สำหรับคนทั่วไปชื่อของ กมล สุโกศล แคลปป์ หรือ สุกี้ วงพรู อดีตผู้บริหาร เบเกอรี่มิวสิค เป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่า กมลา สุโกศล (กระทั่งเพลง Live and learn ที่ บอย โกสิยพงศ์ แต่งขึ้นและขับขานด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ได้รับการยอมรับ) แต่ในแวดวงธุรกิจชื่อของ นายห้างกมล สุโกศล ผู้เป็นตา และ กมลา สุโกศล ผู้เป็นแม่ คือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งสามารถสร้างและสานต่อธุรกิจฝ่าฟันปัญหาหยัดยืนได้ถึงวันนี้
“เป็นเพราะเรากดดันตัวเองไม่ใช่คนอื่นนะ ดันชื่อ กมล สุโกศล อีก (หัวเราะ) กดดันมาตั้งแต่เด็ก แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งก็คือ คนเราจะมัวแต่เป็นห่วงว่าคนอื่นเขามองเราอย่างไร มันเป็นสันดานมนุษย์ อยู่ที่ว่าเรามองตัวเราเองอย่างไร ถ้าหากเราเข้าใจตัวเราเอง จะไม่สนว่าคนอื่นเขามองเราอย่างไร”
“แต่คนก็มักพูดว่าเกิดมาในตระกูลแบบนี้ ชื่อแบบนี้สงสัยต้องให้ดูแลธุรกิจ แต่ตั้งแต่เด็กคุณแม่ไม่เคยพูดเรื่องธุรกิจนะ ไม่เคยเรียกไปนั่งฟังการประชุมเลย ครอบครัวนี้ไม่กีฬาก็ดนตรี (หัวเราะ) นี่เรื่องจริง จนโตมาก็ไม่เคย มุมมองผมส่วนตัวคนอื่นอาจไม่เห็นด้วย ผมไม่ได้มองเราเป็นครอบครัวนักธุรกิจ แต่เราเป็นครอบครัวศิลปินที่เข้าใจธุรกิจมันไม่เหมือนกันนะ คุณแม่ก็เป็นศิลปิน เลี้ยงลูกมาแบบฝรั่งและเป็นนิสัยของผมด้วย”
เขาจึงเริ่มต้นชีวิตอิสระตั้งแต่อายุ 22 ด้วยการร่วมก่อร่างสร้าง‘เบเกอรี่มิวสิค’ อาณาจักรเพลงในตำนานที่ยังคงถูกกล่าวขานถึงปัจจุบันนี้ และมีผลงานในนามศิลปินวงพรู ก่อนที่จะแยกย้ายไปตามฝันเมื่อกว่า 6 ปีก่อน
“ตอนเป็นเด็กผมฝันว่าจะเป็นนักดนตรี แล้วก็เป็นจริง โคตรโชคดีเลยที่ได้ทำตามฝัน(หัวเราะ) เพลงที่แม่ผมร้องLive and learn ผมไม่เห็นด้วยเลย ผมจะไม่อยู่กับสิ่งที่ผมมี ผมจะฝันจริงๆ ผมถึงทำรายการทีวีDream Chester ผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิต เป็น 2 ปีที่ดีมากสำหรับผม คือผมได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก สมัยเบเกอรี่มันเหมือนเป็นออโต้ไพลอทไม่มีเวลาคิดเพราะขี่หลังเสืออยู่”
“ในแง่ของธุรกิจเพลง…อันนี้ผมไม่ได้พูดเข้าข้างตัวเองนะ มันขายความฝัน มันยากนะ ผมเจอผู้บริหารมืออาชีพที่มาอยู่ธุรกิจเพลงแล้วทำไม่ได้-ไม่เป็น เขาเคยพูดว่าคุณทำยังไง คุณกำลังขาย…มันโคตรจะนามธรรม ซึ่งผมมองว่าดนตรีนั้นไม่ง่าย คนพูดกันบ่อยว่าเป็นธุรกิจปราบเซียน มันเรียนไม่ได้ ต้องเกิดมาเพื่อธุรกิจเพลง สมัยอยู่เบเกอรี่ผมให้สัมภาษณ์สื่อด้านธุรกิจปีละครั้ง เจอคำถามซ้ำๆ ว่าเลือกวงอย่างไร ผมก็จะตอบทุกครั้งว่าใช้กึ๋น คนไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเหล่านี้นะ มันคนละวัฒนธรรม ผมเจอป๊อด (ธนชัย อุชชิน) หนแรกก็รู้ไอ้นี่ดังแน่ ไม่ใช่แค่ดนตรีที่เป็นแบบนั้นผมมองว่าธุรกิจทุกอย่างใช้กึ๋นหมด แม้ในที่สุดแล้วเอาตัวเลขมารองรับแต่มันต้องเริ่มที่สัญชาตญาณ ผมจึงมองว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาในธุรกิจเพลงก็เอามาประยุกต์ได้หมด”
“ผมไม่มีใครเป็นต้นแบบ คุณแม่ก็นิดหน่อยแต่ไม่ใช่ทั้งหมด แม้แต่การทำงานโชคดีที่ผมไม่เคยทำงานกับแม่มาก่อน (หัวเราะสะใจ) นี่คือหนแรกในชีวิตที่ผมทำงานกับครอบครัว ตอนนี้ผมไม่มีงานหลัก ผมทำเพลงมาตลอดหลังจากนั้นไปทำทีวี 2 ปี แล้ว 2 ปีที่ผ่านมานี้ผมไม่ได้ทำอะไรเป็นช่วงรอยต่อชีวิต บังเอิญทางครอบครัวกำลังสร้างโรงแรมเป็นบูทีคที่ไฮเอนด์มาก(เดอะ สยาม)คุณแม่บอกว่าคุณก็ว่างลองมาช่วย ผมจึงมาช่วยดูการก่อสร้างแต่ไม่ใช่งานเต็มเวลา แล้วผมไม่เคยทำงานกับครอบครัวมาก่อนเลย แต่ผมรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วมันก็ตกมาหาเรา ตอนนี้ผมก็ 40 แล้ว ถึงจุดที่ผมควรจะเริ่มช่วย แต่ว่าในเวลาเดียวกันผมก็เป็นคนที่ทำอะไรเองมาตั้งแต่เด็ก”
ฉะนั้นในอนาคตเขาคงหาจุดสมดุลของตนเองเจอ คำตอบหนึ่งที่ให้ตัวเองก็คือชีวิตเราต้องมีจุดสมดุล
“เป็นเพราะครอบครัวเราเป็นคนที่ทำอะไรแล้วทุ่มใจด้วย เรามี Passion เราไม่ใช่ธุรกิจนะ ผมกล้าพูดเลยว่าเราไม่ใช่คนที่จะทำให้ธุรกิจใหญ่ที่สุดในโลก ต้องเชื่อในสิ่งที่ทำ บางคนไม่เชื่อก็ได้แต่ขอให้ตังค์เข้ามา…ก็ไม่ผิดนะ เป็นอีกมุมมองหนึ่งแต่ของเรานั้นเราต้องเชื่อในสิ่งที่เราทำ ส่วนตัวผมเป็นคนที่หากตัดสินใจแล้วทุ่มหมด บางทีทุ่มเกินไป ทุ่มจนโง่ มี Passion แล้วก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ถ้าไม่มีความสุขแล้วทำไปทำไม อยู่ไปทำไม”