่นั้น ก็มีการโฆษณาแฝงตัวมาอยู่ด้วย การแฝงโฆษณาลักษณะนี้เรียกว่า การทำ Product placement ซึ่งนิยมกันมากในต่างประเทศ และได้มีการจัดการประกวดรางวัลขึ้น เช่น รางวัล Brandchannel’s 2004 Product placement Awards ซึ่งจัดโดยเว็บไซด์ www.brandchannel.com

การทำ Product placement คือการนำสินค้า ตราสัญลักษณ์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าไปแทรกอยู่ในรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ได้อย่างกลมกลืน โดยให้ตัวละครใช้สินค้า พูดถึงสินค้า หรือมีภาพตราสินค้าอยู่ในฉากต่างๆ หรือแม้แต่บนเสื้อผ้าของตัวละคร แต่ถ้าใครเป็นคอละครตลกที่เราเรียกว่า sitcom (situation comedy) โดยเฉพาะละครของไทย ก็จะคุ้นเคยกับการทำโฆษณาแฝงลักษณะนี้เป็นอย่างดี จนในบางครั้งเราจะรู้สึกว่าโดนยัดเยียดขายสินค้า เมื่อจู่ๆ ตัวละครก็มีบทพูดแนะนำสินค้าหรือใช้สินค้านั้นแบบไม่มีเหตุผล ทั้งนี้เพราะขาดความกลมกลืนในการนำเสนอนั่นเอง

นอกจากนี้ ในรายการเกมโชว์ หรือรายการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาทางโทรทัศน์ เราก็จะพบการโฆษณาในรูปแบบของผู้สนับสนุนรายการ (Sponsorship) โดยใช้การกล่าวขอบคุณ แสดงโลโก้บนแผ่นป้าย บนเสื้อผ้านักกีฬา การใช้สินค้าประกอบในการเล่นเกม และอื่นๆ

สำหรับสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์นั้น หลายคนคงนึกถึงโฆษณาในหน้านิตยสารและหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ในความจริงแล้ว ยังมีสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ในลักษณะอื่นๆ อีกมากมายนัก ทั้งโปสเตอร์ที่ปิดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ใบปลิวหรือแผ่นพับที่จะถูกส่งให้ถึงมือเมื่อเราไปเดินอยู่ในสถานที่ที่คนพลุกพล่าน หรือแจกหน้าทางเข้าที่จอดรถพร้อมกับบัตรจอดรถ หรือมาเสียบที่หน้ากระจกรถยนต์ ในตู้ไปรษณีย์ ที่รั้วหน้าบ้าน ฟรีโปสการ์ดที่มีแจกอยู่ตามสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่บนด้านหลังสลิป ATM หลังใบเสร็จรับเงินค่าทางด่วน ก็ยังเป็นพื้นที่โฆษณาได้

ณ วันหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารของโลกได้พัฒนามากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านั้นก็ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสื่อในการโฆษณาด้วยเช่นกัน ได้แก้ อินเตอร์เนต และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งนับว่าเป็นสื่อใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เพราะพวกเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์และมีโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างตัวเสมอ โฆษณาต่างๆ จะมาในรูปแบบของเว็บไซต์ (web site) อินเตอร์เนตแบนเนอร์ (Internet Banner) จดหมายข่าวอิเลคทรอนิคส์ (E-mail) และสำหรับผู้ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Pocket PC) การโฆษณาก็จะมาในรูปแบบของข้อความสั้น (SMS : Short Message Services) หรือข้อความโฆษณาที่จะได้ยินเสียงเมื่อกดรับสายที่เรียกเข้ามา

จากที่ได้กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่านักการตลาดและนักโฆษณาต่างสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อใช้ในการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด แต่การที่มีสื่อปริมาณมากๆ นี้เอง จึงจำเป็นจะต้องสร้างความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่ชินชากับงานโฆษณาให้ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีสื่อประเภทหนึ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น และนักสร้างสรรค์โฆษณาต่างก็เริ่มให้ความสนใจในสื่อนี้มากขึ้น กระทั่งการประกวดงานโฆษณาในประเทศไทย และต่างประเทศต่างให้ความสำคัญโดยจัดประกวดรางวัลสื่อประเภทนี้ขึ้นโดยทั่วกัน

สื่อแฝงในบรรยากาศ (Ambient Media)

ในระยะแรก สื่อประเภทนี้ถูกเรียกว่าสื่อใหม่ (New media) หมายถึงสื่อที่มีลักษณะนอกเหนือจากสื่อประเภทเดิมๆ ที่เคยมีมา (traditional Media) เช่น โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ หรือป้ายโฆษณา ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่เกิดสื่ออินเตอร์เนตขึ้น ก็เรียกสื่ออินเตอร์เนตนั้นว่าเป็นสื่อใหม่ด้วย แต่ในปัจจุบันภาพรวมของสื่อประเภทนี้ชัดเจนมากขึ้นจนมีการบัญญัติศัพท์ ที่ใช้เรียกสื่อประเภทนี้ขึ้นมาว่า Ambient Media

คำว่า Ambient Media ยังเป็นคำที่ถือว่าใหม่ในวงการโฆษณาเมืองไทย ส่วนใหญ่ก็เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลย แต่ก็ได้มีผู้บัญญัติศัพท์คำนี้เป็นภาษาไทยว่า “สื่อแฝงในบรรยากาศ” โดยการประกวดโฆษณา Adman Awards & Symposium ซึ่งจัดโดยสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้ใช้คำนี้เป็นชื่อประเภทรางวัลรางวัลหนึ่งในการประกวด

Quinion (1998) ได้อธิบายคำว่า Ambient Advertising ไว้ว่า “คำว่า Ambient Advertising (โฆษณาแฝงในบรรยากาศ) ปรากฎขึ้นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 1998 ในบทความในหนังสือพิมพ์ Sunday Business ของอังกฤษ ดังนี้ “The genuine impact of ambient media is difficult to measure as it often takes TV and press coverage to attract wider public attention to it.” ซึ่งตอนนี้คำว่า Ambient นี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นศัพท์มาตรฐานของวงการโฆษณาไปแล้ว

Ambient Advertising หมายถึงการโฆษณาที่ไม่ใช่สื่อมาตรฐานที่อยู่นอกบ้าน ตัวอย่างเช่น ข้อความที่ติดอยู่หลังบัตรจอดรถ อยู่ในก้นหลุมกอล์ฟ แขวนอยู่บนชั้นวางของบนรถไฟ อยู่บนที่จับของรถเข็นในซุปเปอร์มาร์เกต และอยู่บนด้านข้างของรังใส่ไข่ (บางที่ก็พิมพ์ข้อความลงไปบนเปลือกไข่เลย ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัย) และยังรวมไปถึงการติดภาพขนาดยักษ์บนผนังตึก หรือสโลแกนบนบอลลูน”

จากผลการสำรวจตลาดการโฆษณานอกบ้านของ IPA (Institute of Practitioners in Advertising) สถาบันผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาในประเทศอังกฤษ ที่พบว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของการใช้สื่อแฝงในบรรยากาศและสื่อดิจิตอล ในปี 2002-2003 ดังแผนภูมิที่ 1 เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีถึงความนิยมของการใช้สื่อประเภทนี้ที่มีมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้การใช้สื่อแฝงในสภาพแวดล้อมมีความเติบโตขึ้นในปัจจุบัน
1. การตกต่ำของสื่อแบบดั้งเดิม จากหลายสาเหตุ ทั้งด้านพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภค ราคาของสื่อที่สูงและงบประมาณที่จำกัดในการซื้อสื่อรวมทั้งขาดความแปลกใหม่ในรูปแบบของสื่อ
2. มีความต้องการการสื่อสาร ณ จุดขายมากขึ้น
3. ความสามารถในการสื่อสารได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
4. มีความยืดหยุ่นในการสร้างสรรค์ได้ดี

สื่อแฝงในบรรยากาศนี้ อาจจัดอยู่ในประเภทหนึ่งของสื่อนอกบ้าน (Out of Home Media) แต่เป็นสื่อที่ไม่ใช่สื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ที่ใช้กันมา อาจกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในที่สาธารณะทั้ง คน สัตว์ สิ่งของ สามารถกลายเป็นสื่อโฆษณาได้หมด และด้วยสาเหตุนี้เองทำให้นักสร้างสรรค์โฆษณาสามารถคิดงานโฆษณาได้อย่างอิสระ แต่ด้วยความที่มีลักษณะเป็นสื่อนอกบ้านนั้น ก็อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างเรื่องปริมาณข้อความโฆษณาที่จะทำการสื่อสารจะต้องไม่ยาวเกินไป เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับที่และไม่ได้มีเวลามาหยุดอ่านข้อความโฆษณายาวๆ พูดง่ายๆ ว่า ต้องมีปริมาณน้อยแต่ต้องได้คุณภาพ คือ สามารถสื่อสารได้เข้าใจ และตอบสนองวัตถุประสงค์ของการโฆษณา

อย่างไรก็ตาม สื่อนี้ก็ไม่ได้มีมาตรฐานตายตัวเหมือนสื่อดั้งเดิมอื่นๆ เช่น เรื่องระยะการมองเห็น เทคนิคการผลิต องค์ประกอบของสื่อ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งใดจะกลายเป็นสื่อ และกลุ่มเป้าหมายเป็นคนกลุ่มใด สื่อนี้อาจจะอยู่ในห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งมองเห็นได้ในระยะใกล้ หรืออาจจะอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งมองเห็นได้จากระยะไกลก็ได้ นอกจากนี้สื่อนี้อาจเคลื่อนที่ (transit) หรืออยู่กับที่ก็ได้ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายของสื่อประเภทนี้ถูกกว่าการใช้สื่อที่เป็นสื่อมวลชน (Mass Media) อย่างสื่อโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์มาก และยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากกว่า เพราะสามารถเลือกสถานที่ที่จะนำเสนอสื่อได้ เช่น ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ใช้แหล่งที่มีวัยรุ่นพลุกพล่านมากที่สุดอย่างสยามสแควร์ เป็นสถานที่ที่นำเสนอโฆษณา ส่วนจะใช้อะไรเป็นสื่อนั้นก็ขึ้ยอยู่กับไอเดียของนักสร้างสรรค์โฆษณาที่จะใช้อะไรเป็นสื่อนั้นก็ขึ้นอยู่กับไอเดียของนักสร้างสรรค์โฆษณาที่คิดค้นกันขึ้นมาได้
สำหรับเรื่ององค์ประกอบของสื่อนั้น หากเป็นสื่อดั้งเดิมอื่นๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ก็จะต้องมีภาพประกอบพาดหัวหลัก พาดหัวรอง โลโก้ ฯลฯ แต่สำหรับองค์ประกอบของสื่อประเภทนี้จะมีอะไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไป

Belch (1995) ได้กล่าวถึงข้อดี-ข้อเสียของสื่อโฆษณานอกบ้านไว้ สรุปได้ดังนี้
1. เป็นสื่อที่มีปริมาณผู้พบเห็นได้มากและหลากหลาย แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่ได้เห็นอาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเราก็ได้ ในเชิงการตลาดจะถือว่าวัดผลการทำโฆษณาได้ยาก จึงไม่เหมาะกับการทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) (ในข้อนี้น่าจะเป็นข้อเสียของสื่อนอกบ้านแบบดั้งเดิมเช่นป้ายโฆษณากลางแจ้งขนาดใหญ่ซึ่งเป็นลักษณะของสื่อมวลชน (Mass media) : ผู้เขียน)
2. เป็นสื่อที่ถูกพบเห็นได้บ่อยทำให้ช่วยสร้างการรู้จักได้ดี (Awareness) แต่ในขณะเดียวกันถ้าถูกเห็นบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ไม่สนใจมันอีก
3. มีความยึดหยุ่นกับสภาพแวดล้อม สามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ที่กฎหมายไม่ห้าม
4. สามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้ดี แต่ถูกจำกัดด้วยปริมาณข้อมูลที่จะนำเสนอ และต้องระวังเรื่องปัญหาด้านภาพลักษณ์ถ้าใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เกินขอบเขตมากเกินไป
วิทวัส ชัยปาณี (2548) กล่าวถึงการใช้สื่อแฝงในสภาพแวดล้อมไว้ว่า …คนส่วนมากยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้สื่อใหม่ๆ เหล่านี้ เพราะสังเกตที่หลายคนทำกันอยู่ เป็นเพียงการนำโลโก้ของแบรนด์ไปปะติดตามที่ต่างๆ ให้เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด จึงเป็นการเพิ่มความถี่ (frequency) ในการเห็นชื่อแบรนด์เท่านั้น เรียกว่าเป็นการกระจายการเห็นของแบรนด์ให้มากขึ้น (Brand Visibility) ซึ่งต้องใช้ในปริมาณมากๆ เข้าว่า และเป็นวิถีทางเก่าๆ

การสร้างสื่อรอบตัว (Ambient Media) ที่ถูกต้องในยุคนี้จะต้องเลือกสื่อที่เหมาะเจาะ และสามารถนำเสนอแบรนด์ไอเดียได้ชัดเจนมากกว่า บางสื่ออาจจะเห็นได้บ่อยกว่า แต่สื่อสารแบรนด์ได้ไม่ลงตัว เราก็ไม่เลือกมาใช้เพราะขาดความลดตัว…

ลักษณะของสื่อแฝงในบรรยากาศ
สื่อแฝงในบรรยากาศนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ คือ
1. เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ โดยไม่ได้ใช้สิ่งของหรือพื้นที่ช่วยในการนำเสนอความคิด เว้นแต่การติดตั้งเพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้ ลักษณะนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบสิ่งของหรือชิ้นงานประติมากรรมที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะและมักจะมีขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดสายตาม หรือรูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้คนช่วยในการนำเสนอ หรือการทำให้เป็นสื่อที่เคลื่อนที่ได้
2. เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ประกอบกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในสภาพแวดล้อมเป็นการนำวัตถุสิ่งของภาพหรือข้อความไปติดหรือประกอบเข้ากับสิ่งที่มีอยู่เดิมในสภาพแวดล้อม เช่น เสาไฟฟ้า ผนังตึก พื้นถนน โถส้วม ราวบันได ฯลฯ โดยอาศัยรูปร่าง รูปทรง พื้นผิว ลักษณะการใช้งาน การเคลื่อนไหว ของสิ่งที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น เป็นตัวช่วยในการสื่อสารความคิด
3. เป็นการใช้ที่สร้างขึ้นมาใหม่ร่วมกับสื่อดั้งเดิม เช่น ใช้ร่วมกับป้ายโฆษณากลางแจ้ง หรือโฆษณาบนตัวรถประจำทาง (Bus Body Ad.) โดยอาศัยลักษณาบางอย่างของสื่อนั้นช่วยนำเสนอความคิด วิธีการนี้จะช่วยให้สื่อแบบดั้งเดิมมีความน่าสนใจมากขึ้น
สรุป

จากรูปแบบที่หลากหลายที่ไม่จำกัด และความแปลกใหม่ของการนำเสนอเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจของคนที่ได้พบเห็น ทำให้สื่อประเภทนี้เริ่มมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก และเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ช่วนในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ในแง่มุกต่างๆ ยิ่งสื่อนั้นแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างยอดเยี่ยมและมีรูปแบบที่น่าสนใจมาก ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าตราสินค้า (Brand Equity) ในใจของผู้บริโภคให้มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงในการสร้างสรรค์สื่อแฝงในบรรยากาศ คือ ปริมาณและรูปแบบของสื่อ กล่าวคือ ถ้ามีปริมาณของสื่อมากเกินไป อาจทำให้คนรู้สึกรำคาญหรือเบื่อหน่าย เหมือนกับสื่อแบบดั้งเดิมที่มีปริมาณมากจนคนเกิดความชินชาหรือเบื่อหน่าย รวมทั้งรูปแบบที่ไม่สวยงามหรือไม่เหมาะสม เช่น มีภาพหรือข้อความที่ผิดศีลธรรมหรือขัดกับวัฒนธรรมประเพณี หรือดูรุนแรงเกินไป กีดขวางทางสัญจร บดบังทัศนียภาพ สื่อนี้ก็จะกลายเป็นมลภาวะทางสายตามไปทันที ซึ่งก็จะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่เลวร้างให้กับผู้บริโภค และย่อยไม่เป็นผลดีต่อแบรนด์เช่นเดียวกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคไม่สามารถปิดการรับสื่อได้เหมือนสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ หากพวกเขาจำเป็นต้องสัญจรผ่านไปในสภาพแวดล้อมนั้นเป็นประจำและอยู่ในภาวะ “หนีโฆษณาไม่พ้น” ความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นสิ่งที่นักโฆษณาและนักการตลาดพึงมีอยู่เสมอ

สื่อแฝงในบรรยากาศ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาวิน  อินทรังษี

แหล่งอ้างอิง
วิทวัส  ชัยปาณี. 2548. สร้างแบรนด์อย่างสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : มติชน.
Belch, George E. 1995. Advertising and promotion : an integrated marketing communications
perspective. United States of America : Von Hoffman Press.
Quinion, Michael. 1998. Ambient Advertising Available :
http://www.worldwidewords.org/turnofphrase/tp-amb1,htm 13 November 2006
Ambient Media. Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Ambient_media 13 November 2006.

ที่มา : วารสารวิชาการศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 2 / 2550

You may also like...