ราชินีแห่งสีสัน

“ ราชินีแห่งสีสัน ” กับการตีความใหม่ เมื่อตัวละครที่เป็น “ หุ่น ” เป็นผู้เดียวที่มีสิทธิ์สั่งการ โดย กรกช อัตตวิริยะนุภาพ
เมื่อผู้เขียนได้เห็นรายการว่าจะมีการแสดงละครเรื่อง “ ราชินีแห่งสีสัน ” ที่กรุงเบิร์นในงานเทศกาลละครหุ่นและวัสดุครั้งที่ 5 (Figuren- und Objekttheatertage) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ผู้เขียนก็เตรียมตัวเตรียมใจไปดูละครเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากได้ประทับใจมาแล้วจากการชมละครเรื่องเดียวกันนี้ในงานเทศกาลละครสำหรับเด็กและเยาวชนที่กรุงเบอร์ลินเมื่อปีที่แล้ว และได้เขียนเล่าการแสดงในครั้งนั้นให้ผู้สนใจละครในเมืองไทยได้รับรู้มาแล้วครั้งหนึ่ง

เรื่องราวของ “ ราชินีแห่งสีสัน ” (Koenigin der Farben) นั้นมาจากหนังสือสำหรับเด็กที่เขียนเนื้อเรื่องและวาดภาพประกอบโดย Jutta Bauer เรื่องราวนั้นก็มีอยู่แค่เพียงว่า มัลวิดา( Malwida) ราชินีแห่งสีสัน รู้สึกเบื่อกับบรรยากาศที่ปราสาทของเธอที่มีแต่สีขาว เธอจึงสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาของเธอ ซึ่งก็คือสีต่างๆ อันได้แก่ น้ำเงิน แดง และเหลือง ออกมาเล่นกับเธอ สีแต่ละสีก็มีบุคลิกแตกต่างกันออกไป เมื่อเธอเล่นกับสีสันต่างๆ ไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดการทะเลาะกันจนกระทั่งสีต่างๆ พากันหายไปหมด เหลือเพียงแต่สีเทาอันหม่นหมองปกคลุมไปทั่วบริเวณ ราชินีมัลวิดารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ร้องไห้ออกมา และแล้วน้ำตาของเธอนั่นเองก็ได้ทำให้สีสันต่างๆ ทั้งหมดกลับมา เธอจึงเล่นกับสีต่างๆ อีกครั้งจนเหนื่อยและหลับไป เมื่อครั้งที่ชมละครเรื่องนี้ที่กรุงเบอร์ลิน ผู้เขียนรู้สึกประทับใจกับการที่ผู้กำกับและผู้แสดงสามารถอาศัยเทคนิคทางการละคร โดยเฉพาะ “ แสง ” มาทำให้ “ สีสัน ” ต่างๆ ที่เป็นตัวละครในเรื่อง มีชีวิตชีวาขึ้นมาจริงๆ ในวันที่ไปชมละครครั้งนี้ผู้เขียนจึงใจจดใจจ่อรอดูว่าผลจะออกมาน่าประทับใจหรือไม่ ที่สำคัญก็คืออยากรู้ว่า เมื่อกรอบในการแสดงละครเรื่องนี้ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบไป คือเป็นการแสดงละครหุ่น เรื่องราวเดียวกันนี้จะถูกตีความต่างกันออกไปหรือไม่ อย่างไร

เมื่อละครเปิดฉากผู้เขียนตกตะลึงไปชั่วขณะหนึ่งกับตัวละครที่ออกมา เพราะละครเริ่มต้นด้วยตัวละคร 2 ตัวที่ไม่ปรากฏในหนังสือของ Jutta Bauer เลย นั่นคือ นักดนตรีประจำราชสำนัก (แสดงโดย Tobias Rank) และจิตรกรหญิงประจำราชสำนัก (แสดงโดย Eva Noell) และที่สำคัญก็คือทั้งสองคนไม่ได้เป็น “ หุ่น ” และก็ไม่ได้เป็นผู้ชักหุ่นที่เป็นตัวละครใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากที่ออกมาทักทายกันแล้ว ทั้งสองคนก็ไปประจำหน้าที่ของตนเอง นักดนตรีไปนั่งที่เปียโน ส่วนจิตรกรก็ไปยืนที่แท่นที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ในการทำงานของเธอ ซึ่งได้แก่ กระดาษ ขวดสีต่างๆ และพู่กันนั่นเอง นักแสดงทั้งสองคนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่อง แต่ว่าเป็นตัวแสดงในเรื่องด้วย พวกเขาดำเนินเรื่องต่อไปโดยทันทีโดยการที่ช่วยกันปลุกราชินีแห่งสีสันให้ตื่นขึ้น และแล้วผู้เขียนก็ต้องปรับภาพของ “ ราชินีแห่งสีสัน ” ที่ยังคงติดตาอยู่จากการชมละครเรื่องนี้มาก่อนอีกครั้งหนึ่ง เพราะในครั้งนี้ราชินีมัลวิดาไม่ได้มีตัวตนเป็นคนเหมือนกับผู้ใต้บังคับบัญชาของเธอ แต่กลับเป็นเพียงตัวหนังตัวจิ๋วที่ถูกปลุกขึ้นมาบนจอที่อยู่กลางเวที ภาพตัวละคร “ ราชินีแห่งสีสัน ” ที่ปรากฏบนเวทีในครั้งนี้จึงตรงกันข้ามกับภาพนางเอกแสนสวยในเทพนิยายที่ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ในการชมการแสดงที่เบอร์ลินโดยสิ้นเชิง มัลวิดา กลายเป็นหุ่นเงาตัวเล็กๆ ที่วาดเป็นรูปทรงง่ายๆ สวมมงกุฎ มือสองข้างเท้าเอวเตรียมพร้อมที่จะออกคำสั่ง การเคลื่อนไหวของราชินีแห่งสีสันนั้นอาศัยการบังคับด้วยเส้นด้ายบางๆ โดยมีผู้เชิดหุ่นอยู่หลังฉาก ที่สำคัญ การที่หุ่นราชินีนี้ชักและให้เสียงโดยนักแสดงชาย ( Paul Olbrich) ทำให้น้ำเสียงและบุคลิกที่แสดงออกไม่หลงเหลือความเป็นหญิงสาวหวานๆ ในแนวพาฟันอีกต่อไป แต่ออกไปในทาง “ ตัวตลก ” เสียมากกว่า ซึ่งก็เข้ากับธรรมชาติของละครหุ่นสำหรับเด็กอย่างดีทีเดียว

เมื่อตัวราชินีไม่ได้แสดงด้วยหญิงสาวในชุดสีขาวอย่างที่เป็นในการแสดงที่เบอร์ลิน เทคนิคการใช้ “ แสง ” มาแสดงเป็นตัวละครที่เป็นสีสันต่างๆ ผู้เขียนจึงไม่ได้เห็นการใช้แสงเพื่อปลุกให้สีต่างๆ กลายเป็นตัวละครอย่างที่นึกภาพไว้ เวลาที่ราชินีแห่งสีสันต้องการจะร้องหาสีต่างๆ ภาพที่เกิดขึ้นบนจอ เบื้องหน้าราชินีแห่งสีสันก็คือสีที่เกิดจากการวาดภาพและระบายสีกันสดๆ โดยจิตรกรหญิงประจำราชสำนักนั่นเอง ภาพที่เธอวาดไว้แล้วบางส่วนกับภาพที่เธอวาดขึ้นใหม่สดๆ ในระหว่างการแสดง ตลอดจนสีที่เธอระบายนั้นก็จะถูกฉายโดยเครื่อง LCD ( ซึ่งทำหน้าที่เป็นโต๊ะทำงานของเธอไปด้วย) ไปปรากฏบนจอที่หุ่นของราชินีแห่งสีสันปรากฏอยู่ และไปร่วมเล่น ร่วมสร้างเรื่องราว และบรรยากาศตามท้องเรื่องกับราชินีผู้เป็นผู้บังคับบัญชาการใหญ่นั่นเอง เมื่อเธออยากได้สีน้ำเงิน ผู้เป็นจิตรกรก็จะระบายสีนำเงินตามคำสั่ง สีน้ำเงินก็จะปรากฏบนจอภาพที่เป็นฉากในท้องเรื่อง และนักดนตรีก็จะบรรเลงดนตรีที่แสดงบรรยากาศอันนุ่มนวลอ่อนโยนแบบสีน้ำเงิน เมื่อเธอสั่งสีแดง สั่งให้มีม้า สั่งให้มีทุ่งหญ้าสีเขียว มีต้นไม้ ดอกไม้ มีสีเหลืองที่อบอุ่นและสว่างไสว ทั้งสีต่างๆ และเสียงดนตรีตามบรรยากาศของสีสันต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นบนจอภาพและบนเวทีละคร

นับได้ว่าการนำเสนอเรื่องราวจากเรื่องเล่าในหนังสือภาพสำหรับเด็กในครั้งนี้เป็นการตีความใหม่เพื่อให้เข้ากับเทคนิคของละครที่ต้องใช้หุ่นและวัสดุต่างๆ เป็นอุปกรณ์สำคัญ สิ่งที่ยังการแสดงละครหุ่นในครั้งนี้นำเสนอได้ใกล้เคียงกับหนังสือของ Jutta Bauer นั้นดูเหมือนว่าจะเป็น “ ภาพ ” ที่ได้เห็นบนจอที่เป็นเวทีของตัวละครหุ่นราชินีแห่งสีสันนั่นเอง เพราะว่าภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนจอ ที่ส่วนใหญ่วาดกันสดๆ โดยจิตรกรหญิงประจำราชสำนักนั้น ใกล้เคียงกับภาพต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือ คงเป็นเพราะสื่อที่นำเสนอนั้นเป็น “ ภาพ ” ในลักษณะสองมิติเหมือนกันนั่นอง แต่สิ่งที่การแสดงละครหุ่นทำได้กว่าก็คือว่าสีสันที่ปรากฏบนจอนั้นสดใส มีการเคลื่อนไหว และสะท้อนบรรยากาศที่แตกต่างอันเกิดจากสีแต่ละสีที่มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันออกไปได้อย่างมีชีวิตชีวา

เรื่องราวของ “ ราชินีแห่งสีสัน ” ที่ผู้เขียนได้ชมในวันนั้นจึงเป็นการแสดงที่มีมิติที่ต่างกันรวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน มิติหนึ่งคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนจอภาพ ซึ่งเกิดจากตัวหุ่นที่แสดงเป็นราชินี กับสีสันต่างๆ และสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเธอ ไม่ว่าจะเป็นตัวปราสาท ต้นไม้ ดอกไม้ เนินเขา หรือทะเล อีกมิติหนึ่งของละครที่ชมในครั้งนี้ก็คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวราชินีแห่งสีสันที่เป็นหุ่น กับนักดนตรีและจิตรกรหญิงประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นตัวคนจริงๆ อยู่บนเวทีนั่นเอง

คำพูดที่ดูจะเป็นแก่นสำคัญของการแสดงในครั้งนี้ก็คือคำพูดของราชินีแห่งสีสันที่ว่า “ ที่นี่เธอไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์สั่งการ ” (Du bist hier nicht der Bestimmer!) ซึ่งปรากฏในโปสการ์ดที่แจกเพื่อประชาสัมพันธ์ละครเรื่องนี้ด้วย ทำให้เห็นชัดว่าผู้กำกับละครไม่ได้ตั้งใจเสนอเรื่องราวตามหนังสือภาพชื่อเรื่องเดียวกันนี้เท่านั้น แต่จงใจที่จะเน้นประเด็นที่ว่าราชินีผู้นี้เธอเป็น “ เจ้า ” เป็น “ ผู้บัญชาการ ” สีสันต่างๆ แม้ว่าเธอจะเป็นเพียงหุ่นตัวเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวไปมาบนจอ แต่เธอกลับเป็นผู้ที่บัญชาการให้ตัวละครอีก 2 ตัวบนเวทีคือ จิตรกรและนักดนตรีต้องปฏิบัติตาม โดยการทำให้เกิดสีสันต่างๆ และดนตรีที่สะท้อนเอกลักษณ์ของสีแต่ละสีขึ้นมา แม้ว่าเธอจะสั่งในสิ่งที่ดูจะขัดกับความเป็นจริง เป็นต้นว่า ให้วาดดวงอาทิตย์หลายๆ ดวง ในขณะที่เธอกำลังตื่นเต้นและชื่นชมกับสีเหลือง ทั้งจิตรกรหญิงและนักดนตรีประจำราชสำนัก ซึ่งตัวใหญ่กว่าเธอมากมาย ก็ไม่สามารถจะขัดความประสงค์ของเธอได้เพราะว่า ณ ที่นั้น เธอผู้เป็น “ ราชินีแห่งสีสัน ” เท่านั้น ที่มีสิทธิ์กำหนดความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ได้ และเมื่อใดที่พวกเขาตั้งท่าจะโต้แย้งอะไร ราชินี(ผู้ค่อนข้างจะบ้าอำนาจ)ก็จะเตือนพวกเขาด้วยคำพูดนี้ทันที และในที่สุดพวกเขาทั้งสองคนก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะว่า ณ ที่แห่งนี้ มีเพียงเธอ “ ราชินีแห่งสีสัน ” เท่านั้นที่มีสิทธิ์ออกคำสั่ง

ตลอดเวลาประมาณ 50 นาที ที่ได้ชมละคร “ ราชินีแห่งสีสัน ” ในครั้งนี้ ผู้เขียนอดเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่ได้ชมละครเรื่องเดียวกันนี้ที่เมืองเบอร์ลินไม่ได้ และพยายามจะประเมินว่าการแสดงละครเรื่องเดียวกัน โดยคณะละครเยอรมันต่างคณะกัน 2 คณะนี้ ครั้งไหนน่าประทับใจกว่ากัน แต่ในที่สุดก็ต้องสารภาพว่ายากจริงๆ ที่จะตอบฟันธงลงไปแบบนั้น เพราะมิติที่ได้รับจากการชมละครทั้ง 2 ครั้งนี้ แตกต่างกันสุดขั้วจริงๆ ทั้งในแง่ของเทคนิคที่ใช้ และบรรยากาศที่เกิดขึ้นบนเวที และในโรงละคร การแสดงที่กรุงเบอร์ลิน (โดยคณะละคร Theater Maer จากฮัมบูร์ก) นั้นสร้างบรรยากาศแบบคล้ายกับกำลังฟังเรื่องเล่าอยู่ แล้วก็เคลิ้มไปกับจินตนาการ เพราะตัวละครในเรื่องเล่ากลายเป็นมีตัวตนขึ้นมา และสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเช่น สีต่างๆ ก็กลับกลายเป็นมีชีวิตขึ้นมาได้ โดยอาศัยเทคนิคของ “ แสง ” เข้ามาช่วย ส่วนเรื่องราว “ ราชินีแห่งสีสัน ” ที่นำเสนอโดยคณะละครหุ่น Waidspeicher จากเมืองแอร์ฟัวร์ท( Erfurt) กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล่า แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ บนเวทีแห่งนี้ เพราะราชินีบนจอภาพมีปฏิสัมพันธ์กับนักดนตรีและจิตรกรประจำราชสำนักที่อยู่บนเวทีแห่งนั้นอยู่ตลอดเวลา บรรยากาศแบบเรื่องเล่าน่ารักๆ กึ่งฝันกึ่งจริง จึงไม่มีให้เห็นเลยในครั้งนี้ แต่กลับเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการสนทนาโต้ตอบกันไปมาตลอดเวลา จังหวะในการเคลื่อนไหวของละครไม่ได้ค่อยเป็นค่อยไป แต่ดูค่อนข้างวุ่นวาย ซึ่งเป็นผลสำคัญของการที่เพิ่มตัวละคร 2 ตัว คือ “ นักดนตรีประจำราชสำนัก ” และ “ จิตรกรหญิงประจำราชสำนัก ” ขึ้นมานั่นเอง ในขณะที่ “ ราชินีแห่งสีสัน ” ที่เบอร์ลินเป็นละครที่สนุกแบบหวานๆ นุ่มๆ สบายๆ และยึดรูปแบบใกล้เคียงกับการเล่าเรื่องในหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นต้นเรื่อง เป็นที่มาของละครเรื่องนี้ ผู้เขียนคงต้องบรรยายความรู้สึกจากการชม “ ราชินีแห่งสีสัน ” ครั้งนี้ว่าสนุกและเพลิดเพลินแบบเดียวกับเวลาที่ได้ดูหนัง ดูละครสนุกๆ ที่มีมุขตลกแทรกอยู่ ซึ่งก็เข้ากับบรรยากาศของการแสดงละครที่ใช้หุ่นและวัสดุต่างๆ เป็นสื่อได้อย่างดี สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่ายังเสียดายอยู่บ้างก็มีเพียงบรรยากาศน่ารักๆ แบบที่เบอร์ลิน ที่หนูน้อยทั้งหลายพยายามช่วยกันโต้ตอบ และร่วมแสดงกับตัวละครบนเวทีอยู่หลายช่วงด้วยกันนั่นเอง

สิ่งที่ผู้เขียนเก็บมา “ ครุ่นคิดพินิจนึก ” ต่อ หลังจากจบการแสดง ก็คือประเด็นหลักในการตีความใหม่ของท้องเรื่อง “ ราชินีแห่งสีสัน ” โดยปกติแล้วเวลาแสดงละครหุ่นเรามักพบว่า “ คน ” หรือผู้ชัก เป็นผู้ควบคุมตัวหุ่น แต่ใน “ ราชินีแห่งสีสัน ” นั้น ตัวหุ่น คือ ตัวราชินีนั้น กลับเป็นผู้มีสิทธิ์ออกคำสั่งตัวละครที่เป็น “ คน ” ที่อยู่เบื้องหน้าให้ทำสิ่งต่างๆ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วก็ยังเป็น “ คน ” อยู่ดีที่มีอำนาจควบคุมตัวหุ่นราชินีแห่งสีสัน ซึ่งก็คือนักแสดงคนที่สามที่เป็นผู้ชักหุ่นราชินีอยู่ด้านหลังจอ และผู้ที่กำกับและวางโครงเรื่องของการแสดงนี้( Eva Noell และ Paul Olbrich) ดูเหมือนว่าการแสดงละครเรื่อง “ ราชินีแห่งสีสัน ” ในรูปละครหุ่นครั้งนี้เป็นความที่จะพยายามสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตัวละครที่เป็น “ หุ่น ” ซึ่งเป็นหัวใจของการแสดง “ ละครหุ่น ” ด้วย สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมมากอีกประการหนึ่งสำหรับการแสดงครั้งนี้ก็คือความเหมาะเจาะลงตัวระหว่างตัวละครที่เป็นหุ่นบนหน้าจอ กับสีสันต่างๆ ที่เกิดจากการระบายกันสดๆ และต้องถูกฉายขึ้นไปให้ปรากฏบนจอร่วมกับราชินีแห่งสีสัน ต้องยอมรับว่าการแสดงละครหุ่นครั้งนี้เป็นฝีมือของ “ มืออาชีพ ” จริงๆ

คณะละครหุ่นจากเมืองแอร์ฟัวร์ทประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการแสดงละครเรื่อง “ ราชินีแห่งสีสัน ” นี้ และได้รับเชิญไปแสดงในอีกหลายๆ ประเทศนอกจากในสวิตเซอร์แลนด์ อาทิเช่น ออสเตรีย ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะแสดงเป็นภาษาเยอรมันแล้วคณะละครหุ่นนี้ยังมีการแสดงเป็นภาคภาษาอังกฤษด้วย โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “The Queen of Colours” หลังจากที่ได้ชม “ ราชินีแห่งสีสัน ” 2 ครั้งในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งต่างก็เป็นผลงานคุณภาพเยี่ยม และได้อ่านหนังสือภาพที่เป็นต้นเรื่องแล้ว ผู้เขียนคิดว่าเรื่องเล่าสำหรับเด็กเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียบง่าย เป็นสากล และเปิดโอกาสให้ผู้กำกับใช้จินตนาการในการที่จะตีความและนำเสนอออกมาเป็นละครได้อย่างหลากหลายรูปแบบ หวังว่าสักวันหนึ่งเด็กไทยจะได้มีโอกาสชมการแสดงเรื่องนี้บ้าง ผู้เขียนเชื่อว่าคนละครในเมืองไทยก็มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนในการนำเสนอเรื่องราวเรียบง่ายแต่น่ารักแบบนี้ได้เหมือนกัน บางทีผู้เขียนอาจมีโอกาสได้ชม “ ราชินีแห่งสีสัน ” ภาคภาษาไทยในสักวันหนึ่งก็เป็นได้

สถานที่แสดง “ ราชินีแห่งสีสัน ” ในครั้งนี้คือโรงละคร Schlachthaus ซึ่งแปลว่า “ โรงฆ่าสัตว์ ” เนื่องจากสถานที่นี้ในสมัยโบราณเคยใช้เป็นโรงฆ่าสัตว์มาก่อน ตัวอาคารเป็นตึกโบราณขนาดเล็กๆ จัดที่นั่งเป็นโรงละครขนาดประมาณ 150-200 ที่นั่ง ที่มีบรรยากาศเป็นกันเองดีมากแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะมีการจัดที่นั่งสำหรับเด็กไว้ข้างหน้า 2 แถว เพื่อให้เด็กๆ ได้นั่งดูสบายๆ ไม่ถูกผู้ใหญ่บัง ที่สำคัญ ในการแสดงละครที่โรงละครนี้แห่งแต่ละรอบจะมีที่นั่งฟรีสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเบิร์น รอบละ 2 ที่นั่ง ผู้เขียนจึงได้รับอานิสงส์ที่นั่งฟรีนี้ไปด้วยในการไปชมละครครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการในการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสชมละครดีๆ ได้บ่อยขึ้น น่าชื่นชมจริงๆ

You may also like...