เดชา วราชุน

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของศิลปิน ประชาชน และเยาวชนในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินโครงการสานใจรักษ์งานศิลป์ถิ่นแดนใต้ ตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมา โดยในปีนี้  2555 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทางการศึกษา ศิลปิน ครู อาจารย์ด้านศิลปะซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนให้มีพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินร่วมสมัย ศิลปินท้องถิ่น ดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้กับหน่วยงานทางการศึกษา ศิลปิน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาด้านศิลปะ จะมีส่วนช่วยเป็นสื่อกลางให้เกิดสุนทรียะ ความปรองดอง และความสมานฉันท์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการนำมิติทางวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาและสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินร่วมสมัย อาจารย์และตัวแทนเยาวชนที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย

 

 

ศิลปินแห่งชาติ โดย นายประหยัด พงษ์ดำ นายถวัลย์ ดัชนี นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน นายเดชา วราชุน นายอิทธิพล ตั้งโฉลก นายปรีชา  เถาทอง ศิลบปินร่วมสมัย อาจารย์ละตัวแทนเยาวชน ฯ  นายวิโชค มุกดามณี  นายชิโนรส รุ่งสกุล นายวิชญ์   มุกดามณี  นายเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ นายเกรียงไกร กุลพันธ์  นายสุพร แก้วตา  นางสาวหทัยรัตน์  รอดแก้ว  นางสาวภัชรินทร์   ชวนละคร  ระยะเวลาระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2554  ณ สถาบันทักษิณคดี จังหวัดสงขลา

 

เรามาฟังศาสตราจารย์เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปีพุทธศักราช 2550 กล่าวเสวนาในวันงาน เป็นข้อคิดดีๆสำหรับนักศึกษาและศิลปินทุกท่าน

 

สิ่งสำคัญในการทำงานศิลปะมักจะเกี่ยวข้องกับแนวความคิด ภาคใต้นี่มีเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมเรื่องใหญ่ คำว่าวัฒนธรรมย่อมเกี่ยวข้องกับชุมชน โดยมีเรื่องของประเพณี ความเชื่อ เรื่องของการอยู่ร่วมกัน แล้วใช้ศิลปะเป็นตัวสำคัญในการแสดงออก เพราะในวัฒนธรรมก็จะมีเรื่องของศิลปะด้วย เรื่องศิลปะและวัฒนธรรมเนี่ยจึงเป็นเรื่องที่เท่ากัน สำคัญเท่ากัน งานศิลปะใช้เป็นส่วนสร้างสรรค์เพื่อให้เห็นรูปแบบที่วัฒนธรรมมันมีอยู่ แต่ละภูมิภาคก็จะมีสียงหัวเราะของตัวเองในการที่จะใช้วัฒนธรรมที่มีอยู่ เป็นตัวบ่งบอกให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะตน วัฒนธรรมภาคใต้มีเรื่องวัฒนธรรมที่สำคัญหลายเรื่อง นักศึกษาหรือว่าศิลปินในภาคใต้เวลาทำงานศิลปะก็จะเห็นส่วนนี้ที่มีความแตกต่างจากทางภาคอื่นๆแล้วก็เป็นส่วนเด่นของทางภาคใต้ด้วย เพราะฉะนั้นในการทำงานศิลปะมันเหมือนกับร่างกายคน มีร่างกาย มีรูปทรงมีจิตใจ ก็คือ แนวความคิด ถ้าแนวความคิด มันมีสิ่งแวดล้อม มีวัฒนธรรมไปทางไหน ความคิดมันก็จะเอนเอียงไปทางนั้น ส่วนการแสดงออก คือการใช้ทัศนธาตุ การวาด การปั้น หรือจะทำยังไงก็ได้ให้มันเกิดเป็นภาพขึ้นมา เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นหรือพื้นบ้านเนี่ย จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ถ้าคนที่อยู่กรุงเทพมันไม่ค่อยมีวัฒนธรรมที่ชัดเจน  นอกจากมีวัฒนธรรมของตัวเองที่อยู่ต่างถิ่น ปลีกตัวไปก็สามารถจะแสดงออกได้ แต่ถ้าสมมติว่าเราไม่ยึดถือตรงนี้ เราไปเอาสิ่งที่มันมีอยู่ในกรุงเทพฯเนี่ย มันก็ไม่ค่อยมีวัฒนธรรมอะไรเท่าไหร่ มันก็มีแต่เรื่องการแก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น เรื่องทางสังคม เรื่องอะไรที่มันเป็นปรากฎการณ์ไป ซึ่งก็ทำกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้เป็นส่วนสำคัญ เวลาตัดสินงานหรือได้ส่งงานเข้าไป มันก็จะมีความเด่นในเรื่องไม่กี่เรื่อง ศิลปะเราส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ แล้วก็สภาพแวดล้อมที่จะเข้าไปใช้ในการสร้างสรรค์ ทีนี้วิธีการสร้างก็แล้วแต่ในทัศนะของแต่ละคน

 

ผมเนี่ยคิดว่ามันมีตั้งแต่รูปแบบของความเป็นจริง จนกระทั่งค่อยๆสลายจากความเป็นจริงออกมาจนกลายเป็นนามธรรม ถ้าใกล้ความจริงก็ใช้ฝีมือ มากหน่อย ถ้าถอยออกมาเราก็เริ่มคิดดัดแปลง แต่ก็ยังมองเห็นความจริงอยู่ ถ้าถอยออกมาห่าง จนกระทั่งแบบที่ผมทำแอ็บสแตร็กเนี่ยมันกลายเป็นจนกระทั่งมันมองไม่เห็นความจริงแล้ว เราต้องคิดมากหน่อย แล้วเราต้องยืนหยัดในงานศิลปะของเรา เพราะว่าถ้าเราทำแล้ว คนเค้าดูไม่รู้เรื่องก็อย่าไปว่าเค้า เพราะเราอยากทำเอง แต่การทำงานศิลปะ ถ้าเราไม่มีที่มาของความคิด ยังไงก็ทำไม่ได้ถึงสี่สิบปี เพราะฉะนั้นผมต้องหาแรงบันดาลใจที่จะมาเปลี่ยนให้มันเกิดความแปลกใหม่ในชีวิตอยู่เรื่อยๆ เลยทำงานนามธรรมมา อยู่ได้สี่สิบกว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานศิลปะเนี่ยมันอยู่ตรงนี้

 

ตอนเราสอนเด็กมันได้แค่ครึ่งๆกลางๆเท่านั้นเอง เริ่มต้นจากการว่าเหมือน สุดท้ายก็มีคอนเซ็ปท์หน่อย พอมีคอนเซ็ปท์หน่อยก็จบพอดี แล้วก็เผอิญคอนเซ็ปท์นั้นขายได้ก็เลย หยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้สร้างสรรค์อะไร เพราะฉะนั้นการทำงานศิลปะ ถ้าเรามีใจรัก มีความคิดที่ว่าเราอยากแสดงความเป็นตัวตนเรา เราก็ต้องยืนหยัดในการทำงานของเราโดยที่ว่าใครจะชอบ ไม่ชอบ ใครจะสนใจ ใครจะดูรู้เรื่องไม่รู้เรื่องแล้วแต่ มันไม่ใช่หน้าที่เรา มันเป็นเรื่องที่เราอยากทำแล้วเราก็มีความสุขที่ได้ทำ แล้วเราก็จะทำได้ตลอด ทำแล้วมีความสุขเราก็ทำไป แต่ถ้าทำแล้วมีผลประโยชน์เราก็อาจจะยึดเกาะตรงนั้นมากเกินไปจนกระทั่งความคิดเราไม่ก้าวไปไหนเลย มันก็อาจจะทำให้เราอยู่แค่ตรงนั้น แต่ถ้าเราทำแล้ว แนวทางเรามันไปสอดคล้องกับสิ่งที่คนต้องการมันก็เป็นความโชคดีไป เผอิญตอนสมัยนั้นผมเรียนภาพพิมพ์ ท่านอาจารย์ชลูด ท่านก็จะบอกแต่เทคนิคเท่านั้นเองว่า เทคนิคภาพพิมพ์สี่เทคนิค มันประกอบด้วยอะไร ยังไง แต่ว่านายจะทำอะไรก็เรื่องของนาย แกไม่เคยมาก้าวก่าย แกก็ชะโงกมาดูหน่อยเดียวว่าเราทำงานอยู่หรือเปล่า แล้วท่านก็สอนแบบเซ็นด้วย คือ ท่านแกะหินไป ตอนเช้าผมขยันมาก มาแต่เช้าหกโมงเช้าก็ตื่นแล้ว พอเจ็ดโมงท่านเริ่มแกะหิน พอเสียงแกะหินดังท่านทำงาน ผมก็ทำงาน เสียงแกะหินหยุด ผมก็หยุด บ่ายโมงแกะหินทำงานอีก ผมก็ทำ สี่โมงเย็นเสียงแกะหินหยุด ผมก็หยุด ท่านสอนให้เราเป็นศิลปิน ให้เราคิดเอง ทำเอง ขยันทำ คนเรียนศิลปะ ถ้ามันมีใจรัก มันจะขยัน ไม่มีใครสั่งให้เราทำ เราก็จะทำ ทำมาจนทุกวันนี้ ที่เป็นครู ไม่ค่อยอยากเป็น ทีนี้ไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไรที่ใกล้เคียงกับที่เราจะใช้ความรู้ทางศิลปะ ก็สอนไปอย่างนั้น สอนไปสอนมาก็เอาพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่ ให้เราสอนแบบไหน ทุกวันนี้เราก็ยังสอนวาดเส้นอยู่เท่ากับฝึกมือ ส่วนที่สร้างสรรค์เราก็ทำตามใจเรา ส่วนที่เราเขียนรูปเล่นเราก็เขียนเหมือนๆธรรมดา แต่นั่นมันไม่ใช่ศิลปะเพียงแต่ว่าเป็นทักษะเท่านั้นเอง

 

 

You may also like...