จิตรกรรมลายทองร่วมสมัย 2557

สิโรจน์ พวงบุบผา จิตรกรไทยรุ่นใหม่ เจ้าของรางวัลเหรียญทองบัวหลวง 3 ปีซ้อน จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวในชื่อชุด “จิตรกรรมลายทองร่วมสมัย 2557” โดยรวบรวมผลงานจิตรกรรมไทยเชิงพุทธศิลป์กว่า 40 ชิ้นที่ประยุกต์เทคนิคงานโบราณอย่างลายรดน้ำ งานลายทอง และลายกำมะลอ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและจินตนาการในดินแดนแห่งป่าหิมพานต์ ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรมสอนใจมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนาให้ละวางจากความลุ่มหลง

สิโรจน์ พวงบุบผา ศิลปินหนุ่มวัย 30 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 และระดับปริญญาโท จากภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ซึ่งบ่มเพาะให้เขามีพื้นฐานการศึกษาด้านงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณีอย่างลึกซึ้ง โดยเขามุ่งศึกษางานจิตรกรรมประเภทเอกรงค์ ได้แก่ งานลายรดน้ำ งานลายทองและลายกำมะลอ ซึ่งในอดีตเป็นงานช่างประณีตศิลป์เพื่อตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ เช่น หีบ โต๊ะ ตู้ รวมถึงเพื่อตกแต่งส่วนประกอบอาคาร เช่น ฝาผนัง บานประตู หน้าต่าง ด้วยกรรมวิธีการเขียนด้วยน้ำยาหรดารบนพื้นรัก สีดำแล้วปิดทองรดน้ำ เทคนิคดังกล่าวได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังอย่างสิโรจน์ โดยคลี่คลายรูปแบบลงสู่เฟรมผ้าใบ ดังเช่นในงานวิทยานิพนธ์ชุดจิตรกรรมลายทองร่วมสมัยของเขา สิโรจน์เคยส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และผลงานสิโรจน์ชนะการประกวดประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2553 รวมถึงอีกหลายเวทีการประกวดศิลปกรรม นับเป็นก้าวหนึ่งแห่งความสำเร็จของศิลปินผู้พัฒนาเทคนิคของช่างเขียนไทยโบราณได้อย่างน่าสนใจและมีเอกลักษณ์ร่วมสมัยในปัจจุบัน

นิทรรศการ “จิตรกรรมลายทองร่วมสมัย 2557” นี้ เป็นการนำผลงานสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ปี 2548-2557 รวม 10 ปี โดยการพัฒนาผลงานทางด้านเทคนิคการสร้างสรรค์และแนวความคิดที่อาศัยรูปทรงทางธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ โขดหิน แม่น้ำ ฯลฯ มาผสมผสานกับรูปทรงที่มีลักษณะแบบอุดมคติไทย เช่น ตัวพระ ตัวนาง สัตว์หิมพานต์ ฯลฯ โดยอาศัยเทคนิคที่มีการคลี่คลายจากงานลายรดน้ำ งานลายทองและลายกำมะลอจนเกิดเป็นเทคนิคใหม่ คือ เทคนิคจิตรกรรมลายทอง ซึ่งผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ได้แบ่งช่วงในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยแบ่งจากรูปแบบและแนวความคิดออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

พ.ศ.2548 – 2550 เป็นงานจิตรกรรมที่ถ่ายทอดแนวความคิดเกี่ยวข้องกับคติธรรมและปรัชญาทางพระพุทธศาสนาในเรื่องต้นนารีผลที่อยู่ในป่าหิมพานต์ มาเป็นเครื่องเตือนสติมนุษย์ ให้ละวางจากความลุ่มหลงในกามกิเลส โดยเปรียบกับกิเลสในใจของผู้ชมที่ได้ชมผลงานแล้วเห็นความงามของ สีทองที่เกิดจากทองคำเปลวมาเรียงปิดติดต่อกัน ส่องแสงประกาย ประกอบกับรูปทรงของต้นไม้ที่ทรงพลัง บิดคดเคี้ยวไปมา ในพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยมของผลงาน สิ่งเหล่านี้รวมกันเกิดเป็นสุนทรียะทางด้านความงาม ลวงตา ลวงใจ ทำให้ผู้ชมเกิดกิเลสและอยากเข้าไปสัมผัสผลงานใกล้ๆ ดังวิทยาธรที่เห็นความงามของนารีผล

พ.ศ. 2551 – 2557 ผลงานสร้างสรรค์ในช่วงนี้ได้นำเรื่องราวของดินแดนหิมพานต์ ตามคติความเชื่อของคนโบราณ ซึ่งเป็นดินแดนที่เหนือความเป็นจริง จากตำนานกล่าวว่าป่าหิมพานต์อยู่ในชมพูทวีป เต็มไปด้วยสัตว์ที่มีรูปร่างแปลกประหลาด ผิดไปจากสัตว์ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เกิดจากสัตว์หลากหลายประเภทมาผสมกัน จนเกิดเป็นสัตว์ชนิดใหม่ เรียกว่าสัตว์หิมพานต์ และไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำหรือต้นไม้ แม้แต่มนุษย์ที่เข้าไปอาศัยในป่าหิมพานต์ ก็ย่อมไม่ใช่มนุษย์ ด้วยความเชื่อเรื่องดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนด้วยเส้นสายที่อ่อนช้อย พลิ้วไหว นำไปสู่การถ่ายทอดความคิด อารมณ์ และความรู้สึกตามทัศนคติส่วนตนที่มีต่อเรื่องหิมพานต์นี้

นิทรรศการ “จิตรกรรมลายทองร่วมสมัย 2557” โดย สิโรจน์ พวงบุบผา เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2557 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ นอกจากนี้ในระหว่างนิทรรศการจะมีกิจกรรมWorkshop เทคนิคจิตรกรรมลายทองบนจานกระเบื้อง โดยมีวิทยากรคือ สิโรจน์ พวงบุบผา เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมทดลองเทคนิคการเขียนลายรดน้ำเบื้องต้นลงบนภาชนะ กิจกรรมจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2557 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ บริเวณชั้น 1 หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เคาท์เตอร์ชั้น 1 โดยมีค่าใช้จ่ายท่านละ 200 บาท (รับจำนวนจำกัด 30 คน และเด็กเล็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป)

นิทรรศการ : จิตรกรรมลายทองร่วมสมัย 2557
ศิลปิน : สิโรจน์ พวงบุบผา
วันที่ : 4 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2557
สถานที่ : หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โทร : 02-281-5360-1

You may also like...