กสอ.ร่วมกับ สถาบันฯสิ่งทอ พัฒนาไหมไทย เตรียมโชว์ศักยภาพในปารีส

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลักดันไหมไทยร่วมสมัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมเปิดตัวผ้าไหมไทยร่วมสมัยระยะที่สองกว่า 50 ชิ้นงาน

ในกิจกรรมการพัฒนาไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล หรือ โมเดิร์นไทย ซิลค์ (Modern Thai Silk) หลังประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการนำผ้าไหมไทยไปเผยโฉม ในงาน “พรีเมียร์ วิช๊อง 2014” ณ มหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีแบรนด์ดังให้ความสนใจ อาทิ ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) โดยในปีหน้าเตรียมพร้อมเฉิดฉายสู่เวทีจัดแสดงสิ่งทอและผ้าผืนระดับโลกอีกครั้ง ในงาน “พรีเมียร์ วิช๊อง 2015” ภายใต้โครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่น”

โดยปีนี้มีการพัฒนาเส้นด้ายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้ผ้าไหมมีคุณสมบัติและฟังก์ชั่นพิเศษ อาทิ ผ้าไหมผสม PLA เพื่อย่อยสลายได้ ผ้าไหมผสมคอลลาเจน เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ผ้าไหมผสมลินิน (Linen) เพิ่มความระบายอากาศ และผ้าไหมเส้นใยกัญชง (Hemp) ช่วยป้องกัน UV เป็นต้น พร้อมออกแบบให้ตรงตามเทรนด์ในฤดูกาลสปริง/ซัมเมอร์ 2016 ทั้งนี้ตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์รูปแบบคุณภาพผ้าไหมไทยให้สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก ฯลฯ มุ่งสู่ตลาดการค้าอย่างสากลเต็มรูปแบบ

โดยหวังผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผ้าไหมทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาผ้าไหมไทยอย่างบูรณาการ อย่างไรก็ตาม สถาบันฯสิ่งทอ ได้จัดงานนิทรรศการผ้าไหมร่วมสมัย พร้อมกิจกรรมเสวนาพิเศษ “ปรับ เทรนด์โลกให้สอดคล้องกับไหมไทย เพื่อก้าวสู่ตลาดโลก” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) กรุงเทพฯ สำหรับผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ไหมหรือผ้าไหม และต้องการนำเสนอในตลาดระดับโลก ในงาน “พรีเมียร์ วิช๊อง 2015” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตรถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 408, 413-414​

นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงศักยภาพผ้าไหมไทย เนื่องจากเป็นสินค้าหัตถกรรมจากภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง ประกอบกับประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไหมและผลิตภัณฑ์ไหมที่มีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก มีแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมาก และในแต่ละปีมีการส่งออกไหมและผลิตภัณฑ์จากไหมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผ้าไหมทอด้วยมือที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีความละเอียดอ่อนประณีตสวยงาม มีความมันวาว มีลวดลายและสีสันที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากผ้าไหมของต่างประเทศ และที่สำคัญเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและได้รับความนิยมสูงจากตลาดในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ไหมไทยจะมีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ แต่ยังขาดการวิจัยและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีคู่แข่งหลายประเทศ อาทิ จีน อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น และสินค้ามีความหลากหลายกว่าไทย ทั้งรูปแบบ ราคา คุณภาพ และประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นสินค้าที่ผลิตจากไหมไทยรูปแบบเดิมๆ จะไม่สามารถครองตลาดได้อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ กรมฯ จึงเห็นความสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อการต่อยอดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมให้เติบโตและมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ จึงร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ภายใต้โครงการ “พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” โดยสร้างองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยแก่ผู้ประกอบการสิ่งทอให้มีความร่วมสมัย เข้าใจถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ และสามารถพัฒนาหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งทอและผ้าไหมให้มีฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก เป็นต้น โดยโครงการฯดังกล่าว เป็นการดำเนินการต่อยอดจากโครงการ “โมเดิร์น ไทย ซิลค์” ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

นายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า จากการดำเนินงาน “ศึกษาวิจัยและพัฒนาไหมไทยร่วมสมัย” (โมเดิร์นไทย ซิลค์) เมื่อปีที่ผ่านมา โดยร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ทำให้มีการศึกษาและพบว่าไหมไทยมีอัตลักษณ์ 4 รูปแบบ ได้แก่ ความมันวาว (Luster) ความไม่สม่ำเสมอของของเส้นด้ายและผ้าที่มีมิติ (Uneven) เน้นผิวสัมผัส (Textured) ความพลิ้วไหวและไหลลื่น (Fluid) ถือเป็นต้นแบบองค์ความรู้การผลิตผ้าไหม การออกแบบลวดลาย และโครงสร้างผ้าให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก รวมทั้งความรู้ด้านวิศวกรรมปั่นด้าย การทอผ้า และการตกแต่งสำเร็จที่เหมาะสม โดยมีผู้ประกอบการสิ่งทอเข้าร่วมโครงการ 7 ราย ร่วมพัฒนาต้นแบบโมเดิร์นไทยซิลค์ เพื่อให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศ และนำไปทดสอบตลาดในงาน “พรีเมียร์ วิช๊อง 2014” งานแสดงสินค้าที่สำคัญ ณ มหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง มีแบรนด์ดังให้ความสนใจตัวอย่างผ้าและเส้นด้ายหลายแบรนด์ อาทิ ราล์ฟลอเรน (Ralph Lauren) เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) เป็นต้น สถาบันฯ จึงมีความพร้อมอย่างยิ่ง ทั้งความเชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนต่อยอดต้นแบบองค์ความรู้การผลิตผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย รวมทั้งสามารถนำความรู้ในกระบวนการผลิตและการออกแบบที่ได้รับจากที่ปรึกษาชาวอิตาลีถ่ายทอดแก่ผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาไหมไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นายประดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ และสถาบันฯสิ่งทอ จึงได้สานต่อในการพัฒนาไหมไทยร่วมสมัยในโครงการ “การพัฒนาไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล” ในปีงบประมาณ 2557 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ผ้าไหมไทยให้มีความร่วมสมัย ตรงความต้องการของตลาดสินค้าไหมไทยทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทย ตลอดจนผลักดันให้ไหมไทยก้าวสู่ผู้นำในตลาดไหมทั้งในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ และนวัตกรรมของโลก ทั้งนี้ ในโครงการฯดังกล่าว ได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทยร่วมสมัยร่วมกับผู้ประกอบการเพิ่มเป็น 21 ราย ซึ่งมีทั้งบริษัทสิ่งทอขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และวิสาหกิจชุมชน ร่วมพัฒนาด้วย อาทิ บริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัด บริษัท อาร์ทรี จำกัด บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยงอุดมการทอ กลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านกระทม บริษัท เมจิกฟิลด์ จำกัด บริษัท จีอีพี สปินนิ่ง จำกัด บริษัท คำไท ซิลค์ จำกัด และวิสาหกิจชุมชนไหมไทยไพริน เป็นต้น ก่อให้เกิดการพัฒนาผ้าไหมต้นแบบที่สอดแทรกนวัตกรรม ดีไซน์ และฟังก์ชั่น 50 ชิ้นงานที่พัฒนาให้สอดคล้องกับเทรนด์สปริง/ซัมเมอร์ 2016 โดยปีนี้มีการพัฒนาโดยนำเส้นด้ายใหม่มาผสานร่วมกับเกลียวไหมเพื่อสร้างความหลากหลายและประโยชน์ใช้สอยให้กับผ้าไหม แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เส้นไหมผสมเส้นใยสังเคราะห์ ตัวอย่างเช่น ผ้าไหมผสม PLA เนื่องจากย่อยสลายได้ นอกจากนี้ยังมี ผ้าไหมผสมคอลลาเจน เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว รวมทั้ง ผ้าไหมผสม Rayon with carbon เพื่อดูดกลิ่นและป้องกันแบคทีเรีย และผ้าไหมผสมเมทัลลิค (Metallic) เพิ่มความสะท้อนแสง และเส้นไหมผสมเส้นใยธรรมชาติ เช่น ลินิน (Linen) เพิ่มความระบายอากาศ และเส้นใยกัณชง (Hemp) ช่วยป้องกัน UV เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม รับบทบาทในการดำเนินงานโดยมี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนงบประมาณ โดยคาดหวังว่าจากการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผ้าไหมทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัยอย่างบูรณาการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากลได้ในอนาคต

นางศิริรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไหม เดือนมกราคม-ตุลาคม 2557 มีมูลค่า 19.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.05 ของการนำเข้าวัตถุดิบไหม ผลิตภัณฑ์ไหมที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องแต่งกายจากไหม รองลงมาคือ รังไหม เส้นด้ายไหม และผ้าไหม มีมูลค่าการนำเข้า 11.31 3.72 2.48 และ 2.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ตลาดนำเข้าส่วนใหญ่ คือ จีน อินเดีย และอิตาลี สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไหมมีมูลค่า16.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.53 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์จากไหมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดคือ ผ้าไหม เครื่องแต่งกายจากไหม เส้นด้ายไหม และรังไหม มีมูลค่าการส่งออก 7.97 5.86 3.01 และ 0.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน

อย่างไรก็ตาม กรมฯและสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงานนิทรรศการเพื่อเผยโฉมผ้าไหมไทยร่วมสมัย พร้อมกิจกรรมเสวนาพิเศษ “ปรับเทรนด์โลกให้สอดคล้องกับไหมไทย เพื่อก้าวสู่ตลาดโลก” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) กรุงเทพฯ โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และดีไซเนอร์ชั้นนำของไทยเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ไหมหรือผ้าไหม และต้องการนำเสนอในตลาดระดับโลก “พรีเมียร์ วิช๊อง 2015” ณ ประเทศฝรั่งเศส สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอซอยตรีมิตรถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 408, 413-414​

ประชาสัมพันธ์สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
มยุรี คำสะอาด
เบอร์โทร : 0 2713 5492 –9ต่อ 710, 085-044-8689

You may also like...