สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์

เกือบจะในทันทีที่เชโรกีคันงามพาหนะของเราเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนดินสายเล็กๆซึ่งแยกออกจากถนนเลียบคลอง 11 ภาพของทุ่งข้าวสีเขียวมรกตก็ตระการตาอยู่เบื้องหน้าและทำให้เคลิบเคลิ้มอยู่นาน  ที่ริมท้องทุ่งนี้เองคือที่ตั้งของ ‘เรือนศิลป์แสนขัติยรัตน์’ สถานที่ซึ่ง ผศ.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ ใช้เป็นที่สร้างสรรค์ผลงานอันบรรเจิดของเขา

 

หมู่เรือนหลังงามแห่งนี้เคยต้อนรับศิลปิน, ผู้รักงานศิลปะรวมไปถึงนักศึกษาศิลปะมากมายด้วยความยินดี และวันนี้ก็นับเป็นโอกาสดีที่ไฮคลาสได้รับเกียรติให้เข้ามาชื่นชมบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยธรรมชาติและงานศิลป์ล้ำค้าภายใน บางที…สิ่งแวดล้อมเช่นนี้เองที่ทำให้งานของสุวัฒน์ละเมียดละไมชนิดหาตัวจับยาก

 

“สิ่งแวดล้อมมีส่วนในการหล่อหลอมความสนใจของศิลปินอยู่เหมือนกัน” สุวัฒน์เริ่มบทสนทนาพร้อมกับเฝ้ามองหมู่ปลาในสระน้ำริมระเบียงบ้าน

 

“แต่บางครั้งเวลาต้องอยู่กับอะไรมากๆก็เกิดแรงผลักดันให้เราสร้างสรรค์งานอย่างอื่นเพื่อตอบสนองและเติมเต็มจิตใจของเรา มีเยอะแยะไปที่ศิลปินสร้างงานที่ไม่ใช่เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่บ่มเพาะเขามา แต่กรณีของผม การที่ได้เกิดมาแล้วคลุกคลีอยู่กับงานช่างไทยก็ทำให้ผมค้นพบเส้นทางที่เหมะกับตัวเอง คุณลุงผมเป็นช่างทำโบสถ์ ทำวิหารที่จังหวัดเชียงราย ผมมีโอกาสได้ช่วยงานท่านบ้าง ทาน้ำมันขี้โล้บนแบบหล่อลายกระหนก ผมจึงรู้จักและซึมซับสิ่งเหล่านั้นมาโดยตลอด  โชคดีที่ได้เป็นศิษย์ของอาจารย์…..ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละอย่างยิ่งเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านศิลปะเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มสร้างสรรค์งานของผม และโชคดีที่สุดในชีวิตเมื่อได้พบอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งท่านให้ความรู้ ให้คำแนะนำผมอย่างเต็มอกเต็มใจ… อาจเป็นเพราะความประทับใจจากท่านเหล่านี้ ผมจึงเลือกทำงานศิลปะและเลือกเป็นครูไปพร้อมกันด้วย ”

 

ปลาหลากชนิดในสระกระโจนขึ้นฮุบอาหารที่เราหว่านลงไปให้มัน สุวัฒน์ชี้ให้ดูปลา ‘สีฟ้าเทอคอยซ์’ พร้อมกับแนะนำว่าพวกมันเป็นปลาเจ้าถิ่น

 

“เพราะฉะนั้นในความคิดของผม ศิลปินที่ดีควรเป็นครูที่ดีด้วย” เขาเริ่มบทสนทนาต่ออีกครั้ง

 

“อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะครับถ้าเขาจะไม่บอกไม่สอนใคร เพราะธรรมชาติอาจจะไม่ได้สร้างเขามาให้เป็นครู แค่เขาทำงานศิลปะสื่อสารกับคนอื่นก็ถือว่ายิ่งใหญ่พอแล้ว แต่ถ้ามีโอกาสจะได้แบ่งปันความรู้ เอาประสบการณ์ของเราไปใช้ต่อฝันให้คนอื่น ผมว่าก็เป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการศึกษา ค่าของศิลปินไม่ได้อยู่ที่เขาขายผลงานได้มากแค่ไหน ราคาต่อชิ้นแพงมหาศาลแค่ไหน หรือคนรู้จักเขามากแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าผลงานของเขาช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมคิดอะไร สำหรับผมถ้าผลงานสักชิ้นของผมสามารถสานต่อเจตนารมณืของบรพบุรุษ สามารถทำให้ผู้คนที่เห็นผลงานเหล่านั้นคิดถึงหลักธรรมหรือแก่นของชีวิต และประสบการณ์ของผมสามารถเป็นประโยชน์ต่อคนอีกรุ่นหนึ่งได้ ผมก็คิดว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว” สุวัฒน์จบบทสนทนาอย่างน่าสนใจ

 

 

______________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-278

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASSห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

You may also like...