ลอยตัวกลางคลื่น หยุดยืนกลางเมือง

ลอยตัวกลางคลื่น หยุดยืนกลางเมือง
เรื่องโดย วิภาช ภูริชานนท์ และ สุรกานต์ โตสมบุญ

ในสังคมสมัยโลกาภิวัตน์ ขณะที่เวลากำลังเดินจากไปด้วยก้าวย่างที่พอเหมาะและสม่ำเสมอจากวินาทีเป็นนาที จากนาทีเป็นชั่วโมง และจากชั่วโมงเป็นหนึ่งวัน มนุษย์ในห้วงเวลาเฉพาะนี้ดูเหมือนจะมีจังหวะและการก้าวเดินที่รวดเร็วยิ่งกว่า ทั้งโดยแรงผลักดันอันมหาศาลที่มนุษย์เรียกกันอย่างยกย่องว่าการพัฒนาและการเอาชนะธรรมชาติ หัวหอกที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมกับแรงสนับสนุนในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีการคมนาคมและการสื่อสารสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้ในท้ายที่สุด แม้จะทำให้เกิดการกระชับเข้าด้วยกันของเวลาและสถานที่ (Time-Space compression) ทั้งในระดับความคิดและจินตนาการเพื่อให้คนในซีกโลกหนึ่งกับอีกซีกโลกหนึ่งสามารถที่จะสัมผัส-รับรู้ซึ่งกันและกันท่ามกลางระยะห่างของพื้นที่กับช่วงเวลาที่แคบและรวดเร็วเข้าไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การพัฒนาต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัดนี้ก็ยังได้ทำให้เกิดการเข้าควบคุม ยึดครอง และการพยายามจะตักตวงเอาทรัพยากรกับแรงงานออกมาจากพื้นที่หนึ่งเข้ามาไว้ในอีกพื้นที่ของตนเองเพื่อตอบสนองกับการเพิ่มขึ้นของประชากรและความต้องการในพื้นที่โหยกระหายนั้นๆ อย่างน่าวิตก สังคมเมืองหลายแห่งในโลกไร้ขีดไร้พรมแดนนี้ การพัฒนาที่มักจะนิยามว่าเป็น “การสร้างสรรค์” หรือ “การเพิ่มพูน” สิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม ในอีกแง่มุมหนึ่งจึงอาจหมายถึง “การลดลง” หรือกระทั่ง “การดับสูญสิ้นไป” ของทรัพยากร แรงงาน และอัตลักษณ์ของพื้นที่หรือชุมชนอีกหลายๆ แห่งด้วยเช่นเดียวกัน

ณ ปัจจุบัน ผู้คนหลายชาติหลากภาษาต่างเข้ามาปะทะสังสรรค์กันผ่านชุมทางโลกาภิวัตน์ด้วยลักษณะและวิธีการต่างๆ ในบางส่วนเสี้ยวของการพบปะกันของผู้คน-สังคม-และวัฒนธรรมนี้ อำนาจกับความไม่เท่าเทียมได้ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างอัตลักษณ์ในวัฒนธรรมระดับมหภาคขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราซึ่งกำลังตกอยู่ท่ามกลางอารยธรรมโลกที่เคยถูกแบ่งแยกอย่างหยาบกร้าวว่าเป็น “ตะวันตก / ตะวันออก” เป็น “พัฒนา / ล้าหลัง” และเป็น “เขา / เรา” ก็กำลังถูกเร่งเร้าให้เคลื่อนตัวเข้าสู่กันด้วยกำลังและความเข้มข้นที่มากขึ้นอยู่ทุกขณะ การปะทะกันของสองกระแสอารยธรรมนี้ ในนัยยะหนึ่งก็คือบทสนทนาของโลกสองด้านที่อาจดูเท่าเทียมกัน แต่อีกนัยยะหนึ่งการพยายามเข้ามาทำสงครามการยึดกุมแกนกลางของโลกกับการพยายามตักตวงเอาทรัพยากรจากอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ทำให้การปะทะสังสรรค์นี้กลับกลายเป็นความรุนแรงและก้าวร้าวมากกว่าจะเป็นการสนทนาอย่างฉันท์มิตร ในสังคมแบบพุทธศาสนา โลกเปรียบเสมือนเป็นทะเลทุกข์ซึ่งทุกคนจะต้องแหวกว่ายวนเวียนอยู่อย่างมืดบอดจนกว่าจะเห็นฟากฝั่งแห่งสัจธรรมเข้าในวันหนึ่ง ทัศนคติดังกล่าวทำให้เรามักจะเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิตของปัจเจกชนคนหนึ่งๆ เป็นดั่ง “ระลอกคลื่น” หรือเป็น “กระแสธาร” แห่งชีวิตและการกระทำ (กรรม) ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ก็สามารถที่จะตั้งรับและวาดแผนการบางอย่างให้กับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นของตัวเอง-สังคมได้

การกระทำกับปัจจุบันอยู่ทุกขณะจิต ทั้งโดยการตระหนักรู้จากปัญญาและการฝึกฝนนี้ คือสิ่งที่อาจทำให้เราสามารถจะแหวกว่ายออกไปท่ามกลางกระแสคลื่นของโลกภิวัตน์ที่ไม่ทราบว่าจะพัดพาสิ่งใดเข้ามาปะทะกับเราบ้างได้อย่างมั่นคง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการพัฒนาที่เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ คลื่นของความขัดแย้งมากมายก็กำลังเข้าปะทะกันท่ามกลางมหาสมุทรโลก ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนและหลากหลายซึ่งก่อให้เกิดความกลัวไปทุกหย่อมหญ้า หรือคลื่นทางเศรษฐกิจซึ่งผกผันและผันผวนจนหลายครั้งทำให้การดำรงชีวิตต้องสั่นคลอนและหวั่นไหว คลื่นลมเหล่านี้เมื่อต่างก็ร่วมกันถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน การหลุดปลิวหรือการถูกพัดพาออกไปสู่ที่ทางทางสังคมและที่ทางทางจิตวิญญาณซึ่งเราอาจจะไม่มีวันได้รู้จักหรือไม่สามารถจะรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับมันได้นี้ ในท้ายที่สุดก่อนที่เราจะได้รู้ตัวหรือก่อนที่เราจะได้คิดจัดการอะไรบางอย่างให้กับตัวเราเอง มันก็อาจจะสายเกินไป และอาจทำให้เรากลายเป็นเพียงฝุ่นผงและละอองทรายที่ถูกคลื่นลมพัดพาไปอย่างไม่จบสิ้น …ในไทยพาวิลเลี่ยน เชิญคุณก่อน ขอเราได้หยุดคิด ก่อนจะออกเดินหรือแหวกว่ายต่อไปบนพื้นที่และคลื่นลมแห่งโลกอันไร้พรมแดน

You may also like...