อบรม ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

สถาบันหนังไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ เล็งเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในสังคมไทยยังเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจในวงแคบอยู่มาก

สถาบันหนังไทย จึงได้จัดทำหลักสูตรอบรม ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยเบื้องต้น ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับการอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจในภาพรวมของการกำเนิดภาพยนตร์ในโลก การเข้าสู่สยาม การพัฒนาคลี่คลายไปของกิจการภาพยนตร์ในสยาม ตามลำดับเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน และตามเหตุปัจจัยแวดล้อมทางประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อให้ผู้รับการอบรมมีพื้นความรู้ความเข้าใจ สามารถศึกษาค้นคว้าลงลึกหรืออย่างละเอียดในแต่ละเรื่องหรือประเด็นที่สนใจต่อไป

หัวข้อการบรรยาย

๒ ก.พ. ๕๖ ๑๓.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
ปฐมนิเทศ เรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

๙ ก.พ. ๕๖ ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
กำเนิดภาพยนตร์โลก และการเข้ามาสู่สยาม ๒๔๓๐ – ๒๔๔๐
เนื้อหา รกรากก่อนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ การละเล่นและพิธีกรรมเกี่ยวกับการเขียนรูปดุจมีชีวิต การเล่นแสงเงาหนังตะลุง หนังใหญ่ ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการเห็นของมนุษย์ ภาพค้างติดตา การปฏิวัติอุตสาหกรรม การถ่ายรูป การบันทึกเสียง การประดิษฐ์ภาพยนตร์ กำเนิดภาพยนตร์ การแพร่กระจายภาพยนตร์ไปทั่วโลก

๑๖ ก.พ. ๕๖ ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
การจัดตั้งและพัฒนาการภาพยนตร์ในสยาม ๒๔๔๐ – ๒๔๗๐
เนื้อหา กำเนิดการจัดฉายภาพยนตร์ในสยาม การจัดตั้งโรงภาพยนตร์ โรงหนังญี่ปุ่น โรงหนังกรุงเทพโรงหนังพัฒนากร การแข่งขันระหว่างโรงหนัง การรวมธุรกิจโรงหนังจัดตั้งสยามภาพยนตร์บริษัท ขนบธรรมเนียมการจัดฉายภาพยนตร์ในสยาม ลักษณะของภาพยนตร์ที่จัดฉายในโลกและในสยาม การโฆษณาเผยแพร่ สมุดเล่าเรื่องภาพยนตร์ ดนตรีประกอบในโรงภาพยนตร์ กำเนิดการถ่ายทำภาพยนตร์โดยชาวสยาม รัฐไทยกับกิจการภาพยนตร์ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารมหรสพ การจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กำเนิดภาพยนตร์ไทย : นางสาวสุวรรณ

๒๓ ก.พ. ๕๖ ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
กำเนิดและพัฒนาการของภาพยนตร์ไทย ๒๔๗๐ – ๒๔๙๐
กำเนิดภาพยนตร์ไทย : โชคสองชั้นและไม่คิดเลย กำเนิดภาพยนตร์พูดได้หรือภาพยนตร์เสียง กำเนิดวิทยุกระจายเสียงสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม พระราชบัญญัติภาพยนตร์ ๒๔๗๓ การจัดตั้งบริษัทสหศีนิมา จำกัด
การจัดตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โรงถ่ายไทยฟิล์ม กำเนิดการพากย์ภาพยนตร์ ภาพยนตร์ไทยพากย์ ยุคทอง ของภาพยนตร์ไทยสงครามโลกครั้งที่ ๒ กับภาพยนตร์ไทย

๒ มี.ค. ๕๖ ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
การเกิดใหม่ของภาพยนตร์ยุคหลังสงคราม (๒๔๙๐ – ๒๕๑๕)
การฟื้นตัวกลับมาของกิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยหลังสงคราม ภาพยนตร์ไทย ๑๖ มม. พากย์ ครองตลาดการขยายตัวของภาพยนตร์ในยุคเร่งรัดพัฒนาสังคมและอุตสาหกรรม การจัดตั้งสำนักข่าวสารอเมริกัน ภาพยนตร์กลางแปลงและหนังขายยา กำเนิดโทรทัศน์ไทย กำเนิดระบบดารา มิตร – เพชรา กำเนิดระบบสายหนัง การจัดประกวดภาพยนตร์ไทย สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผลจากการเสียชีวิตของ รัตน์ เปสตันยี และมิตร ชัยบัญชา

๙ มี.ค. ๕๖ ๑๐.๐๐ ๑๗.๐๐ น.
การปรับสู่ภาพยนตร์ไทยมาตรฐาน ๓๕ มม. (๒๕๑๖ – ๒๕๔๐)
การปรับเปลี่ยนกระบวนการสร้างภาพยนตร์ไทย จาก ระบบ ๑๖ มม. พากย์สด เป็นระบบ ๓๕ มม. เสียงในฟิล์มซีนีมาสโคป คลื่นลูกใหม่ ภาพยนตร์ไทยหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ คลื่นลูกที่ ๒ กระแสภาพยนตร์สะท้อนสังคม
การตั้งกำแพงภาษีภาพยนตร์ต่างประเทศ อุบัติการณ์หนังไทยเบ่งบานฉับพลัน การขยายตัวของโทรทัศน์ไทย การกำเนิดวีดิโอเทป ภาพยนตร์กับลิขสิทธิ์ กำเนิดหอภาพยนตร์แห่งชาติ คลื่นลูกที่ ๓ กำเนิดสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ

๑๖ มี.ค. ๕๖ ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
ภาพยนตร์ไทยยุคใหม่และภาพยนตร์นอกกระแส (๒๕๔๐ – ๒๕๕๐)
การเกิดขึ้นของภาพยนตร์ไทยยุคทันสมัย คลื่นลูกที่ ๔ กำเนิดมูลนิหนังไทย กำเนิดภาพยนตร์นอกกระแส ภาพยนตร์อิสระ ภาพยนตร์สารคดี กำเนิดโรงหนังขนาดเล็กในห้าง การล่มสลายของโรงหนังเดี่ยวที่ล้าสมัยและกำเนิดโรงหนังรวมกลุ่มนำสมัย ยุคคอมพิวเตอร์

หลักสูตรอบรมประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ – วันเสาร์ที่ ๑๖มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นเวลา ๗ อาทิตย์ ทุกวันเสาร์ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ถ.พุทธมณฑลสาย ๕ โดย โดม สุขวงศ์, ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา , ประวิทย์ แต่งอักษร และชลิดา เอื้อบำรุงจิต

ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมท่านละ ๕,๐๐๐ บาท สำหรับผู้กำลังศึกษาอยู่ในระดับไม่เกินปริญญาตรี ค่าลงทะเบียน ๒,๕๐๐ บาท (ค่าลงทะเบียนนี้ รวมถึง ค่าเอกสารประกอบการเรียน, อาหารกลางวัน และ อาหารว่าง) รับจำนวนจำกัด

ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ : http://www.fapot.org/index.php/th/categoryblog/447-2012-12-25-02-08-47

หรือสอบถามได้ที่หอภาพยนตร์ฯ :๐๒-๔๘๒-๒๐๑๓ – ๑๔ ต่อ ๑๑๑ หรือ thaifilmarchive@gmail.com

หมดเขตรับสมัครวันศุกร์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖

 

You may also like...