หนังสือ ราชสกุลมหิดล

หนังสือเฉลิมพระเกียรติ  “ราชสกุลมหิดล” เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของสมาชิกราชสกุลมหิดลต่อแผ่นดินไทย มุ่งเผยแพร่กลุ่มเยาวชน โดยมอบแก่สถาบันการศึกษาและหอสมุดต่างๆ

ราชสกุลมหิดล เป็นหนึ่งในราชสกุลที่สมาชิกทุกพระองค์ทรงสร้างคุณูปการแก่แผ่นดินไทยและคนไทยอย่างอเนกอนันต์ นับตั้งแต่ต้นราชสกุล คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จ    พระศรีนครินทราบรมราชชนนี  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของชาวไทยทั้ง ๒ พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เพื่อรวบรวมเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณของสมาชิกราชสกุลมหิดล ที่พระราชทานแก่แผ่นดิน และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และร่วมกันสำนึกในพระเมตตาของทุกพระองค์ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด จึงได้ร่วมกันจัดทำหนังสือ และ วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติ ชุด “ราชสกุลมหิดล” ขึ้น พร้อมจัดงานแถลงข่าวและแนะนำ หนังสือเฉลิมพระเกียรติ “ราชสกุลมหิดล” ไปเมื่อไม่นานมานี้ ณ ห้องทีเลานจ์ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพ โดย ม.ร.ว.เทพกมล เทวกุล องคมนตรี ให้เกียรติ มาเป็นประธานในงาน โดยมี จำนงค์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ

วาปี ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำหนังสือ และ วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติ ชุด “ราชสกุลมหิดล” ในครั้งนี้ว่า ด้วยใน พ.ศ. ๒๕๕๔  และ ๒๕๕๕  มีมหามงคลสมัยอันเกี่ยวเนื่องด้วยสมาชิกราชสกุลมหิดล ถึง ๓ วาระ คือ วาระที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา  ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ วาระที่ ๒ ในโอกาส  ๑๒๐ ปี วันพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕  และวาระที่ ๓ ในโอกาส ๑๕๐ ปี วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๕  อีกทั้งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในประวัติศาสตร์ไทยลำดับที่ ๒๑

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ราชสกุล “มหิดล” มาประดับบนปกหนังสือ และเชิญนามราชสกุลมหิดล  พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์  ภาพพระราชกรณียกิจ พระฉายาลักษณ์ พระรูป ภาพถ่ายจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ และเอกสารลายพระหัตถ์ ลงพิมพ์และเผยแพร่ในหนังสือและสารคดี ชุด “ราชสกุลมหิดล” หนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกหนึ่งแหล่งของข้อมูลสำคัญที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนคุณูปการต่างๆ ที่สมาชิกราชสกุลมหิดล พระราชทานแก่คนไทยและแผ่นดินไทย ซึ่งคณะผู้จัดทำมีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ไปยังกลุ่มเยาวชนเป็นสำคัญ จึงจะมอบไปยังโรงเรียน สถาบันการศึกษา และหอสมุดต่างๆ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดทำและสนับสนุนข้อมูล ทั้งข้อเขียนและรูปภาพทรงคุณค่า เพื่อให้หนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด ราชสกุลมหิดล สำเร็จลุล่วงด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับการเผยแพร่และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง” รองประธานกรรมการ บุญรอดบริวเวอรี่ฯ เผย


หนังสือ “ราชสกุลมหิดล” เล่มนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจเต็มไปด้วยความรู้ และประวัติศาสตร์มากมาย เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณราชประเพณีในการเรียงลำดับพระรัชทายาท ตามพระอิสริยศักดิ์ และตำแหน่งแห่งพระภรรยาเจ้าที่มีมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ การตั้งนามสกุลและราชสกุลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ส่วนเนื้อหาหลักๆ แบ่งออกเป็น ๕ บทด้วยกัน คือ บทที่ ๑ รู้ซึ่งหน้าที่ของวงศ์ตระกูล บทที่ ๒ การสร้างครอบครัว วิถีชีวิตและความคิดของโลกใหม่ บทที่ ๓ ความพลิกผัน บทที่ ๔ ครอบครัวอันเป็นที่รัก และ บทที่ ๕ ครอบครัวอันเป็นหลักแห่งศรัทธาและเทิดทูน

ส่วนท้ายเล่มบรรจุแผ่นดีวีดีสารคดี ชุด “ ราชสกุลมหิดล” จำนวน ๙ ตอน ตอนละ ๕ นาทีไว้ด้วย ซึ่งสารคดีชุดนี้ได้เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม นี้

ภายในงาน ยังมีการนำเสนอ เนื้อหาสาระอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ผู้มาร่วมงานได้รับทราบด้วย ได้แก่ การแนะนำสารคดีและหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ราชสกุลมหิดล” โดย บุรณี รัชไชยบุญ  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเวชั่น สตูดิโอ จำกัด และ Executive Producer โครงการจัดทำหนังสือและวีดิทัศน์ เฉลิมพระเกียรติชุดนี้ ปาริชาติ คุ้มรักษา จากกองบรรณาธิการ บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิง จำกัด ซึ่งเป็นฝ่ายจัดทำข้อมูล และเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือ ชาต อารยะจิติพงษ์ ผู้กำกับ บอกเล่าเกร็ดในการสร้างงานวีดิทัศน์สารคดี ชุดนี้  พร้อมชมวีดิทัศน์สารคดีเฉลิมพระเกียรติ “ราชสกุลมหิดล” ตอน “พลังแห่งแผ่นดิน” ความยาว ๕ นาที หลังจากนั้นคณะผู้ผลิตทั้ง ๓ ท่าน ร่วมสนทนาในประเด็น “พระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณ ของสมาชิกราชสกุลมหิดล” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) นพ.สรรใจ แสงวิเชียร ที่ปรึกษาคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้ศึกษาและรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมราชชนกไว้มากมาย  มาร่วมสนทนาด้วย

เริ่มจาก Executive Producer บุรณี รัชไชยบุญ กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติยศอย่างสูงสุดในชีวิตที่มีโอกาสได้ร่วมงานในส่วนของการผลิตทั้งหนังสือ และวีดิทัศน์ สำหรับแนวคิดในการผลิตสื่อทั้ง ๒ อย่างนี้คือ รู้จัก และ รู้สึก โดยในส่วนของหนังสือจะมีสาระที่เข้มข้นในด้านพระราชประวัติ  พระราชกรณียกิจ เพื่อสร้างความ “รู้จัก”และ ความเข้าใจในเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์สำหรับผู้อ่าน แต่ในส่วนของสาระการผลิตสื่อในเชิงสารคดี ซึ่งเล่าเรื่องด้วยภาพ เสียงบรรยาย และเสียงดนตรี จึงเป็นสื่อที่ต้องสร้าง “รู้สึก” สำหรับผู้ชม

“ด้วยความตั้งใจของคณะผู้จัดทำที่ต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็นการประมวลเรื่องราวพระราชประวัติที่สามารถอ้างอิงได้ คณะทำงานใช้เวลาเกือบสองปีพยายาม รวบรวม ประมวลและเรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้มีการศึกษาค้นคว้าไว้ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็จะมีคำอธิบาย เชิงอรรถและบรรณานุกรมท้ายเล่มให้ผู้อ่านทราบว่าเราอ้างอิงมาจากไหน  ตัวหนังสือจึงมีสาระที่ในเชิงการให้รายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์แก่ผู้อ่าน  แต่สาระการผลิตสื่อในเชิงวีดิทัศน์สารคดีสำหรับผู้ชมนั้น ไม่ใช่แค่ให้เข้าใจเหมือนอ่านหนังสือเท่านั้น แต่ต้องให้ความรู้สึก เรารู้สึกอย่างไรกับการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านสารคดี ๙ ตอน ความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของผู้ที่กรุณาให้สัมภาษณ์ อารมณ์ที่คล้อยตาม หรืออารมณ์ของดนตรี การดำเนินเรื่อง นี่เป็นภารกิจของตัววิดีทัศน์สารคดี  คณะผู้จัดทำตั้งใจว่าทั้งหนังสือและวีดิทัศน์สารคดีต้องไปด้วยกัน คือสามารถเผยแพร่ไปสู่ห้องสมุดหรือศูนย์สารนิเทศต่างๆ ก็ทำให้ผู้ที่ต้องการสืบค้นสามารถค้นคว้าได้จากกการอ่าน และชมสารคดี ทั้งผู้อ่านและผู้ชมก็จะได้รู้จักและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณของสมาชิกราชสกุลนี้”

เนื่องจากหนังสือและสารคดีชุดนี้ มีโอกาสที่จะได้เผยแพร่อยู่ในแวดวงนักอ่าน นักเรียน นักศึกษา สิ่งที่ บุรณี คาดหวังคือ ต้องการให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รู้จัก ขณะเดียวกันความซาบซึ้งจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่อ่านและชมสารคดีด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปบอกแต่ละผู้อ่านผู้ชมว่าควรจะได้อะไรหรือรู้สึกอย่างไร เพราะความเป็นไปในราชสกุลนี้สามารถสัมผัสได้โดยไม่ยาก และต่อไปหากมีโอกาสที่จะทำให้รู้สึก รู้จัก และเข้าใจมากกว่านี้ เธอพูดแทนทุกคนได้เลยว่ายินดีที่จะทำอย่างมาก และความพยายามของคณะทำงานไม่มีที่สิ้นสุด

ในมุมของผู้เรียบเรียงหนังสือ ปาริชาติ คุ้มรักษา เผยถึงความรู้สึกว่า เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ในครั้งนี้ ในการทำงานได้มีการรวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่งที่อ้างอิงได้ สิ่งพิเศษที่สุดคือ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่คนทั่วไปจะได้อ่านพระราชประวัติของเจ้านายแต่ละพระองค์ในราชสกุลมหิดลจากหนังสือเล่มต่างๆ จากหลายๆแหล่งข้อมูลเฉพาะแต่ละพระองค์  แต่ไม่มีที่ไหนเลยรวบรวมพระราชประวัติของสมาชิกราชสกุลมหิดลทั้ง      5 พระองค์ ไว้ในเล่มเดียว นี่คือจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้

“ตลอดระยะเวลาในการทำงาน ยังได้รับความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย มีผู้ชำระตรวจสอบต้นฉบับด้วย ต้องขอขอบคุณ ดร.ชัชพล ไชยพร และคุณอร่าม สวัสดิวิชัย ที่ช่วยดูแลในส่วนนี้ ตอนที่ดิฉันได้ทำการเรียบเรียงหนังสือ ขอสารภาพเลยว่าต้องหยุดเป็นช่วงๆ เพราะรู้สึกอัดแน่นในใจมาก ว่าทุกพระองค์ทรงทำอะไรมากมายเหลือเกินเพื่อคนไทย เพื่อแผ่นดินไทย แล้วเกิดคำถามว่า แล้วตัวเราจะทำอะไรถวายท่านได้บ้าง นี่คือความรู้สึกหลังจากได้เข้ามาสัมผัสจริงๆ จากการเรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้”

ส่วนความรู้สึกแรกของ ชาต อารยะจิติพงษ์ ผู้กำกับงานวีดิทัศน์สารคดีชุด ราชสกุลมหิดล ทั้ง ๙ ตอน เมื่อรู้ว่าจะได้ทำสารคดีชุดนี้คือ ทั้งดีใจและหนักใจเพราะมีความยิ่งใหญ่และเนื้อหาอีกมากที่เขาไม่มีความรู้ เขาเกิดมาในยุคพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็จะรู้จักพระองค์ในมุมมองหลายๆ มุม แต่ไม่รู้เลยว่าสมเด็จพระราชบิดาเป็นใคร ทรงทำอะไรมาบ้างและมีพระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์เป็นอย่างไร จนกระทั่งเมื่อเริ่มเข้าไปศึกษา ได้สัมภาษณ์บุคคลสำคัญหลายๆ ท่าน จึงมีความประทับใจตั้งแต่ต้นราชสกุลเลย

“บางเรื่องที่ผมรู้สึกประทับใจ เช่น คนทั่วไปทราบว่าสมเด็จพระบรมราชชนก มีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการแพทย์ให้แก่เมืองไทย แต่แทบไม่มีใครรู้เลยว่าทรงมีความสามารถด้านศิลปะมากแค่ไหน ศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า หากสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพัฒนาทางด้านการเขียนรูปต่อไป ท่านจะทรงเป็นศิลปินระดับโลกได้แน่นอน นอกจากนี้ในขณะที่ท่านทรงเรียนทหาร ท่านยังทรงมีความหลงใหลทางด้านศิลปะมาก แต่ได้ทรงเสียสละยอมละทิ้งความชอบส่วนพระองค์เอาไว้ แล้วคิดถึงประชาชนชาวไทย โดยการเปลี่ยนไปเรียนแพทย์ และ ทรงทำประโยชน์ทางการแพทย์ให้แก่ปวงชนชาวไทยได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

“ความยากในการทำงานสำหรับผม คือ เนื้อหาที่มีอยู่เป็นเนื้อหาจริง แต่หาภาพได้ยากมาก การทำวีดิทัศน์ชุดนี้มีความพิเศษอยู่ ๒ ส่วน อย่างแรกคือ บุคคลที่เชิญมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เพราะหลายท่านไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในสื่อทั่วไป สองคือ ตัวเนื้อคลิปวีดิโอที่ได้มา ซึ่งหลายคลิปได้มาจากสำนักข่าวต่างประเทศ จากภาพยนตร์เก่าของไทย รวมถึงรูปภาพและยังได้มาจากหนังสือหายากหลายๆ เล่ม หรือแม้แต่สมบัติส่วนตัวของหลายท่าน ที่กรุณามอบให้ โดยทุกชิ้นได้รับมอบมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เมื่อความพิเศษทั้ง ๒ ส่วนมารวมกันจึงกลมกลืนไปกับเนื้อหาที่เราต้องการสื่อให้คนไทยยุคนี้ได้รับรู้ถึงเรื่องราวของราชสกุลมหิดล เรามีเนื้อหาที่น่าสนใจมากมาย ยังมีอีกหลายภาพที่อยากให้คนดูได้อิ่มกว่านี้แต่ด้วยความที่มีเวลาแค่ ๕ นาทีในแต่ละตอน จึงไม่สามารถนำเสนอได้ทั้งหมด” ผู้กำกับงานวีดิทัศน์สารคดี กล่าว

มาถึงช่วงการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งแขกในงานอยากทราบคือ “พระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณ ของสมาชิกราชสกุลมหิดล” โดย ศ.(พิเศษ) นพ.สรรใจ แสงวิเชียร  ผู้มีส่วนสำคัญในการผลิตสื่อทั้งสองประเภทอย่างมาก เพราะหนังสือ เอกสารต่างๆ ที่ทางศิริราชพยาบาล รวบรวมไว้เป็นแหล่งค้นคว้าและแหล่งอ้างอิงที่สำคัญสำหรับทีมงาน และยังเป็นบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ในสารคดีชุดนี้ด้วย

“ผมไม่ได้เป็นแค่นักเรียนแพทย์ศิริราช แต่เป็นเด็กที่วิ่งอยู่ในศิริราชมาตั้งแต่เด็ก สมเด็จพระบรมราชชนก จึงทรงเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศิริราช คุณพ่อผมเป็นลูกศิษย์ของท่าน ตอนผมเด็กๆ จึงได้ยินคุณพ่อคุณแม่เล่าถึงท่านว่าได้ทรงทำอะไรให้ศิริราชบ้าง ท่านทรงทำให้ลูกศิษย์สนใจในวิชาประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง คุณพ่อผมได้เก็บเอกสารของท่านไว้ตามสมควร เมื่อตอนครบ ๖๐ ปี ของการร่วมมือกันพัฒนาทางการศึกษาแพทย์ระหว่าง          มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ กับ ศิริราช เราจึงคิดว่าจะต้องทำนิทรรศการเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ขึ้นมา ซึ่งไปค้นคว้าข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติได้มามากมาย ทำให้รู้ว่าการติดต่อเพื่อการพัฒนาทางการศึกษาแพทย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย”

ศ.(พิเศษ) นพ.สรรใจ กล่าวเสริมว่า หากไม่มีสมเด็จพระบรมราชชนก การพัฒนาทางการศึกษาแพทย์คงทำไม่สำเร็จ เพราะเป็นการลงทุนคนละครึ่ง ฝ่ายไทยมีปัญหาค่อนข้างเยอะทั้งเรื่องงบประมาณ และไม่มีความรู้ว่าการพัฒนาทางการศึกษาแพทย์ควรทำอย่างไร เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จึงกราบทูลขอให้สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ท่านต้องทรงหยุดการเรียนแพทย์ในชั้นปีที่ ๓ เพื่อมาเจรจา สิ่งที่ร็อคกี้เฟลเลอร์ประทับใจมากคือ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเล่าให้ฟังหมดว่าอะไรคืออุปสรรค และถ้ารัฐบาลไทยไม่มีเงิน ท่านจะทรงออกเอง ในการปรับปรุงศิริราชนั้นเมื่อบวกเงินที่ใช้ทั้งหมดตกประมาณ ๑ ล้าน ๕ แสนบาท ๑ ใน ๓ เป็นเงินของร็อกกี้เฟลเลอร์ ๑ ใน ๓ เป็นเงินส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระบรมราชชนก ส่วนที่เหลือเป็นพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้านายพระองค์อื่น รัฐบาลไทยออกประมาณ ๑๐% เท่านั้น

“ถ้าใครเคยอ่านที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ท่านเขียนไว้ประมาณว่า “ที่แม่สอนเราไว้อย่างไร ภายหลังไปพบว่าเหมือนกับที่ทูลกระหม่อมพ่อ ตรัสไว้ทั้งสิ้น คือ มีหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อประชาชน จะต้องรู้หน้าที่ ต้องเสียสละเหมือนกันทั้งหมด” สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงมีคติว่าความสำเร็จที่แท้จริงของการเรียน ไม่ได้อยู่ที่การเรียน แต่อยู่ที่การเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ให้เกิดกับประชาชนอย่างไร และ ให้ถือผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่สอง ผลประโยชน์ของมนุษยชาติเป็นที่หนึ่ง” ศ.(พิเศษ) นพ.สรรใจ กล่าว

หนังสือ “ราชสกุลมหิดล” เป็นหนังสือปกแข็ง ขนาด ๑๐.๐๐ x ๑๐.๗๕ นิ้ว พิมพ์ ๔/๔ สี เนื้อใน จำนวน ๒๕๐ หน้า ปกหลัง แทรกแผ่น DVD วิดีทัศน์สารคดี ชุด ราชสกุลมหิดล

โครงการผลิตหนังสือ ชุด “ราชสกุลมหิดล” โดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด

หลักการและเหตุผล

ราชสกุลมหิดล เป็นหนึ่งในราชสกุลที่สมาชิกทุกพระองค์ต่างทรงสร้างคุณูปการแก่แผ่นดินไทยและคนไทยอย่างอเนกอนันต์ นับตั้งแต่ต้นราชสกุล  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรม   ราชชนก  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของชาวไทยทั้ง ๒ พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พุทธศักราช ๒๕๕๔ ถึง ๒๕๕๕ นับเป็นโอกาสมหามงคลแห่ง ๓ วาระ กล่าวคือ

วาระที่ ๑    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา  ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
วาระที่ ๒  ในโอกาส  ๑๒๐ ปี วันพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕
วาระที่ ๓ ในโอกาส ๑๕๐ ปี วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา   บรมราชเทวี  พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า ในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๕  อีกทั้งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (ยูเนสโก) ประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในประวัติศาสตร์ไทย
ลำดับที่ ๒๑

ด้วยโอกาสมหามงคลนี้ จึงเป็นวาระอันดีที่จะรวบรวมเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณของสมาชิกราชสกุลมหิดลที่พระราชทานต่อแผ่นดินไทยมาเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบและร่วมกันสำนึกในพระเมตตาของทุกพระองค์

โครงสร้างเนื้อหา หนังสือ “ราชสกุลมหิดล”

บทนำ
– การเรียงลำดับพระรัชทายาท ตามพระอิสริยศักดิ์ และตำแหน่งแห่งพระภรรยาเจ้า จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ การตั้งนามสกุลและราชสกุลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

บทที่ ๑ รู้ซึ่งหน้าที่ของวงศ์ตระกูล
– พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี  เรื่องราวจะเล่าถึงราชประเพณี อาทิ พระราชพิธีโสกันต์และทรงกรม การบรรพชา เป็นต้น  รวมถึงการเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

บทที่ ๒ การสร้างครอบครัว วิถีชีวิตและความคิดของโลกใหม่
– ทรงเป็นเจ้านายรุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาในต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงช่วยเหลือนักเรียนไทยให้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ทรงเป็นแม่แบบสำคัญของผู้ที่จะกลับมาสร้างความเจริญให้ประเทศไทยในเวลาต่อมา
– ทรงพบรัก นำมาสู่การอภิเษกสมรส กับนางสาวสังวาลย์ และการสร้างครอบครัวมหิดล
– เสด็จนิวัตพระนครและพระกรณียกิจในฐานะทรงเป็นแพทย์

บทที่ ๓ ความพลิกผัน
– สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลสิ้นพระชนม์
– การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการดำรงชีวิตของครอบครัวมหิดล ในสวิตเซอร์แลนด์

บทที่ ๔ ครอบครัวอันเป็นที่รัก
– พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
– ๑๐ ปี การศึกษาสำหรับกษัตริย์ในบรรยากาศประชาธิปไตย ที่สวิตเซอร์แลนด์
– ประชาธิปไตยในครอบครัว
– การศึกษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ(วิชาเคมี) ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัฐศาสตร์) และของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ(วิศวกรรมศาสตร์) การศึกษาเล่าเรียนและเตรียมพร้อมทุกพระองค์เพื่อการทำงาน เพื่อแผ่นดินไทย

บทที่ ๕ ครอบครัวอันเป็นหลักแห่งศรัทธาและเทิดทูน
– สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
– สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนสาขาวิชาเรียนเป็นสาขารัฐศาสตร์
– เสด็จนิวัตประเทศไทยเพื่อถวายพระเพลิงสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
– พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
– การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาค
– การบำบัดทุกข์บำรุงสุข ด้านความยากจน ความเจ็บป่วย การด้อยการศึกษา และการพัฒนาชนบท
– ความทุ่มเทอุทิศพระวรกายทรงงานเพื่อแผ่นดินของสมาชิกราชสกุลมหิดลทุกพระองค์
– สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานด้านการสาธารณสุข และการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส
– สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงงานด้านการศึกษา และวัฒนธรรม  ทรงสอนหนังสือ  ใน มหาวิทยาลัย ฯ

บทสรุป
การทรงงานของสมาชิกราชสกุลมหิดลตามแนวทางที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงวางไว้ในการทำ
ประโยชน์เพื่อประเทศชาติได้ขยายผลเป็นวงกว้าง เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจดังปรากฎผลสืบมา

ในส่วนของวิดีทัศน์สารคดี ชุด ราชสกุลมหิดล ที่สอดแทรกอยู่ในเล่ม ความยาวตอนละ ๕ นาที จำนวน ๙ ตอน เป็นการรวมรวมเรื่องราวของของสมาชิกราชสกุลมหิดลที่น่าสนใจมานำเสนอในตอนต่างๆ ไม่เพียงพระราชกรณียกิจ เท่านั้นหากยังรวมถึงพระปรีชาสามารถในด้านงานศิลปะที่ปรากฎในสมาชิกทุกพระองค์  พระราชจริยาวัตรอันเรียบง่าย ประหยัด  และที่สำคัญคือความรักความผูกพันในครอบครัวเล็กๆ ที่ได้พระราชทานมาสู่ครอบครัวใหญ่คือคนไทยและแผ่นดินไทย

รูปเล่มหนังสือและกำหนดเผยแพร่

รูปเล่ม จัดทำเป็นหนังสือปกแข็ง
ขนาด ๑๐.๐๐ x ๑๐.๗๕ นิ้ว
พิมพ์ ๔/๔ สี
เนื้อใน จำนวน ๒๕๐ หน้า
ปกแข็ง เย็บกี่ สันตรง
ปกหลัง แทรกแผ่น DVD วิดีทัศน์สารคดีชุด ราชสกุลมหิดล

กำหนดเผยแพร่ : เดือนธันวาคม ๒๕๕๕   มอบแก่โรงเรียน สถาบันการศึกษา และ หอสมุดต่างๆ

โรงเรียน สถาบันการศึกษา และ หอสมุดใดที่สนใจ สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์มาได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด  โทร. ๐๒ ๖๖๙ – ๑๐๖๙ ตั้งแต่วันนี้ ถึง ๓๑ มกราคม ๒๕๕๖

คณะผู้จัดทำ
ผู้อำนวยการผลิต และสนับสนุนการผลิต : บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
กองบรรณาธิการ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด
ออกแบบรูปเล่ม จัดพิมพ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด
ผู้ควบคุมการผลิตด้านเนื้อหาและการออกแบบ : บริษัท โอเวชั่น สตูดิโอ จำกัด
ผู้ประสานการผลิต : บริษัท โอเวชั่น สตูดิโอ จำกัด

 

 

 

 

You may also like...