WOMB WAR WHEEL

บทวิจารณ์ >>WOMB WAR WHEEL เสียงสะท้อนจากสตรี นิทรรศการ Womb War Wheel โดย นพวรรณ สิริเวชกุล, จิตติมา ผลเสวก, ชลัมพุ ณ ชเลลำ, ยงกมล อิศรางกูร ณ อยุธยา, มณฑาลี วิจิตรธนสาร


ดูเหมือนว่างานศิลปะที่ทำโดยผู้หญิงและมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงนั้นมักจะเป็นเรื่องของการให้กำเนิดอยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยโบราณมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมจำนวนมากกล่าวถึงผู้หญิงในฐานะผู้สร้าง สอดคล้องกับตำนานการสร้างโลกในวัฒนธรรมต่างๆ ที่ว่าธรณีนั้นเป็นสตรี สัญลักษณ์ที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมาที่ปรากฏซ้ำๆ จนเป็นแบบแผนในงานศิลปะเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะที่บ่งบอกถึงเพศสภาพ (sex) คือหน้าอกและอวัยวะเพศ เรื่องของผู้สร้าง / ผู้ให้กำเนิดนั้นก็สัมพันธ์กันไปโดยปริยายกับความเป็นแม่ หน้าอกและอวัยวะเพศหญิงจึงสื่อความหมายเชิงบวกอยู่เสมอ

พวกกรีกกล่าวถึงอวัยวะเพศหญิงว่าเป็น “abyss” ซึ่งเป็นคำที่มี 2 ความหมายคือ “ห้วงเหวลึก” และ “อเวจี” มันบ่งบอกทั้งในด้านกายภาพที่เป็นช่องลึกและให้ความรู้สึกถึงความน่าสะพรึงกลัว วาทกรรมคริสเตียนได้เข้ามาตอกย้ำการปรับเปลี่ยนความหมายของเพศหญิงให้เป็นในทางตรงกันข้าม ตลอดระยะกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา เรือนร่างของผู้หญิงได้กลายไปสู่ความหมายเชิงลบ เป็นอุปสรรคต่อการรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องของเหล่านักบวช (ชาย) กลายเป็นเรื่องของเนื้อหนังมังสา เรื่องเพศกลายเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด เป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่ธรรมชาติของสิ่งต้องห้ามก็คือการเป็นเรื่องที่ยากจะห้าม ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ยิ่งปกปิดยิ่งน่าค้นหา ทุกวันนี้เราพบว่ามีความลับซุกซ่อนอยู่มากมายภายใต้หน้าของประวัติศาสตร์ที่ดูเผินๆ เหมือนว่าจะปราศจากเรื่องทางเพศ ในโลกศิลปะเองก็มีงานหลายชิ้นที่มี 2 เวอร์ชั่น คือเวอร์ชั่นที่เปิดเผยต่อสาธารณะและเวอร์ชั่นที่เป็นของส่วนตัวของผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาพเปลือยนั้นจะเป็นเวอร์ชั่นไหน

เพิ่งจะไม่กี่สิบปีนี้เองที่ขบวนการสตรีนิยมได้เกิดขึ้นมาตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมทางเพศ ความเป็นเพศหญิงในฐานะผู้ให้กำเนิดจึงเริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้งในงานศิลปะร่วมกับแง่มุมอื่น (แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีศิลปินชายหลายคนที่ทำงานที่แสดงนัยถึงการยกย่องเพศหญิงมาก่อนแล้วก็ตาม) เป็นที่น่าสังเกตว่าศิลปินหญิงที่ทำงานศิลปะสื่อการแสดงสด (Performance art) ส่วนมากมักจับประเด็นสตรีนิยม และส่งสารเชิงสตรีนิยมออกมาในรูปของการเชิดชูเพศหญิงในฐานะของผู้สร้าง หรือไม่ก็พูดถึงการถูกกดขี่โดยเพศตรงข้ามอันเป็นผลมาจากค่านิยมทางสังคมที่ครอบไว้อีกทีหนึ่ง

ผลงานของนพวรรณ สิริเวชกุลและจิตติมา ผลเสวกก็ใช้สัญลักษณ์ของเพศหญิงที่เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในทุกวัฒนธรรมคือหน้าอกและอวัยวะเพศหญิงเป็นส่วนสำคัญ ภาพถ่ายอวัยวะถูกแปะไว้บนผนังของหอศิลป์ โดยศิลปินได้ทำงานสื่อการแสดงสดอยู่เบื้องหน้าภาพในวันเปิดนิทรรศการ นพวรรณทำงานสื่อการแสดงสดชุด “กู่…ก้อง” (Moanful) ศิลปินสวมชุดกระโปรงสีขาว ภาพจาก projector ฉายลงบนร่างกายของเธอและทาบทับไปบนฝาผนังด้านหลัง ภาพต่างๆ เหล่านั้นมีทั้งมดลูก เด็ก ดอกไม้ ฯลฯ ส่วนการแสดงของเธอก็ชี้ให้เห็นถึงเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างหญิง ชายผ่านไอศครีมรูปดอกไม้และรูปแท่งยาว ไปจนถึงการก่อกำเนิด (ภาพเด็ก) การอุปมาอุปมัย (metaphor) ได้เทียบเคียงอวัยวะเพศเข้ากับสิ่งอื่นที่มีรูปทรงใกล้เคียงกันอย่างดอกไม้ (ไอศครีมรูปดอกไม้, เทียนรูปดอกไม้, ภาพดอกไม้ใน projector และในภาพถ่าย) ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงนั้นถูกใช้ต่อเนื่องกันมาในงานศิลปะ ถ้าดอกไม้ที่มีนัยยะอีโรติคที่มีชื่อเสียงที่สุดคือผลงานของ Georgia O’Keeffe ภาพ close – up ดอกไม้ที่ฉายออกมาจาก projector ของนพวรรณก็ทำให้ดูราวกับว่าจิตรกรรมภาพดอกไม้เชิงอีโรติคของ O’Keeffe ได้ถูกนำมาเสนอในบริบทใหม่ ผ่านสื่อใหม่อย่างศิลปะสื่อการแสดงสดและวิดีโอ จากภาพนิ่งกลายเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ต่อหน้าต่อตาผู้ชม

” The force of a performance is necessarily more aggressive and immediate in its effect – it is projective.” (Carolee Schneemann, 1975) ผู้ชมงานสื่อการแสดงจะรับรู้ศิลปะแขนงนี้ในวิธีที่ต่างออกไปจากการชมงานศิลปะแขนงอื่น เพราะศิลปะสื่อการแสดงสดเป็นสิ่งเฉพาะกาล จึงเป็นเวลาจริงที่ผู้ชมได้ประสบอยู่ ผลงานศิลปะเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหน้า ผลการรับรู้จึงต่างออกไปจากการชมงานชนิดอื่นที่ทั้งผลงานศิลปะและศิลปินทิ้งระยะห่างต่อผู้ชมมากกว่า การนำเอา projector เข้ามาใช้ก็ยิ่งเพิ่มมิติของผลงานเข้ามาอีก คือมีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคนจริงๆ ที่กำลังเคลื่อนไหว สิ่งที่ถูกแปลงด้วยเทคโนโลยีและสิ่งที่ดำเนินอยู่จริง การแสดง “สงครามไม่มีมดลูก” (War No Womb) ของจิตติมาก็เช่นกัน ศิลปินเริ่มต้นด้วยการก้าวเดินมาจากภายนอกหอศิลป์ ขณะเดียวกันภาพของศิลปินก็ปรากฏบนผนังจาก video projector จากกล้องที่จับอยู่ เราสามารถมองเห็นของจริงกับวิดีโอค่อยๆ เดินเข้ามาทาบทับในพื้นที่เดียวกัน

ภาพถ่ายของจิตติมาเป็นภาพของหน้าอกและอวัยวะเพศที่ถูกถ่ายเจาะออกมาและวางเรียงกันไปบนผนัง ในส่วนของการแสดง ศิลปินสวมเสื้อยืดสีขาว ถือตาชั่ง ข้างหนึ่งเป็นหัวใจ (หมู) อีกข้างหนึ่งเป็นกากเพชรสีเงิน ทอง และแดง กากเพชรถูกเป่าให้ฟุ้งกระจายท่ามกลางแสงไฟที่หรี่ลงจนสลัว ศิลปินราดเลือด (หมู) สีแดงลงบนขาของตนแล้วล้มตัวลงนอน เธอหยิบหัวใจ (หมู) ขึ้นมาถือแนบอก ปากคาบตุ๊กตาทหารถือปืน ราวกับความเจ็บปวดที่มีต่อสงคราม หากแม่ / เพศหญิงคือผู้ให้กำเนิด สงครามย่อมคือฝ่ายตรงข้าม เป็นผู้ทำลาย และมันคงเป็นแบบแผนไปแล้วว่าสิ่งดีๆ ย่อมมีสีขาว ศิลปินทั้งสองจึงสวมชุดขาว ที่ความบริสุทธิ์จะถูกทำให้แปดเปื้อน (ด้วยเลือดในผลงานของจิตติมา และไฟจากเทียนรูปดอกไม้ในงานของนพวรรณ)

ผลงานของทั้งสองคนประจันหน้ากับผู้ชมในทำนองเดียวกับงานจิตรกรรมที่ใช้ linear perspective ระบบทัศนียวิทยา (perspective) ที่คิดค้นในยุคเรอเนสซองส์โดย Phillipo Brunelleschi สถาปนิกและจิตรกรชาวอิตาเลียนได้ทำให้มุมมองของผู้ชมต่อภาพถูกกำหนดให้มองตรงเข้าไปในความ “ลึก” (อันเป็นมิติลวงในกรณีของจิตรกรรม) มุมมองเดียวหมายถึงการคิดว่าผู้ชมมีตาเดียว, ไม่เคลื่อนไหว, อยู่กลางภาพ คือเป็นการมองจากด้านหน้า (ที่ถูกกำหนดเท่านั้น) ในกรณีของนพวรรณและจิตติมา พื้นที่ของผู้ชมถูกกำหนดให้มองไปสู่เบื้องหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการกำหนดตำแหน่งในการยืนของทั้งผู้ชมและศิลปินอีกที ดังนั้น ถึงแม้ว่าภายในหอศิลป์จะมีพื้นที่ให้เดินไปเดินมาได้ แต่ในความเป็นจริง เราถูกกำหนดพื้นที่ยืนและมุมมองที่แน่นอน ศิลปินทั้งคู่เผชิญหน้ากับผู้ชม ยืนอยู่หน้าผลงานของตัวเองบนผนัง เมื่อนั้น ผู้ชมก็จะยืนและหันหน้าไปยังทิศทางดังกล่าวโดยอัตโนมัติเพื่อชมการแสดงสดที่มีอยู่เฉพาะช่วงเวลานั้นเท่านั้น การที่ทั้งสองแสดงโดยหันหน้าตรงเข้าผู้ชมยิ่งเน้นย้ำถึงการมองจากมุมเดียวคือมุมด้านหน้า แม้ว่าจิตติมาจะเดินมาเป็นทางยาวจากหน้าประตูถึงหน้าผลงาน แต่เมื่อมาถึงเบื้องหน้าผลงาน เธอก็หยุดและทำการแสดงต่อโดยหันหน้าเข้าหาผู้ชม การติดตั้งผลงานไว้ใกล้มุมห้องทำให้ผนังกลายเป็นตัวช่วยหยุดสายตาของผู้ชมไม่ให้ไหลเลยไปจากบริเวณที่ศิลปินกำลังแสดงอยู่ และภาพจาก video projector ระหว่างที่ศิลปินกำลังเดินมาก็เป็นตัวช่วยให้เรามองไปในแนวลึก / ดิ่งแทนที่จะเป็นแนวยาว ในที่นี้ ศิลปะสื่อการแสดงสดกับวิดีโอได้ร่วมกันกำหนดและควบคุมเวลากับพื้นที่

การเผชิญหน้ากับผู้ชมนี้ไม่เพียงแต่คล้ายคลึงกับงานจิตรกรรมเท่านั้น หากยังชวนให้คิดถึงละครอีกด้วย ศิลปะสื่อการแสดงสด (Performance art) กับศิลปะการแสดง (Performing art) อย่างละครมักจะมีการทับซ้อนกันไปมาอยู่เสมอ ผลงานของทั้งนพวรรณและจิตติมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงลักษณะแบบละครบางอย่าง (ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ละครจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบต่างๆ มากมาย) เช่น การหันหน้าเข้าหาผู้ชมราวกับเป็นการแสดงที่อยู่บนเวที การควบคุมแสง การแบ่งแยกพื้นที่ที่ชัดเจนระหว่างศิลปินกับผู้ชม เหล่านี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวมา ผู้ชมคือผู้จ้องมอง ปราศจากการมีส่วนร่วม เป็นเสพจากการเห็น

ชื่อของนิทรรศการ “Womb War Wheel” บ่งบอกว่าการก่อกำเนิด / มดลูก (Womb) และการทำลายล้าง / สงคราม (War) เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร (Wheel) ศิลปินเป็นดั่งตัวแทนของเพศหญิง – ผู้ให้กำเนิด ที่เจ็บปวดกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเสียงเงียบๆ ปราศจากการคร่ำครวญฟูมฟาย แต่ “ดัง” ในความรับรู้ของผู้ชม เสียงจากศิลปินเป็นเพียงเสียงสะท้อนเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่อความขัดแย้งที่มีอยู่มากมาย เราอาจไม่สามารถคาดหวังได้ว่าศิลปะจะเป็นตัวทำให้สังคมดีขึ้น อันเป็นเป้าหมาย / หน้าที่ที่เกินตัวและหลุดลอยไปไกลจากตัวศิลปะเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศิลปะจะปราศจากความสัมพันธ์ต่อสังคมโดยสิ้นเชิง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ศิลปะจะสื่อสารสู่สาธารณะเสมอ

 

You may also like...