ถึงเวลาของดาวดวงใหม่ในแวดวงศิลปะที่กำลังจะจรัสแสงขึ้นมาประดับวงการอีกดวง จากเวทีสำคัญในการประชันฝีไม้ลายมือทางด้านศิลปะระดับเยาวชน กับโครงการประกวด “ดาวเด่นบัวหลวง 101” ครั้งที่ 7จัดโดยมูลนิธิบัวหลวง (มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ) ร่วมกับหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา สำหรับปีนี้ดาวจรัสดวงใหม่ผู้รังสรรค์สุดยอดผลงานเป็น นักศึกษาหนุ่มชั้นปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สร้างสรรค์ผลงานไอเดียแรงแนวเสียดสี “กรุงเทพความเป็นจริงในความฝัน” คว้ารางวัล “ดาวเด่นบัวหลวงยอดเยี่ยม” ไปครองได้สำเร็จ โดยจัดงานประกาศผลพร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเร็วๆ นี้
คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิบัวหลวง และประธานโครงการฯ เผยว่า “การจัดโครงการดาวเด่นบัวหลวง 101 ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากศิลปิน คณาจารย์ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนต่างๆ ทั้งยังได้สร้างศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น
“หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เรียนศิลปะทั่วประเทศจาก 52 คน จาก 24 สถาบันทั่วประเทศ ได้มาเข้าค่ายอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน และสามารถที่จะได้เรียนรู้จากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส บวกกับความรู้อื่นๆ ที่โครงการจัดมาให้เพื่อเสริมให้น้องๆ นักศึกษาทั้งหลายสมบูรณ์ขึ้นในความรู้ ที่อาจจะไม่ได้รับจากการเรียนในมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความรักศิลปะไปยังประชาชนทั่วไปอีกด้วย โดยในปีนี้ เป็นปีแรกที่มีการกำหนดหัวข้อ เพื่อเป็นกรอบความคิดให้แก่นักศึกษาในการสร้างสรรค์งาน คือ “บางกอก: ในความจริงหรือความฝัน” เพื่อให้ศิลปินได้คิดจินตนาการ รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิด และมุมมองของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน”
ด้าน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้าแข่งขันทุกคน ที่ได้มีโอกาสร่วมประกวดผลงานในเวทีทรงเกียรติแห่งนี้ ที่ล้วนได้รับความรู้ด้านศิลปะจากครูบาอาจารย์ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบความสำเร็จบนเส้นทางศิลปะมาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้อย่างเต็มที่ พร้อมแนะแนวทางในการสร้างสรรค์สุดยอดผลงานศิลปะซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความรู้สึก ดังนั้นก่อนวาดภาพต้องตั้งโจทย์ความรู้สึกก่อน จากนั้นจึงเพิ่มเติมด้วยทักษะซึ่งเป็นประสบการณ์ในการเขียนรูป เช่น การใช้สี องค์ประกอบภาพ เทคนิคต่างๆ เพื่อให้ภาพนั้นๆ สะท้อนเรื่องราว อารมณ์ และความรู้สึกที่ต้องการให้กระทบคนดูมากที่สุด
“เวทีนี้เป็นเวทีที่รวบรวมคนเก่งๆ ดังนั้นถ้าสำหรับคนที่คิดว่าตัวเองอ่อนทักษะกว่าคนอื่น จะยิ่งเห็นของดีจากคนอื่น และนำไปพัฒนาตัวเอง หลายคนที่มาร่วมแข่งขันอาจคิดว่าคงไม่ได้รางวัลกลับไป แต่ในเมื่อมาถึงเวทีแล้ว ก็ต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยใจให้ฮึกเหิม เพราะถ้าเตรียมใจรับความพ่ายแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น สุดท้ายก็จะไม่ได้อะไรกลับไปเลยจริงๆ และไม่ใช่วิสัยของศิลปิน หรือผู้สร้างงานศิลปะ เพราะงานศิลปะต้องมาจากความรู้สึกข้างในที่พร้อมจะทำสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต และแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ที่สุด ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นทำให้ใจเราฮึกเหิมต่อการทำงานศิลปะ ดังนั้นเมื่อกลับไปยังสถาบันของตนแล้ว ขอให้นำความรู้ที่ได้รับครั้งนี้ไปแบ่งปันให้กับน้องๆ ในสถาบัน เพื่อให้มีดาวเด่นที่เก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ มาร่วมแข่งขันในปีต่อๆ ไป”
ทั้งนี้ที่สุดของผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรางวัลยอดเยี่ยมในปีนี้ ได้รับการกลั่นกรองผ่านสายตาคณะกรรมการ ซึ่งมีทั้งศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ตัดสินพิจารณารางวัล ได้แก่ อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, อาจารย์ธงชัย รักปทุม, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี, ศาสตราจารย์กำจร สุนพงษ์ศรี, คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช และอภิชาต รมยะรูป
สำหรับผู้ชนะรางวัลดาวเด่นบัวหลวง แบ่งออกเป็น 3 รางวัล โดยผู้ได้รับรางวัลศิลปินดาวเด่นบัวหลวงยอดเยี่ยม ได้รับเงินทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ได้แก่ ภัทรวิทย์ บุญพรม ชั้นปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของไอเดียแรงแนวเสียดสีกับผลงาน “กรุงเทพความเป็นจริงในความฝัน (Bangkok: The Truth out of my dream)” ที่ถ่ายทอดเมืองกรุงเทพ เมืองเทพ เมืองสวรรค์ที่งดงาม หากมองผ่านมโนจิตของ “ความฝัน” เมืองแห่งความรุ่งเรืองศิวิไลซ์ งดงามดุจเมืองฟ้า หากเขากลับมองเห็นกรุงเทพฯ ผ่านทัศนคติอีกด้านหนึ่ง ที่เป็นความจริงซึ่งได้เห็นเมืองฟ้าอมรแห่งนี้เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม และมีแต่ผู้คนล้วนต้องดำเนินชีวิตด้วยความโกลาหลวุ่นวาย แรงบันดาลใจดังกล่าวมาจากการได้ร่วมเวิร์คช็อป ซึ่งมีการพาไปทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยการนั่งเรือในคลองแสนแสบ ที่ทำให้ได้ซึมซับอีกมุมหนึ่งของคนกรุงเทพฯ
“ผมมองเห็นภาพพระบรมมหาราชวัง ที่สวยงาม แต่ตรงข้ามเป็นสนามหลวงที่หลายคนบอกว่า เป็นสวนสาธารณะ แต่ผมมองเห็นคนเร่ร่อน ขอทาน หรือตอนดึกๆ ก็มีผู้หญิงขายบริการ และมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่ดูขัดแย้งกับความศิวิไลซ์ของกรุงเทพฯ หรือการเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่คนขับรถตุ๊กๆ กำลังตะโกนด่านักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือเห็นห้างสรรพสินค้าที่สุดแสนจะไฮโซ ไฮเทค แต่ถัดไปไม่ไกลกลับมีชุมชนแออัด จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานผ่านกระบวนการเทคนิคภาพเขียนด้วยหมึกดำ และสีอะคริลิคบนผ้าใบ รวมทั้งมีการใช้เทคนิคคอลลาจ (collage) โดยใช้การปริ้นท์ภาพและตัดแปะลงไป เพื่อจะได้อารมณ์ของสถานที่จริง โดยนำเสนอผ่านภาพกึ่งจิตรกรรมไทย และสร้างเรื่องราวต่างๆ สะท้อนปัญหาสังคม โดยใส่คาแรคเตอร์ผ่านตัวละครที่เป็นเทวดา นางฟ้า ผ่านการหยอกล้อในรูปแบบการ์ตูน ที่ได้รับการสังเคราะห์มาจากการได้รับข่าวสาร หรือข้อมูลจากสื่อต่างๆ” ภัทรวิทย์ กล่าวแนวคิดหลัก พร้อมบอกสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันในเวทีนี้ ที่เปรียบเสมือนการได้มาเรียนพิเศษกับสุดยอดอาจารย์ทางศิลปะ ทำให้ได้ความคิดที่แปลกใหม่ขึ้นมา รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนทักษะ และเทคนิคต่างๆ กับเพื่อนๆ ที่มาร่วมแข่งขัน ที่สำคัญยังได้รับมิตรภาพจากเพื่อนใหม่กลับไปอีกด้วย
ส่วน ณรงค์ฤทธิ์ กาลจิตร์ นักศึกษาชั้นปี 5 คณะจิตรกรรมฯ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลศิลปินดาวเด่นบัวหลวงความคิดสร้างสรรค์ ได้รับเงินทุนการศึกษา 70,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ สัมภาษณ์ และเก็บข้อมูลจากคนเร่ร่อนที่มีให้เห็นทั่วไปในกรุงเทพฯ และผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนกลุ่มนี้ จนได้เห็นศักยภาพที่คนกลุ่มนี้มีอยู่อย่างคาดไม่ถึง กระทั่งเกิดเป็นแรงบันดาลใจเย้ายวนให้ต้องการเปลี่ยนแปลงมุมมอง สภาพแวดล้อม บริบท หรือสัญลักษณ์ที่เคยเห็นคนเร่ร่อนข้างถนนเป็นเสมือนคนไร้สถานะ และถูกลดระดับชนชั้นไปในสังคม อีกทั้งเป็นที่น่ารังเกียจ และไม่ต้องการของสังคมให้เกิดมุมมองใหม่ ความรู้สึกใหม่ และสถานะใหม่
“ปกติทำงานเกี่ยวกับความเชื่ออยู่แล้ว จึงใช้สัญลักษณ์ทางความเชื่อเป็นแนวคิดหลัก เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่กับคนคนนี้ บางคนเขามองเป็นเทพ เพราะเทพแต่ละคนไม่เหมือนกัน เทพบางคนผิวดี งดงามแต่ในที่นี้สำหรับคนเร่ร่อนนอนกินอยู่ข้างถนน คำว่าสวยของเขาอาจไม่ได้สวยหรูเหมือนที่เราคิดขึ้น จึงอยากลองเปลี่ยนมุมมอง ให้คนเกิดมุมมองใหม่ต่อคนกลุ่มนี้โดยให้พวกเขาเป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อ เพื่อให้เกิดบริบทใหม่ขึ้นมา” ณรงค์ฤทธิ์ เผยแนวคิด พร้อมบอกว่าการแข่งขันครั้งนี้ทำให้เขาได้เปิดโลกทัศน์ ที่เป็นประสบการณ์ครั้งใหม่ และได้รับมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายรางวัลศิลปินดาวเด่นบัวหลวงดีเด่น ได้รับเงินทุนการศึกษา 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ เป็นของ ฐิติพรหม อ่อนเปี่ยม นักศึกษา ชั้นปี 5 คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับผลงาน “บรรยากาศในห้อง” การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่แสดงผ่านผลงานของเด็กสาวจากจ.เชียงใหม่ ที่เข้ามาทำตามความฝันที่กรุงเทพฯ แม้ว่าสภาพแวดล้อมที่แตกต่างทำให้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่าง
หากครอบครัวก็ยังคงเป็นกำลังใจที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
“ผลงานชิ้นนี้สื่อถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงแม้ว่าสภาพข้างนอกจะเป็นยังไง ครอบครัวก็ยังคงเป็นแรงใจสำคัญในการปรับตัว เพื่อให้เราอยู่ในสังคมใหม่ๆ ได้อย่างมีความสุข โดยสะท้อนผลงานผ่านภาพหอพักของตัวเองในการแทนความรู้สึก โดยใช้เทคนิคสื่อผสม เย็บปัก เนื่องจากเป็นคนชอบเย็บปักถักร้อย โดยมีการนำภาพของพ่อแม่มาตัดแปะแทรกอยู่ในส่วนหนึ่งของผลงานด้วย สำหรับความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน คือการกะน้ำหนักให้พอดีกันทั้งภาพ เหมือนการไล่แสงในการวาดภาพ เพียงแต่เราเปลี่ยนวิธีการจากใช้สีมาเป็นใช้ผ้าแทน” ฐิติพรหม เปิดใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญ รวมทั้งบอกประโยชน์ที่ได้รับจากการเวทีนี้ที่เหมือนเป็นการได้แบ่งปันความรู้เรื่องศิลปะร่วมกับเพื่อนๆ ที่มาจากหลากหลายภูมิภาค ซึ่งแม้เรียนศิลปะเหมือนกัน หากมีความแตกต่างกันทั้งทัศนคติ มุมมอง และประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาจากพื้นเพที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์ของกิจกรรมในปีนี้ คือ การสเก็ตช์ภาพกรุงเทพฯ ในจินตนาการของเด็กๆ ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ โดยนักศึกษาได้นำภาพดังกล่าวไปพัฒนาต่อให้สมบูรณ์และนำมาจำหน่าย ภายใต้โครงการ “รวมน้ำใจช่วยพี่น้อง” โดยภาพทั้ง 52 ภาพนี้ นำมาจำหน่ายในราคาภาพละ 3,000 บาท เพื่อนำรายได้ทั้งหมดสมทบทุนกิจการของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ต่อไป หากผู้สนใจต้องการซื้อภาพ สามารถเลือกซื้อและชมภาพจริงได้ในงานนิทรรศการ ดาวเด่นบัวหลวง 101 ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 นี้ หรือชมภาพได้ที่เว็บไซต์ bualuang101.kapook.com
ชมผลงานของศิลปินดาวเด่นบัวหลวงคนล่าสุด และผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดในโครงการ “ดาวเด่นบัวหลวง 101” ครั้งที่ 7 ได้ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยนิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 และชมภาพบรรยากาศการทำงานย้อนหลัง ได้ทางเว็บไซท์ bualuang101.kapook.com หรือที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/Bualuang101
บริษัท พับบลิค ฮิต จำกัด
เบอร์โทร : 02-252-5699