กฤษณา อโศกสิน

นามปากกาที่แพร่หลายมากที่สุดของ สุกัญญา ชลศึกษ์ นักประพันธ์สตรีที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในด้านการประพันธ์นวนิยาย จนสามารถเรียกได้ว่าเธอคือ ราชินีนักเขียนนวนิยาย ก็คงจะไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้าน

เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนท่านหนึ่งที่พัฒนางานเขียนของตนเองอยู่ตลอดเวลา เนื้อหาของผลงานจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม จากจุดเริ่มต้นของงานเขียนในแนวรักใคร่ พัฒนามาสู่การหยิบยกปัญหาต่างๆ ในสังคมมาเขียนมากขึ้น จวบจนระยะเวลากว่า 50 ปีแล้วที่เธอได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงก้าวตามความฝันต่อไปอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง…จนมีผู้กล่าวไว้ว่าเส้นทางฝันของ กฤษณา อโศกสิน เพียงแค่จุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน นักเขียนน้อยคนนักก็ยากที่จะก้าวมาถึงได้…

สุกัญญา ชลศึกษ์ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนราชินี เริ่มต้นการประพันธ์ด้วยวัยเพียง 15 ปี เธอมุ่งมั่นจะเป็นนักเขียน มีผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรก ‘ของขวัญปีใหม่’ ลงในหนังสือ ‘ไทยใหม่วันจันทร์’ ในนามปากกาว่า ‘กัญญ์ชลา’

ประมาณปี 2489 หลังจากจบการศึกษา ได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เสมียน กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ รับเงินเดือน 450 บาท แต่ทว่ายังมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียนต่อไป มีผลงานเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘ศรีสัปดาห์’ และทยอยลงตีพิมพ์ออกมาเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าร้อยเรื่อง ในขณะที่นวนิยายของเธอก็เริ่มมีออกมา ไม่ว่าจะเป็น หยาดน้ำค้าง, ดอกหญ้า, ดวงตาสวรรค์ ในปี 2545 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สำหรับนามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’ นั้นเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2501 ด้วยผลงานนวนิยายชื่อว่า ‘วิหคที่หลงทาง’ ตีพิมพ์ใน ‘สตรีสาร’ และได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี เธอเคยกล่าวถึงที่มาของนามนี้ว่า “ชื่อนี้นี่ประหลาด มันแว่บขึ้นมาในสมอง ในขณะที่นั่งคิดว่าจะใช้นามปากกาอะไร…เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ แปลออกมาได้ความว่า ไม้หอม ทรัพย์ที่ปราศจากทุกข์…” นามปากกานี้สร้างผลงานออกมาอย่างมากมาย เช่น น้ำผึ้งขม, ระฆังวงเดือน, ชลธีพิศวาส และอีกมากมายกว่าหนึ่งร้อยเรื่อง รวมทั้ง ‘ปูนปิดทอง’ ที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมอาเซียน (ซีไรท์) ผลงานของกฤษณา อโศกสิน ได้รับการชื่นชมว่าเป็นงานเขียนกระเทาะเปลือกสังคมได้อย่างสะใจ ไม่ว่าจะเป็น ลานลูกไม้, ไฟทะเล, เสื้อสีฝุ่น, รอบรวงข้าว, เรือมนุษย์, ลมที่เปลี่ยนทาง, ฝันหลงฤดู, บุษบกใบไม้ ฯลฯ

ระหว่าง พ.ศ. 2510 – 2520 เป็นช่วง 10 ปีนั้นที่ สุกัญญา ชลศึกษ์ ทำงานมาก เขียนหลายแห่ง ส่วนมากเป็นรายสัปดาห์เช่น แม่ศรีเรือน, นพเก้า, ศรีสยาม, ดวงดาว เป็นรายสัปดาห์ทั้งนั้น เขียนวันละหนึ่งเรื่อง วันละหนึ่งตอนต่อหนึ่งเรื่อง สุกัญญา ชลศึกษ์ ทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนกระทั่งบางวันอาจจะเขียนจนถึง 6 โมงเย็นจึงจะเลิกงาน พอขึ้นข้างบนแล้วก็ต้องทำงานต่อ แต่จะเป็นงานตรวจต้นฉบับ

มีผลงานหลายเรื่องนำไปสร้างละครและภาพยนตร์มากมาย เช่น “เรือมนุษย์” “ดวงตาสวรรค์” ฝันกลางฤดุฝน” “น้ำผึ้งขม” เมียหลวง” “ไฟหนาว” “เสื้อสีฝุ่น” “ข้ามสีทันดร” “หน้าต่างบานแรก” “คาวน้ำค้าง” “เนื้อนาง” “ลายหงส์” “ปีกทอง” และก็เรื่อง “ปูนปิดทอง” “ห้องที่จัดไม่เสร็จ”

นามปากกา กฤษณา อโศกสิน
กระเช้าสีดา
ข้ามสีทันดร
จำหลักไว้ในแผ่นดิน
ชลธีพิศวาส
ชาวกรง
ตะเกียงแก้ว
ตะวันตกดิน
ถ่านเก่าไฟใหม่
เนื้อใน
บัลลังก์ใยบัว
บ้านขนนก
บุษบกใบไม้
ประตูที่ปิดตาย
ปูนปิดทอง
พญาไร้ใบ
เพลงบินใบงิ้ว
ไฟทะเล
ไฟหนาว
ภมร
เมียหลวง
ไม้ผลัดใบ
รากแก้ว
รูปทอง
เรือมนุษย์
ลมที่เปลี่ยนทาง
ลมบูรพา
ลานลูกไม้
วิหคที่หลงทาง
วิมานไฟ
เวียงแว่นฟ้า
หน้าต่างบานแรก
หนึ่งฟ้าดินเดียว
หลงไฟ
น้ำเซาะทราย
สวรรค์เบี่ยง
สะพานข้ามดาว
บาดาลใจ

นามปากกา กัญญ์ชลา
ตะเกียงแก้ว, ลานลูกไม้, ลายดอกไม้ร่วง, สาปสวาท

นามปากกาที่เปิดเผย
กฤษณา อโศกสิน, กัญญ์ชลา, สุกัญญา, สไบเมือง, สุปปวาสา, กระเรียนทอง, ญาดา

ปูน ปิดทอง เป็นหนังสือนวนิยายที่เกี่ยวกับปัญหาของครอบครัวในสังคมไทยส่วนใหญ่ ที่มีตัวละครเอกคือ สองเมืองและบาลี ทั้งสองคนมีปัญหาครอบครัวที่เหมือนกัน ซึ่งต่างก็มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน ทั้งสองคนมีความขมขื่นใจมาก เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ บาลีพยายามทำความเข้าใจในปัญหาดังกล่าว และชักจูงให้สองเมืองลืมความขมขื่นใจในวัยเด็ก ให้โอกาสแก่พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วย เหตุนี้สองเมืองจึงรักบาลี และมั่นใจว่าชีวิตคู่ของเขาและเธอจะไม่ล้มเหลว เช่นเดียวกับชีวิตของพ่อแม่ เขาตั้งใจว่าเขาจะเป็นพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี  ไม่ใช่เป็นเพียงรูปหล่อด้วยปูน ที่ปิดทอง ซึ่งย่อมไร้ค่าเพราะเป็นได้เพียง ปูนปิดทอง เท่านั้น

ที่มาเกี่ยวกับหนังสือ : http://atcloud.com/stories/71612
ที่มารูปภาพ : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=rakmananya&group=1&month=07-2007&date=26

You may also like...