พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต
เขตดุสิตน่าจะได้ชื่อมาจากรัชกาลที่ 5 ท่านได้ทรงซื้อที่ดินสวนสวยเอาไว้ เพื่อใช้ประทับแรมให้ชื่อว่าสวนดุสิต เนื่องจากอยู่ไกลพระราชวัง เป็นเขตเจ้าเขตนายและเป็นพื้นที่เก่าแก่ จึงมีประวัติเรื่องราวมากมายที่มีคุณค่าเป็นเหมือนเขตเมืองเก่า เมื่อมองไปทางไหนก็ทำให้ระลึกถึงความงดงามในอดีตได้ตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากการเก็บรวบรวมคุณค่าความทรงจำไว้ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เขตดุสิต ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารเรือนไม้ชั้นเดียวหน้าพิพิธภัณฑ์เด็กสวนเกียกกาย
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
รวบรวมข้อมูลและเรื่องราว สิ่งก่อสร้าง ศิลปกรรม บุคคล ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
ห้องแรกของพิพิธภัณฑ์ เราจะได้รู้จักกับประวัติความเป็นมาของเขตดุสิต ภาพบรรยากาศในอดีต แผนที่แสดงพระราชวังดุสิต, พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอนันตสมาคม, รัฐสภา, วังสุโขทัย, พระราชวังจันทรเกษม, พระราชวังปารุสกวัน ล้วนแล้วแต่เป็นทั้งประวัติศาสตร์ และความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่เราคนไทยนั้นภูมิใจและควรหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง
ห้องต่อมาจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ดุสิต รวบรวมเครื่องแต่งกายโบราณ ในรัชกาลที่ 5 รวมไปถึงเครื่องแต่งกายของสตรีชั้นสูงตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งไม่อาจหาชมได้โดยทั่วไป
มุมแสดงเรื่องราววิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนหลากวัฒนธรรมในเขตดุสิต บอกเล่าเรื่องโรงงานทอผ้าของกระทรวงกลาโหม โรงเบียร์แห่งแรกของประเทศที่เขตนี้เคยมีการตีทองที่สวยงาม การต่อเรือโบราณ การทำธูป และเครื่องกงเต็ก
ประวัติบุคคลสำคัญทางด้านดนตรี ด้านการเมือง อาทิ ศ.ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ ท่านเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีไทย ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์, ครูสมยศ ทัศนพันธุ์ พรานบูรพ์หรือ จวงจันทร์ จันทร์คณา ผู้ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง และที่สำคัญยิ่ง คือ
ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
สถานที่สำคัญและศิลปวัฒนธรรม อาทิ พระบรมรูปทรงม้า, พระที่นั่งอนันตสมาคม, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร, วัดญวน หรือ วัดสมณานัมบริหาร, โบสถ์เซ็นต์ฟรังซิสซาเวีย, โบสถ์คอนเซ็บชั่น, หอสมุดแห่งชาติ, บ้านพิษณุโลก, ตึกไทยคู่ฟ้า, บ้านมนังคศิลา, ราชตฤณมัยสมาคม, สวนสัตว์ดุสิต
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขต ดุสิต
ตั้งอยู่ : ณ อาคารไม้หน้าพิพิธภัณฑ์เด็กสวนเกียกกาย ถนนทหาร แขวงถนนคนรชัยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ : 02-241-3490
เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00 น.-16.30 น.
สำนักงานเขตดุสิต
317 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ : 02-243-5311-5
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-23