พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง

ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่

เขตสวนหลวง ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตสวนหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2536 นี้เอง โดยรวมพื้นที่แขวงสวนหลวงและบางส่วนของเขตคลองเตย และพระโนขงให้เป็นเขตปกครองใหม่ เพื่อความสะดวกทางการปกครองและการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง ด้วยสาเหตุนี้ วัดมหาบุศย์ หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดแม่นาคพระโขนงที่เราทุกคนรู้จักกันดี จึงมีที่ตั้งอยู่ในเขตสวนหลวง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
เขตสวนหลวงจึงมีวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ ประกอบด้วย ชาวไทย ชาวไทยมอญ ชาวไทยมุสลิม ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
ตั้งอยู่ที่อาคารไม้สักเรือนไทย วัดใต้ เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏนามและสืบสานต่อกันมา วิถีชีวิตของผู้คนชาวสวนที่ใช้ชีวิตฝากเอาไว้กับสายน้ำคูคลองทั้งวัด และมัสยิดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
มุมนิทรรศการภาพมุมแรกเล่าถึงศิลปวัฒนธรรม งานบุญงานประเพณีต่างๆที่ผู้คนในเขตนี้ยังคงสืบสานกันต่อมา ทั้งงานบุญมหาชาติ งานถวายสลากทุเรียนและผลไม้ ประเพณีแข่งเรือ พิธีละหมาด การถือศีลอดในเดือนรอมฏอน ของชาวมุสลิม มุม ร.เรือพายไป จัดแสดงเรือรูปแบบต่างๆที่ใช้ในการสัญจรในอดีตอย่างหลากหลายเช่น เรือหมู เรือพายม้า เรือม่วง เป็นต้น

มุมจัดแสดงภาพอีกมุมหนึ่ง เล่าประวัติความเป็นมาของชาวสวนหลวง จากการรบชนะสงคราม รัชกาลที่ 3 ทรงกวาดต้อนพี่น้องชาวมลายูและปัตตานีมาอยู่ในเมืองหลวง และได้พระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัย ในพื้นที่เขตสวนหลวง จึงเป็นเหตุให้ประชากรชาวมุสลิมในเขตนี้นั้นมีจำนวนมาก ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องราวของสถานที่เคารพสักการะของชาวสวนหลวง ได้แก่ วัดมหาบุศย์และมัสยิดกุ๊บรอ วัดมหาบุศย์นี้สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเป็นวัดร้าง และเมื่อพระมหาบุศย์จากวัดเลียบหรือวัดราชบูรณธมาเยี่ยมญาติโยม ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ที่วัด และเป็นผู้นำในการบูรณะวัด จึงได้ชื่อว่าวัดมหาบุศย์มาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 2 ส่วนมัสยิดกุ๊บรอ เป็นมัสยิดแห่งแรกของคลองพระโขนง สร้างตั้งแต่ปี 2322

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง
ตั้งอยู่ที่ศาลาไม้สักเรือนไทย วัดใต้ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
โทรศัพท์ : 02-332-8139
เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.30-16.30 น.

สำนักงานเขตสวนหลวง
2998 ถนนพัฒนาการ
แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
โทรศัพท์ : 02-322-6688, 02-322-6647, 02-322-7293

ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333

ขอบคุณภาพประกอบจาก : ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย

You may also like...