7 นิยายเข้ารอบสุดท้าย ซีไรต์

เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง : แดนอรัญ   แสงทอง

“เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” เป็นเรื่องราวการเรียนรู้ความทุกข์จากความลุ่มหลงและความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ความผูกพัน ชนชั้นวรรณะ และเพศสถานะ  ผ่านเรื่องเล่าอย่างมีอุเบกขาของ กีสาโคตมีเถรี

ในวาระสุดท้ายแห่งชนม์ชีพ ท่ามกลางหมู่ภิกษุณีและสิกขมานาที่แวดล้อม ณ เชตวันมหาวิหาร  เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ชมพูทวีป เรื่องเล่าเน้นการถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยลำดับ  ด้วยภาษาอันกอปรด้วยวรรณศิลป์ ลดความกระเพื่อมไหวทางอารมณ์  มุ่งคืนสติสู่ผู้ถูกเล่า ผู้เล่า และผู้อ่านเรื่องเล่า ให้พินิจพิจารณาตรวจสอบจิตใจของตนและหาอุบายจัดการกับอารมณ์อันเป็นทุกข์ไปพร้อมกัน

“เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” จึงเป็นมากกว่าเรื่องเล่าที่มีวรรณศิลป์ หากแต่เป็นพื้นที่แห่ง  “ความกรุณา”  ที่ให้โอกาสมนุษย์ได้แบ่งปันประสบการณ์ทางอารมณ์ เรียนรู้การข้ามผ่านอารมณ์อันไม่พึงประสงค์จากพุทธตำนาน   และใช้ปัญญาปรับทิศทางของอารมณ์เพื่อก่อเกิดผลเชิงบวกต่อชีวิต

คนแคระ : วิภาส ศรีทอง

นวนิยายที่สำรวจเข้าไปในจิตใจมนุษย์ ณ จุดที่อยู่ลึกที่สุด ดำมืดที่สุด ดินแดนที่แม้กระทั่งมนุษย์ผู้นั้นก็อาจไม่รู้มาก่อนถึงการมีอยู่ของมัน ทั้งๆ ที่มันครอบครองพื้นที่มหาศาลของจิตใจเอาไว้

วิภาส ศรีทอง นำเสนอเรื่องราวแห่งโลกปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนไปด้วยความไร้เหตุผล สิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างปราศจากคำอธิบาย ไม่มีศีลธรรมจรรยาใดๆ กำกับควบคุม มีแต่เพียงจิตใต้สำนึกที่เป็นแรงผลัก และสั่งให้กระทำสิ่งที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็รู้ว่าเป็นอาชญากรรม ในขณะที่ผู้อ่านตื่นตระหนกต่อสิ่งที่ตัวละครกระทำ ตัวละครก็ตื่นตะลึงต่อการกระทำที่มาจากเบื้องลึกในตัวเองเช่นกัน นี่คือการค้นพบด้านมืดที่ซ่อนอยู่ อันนำไปสู่ความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งแปลกใจ ตื่นเต้น หดหู่ และอื่นๆ อีกมากมายเหตุการณ์การลักพาตัวคนแคระมากักขังไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ ไม่เพียงเป็นเครื่องทดสอบจิตสำนึกของตัวละครเท่านั้น ยังเป็นเครื่องวัดมาตรฐานคุณธรรมในจิตใจผู้อ่านด้วย สุดท้ายหลายคนอาจค้นพบว่า เราก็ไม่ต่างจากตัวละครในเรื่องนี้ ที่มีด้านมืดอันน่ากลัวซ่อนเร้นอยู่ เราปรารถนาที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของมัน แต่สิ่งที่เราทำได้กลับมีเพียงการจ้องมองมันราวสิ่งแปลกปลอม โดยรู้ชัดแจ้งว่า นี่คือส่วนหนึ่งในชีวิตที่เรามิอาจปฏิเสธได้

ในรูปเงา : เงาจันทร์

เป็นเรื่องราวความรักความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างพ่อกับลูกชาย โดยมีเจ้าดอกรุงรัง วัวทโมนตัวร้ายและหญิงสาวอีกนางหนึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ เรื่องนี้ประกอบสร้างขึ้นด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างจนคล้ายเป็นคู่ตรงข้าม แต่ก็สามารถผสมผสานกันอย่างกลมกลืน เรื่องราวเรียบง่ายจึงได้รับการเสกสรรให้กลายเป็นงานวรรณกรรมอันงดงาม คล้ายภาพวาดที่เต็มไปด้วยมิติแสงเงาอันซับซ้อน อ่อนไหว และมีเสน่ห์ชวนติดตามน้ำเสียงในการเล่าเรื่องอ่อนหวานราวกับกำลังเล่าเรื่องรักพาฝัน แต่เนื้อหาที่นำเสนอนั้นกลับหน่วงหนัก ถึงขั้นสั่นคลอนความเชื่อมั่นศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ ′เงาจันทร์′ ตั้งคำถามต่อความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างพ่อกับลูก ยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับเจ้าพลิ้วลูกชายลึกซึ้งงดงามมากเท่าใด ก็ยิ่งเปิดโปงให้เห็นชัดเท่านั้นว่า เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเดรัจฉานนั้นแสนบาง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ต่างก็ล้วนถูกผลักดันด้วยสัญชาติญานดิบเถื่อน มิได้ผิดแผกจากกันแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้ นำเสนอผ่านเส้นทางความสัมพันธ์ที่ดำเนินคู่ขนานกันไป ระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ และระหว่างสัตว์กับสัตว์ ซึ่งเต็มไปด้วยสัญญะให้ตีความได้ไม่รู้จบ

ถ้อยคำพรรณนาคัดสรรอย่างประณีต แล้วบรรจงจัดเรียงให้ได้รสอันอ่อนละมุน แต่กระนั้น ถ้อยคำที่นุ่มนวลนั้นกลับทรงพลังและมีอำนาจกระทำต่อผู้อ่านอย่างรุนแรง ราวกับผู้อ่านเป็นหุ่นที่ผู้เล่าเรื่องจะชักเชิดให้รู้สึกอย่างไรก็ได้ตามแต่จะตวัดปลายนิ้ว ทั้งอิ่มเอิบสุขเศร้าได้ภายในถ้อยอักษรบรรทัดหนึ่ง แล้วกลับหวาดหวั่น ทุกข์กังวลในอีกไม่กี่บรรทัดถัดมา และในบางคราก็แทบจะรอนร้าวราวจะขาดใจตามตัวละครไปเสียให้ได้กล่าวได้ว่า “ในรูปเงา” แม้จะเป็นเพียงนวนิยายที่นำเสนอโศกนาฏกรรมของคนธรรมดาสามัญ หากแรงกระทบต่อผู้อ่านนั้นยิ่งใหญ่ลึกซึ้งไม่น้อยไปกว่าละครโศกนาฏกรรมคลาสสิกของตะวันตกเลยทีเดียว

รอยแผลของสายพิณ : สาคร  พูลสุข

ประดุจตัวหนังตะลุงที่ถูกชักเชิด ชีวิตคล้ายถูกควบคุมด้วยมือที่มองไม่เห็น ให้ก้าวเดินไปตามเส้นทางชีวิตที่มีแต่ความหม่นเศร้า ครอบคลุมด้วยเงาดำแห่งชะตากรรม และการกระทำของมนุษย์ด้วยกันผู้มีอำนาจเหนือกว่า บางคนคอยกำกับชีวิตผู้อื่น ประหนึ่งนายหนังผู้กำหนดเรื่องราวของเหล่าตัวละคร หากแต่พร้อมกันนั้น โดยไม่ทันรู้ตัว เขาก็กลายเป็นหนึ่งตัวละครที่โลดแล่นไปตามบทบาท อย่างมิอาจขัดขืนเช่นกัน

นี่คือประวัติศาสตร์เล็กๆ แห่งท้องถิ่นที่ใกล้จะถูกลืมเลือน เมื่อกาลเวลาล่วงผ่าน จากยุครุ่งโรจน์แห่งอาณาจักรกระเบื้องโบราณ ค่อยๆ ย่างเข้าสู่ยุคแห่งความร่วงโรย เก่าโทรม และถูกทอดทิ้ง ถึงแม้ตัวละครทั้งหมดจะข้ามมาจากอดีต หากแต่พวกเขาก็ได้บอกเราให้รู้ถึงความจริงแห่งชีวิต ที่ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ธาตุแท้ของมนุษย์ก็ไม่เคยเปลี่ยน และนี่เองที่นำพาทุกคนให้ร่วงตกสู่หลุมตมแห่งโศกนาฏกรรม

“รอยแผลของสายพิณ” คือนวนิยายสั่นสะเทือนอารมณ์ ที่เล่าผ่านเรื่องราวของผู้หญิงสามรุ่น เป็นเสมือนภาพสะท้อนว่าชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง ผสมผสานด้วยสุขทุกข์คลุกเคล้า และหลากหลายอารมณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งสุดท้าย ทั้งหมดก็เหลือแต่เพียงความว่างเปล่าเท่านั้น

เรื่องเล่าในโลกลวงตา: พิเชษฐศักดิ์  โพธิ์พยัคฆ์

“เรื่องเล่าในโลกลวงตา” เป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงภาวะจิตใจของมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความรักและความแค้น จนนำไปสู่หนทางของการต้องไปตัดกรรม เพื่อให้กรรมนั้นสิ้นสุด

แต่สุดท้าย เมื่อการเดินทางจบลง จึงค้นพบว่าความคลั่งแค้นต่างหากที่บดบังดวงตา ไม่ให้มองเห็นดอกไม้ที่หยั่งรากฝังลึกอยู่ในดวงใจตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน และได้เรียนรู้ว่าโลกเอาบางสิ่งไปเพื่อให้อีกสิ่งหนึ่งตอบแทน ไม่มีใครจะครอบครองทุกสิ่งได้เสียหมดชีวิตเป็นเพียงความครู่คราว ดั่งแสงดาวกระพริบหนึ่งครั้ง ทว่ารอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ยังผลิบานเสมอในที่มันก่อเกิดในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ผ่านตัวละครและเหตุการณ์ด้วยภาษาอันงดงาม   จนเห็นภาพเคลื่อนไหว รวมถึงได้ยินเสียง ทั้งยังได้รสและกลิ่นอย่างครบครันน่าติดตามอย่างยิ่ง

โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า : ศิริวร  แก้วกาญจน์

มนุษย์ล้วนมีเรื่องราวแห่งความขัดแย้งบาดหมางเกิดขึ้นอยู่กับใจ บนแผ่นดินแห่งความผิดบาปที่เร้นลึกทุกสิ่งดำเนินต่อเนื่องกันมา  เป็นบาดแผลแห่งชะตากรรมอันไม่รู้จบ เป็นความโศกเศร้าที่สื่อสะท้อนถึงโลกแห่งความหมายที่เป็นอันตราย เหตุนี้ประวัติศาสตร์ในด้านหนึ่งของชีวิตดั่งนี้จึงถูกจารึกไว้ด้วยทัศนะเชิงคติ  กระทั่งกลายเป็นสงครามแห่งเจตจำนงที่ซ้อนซับ”  ในเชิงสาระเนื้อหา  นวนิยายเรื่องนี้ คือผลรวมแห่งการสืบค้นถึงสถานการณ์อันเป็นวิกฤต  ระหว่างสัมพันธภาพแห่งชาติพันธุ์อันชิดใกล้กับรอยแตกร้าวของสัญชาตญาณที่แปลกต่าง ห่างไกลที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่คือวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยพลังแห่งมโนสำนึกของผู้เขียน  ที่รังสรรค์ขึ้นจากข้อเท็จจริงของสถานการณ์ ด้วยการผสานทักษะฝีมือในเชิงเปรียบเทียบ ผ่านกระบวนทัศน์แห่งการคิดวิเคราะห์และความงดงามแห่งศิลปะของการประพันธ์อันหยั่งลึกในทางจิตวิญญาณของการรับรู้อันเป็น คุณค่าร่วมกัน

“ชะตากรรมเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา…เช่นเดียวกับอนาคต…ไม่มีคำอธิบายอื่นใดที่ดีไปกว่านี้…เว้นแต่ปาฏิหาริย์”

ลักษณ์อาลัย : อุทิศ เหมะมูล

“ลักษณ์อาลัย” เป็นนวนิยายขนาดยาวที่โดดเด่นทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบ และกลวิธีนำเสนอ ประกอบสร้างตัวบทขึ้นจากการปะทะสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเล่าที่หลากหลาย ทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับชนชั้นสูง และคนธรรมดาสามัญ สะท้อนเงื่อนปมสำคัญที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก พี่กับน้อง ภายใต้ร่างแหเรื่องเล่าที่ถักทอขึ้นเป็น “ตัวตน” ของแต่ละคน ตัวตนที่พร้อมจะถูกอธิบาย ตีความ บิดผัน ปรุงแต่ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็น “ความจริง” แต่ละชุด แผกต่างออกไปตามมุมมองหรือจุดประสงค์ของผู้เล่า ลักษณ์อาลัยแสดงให้เห็นว่าตัวตนของแต่ละคนถูกประกอบสร้างขึ้นโดยเรื่องเล่า ทั้งจากที่เล่าด้วยตนเอง หรือจากปากคำของคนอื่น จนกล่าวได้ว่าคนอื่นมีชีวิตอยู่ในเรื่องเล่าของเรา และเราก็มีชีวิตอยู่ด้วยเรื่องเล่าของคนอื่น ผลัดกันถักทอก่อรูป ผิด ถูก ดี เลว คละปะปนกันไปในน้ำเนื้อแห่ง “ความเป็นมนุษย์” ที่ล้วนโลดแล่นไปในลักษณาการต่าง ๆ  ทั้งโดยโหยหาอาลัย หรือแม้แต่ไม่อยากจดจำในด้านกลวิธี นักเขียนเล่นล้อกับมโนทัศน์ “เรื่องจริง-เรื่องแต่ง” ในวรรณกรรม เช่น การใช้ชื่อตัวละครเอกว่า “อุทิศ” ซึ่งเป็นชื่อของนักเขียนเอง ตลอดจนการหยิบยกเอาตำนานและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ (ที่ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง) มาเล่าเป็นเรื่องคู่ขนาน

ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงวรรณกรรมรักพาฝันร่วมสมัยสไตล์เกาหลีซึ่งแพร่หลายอยู่ในหมู่นักอ่านวัยรุ่นไทย ด้วยน้ำเสียงพิเคราะห์ใคร่ครวญ ถอดรื้อให้เห็นสัญนิยม (convention) ของวรรณกรรมแนวนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านขบคิดถึงความสอดคล้องกับเรื่องเล่าแนวอื่นๆ ที่ดำเนินไปแทบจะไม่แตกต่างกัน จนท้ายที่สุดได้ชี้ชวนให้ทำความเข้าใจไปได้อีกชั้นว่า ขึ้นชื่อว่า “เรื่องเล่า” แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าตามขนบวรรณกรรมแนวใดก็ตาม ย่อมมีสัญนิยมที่เป็นกรอบครอบอยู่เพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เมื่อถอดรื้อให้เห็น เราก็จะพบว่า รูปแบบการเล่าเรื่องที่ดูแตกต่างจนสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายสร้างสรรค์ นิยายรักพาฝัน ตำนานประวัติศาสตร์ อัตชีวประวัติ หรือเรื่องเล่าส่วนบุคคล แท้จริงแล้วยืนอยู่บนกรอบวิธีคิดในเชิงศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง (narratology) ที่ไม่ผิดแผกแตกต่างในเชิงโครงสร้างมากนัก

กลวิธีสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การให้เรื่องเล่าอื่น ๆ สะท้อนโต้ตอบ (echo) กับเรื่องเล่าหลักเพื่อสื่อความหมายเชิงลึกที่เรื่องเล่าหลักไม่จำเป็นต้องพรรณนาหรืออธิบาย กลวิธีเช่นนี้ยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดสหบท (intertextuality) ที่เชื่อว่าตัวงานวรรณกรรมหรือเรื่องเล่าเป็นเสมือนผืนผ้าที่ถักทอขึ้นมาจากเส้นใยแห่งวาทกรรม (discourse) หรือ ตัวบท (text) ทางสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนวนิยายที่ส่งเข้าร่วมประกวดรางวัลซีไรต์ปีนี้ พบว่าแนวคิดเรื่องสหบทนั้นเป็นกระแสที่จะได้รับความสนใจจากนักเขียนไทยอย่างกว้างขวางในอนาคต

กลวิธีที่ดีเด่นเช่นนี้ส่งผลต่อเนื้อหาของเรื่องที่ผู้เขียนสามารถสะท้อนความตื้นลึกหนาบางของความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าใครครวญยิ่ง “คน” ใน “ลักษณ์อาลัย” จึงเต็มไปด้วยความซับซ้อนคลุมเครือ มีดีและไม่ดี (ตามมาตรฐานสังคม) แตกต่างกันออกไปในคนคนเดียวกัน  ไม่มี “เอกบุคคล” ที่มีเจตจำนงเสรี แต่เป็น “คน” ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่าที่หลากหลาย นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดคำถามมากกว่าที่จะป้อนคำตอบ ซึ่งเป็นท่าทีของวรรณกรรมแบบหลังสมัยใหม่ที่เชื่อว่าสามารถกระตุ้นให้วรรณกรรมไทยรุ่นใหม่มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นต่อไป

คณะกรรมการคัดเลือกซีไรต์ 2555

1.รศ.บาหยัน อิ่มสำราญ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์  วิทยาเขตสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

2. นายจรูญพร  ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์

3.ผศ. ดร. จินดา ศรีรัตนสมบุญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก  คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

4.นายขจรฤทธิ์ รักษา นักเขียนรางวัลศิลปาธร  และ ผู้ก่อตั้งนิตยสารไรเตอร์

5.อาจารย์นพดล ปรางค์ทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา

6.นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ นักเขียน

7.อาจารย์สกุล บุณยทัต คณะอักษรศาสตร์ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

You may also like...