กลุ่มข้าวยำละครเร่

ปัญหาความแตกแยกของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายต่างมุ่งที่จะแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยเพียงด้านเดียวเท่านั้น

คิดแต่เพียงว่าไม่มีเสียงระเบิด ไม่มีการลอบสังหาร ก็ถึงว่าจบ แต่ละเลยซึ่งประเด็น การสื่อสาร รวมทั้งการสร้างความเข้าใจระหว่างคนในท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทหาร ตำรวจ การเข้าใจในวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มคนในสังคมจะส่งผลโดยตรงต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ แล้วการแบ่งแย่งใดๆ ก็เป็นไปได้ยาก

“กลุ่มข้าวยำละครเร่” คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เป็นเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่มีความเป็นห่วงเป็นใย และสนใจในประเด็นปัญหาเรื่องของการสื่อสารระหว่างชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีผลไม่น้อยในการเป็นสาเหตุที่จะก่อให้เกิดปัญหา และนำมาซึ่งความไม่เข้าใจในจารีตวัฒนธรรมของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงได้ออกมาร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของสันติภาพ

“กลุ่มข้าวยำละครเร่ เป็นการร่วมตัวทำกิจกรรมของนักศึกษาที่มีความเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเรา ทั้งในเรื่องของความไม่สงบและอื่นๆ ทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ด้วย เรามองว่าเราไม่ใช่ที่จะมาเรียนอย่างเดียว แต่ในฐานะที่เราอยู่ในชุมชนหรือมหาวิทยาลัย ก็ตามน่าจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้างเล็กน้อย ในการสื่อสารทั้งคนในชุมชนเดียวกันเองและต่างชุมชน ให้มีความรักและสามัคคีกัน ที่สำคัญยังเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ในการประกอบอาชีพด้วย เพราะกลุ่มข้าวยำส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการสื่อสารอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เป็นเหมือนบทเรียนที่อยู่นอกห้องเรียนที่เราได้ประโยชน์มาก” น้องทราย นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มข้าวยำละครเร่ กล่าว

สมาชิก กลุ่มข้าวยำละครเร่ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่เป็นมุสลิม ได้ใช้เวทีละครเร่ในการถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการสื่อไปสู่ชุมชนเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิม การแสดงจะเน้นการปลูกฝังให้เยาวชนในชุมชนเรียนรู้ความสำคัญของสันติภาพ ความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นหลัก ใจความสำคัญ ละครเร่ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนต้องร่วมมือร่วมใจกันปกป้องชุมชนให้มีความปรองดองและเข้าใจซึ่งกันและกัน

“เราต้องการจะสื่อให้เห็นว่า 3 จังหวัดชายแดน มีจุดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรม นอกจากภาษาที่เป็นจุดเด่นอยู่แล้ว การแต่งตัว มารยาทและอื่นๆ วัฒนธรรมต่างๆ ของคนใต้ จะสื่อให้เห็นว่าปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร แล้วก็จะบอกว่าทุกอย่างมีทางแก้มันอยู่ที่ว่าจะมีวิธีการอย่างไร สื่อให้เห็นวัฒนธรรมของชุมชนที่น่าจะเป็นช่องทางการถ่ายทอดความรู้สึกได้ คุณค่าของสันติภาพ ความสงบสุข มันมีความสำคัญเพียงใด ในกลุ่มมีทั้งไทยมุสลิม พุทธ ที่ทำงานร่วมกัน นั่นก็เพราะเราต้องการบอกผู้ใหญ่ว่าทางออกของปัญหามันอยู่ที่ความเข้าใจ ความไว้ใจซึ่งกันและกัน เราน่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพให้กับบ้านเรา และหยุดการทำลายสังคม ชุมชน ให้หันมาเริ่มต้นทำความเข้าใจกันใหม่ระหว่างทั้งคนในและนอกพื้นที่ เชื่อมความเข้าใจให้ตรงกัน สื่อสารให้สังคมรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ที่เราทำเป็นช่องทางเล็กๆ ที่คนตัวเล็กๆ อย่างเราจะทำได้ แต่อย่างน้อยมันก็พิสูจน์ว่า ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สันติภาพเกิดขึ้นกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้” ซูไรดา ดอเล๊าะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี สมาชิกกลุ่มข้าวยำละครเร่กล่าวเสริม

ละครเร่ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการสื่อสารให้คนในชุมชนได้รับรู้ ซึ่งสื่อกระแสหลักบางครั้งก็รายงานความจริงไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความสับสน ในการสื่อสารเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องราวต่างได้อย่างมาก

“ในสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทั้งเราและชุมชนต้องการที่พึ่งพิงทางจิตใจ แต่กลับเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสื่อมวลชน เกิดคลางแคลงใจกับเจตนาของกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก สับสนกับกระแสข่าวที่ไร้ทิศทาง เต็มไปด้วยข่าวลือและข่าวลวง อีกทั้งปัญหาสำคัญของสื่อในพื้นที่ คือ การขาดทักษะด้านภาษา ทั้งที่ไม่เข้าใจภาษาไทยกลางและภาษามลายูถิ่น ทำให้ประชาชนยังไม่มีช่องทางที่จะเข้าถึงสื่อที่เข้าใจตรงกัน กลุ่มข้าวยำละครเร่ จึงเป็นเหมือนกระจกส่องสะท้อนเงาว่าสื่อหลักๆ มันเข้าไม่ถึงสภาพจริงของเหตุการณ์ และเราก็เข้าใจกันคลาดเคลื่อนในเรื่องต่างๆ ทำให้ความเป็นไปได้ของการสร้างสันติภาพมันจึงเป็นไปได้ยาก” ซูไบด๊ะ มะมิง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นักศึกษาชั้นปี 3 นิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี สมาชิกกลุ่มข้าวยำละครเร่กล่าวอย่างน่าสนใจ

การเผยแพร่แนวคิดการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ให้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตลอดจนเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้สนใจแนวคิดการสื่อสารเพื่อสันติภาพ จึงเป็นต้นกำเนิดของกิจกรรม กลุ่มข้าวยำละครเร่ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี ที่หลอมร่วมพลังคนรุ่นใหม่นำเสนอทางออกต่อสังคม และความเป็นห่วงเป็นใยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านและชุมชนตนเอง

“ข้าวยำ… มันบ่งบอกถึงความเป็นปักษ์ใต้ มันมีประโยชน์หลายอย่างในตัวของมันเอง มีอะไรหลายอย่างมารวมตัวกัน มันไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่คือทุกอย่างมารวมกันแล้วออกมาเป็น ข้าวยำ ที่ผสมผสานหลายสิ่งหลายอย่างสอดคล้องบ้าง ไม่ไปด้วยกันบ้าง แต่อย่างน้อยมันก็รวบรวมสิ่งที่ต่างกัน มาอยู่รวมกันได้อย่างลงตัวมาก เราพยายามจะถ่ายทอดความจริงข้อเท็จจริงในมุมมองของเราต่อปัญหาความไม่สงบ สิ่งแวดล้อมและวิถีต่างๆ ในมุมมองของเรา โดยที่ไม่มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง มันคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงกับบ้านเรา สื่อความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ต่อปัญหาที่เกิด แสดงให้เห็นถึงความต้องการสันติภาพไม่ให้สังคมแตกแยก นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นการที่นักศึกษาจะทำกิจกรรมมันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน การรวมกลุ่มของนักศึกษาไม่มีการแบ่งแยก ว่าคนนี้พุทธ คนนี้มุสลิม อย่างนี้ไม่ใช่ ที่เราออกมาทำกิจกรรมนี้ทุกคนล้วนเคารพซึ่งกันและกัน การแบ่งแยกหรือกีดกันก็จะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ สื่อสันติภาพ การเล่าเรื่อง โดยอาศัยวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งชัดเจนที่สุด คือได้ทำความเข้าใจ ทั้งคนที่ฟังภาษาไทยรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง แต่มันเห็นภาพหรืออากัปกริยาที่สื่อความหมายได้อย่างชัดมาก” ซูไรดา ดอเล๊าะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี สมาชิกกลุ่มข้าวยำละครเร่กล่าวส่งท้าย

เปลือก…สันติภาพ ที่ได้มาจากการทำให้สังคมสงบ โดยการใช้กำลังบังคับให้เกิดความเรียบร้อย ย่อมมิใช่ความสันติสุขที่ถาวร หากแต่เราหันมองเยาวชนที่ทำกิจกรรมเพื่อบ้านเกิด และพยายามสร้างสันติภาพจากสองมือ น่าจะเป็นคำตอบสำหรับ สันติภาพและความสงบ ได้อย่างยั่งยืนได้ในไม่ช้า…มิใช่หรือ?

ที่มา : http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1211
ทีมงาน ThaiNGO
มูลนิธิกองทุนไทย
webmaster@thaingo.org

 

 

You may also like...