กชกร วรอาคม

สาวแกร่งสองบทบาท นักปฏิวัติการออกแบบรุ่นใหม่ และกระบวนกรศิลป์ ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตนำ ธรรมศิลป์ มาบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็งและอัมพาต “สุภาพสตรีท่าทางอ่อนโยน สดใส ด้วยบุคลิกและการแต่งกายแบบสาว Preppy สมัยใหม่

คุณกชกร วรอาคม เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำงานและดำเนินชีวิตอย่างจริงจังในบทบาท กรรมการผู้จัดการ ของสองบริษัทด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และศิลป์สร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับงานอดิเรกเพื่อสังคม กระบวนกรศิลป์ นักบำบัดจิตใจ ผู้นำศิลปะและหลักธรรมมาช่วยสร้างแรงผลักดันและกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่สิ้นหวัง” คำกล่าวนี้ สามารถสรุปลักษณะเด่นของ กชกร วรอาคม หรือ กชกร ได้เป็นอย่างดี

เรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอันดับเกียรตินิยมเหรียญทอง กชกร ได้เดินทางจากประเทศไทยไปสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ภูมิสถาปัตยกรรม ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สถานที่แห่งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ใหม่มากมาย นอกเหนือจากตำราที่จะต้องศึกษาอย่างหนัก แต่สิ่งสำคัญที่สร้างความประทับใจจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ การได้นำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์และปรับใช้เพื่อพัฒนาสังคมร่วมกับเพื่อนต่างชาติ ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อ KOUNKUEY (คุ้น-เคย)  DESIGN INITIATIVE (KDI) ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder)

กชกร เล่าว่า “KDI เป็นองค์กรที่ทุกคนตั้งใจที่จะนำความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการวางแผนชุมชน มาผสมผสานกับความต้องการของชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางและออกแบบพัฒนาชุมชนให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิทัศน์ที่เหมาะสม ปัจจุบัน องค์กรได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ Kibera Haiti Coachella Casablanca รวมกว่า 8 โครงการ ตลอดจนได้รับรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน อาทิ The Rockefeller Foundation, Van Alen Institute และ Urbaninform เป็นต้น ทว่ารางวัลเหล่านี้ มิได้เป็นสิ่งสำคัญมากเท่ากับ ประกายแห่งความคิดที่ทำให้ กช เกิดแรงบันดาลใจและความตั้งใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ทั้งหมด นำกลับมาพัฒนาชุมชน สังคม และเศรษฐกิจของ ประเทศไทย อันเป็นที่รัก แม้ว่า กช จะเป็นเพียงกลจักรเล็กๆ ในสังคมก็ตาม”

ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างจริงจัง เมื่อ กชกร กลับมาถึงประเทศไทย ก็ได้มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ผ่านการออกแบบเชิงผสมผสาน Greenovative Design สามารถตอบสนองความต้องการเชิงธุรกิจและสร้างสรรค์สังคม อาทิ โครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ถนนจุฬาฯ 100 ปี และถนนจุฬาฯ ซอย 5 ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกเหนือไปจากการเป็นอาจารย์ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นสถานที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ กชกร ครั้งสมัยยังเรียนปริญญาตรีอีกด้วย

นิสิตคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายคนกล่าวว่า “อาจารย์กชตัวจริงน่ารักและเป็นกันเองมาก เหมือนเป็นรุ่นพี่คนหนึ่ง อาจารย์สอนวิชาปฏิบัติการการออกแบบหรือที่พวกเราเรียกกันว่าวิชาสตูดิโอ ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการเรียนการสอนทั้งหมด ด้วยวิธีการสอนแปลกๆ ที่อาจารย์มักจะบอกว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน อาจารย์จะสร้างความแปลกใจและจุดไฟให้เราได้เสมอๆ พยายามสอนให้พวกเราสร้างสรรค์ “process” ใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับที่มาที่ไปของแต่ละอย่าง การวิเคราะห์ด้วยกระบวนการใหม่ๆ วิเคราะห์จากแรงบันดาลใจ นำไปสู่งานออกแบบที่มีมิติมากกว่าเพียงกายภาพ อาจารย์จะพยายามย้ำตลอดว่าวิชาชีพ ภูมิสถาปนิก ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของผู้คน สังคม ระบบนิเวศน์เมือง การเปลี่ยนโลกจากจุดเล็กๆ ที่ต้องเริ่ม เริ่มที่เรา”

นวัตกรรม+การออกแบบ นำไปสู่การปฎิวัติภาพลักษณ์และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสยามสแควร์ในอนาคต

นอกจากนี้ กชกร ยังได้มีโอกาสร่วมงานโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ในวงการศูนย์การค้าแนวราบ หรือ Community Mall รวมทั้งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของศูนย์กลางแฟชั่นและเทรนใหม่ๆ ของไทย และจะเป็น Model ต้นแบบของภูมิสถาปัตยกรรมของไทยในอนาคต นั่นคือ การออกแบบภูมิทัศน์ของสยามสแควร์วัน หรือ SQ1 ซึ่งจุดเด่นด้านการออกแบบแห่งนี้ จะเป็นการบริหารและจัดการพื้นที่สีเขียว ผสมผสานกับความทันสมัย และเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะนำมาใช้ ณ ที่แห่งนี้ เป็นที่แรก ทั้งนี้ SQ1 ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะเสร็จปลายปี พ.ศ. 2556

สำหรับแนวคิดการออกแบบ Greenovative Design นั้น เป็นการออกแบบที่เป็นการผสมผสานระหว่างความสมดุลของธรรมชาติ สังคม และวิทยาศาสตร์ หมายถึง การที่ศิลปินหรือนักออกแบบนำแรงบันดาลใจหรือแนวคิดส่วนตัวมาสร้างสรรค์ผลงาน โดยจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นเหตุ เป็นผล ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผลงานนั้นสอดคล้องหรือตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คน สังคม ภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เช่น

การออกแบบสระว่ายน้ำสำหรับผู้พิการทางสายตา มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กชกร ได้มีโอกาสเข้าไปดำเนินการ โดยพิจารณาถึงสิ่งจำเป็นของกลุ่มผู้ใช้ที่สามารถรับรู้ได้จากการสัมผัส การได้ยิน การได้กลิ่น อันเป็นปัจจัยหลักสำคัญของการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง ปัจจุบัน สระว่ายน้ำดังกล่าว ใช้เป็นสระสำหรับให้นักกีฬาพาราลิมปิคและผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสมาฝึกซ้อมและออกกำลังกาย

การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของ SQ1 ได้นำแนวคิดพื้นที่สีเขียวมาบริหารจัดการในส่วนต่างๆ ภายในและภายนอกอาคาร ด้วยแนวทางการนำเสนอหลังคาเขียว สวนแนวตั้ง และการสร้างบรรยากาศของ Landscape ใน Commercial Space ด้วยสีสันแห่งฤดูกาล สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็น Open Mall ของสยามสแควร์ เล่นกับมิติของประสาทสัมผัส การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ผ่านสวน 3 ฤดู ได้แก่ สวนฤดูร้อน สัมผัสกับแสงแดด อวลกลิ่นดอกไม้นานาพันธุ์ สวนฤดูฝน สัมผัสความชุ่มฉ่ำของสายฝน ชมประกายรุ้งเมื่อฟ้าใส และ สวนฤดูหนาว สัมผัสลมหนาวในเหมันตฤดู บรรยากาศเย็นๆ ไม้เมืองเหนือ จากแนวทางดังกล่าว จะทำให้กลุ่มลูกค้าที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยม SQ1 เกิดความรู้สึกสบายกาย สบายใจ ทำให้เพลิดเพลินกับกิจกรรม ร้านค้า และบันเทิงต่างๆ ภายในอาคารได้อย่างไม่น่าเบื่อ

ธรรมศิลป์ เปิดจิตและสมาธิ สร้างสมดุล สู้โรคร้าย

นอกจากนี้ ความที่เป็นคนรักงานด้านศิลปะตัวยง และศึกษาการบำบัดรักษาโรคร้ายด้วยศิลปะอย่างจริงจัง ทำให้ กชกร ได้ชักชวนเพื่อนศิลปินรวมกลุ่มก่อตั้ง กลุ่มศิลป์บำบัด ARTFIELD ขึ้น เพื่อนำกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะและดนตรีมาปรับใช้ในการบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา ทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่สนใจการเรียนรู้ในเชิงบำบัดรักษาด้วยรูปแบบกิจกรรมเชิงศิลป์สร้างสรรค์ที่เน้นกระบวนการทำ (Process-based) โดยใช้หลักธรรมศิลป์ คือ การสื่อความหมายของศิลปะที่ผลิบานจากสภาวะจิตของผู้วาด ที่เป็นสภาวะจิตแห่งสมาธิ สภาวะแห่งการไร้การบังคับ เป็นสภาวะที่จิตไร้สำนึกได้ออกมาโลดแล่นอย่างอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นๆ

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ กับกลุ่มเพื่อนศิลปิน กชกร เริ่มดำเนินการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบำบัดอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบของศิลปะ และดนตรี โดยมี ดร. พรทิพา พิชา หัวหน้างานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โครงการศิลป์บำบัดเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง และ นายแพทย์ ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นที่ปรึกษา ทำให้ค้นพบแนวทางในการบำบัดผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

กชกร เล่าให้ฟังว่า “เราจำเป็นต้องรู้ภูมิหลังของผู้ถูกบำบัดก่อน ต้องรู้ว่าเขามีอาการของโรคแบบใด ลักษณะพิเศษของแต่ละคน และต้องรู้ถึงสิ่งที่หมอ พยาบาล ต้องการให้เกิดจากการบำบัด เช่น ถ้าคนไข้เป็นโรคซึมเศร้า ก็ต้องออกแบบกระบวนการบำบัดให้เหมาะสมกับคนนั้นๆ รวมทั้ง เราต้องทำงานเป็นทีมกับคุณหมอ พยาบาล และญาติของผู้ป่วย ต้องสร้างให้เขาเห็นคุณค่าของการรักษาด้วยวิธีแบบนี้ว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยคุณหมอหรือผู้ป่วยให้หายจากโรคร้ายได้”

กระบวนกรศิลป์ หรือ ศิลปะบำบัด ทำงานอย่างไร กชกร อธิบายว่า “ดนตรีและศิลปะ จะนำพาเราให้มาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าเขาจะเคยกลัว กังวลอะไรอยู่ ดนตรีและศิลปะจะทำให้ลืมเรื่องเหล่านั้น ให้เขาได้เล่นไปกับกระบวนการบำบัด เขาจะค่อยๆ เริ่มผ่อนคลาย เริ่มสนุก จนลืมข้อจำกัดหรือความคิดต่างๆ ที่เคยมี ไม่ว่าจะเป็นความท้อแท้ สิ้นหวัง แล้วเราก็จะพาเขาเดินทางไปพร้อมกับกระบวนการนั้น ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ เช่น การปั้น การวาด การระบายสี การปะติด การเขียน การเต้น การแสดง ฯลฯ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ความผ่อนคลาย การปลดปล่อย ปล่อยวาง และแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละบุคคล นำไปสู่สภาวะสมดุลทางอารมณ์ ซึ่งสภาวะสมดุลนั้นไม่ใช่สภาวะที่ดีที่สุด หรือแข็งแรงที่สุด แต่เป็นสภาวะสมดุลที่จะทำให้ชีวิตนั้น สามารถดำรงอยู่ต่อไปอย่างสบายดีหรือสบายใจ และเมื่อจิตใจดีขึ้น ก็จะนำพากายให้ดีขึ้นต่อไป”

แม้ว่า กชกร จะได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาแนวทางการบำบัด ฟื้นฟู และเยียวยาเป็นอย่างดีจากคณะที่ปรึกษา และคุณหมอ ต่อเมื่อทำงานจริง อุปสรรคก็ยังคงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิจกรรมศิลปะบำบัดที่ได้กำหนดขึ้น ไม่สามารถจัดขึ้นได้ด้วยเหตุผลต่างๆ แต่หลายครั้ง ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ เพราะได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุน และความร่วมมือจากคุณหมอ พยาบาล และญาติผู้ป่วยเป็นอย่างดี ซึ่งกลายเป็นกำลังใจสำคัญให้ กชกร ยังคงดำเนินการต่อไปด้วยความมุ่งมั่น

ปัจจุบัน กชกร ก็ได้รับความไว้วางใจจากคุณหมอ พยาบาล และญาติผู้ป่วยให้เข้าไปบำบัดผู้เยียวยาผู้ป่วยหลายแห่งด้วยกัน เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลวัฒโนสถ (โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพฯ) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ฯลฯ รวมทั้งได้รับเชิญไปจัดกิจกรรมศิลปะบำบัดเชิงสร้างสรรค์ให้แก่องค์กรเอกชนหลายแห่ง อาทิ ไทยประกันชีวิต โรงแรมในเครือเมอร์เคียว (Mercure) เป็นต้น แต่สิ่งนี้ มิใช่ความสำเร็จอย่างแท้จริง กชกร ต้องการให้ กลุ่มศิลป์บำบัด ARTFIELD เป็นตัวอย่างและเป็นต้นแบบให้แก่ศิลปินทุกเพศ ทุกวัย ได้เข้ามาเรียนรู้ และนำไปพัฒนา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในสังคมที่ยังคงรอคอยความหวังและการเยียวยาจากนักกระบวนกรศิลป์รุ่นใหม่ๆ ในอนาคต

ทั้งหมดนี้ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและตั้งใจจริงของ กชกร ได้เป็นอย่างดี ทั้งในบทบาทของ นักออกแบบ ที่ปฏิวัติแนวคิดและมุมมองการออกแบบใหม่ที่ให้สังคม ชุมชน ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ผสมผสานร่วมไปกับวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจได้อย่างลงตัว และ นักกระบวนกรศิลป์ หรือ นักศิลปะบำบัด ผู้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ในการช่วยเหลือสังคม โดยนำศิลปะอันเป็นที่รักมาเป็นเครื่องมือในการบำบัดเยียวยาผู้ป่วยโรคร้าย ด้วยหวังว่า เสียงเล็กๆ จะเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ต่อไป เพราะด้วยความเชื่อที่ว่า “ทุกสิ่งเป็นไปได้ เพียงแค่ทุกคนเริ่มต้น”

ผู้สนใจ กลุ่มศิลป์บำบัด ARTFIELD สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.artfieldtherapy.com

 

You may also like...