Camera Lucida

Camera Lucida โดย โรลองด์ บาร์ธส์
ว่าด้วยการวาดภาพ … มนุษย์คนแรกที่เห็นภาพถ่ายภาพแรก (ถ้าเรายกเว้น นีพส์ Niepc?1 ที่เป็นคนทำมันขึ้นมา) คงต้องคิดว่ามันเป็นงานจิตรกรรมภาพหนึ่ง กรอบก็เหมือนกัน มุมมองก็เหมือนกัน

การถ่ายภาพถูกหลอกหลอนจากจิตวิญญาณของจิตรกรรม และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ด้วยการลอกเลียนแบบและด้วยการโต้แย้งของมันต่อจิตรกรรม ( มาพเพลทธอร์ Mappletthorpe 2 ถ่ายภาพดอกไอริส ดอกหนึ่งในวิธีเช่นเดียวกับที่จิตรกรชาวตะวันออกสักคนหนึ่งอาจวาดออกมา) ภาพถ่ายได้ทำให้จิตรกรรมกลายเป็นผู้ให้กำเนิดที่ต้องอ้างถึงไปโดยสมบูรณ์ ประหนึ่งว่ามันถือกำเนิดขึ้นมาจากผืนผ้าใบ ( ในทางเทคนิคนี้เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะเหตุว่า กล้อง Camera obscura3 ของ จิตรกรเป็นแค่หนึ่งในหลายสาเหตุที่ให้กำเนิดแก่การถ่ายภาพ แต่สาเหตุประการสำคัญอาจได้แก่การค้นพบทางเคมี) ณ จุดนี้ ในการตรวจสอบของข้าพเจ้า ไม่มีอะไรที่จะจำแนกแยกแยะภาพถ่ายภาพหนึ่ง ให้ดูแตกต่างออกไปจากงานจิตรกรรมภาพหนึ่ง ไม่ว่ามันจะเหมือนจริงเพียงใดก็ตาม “แนวคิดที่ว่าด้วยสถานะของความเป็นภาพ “Pictorialism” ก็เป็นแค่เพียงการพูดกันจนเกินความจริงในสิ่งซึ่งภาพถ่ายคิดว่าตัวมันเองเป็น ไม่ใช่ ด้วยจิตรกรรมดอก (ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นสำหรับข้าพเจ้า) ที่การถ่ายภาพจะสัมผัสกับศิลปะ แต่ด้วยการละครต่างหาก นีพส์ Niepc? และ ดาแกร์ Daguerre4 มักจะถูกยกไว้ ณ จุดกำเนิดของการถ่ายภาพ ( แม้ว่าคนหลังจะเข้ามารับช่วงแทนที่คนแรกก็ตาม) ในขณะที่ ดาแกร์รับช่วงประดิษฐกรรมของนีพส์ เขายังเปิดการแสดงชนิดหนึ่งอยู่ที่ Place du Ch?teau เป็นการแสดงที่ใช้เวทีและฉากในมุมกว้าง panorama theater ซึ่งทำให้ดูเร้าใจด้วยการใช้แสง และความเคลื่อนไหวเข้าช่วย 5 กล่าวอย่างสั้นๆได้ว่า กล้อง Camera obscura ได้สร้างให้เกิดจิตรกรรมที่มีความลึกตามทัศนียวิทยา การถ่ายภาพ และการแสดง Diorama ขึ้นมาในคราวเดียวและในขณะเดียวกัน ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้เป็นศิลปะของการสร้างเวที แต่หากการถ่ายภาพจะใกล้เคียงกับศิลปะการละครสำหรับข้าพเจ้าแล้วก็เป็นด้วยวิถีของการสื่อโยงถึงกันเพียงประการเดียว ( และบางทีอาจเป็นข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เห็นมัน) นั้นคือด้วยวิถีแห่งความตาย เราทราบกันดีถึงต้นตอแห่งความสัมพันธ์ของละครเวทีและความเชื่อที่เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับความตาย นักแสดงคนแรกๆแยกตัวเขาเองออกจากชุมชนด้วยการสวมบทบาทของความตาย ในการทำตัวเองให้อยู่ในบทบาทนั้นก็คือ การกำหนดตัวเองประหนึ่งเป็นร่างที่มีชีวิตและตายในขณะเดียวกัน การทาท่อนบนของร่างกายให้ขาวในละครที่เป็นพิธีกรรม การระบายสีลงบนใบหน้าคนในอุปรากรจีน การผัดหน้าด้วยแป้งจากข้าวในกถากลิ 6 ของอินเดีย หน้ากากโนของญี่ปุ่น

… ณ จุดนี้มันเป็นความสัมพันธ์อย่างเดียวกับที่ข้าพเจ้าพบในภาพถ่าย อย่างไรก็ตาม คำว่า ” ราวกับมีชีวิต” ก็คือสิ่งที่เราพยายามที่จะทำ ( และความกระหายใคร่เป็นราวกับว่ามีชีวิตนั้น จะเป็นได้ก็เพียงแต่ การปฏิเสธต่ออำนาจอันเร้นลับแห่งความหวาดกลัวในความตาย) การถ่ายภาพเป็นศิลปะการละครแบบดึกดำบรรพ์อย่างหนึ่ง แบบที่เอาคนขึ้นมาบนเวทีแล้วทำให้ดูราวกับเป็นภาพที่มีชีวิต Tableau Vivant ภายใต้ร่างที่ปราศจากความเคลื่อนไหวและการแต่งหน้า สิ่งที่เราได้เห็นนั้นคือความตาย

แปลจาก Roland Barthes : “To paint”, Camera Lucida, Vintag edition, U.K. , 1993, pp. 30-32. ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส La Chambre Claire, Editions du Seuil,1980

You may also like...