ชีวิตและผลงาน เฟื้อ หริพิทักษ์

นิทรรศการพิเศษ เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและผลงานคัดลอกจิตรกรรมไทยประเพณี ผลงานโดย เฟื้อ หริพิทักษ์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า

จุดเริ่มต้นทางศิลปะ
เฟื้อ หริพิทักษ์ เริ่มศึกษาศิลปะครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่โรงเรียนเพาะช่าง ศึกษาจนถึงชั้นปีที่ห้าแต่ไม่สำเร็จการศึกษาเนื่องจากแนวความคิดการสอนศิลปะในเพาะช่างขัดแย้งกับความต้องการทำงานศิลปะของท่าน พ.ศ ๒๔๗๙ ท่านได้มาศึกษาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

แรงบันดาลใจจากอินเดีย
เดิมที อาจารย์เฟื้อ ตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอิตาลี แต่เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสียก่อน ในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ประกอบกับเมื่อครั้งศึกษากับศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ได้มีโอกาศศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ของประเทศอินเดีย ทำให้เกิดความใฝ่ฝันว่าจะต้องเดินทางไปประเทศอินเดียให้ได้ ท่านจึงเลือกเดินทางไปศึกษาต่อ ที่ประเทศอินเดียแทน ด้วยทุนของภรรยา คือ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ณ มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ณ ที่นั้นเอง ที่อาจารย์เฟื้อได้แนวทางการศึกษาอนุรักษ์และคัดลอกภาพจิตรกรรมประเพณีโบราณ และเมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี
เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ อาจารย์เฟื้อ ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถานที่กรุงโรม โดยทุนของรัฐบาลอิตาลี เป็นเวลาสองปี ด้วยเหตุที่ท่านมีนิสัยรักในอิสรภาพ ไม่ชอบอยู่ในกรอบของสถานศึกษา ท่านจึงไม่มีประกาศนียบัตรทางศิลปะใดๆติดตัวไปเลย มีเพียงจดหมายรับรองของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ที่ได้ย่องย่องชมเชยอาจารย์เฟื้อไว้ว่า “เป็นหนึ่งในศิลปินสยามที่ดีที่สุดในขณะนั้น”

ผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
ช่วงเวลาที่ไปศึกษาต่อยังประเทศอิตาลีนั้น เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้ทดลองเทคนิคจิตรกรรมใหม่ๆ อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีชอล์ค ดินสอสี หมึก เกรียงปาดสี ท่านยังได้ทดลองสร้างผลงานแนวนามธรรมและคิวบิสซึ่ม ผลงานของท่านในช่วงนี้ มีความแปลกใหม่สำหรับจิตรกรไทยในขณะนั้น หลังจากกลับจากอิตาลี ผลงานภาพวาดของท่าน ได้รับรางวัลเหรียญทองงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นครั้งที่ ๓ หลังจากเคยได้รับรางวัลเดียวกันมาก่อน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ – ๒๔๙๓ จึงได้รับยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ประเภทจิตรกรรม ภายหลังท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย

อาจารย์เฟื้อ กับงานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง
ความสนใจในศิลปะไทยของอาจารย์เฟื้อ เริ่มตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อท่านได้เดินทางไปเขียนภาพที่ จังหวัดเชียงใหม่ และ ลำพูน ในครั้งนั้น นอกจากงานสร้างสรรค์ศิลปกรรมแล้ว ท่านยังได้รับมอบหมายจาก ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ให้ทำการสเก็ตภาพศิลปวัตถุ เพื่อนำมาใช้สอนนักศึกษาด้วย กล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ท่านได้ทำการศึกษาศิลปะของไทยอย่างเป็นระบบ ต่อมาเมื่อท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอินเดีย ที่นั่น ได้มีการปฏิรูปศิลปะโดยที่โน้มน้าวจิตใจชาวอินเดีย มิให้ละทิ้งลักษณะประจำชาติ และใช้วิธีการส่งคนที่มีความรู้ความสามารถไปคัดลอกภาพเขียนที่มีคุณค่าตามแหล่งต่างๆ ของประเทศมาติดตั้งไว้ให้ศึกษากันอย่างใกล้ชิด ทำให้ท่านคิดได้ว่า นักศึกษาศิลปะของประเทศไทยศึกษาศิลปะของชาติต่างๆมากมาย แต่ไม่เคยรู้จักของดีในประเทศตนเลย ควรที่จะได้ทำการศึกษาค้นคว้าศิลปะไทยอย่างจริงจัง เพื่อที่จะหาแนวทางสำหรับสร้างสรรค์งานจิตรกรรมขึ้นมาใหม่

ผลงานด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยที่สำคัญของอาจารย์เฟื้อ ได้แก่ การบูรณะปฏิสังขรณ์หอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม
ผลงานการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังจากโบราณสถานหลายๆแห่งของอาจารย์เฟื้อส่วนหนึ่ง ซึ่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เก็บรักษาไว้ ได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงในคุณงามความดีของท่านในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

นิทรรศการ : เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและผลงานคัดลอกจิตรกรรมไทยประเพณี
ศิลปิน : เฟื้อ หริพิทักษ์
วันที่ : 1 มีนาคม – 27 เมษายน 2557
สถานที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : 02-281-2224

You may also like...