โครงการวิจัยเรื่อง กรณีศึกษาภูมิปัญญาและวิถีชีวิตแห่งชุมชนบ้านแม่หมีใน จังหวัดลำปาง

แนวทางการพัฒนาเมืองสวยด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย “กรณีศึกษาภูมิปัญญาและวิถีชีวิตแห่งชุมชนบ้านแม่หมีใน จังหวัดลำปาง”โดย : สุภาวี ศิรินคราภรณ์ (Supavee Sirin-k-raporn )


โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาเมืองสวยด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  “กรณีศึกษาภูมิปัญญาและวิถีชีวิตแห่งชุมชนบ้านแม่หมีใน   จังหวัดลำปาง” กับพัฒนาการการสร้างสรรค์สุนทรียภาพของเครื่องประดับชาติพันธุ์ร่วมสมัย (Case study : Life and wisdom of Mae Mee Community, Lampang)
ระยะเวลาในการวิจัย    2552-2553

บทคัดย่อ

หมู่บ้านแม่หมีใน ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่มีชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงโยกย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง การปกครองหมู่ที่ ๖ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง ชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานนับ ๑๖๐  กว่าปี ซึ่งบรรพบุรุษอพยพลงมาจากหลายถิ่นฐาน บางกลุ่มมาจากฝั่งดินแดนของประเทศพม่าที่มีบางส่วนล่วงเข้ามาจากแถบดินแดนอินโดจีนกระทั่งลัดเลาะเข้ามาตามเส้นทางของแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมยสู่ตอนเหนือของประเทศไทย บางพวกมาจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่หรืออำเภอเมืองปานของจังหวัดลำปางเอง ปัจจุบันหมู่บ้านแม่หมีในมีประชากรจำนวนประมาณ ๒๐๐ กว่าคน ประชากรในหมู่บ้านแม่หมีในมีความภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ สืบทอดความเชื่อจินตภาพ ตลอดจนทัศนคติโดยรวมของชุมชน เรื่องการเคารพสมบัติสาธารณะ และตระหนักต่อสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของชุมชนดังที่กล่าวไปข้างต้น มิได้แสดงเพียงเนื้อหาพื้นฐานเฉพาะรูปแบบการดำรงชีวิตจากสิ่งที่เรามองเห็นได้เท่านั้น อาทิ การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (ที่แทรกตัวกับขุนเขาลำเนาป่าเพื่อปรับตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อมพื้นถิ่น) อาชีพการเกษตรแบบนาขั้นบันไดหรือไร่กสิกรรม (ที่สอดคล้องกับภูมิลักษณ์) การชลประทานแบบอนุรักษ์ (แม้ชุมชนจะมีลำห้วยถึงสามสายคือ ลำห้วยก้อม แม่ต๋อม รวมถึงแม่หมีอันอุดมสมบูรณ์และโอบล้อมชุมชน) การประดิษฐ์หัตถศิลป์ (รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น เช่น ข้าวของ เครื่องมือเครื่องใช้สอยต่างๆ) ทั้งนี้ ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวของชุมชนยังสามารถบ่งบอกถึงนัยยะของบริบทอื่นๆ ที่มีความเป็นนามธรรมอันหล่อหลอมให้สังคมมีลักษณะที่เอื้ออาทร กอปรกับจิตสำนึกที่ลึกซึ้งต่อคุณของธรรมชาติผู้ให้ชีวิต และเป็นเอกลักษณ์แห่งชุมชน ส่งเสริมความสัมพันธ์ให้แนบแน่นระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในลักษณะบูรณาการ ทั้งส่อแสดงให้รู้สึกถึงมิติทางสุนทรียภาพในการดำรงอยู่อย่างสงบงดงาม สามารถสะท้อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ปฏิบัติได้จริงแก่สังคมเมืองในปัจจุบัน
สุภาวี ศิรินคราภรณ์ (Supavee Sirin-k-raporn )
โครงการวิจัยเรื่อง  “กรณีศึกษาภูมิปัญญาและวิถีชีวิตแห่งชุมชนบ้านแม่หมีใน   จังหวัดลำปาง”    มีความมุ่งหมายที่สำคัญประการหนึ่งเกิดจากความต้องการที่จะขยายผลความรู้เพื่อ   “พัฒนาการการสร้างสรรค์สุนทรียภาพ” ของชีวิตมนุษย์ผู้ที่กำลังประสบปัญหาท่ามกลางกระแสแปรปรวนของระบบทุนนิยม แห่งยุคโลกาภิวัฒน์ “ด้วยการแสดงออกผ่านสื่อในรูปแบบของเครื่องประดับอันเป็นที่นิยมมาตั้งแต่โบราณ” มนุษย์ตั้งแต่ครั้งอดีตจวบจนปัจจุบันมีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับเครื่องประดับที่มีความสำคัญดุจเดียวกับเครื่องนุ่มห่ม ความรู้สึกถึงคุณค่าทางความงามในการประดับร่างกาย พิธีกรรม และคุณค่าที่มีต่อจิตใจ มนุษย์ทุกชาติล้วนมีวัฒนธรรมในการใช้เครื่องประดับมาช้านาน วัฒนธรรมดังกล่าวปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีอันเป็นงานศิลปกรรมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการใช้เครื่องประดับนี้ทำให้มนุษย์ในปัจจุบันทราบถึงคุณค่าทางความงาม และคุณค่าทางภูมิปัญญา (ที่เกี่ยวกับการแสดงออกเรื่องจิตวิญญาณของข้าวของเครื่องใช้ที่มีความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต รวมถึงฝีมือการประดิษฐ์งานประณีตศิลป์ด้วยเทคนิคโบราณอันลึกซึ้ง) สามารถระบุถึงพฤติกรรมการใช้เครื่องประดับของมนุษย์ได้ว่ามีวัตถุประสงค์ทางอุดมคติในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นเพื่อรับใช้บุคคลชั้นสูงหรือฐานานุศักดิ์ของคนในสังคม ทั้งยังรวมถึงงานประติมากรรมทางศาสนา แต่สำหรับยุคร่วมสมัยในปัจจุบัน รูปแบบรวมถึงคติแบบใหม่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คุณค่าของเครื่องประดับจึงเผยให้เห็นประโยชน์ที่มีต่อการประดับตกแต่งเรือนร่าง และคุณค่าทางด้านจิตใจสำหรับมนุษย์และสัมผัสได้ง่ายมากขึ้น

ความต้องการในรูปแบบที่หลากหลาย เนื้อหาและวัสดุแบบใหม่ๆ ในปัจจุบันย่อมเป็นการเน้นคุณค่าความคิดอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะหมายถึงคุณค่าความรู้สึกทางจิตใจที่อาจจะลดลงจากเดิม การพัฒนาทางรูปแบบของเครื่องประดับสมัยใหม่ในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ เฉพาะอย่างยิ่งศิลปินหรือนักออกแบบร่วมสมัยมักจะแสดงความรู้ในการสร้างสรรค์ที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศทางตะวันตกเป็นอันมาก อาจจะเนื่องจากแบบแผนทางการศึกษา การแสวงหาอาณานิคม รสนิยมทางความงามต่างๆ เหล่านี้นับเป็นการถ่ายเททางวัฒนธรรมแบบโลกาภิวัฒน์ของสังคมปัจจุบันที่สร้างกระแสค่านิยมแบบมวลชน อันเป็นการทำลายลักษณะเฉพาะตนอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามย่อมปฏิเสธไม่ได้ถึงแนวความคิด และกระบวนการแสดงออกของศิลปินของแต่ละชนชาติที่ต้องแสดงลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อคุณค่าทางสติปัญญา เนื้อหาทางด้านจิตใจ อันเป็นลักษณะของมนุษย์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ

โครงการวิจัยฉบับนี้มุ่งเน้นการศึกษาแนวความคิดสร้างสรรค์ และกระบวนการแสดงออกอันมีแบบแผนอย่างท้องถิ่นสำหรับกรณีศึกษาดังกล่าวที่แฝงไปด้วยสติปัญญาอันลุ่มลึก กล่าวคือความสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างเอื้ออาทร การพึ่งพาต่อกันบนพื้นฐานของทรัพยากรทางความคิด ความเชื่อ จารีต ประเพณีที่มีอยู่คู่ชมชน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสัมฤทธิ์ของเนื้อหาวิจัยจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการต่อยอดองค์ความรู้ อันอาจหมายถึงต้นแบบการพัฒนาภูมิแผ่นดินของท้องถิ่นอื่นๆ แนวทางการรักษาทุนทางวัฒนธรรม รูปแบบการพัฒนาอาชีพของชุมชนในอนาคต ลักษณะของการมีคุณภาพชีวิตแบบพอเพียงอย่างยั่งยืน หรือการประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์โดยทางอ้อม

นอกจากนี้ โครงการยังสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีความงามอันสามารถศึกษาจากสุนทรียภาพที่ปรากฏ ทั้งที่เป็นความรู้สึกแบบนามธรรม (อาทิ บรรยากาศ วิถีชีวิต ความเชื่อ คตินิยม สังคมวัฒนธรรม) หรือรูปธรรมที่สัมผัสได้เด่นชัด (วิธีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างป่ากับชุมชน โครงสร้างของหมู่บ้าน ผังกายภาพของกลุ่มเรือน แผนการดำรงชีวิต ภูมิทัศน์ ปัญญาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หรือทักษะเชิงช่างที่ผลิตหัตถศิลป์ใช้สอยผ่านทัศนธาตุ รูปแบบ พื้นผิว วัสดุที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นถิ่น และอื่นๆ) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อบันทึกลักษณะที่เป็นสุนทรียภาพพิเศษโดยเฉพาะของชนชาติไว้ในผลงานเครื่องประดับ แสดงกระบวนการออกแบบ และวิธีการประดับให้มีคุณภาพในการสวมใส่ ลักษณะดังกล่าวไม่เพียงแค่พบเห็นในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเหล่านั้น แต่ยังสามารถพบเห็นได้ตามชนบทห่างไกลในปัจจุบัน ศิลปินหรือนักออกแบบปัจจุบันนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงปรัชญาธรรมชาติ เพื่อกำหนดแนวทางในการสร้างสรรค์ที่แสดงผ่านคุณค่าทางด้านสติปัญญา คุณค่าทางด้านจิตใจ คุณค่าทางความงาม ตลอดจนสามารถสร้างความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในสังคมยุคร่วมสมัยในปัจจุบัน อันเป็นลักษณะของความกลมกลืนกันระหว่าง “ภูมิปัญญาและสุนทรียภาพในลักษณะของชาติพันธุ์”
Mae Mee Village, Hua Muang Sub-district, Muang Parn District, Lampang is the area where the Karen relocated to. The area is under care of Hua Muang Sub-district Administration Organisation, Jaeson National Park, Lampang. Karen minority migrated from the neibouring areas and has been living in Thailand for more than 160 years. Because the Karen lives in the national park, they cannot hold any documents of possession or ownership of the land. Their main livelihood is thus rotating agriculture. They harvest in new areas every 3-5 years. Despite the condition, the Karen does not feel discouraged. They are proud of their ancestors, culture, and belief. They are taught to respect natural resources and the balance between human and nature.

Their knowledge on how to live with nature does not only reflect through physical evidences like local architecture, steps agriculture, conservative irrigation systems and craftsmanship, All of these activities are based on their profound understanding of nature and how to live in harmony with it. The physical environment also implies other abstract contexts which form the caring and responsible community. The Karen’s way of life is an example on how the local wisdom promotes close relationship between human and nature. It is also an example of peaceful and self-sufficient way of living.

The study on “Life and Wisdom of Mae Mee Community, Lampang” aims to expand the knowledge on how humans learn to use their knowledge on beauty to preserve their identity from the invasion of globalization. It specifically focuses on reflection of the knowledge through traditional style jewellery, the same way they are related with clothes and costumes. Both the jewellery and costumes hold their values in decorations, rituals and spiritual support. Jewellry has always been part of every culture. Evidences from the prehistoric period also support the fact. The using of jewellery in different cultures teaches people nowadays about aesthetic values, wisdom and sophisticated craftsmanship of our ancestors.
Changing needs on forms, materials and subjects cause the values to change. The value on spiritual support is lessened. Asian designers, especially the contemporary ones, are influenced by western styles. This is probably because of education or colonization. Aesthetical values are culturally transferred. Globalization is creating mass production value. Individual identity is, of course, unavoidably affected. Nevertheless, it cannot be denied that artists in every country would want their work to also portray their national identities.

The project focuses on creativity and how it is expressed through indigenous knowledge of the local people. Awareness on how the community relies on nature is the basis for beliefs, customs and traditions. If is expected that results of the study will become a guideline on cultural reservation and promotion of indigenous knowledge for other communities. The project synthesizes knowledge gained to reflect how aesthetics showed in harmonious way of living. It studies abstract environment; atmosphere, way of life, beliefs, customs and traditions. It also studies physical environment; community planning, local architecture and crafts. The abstract and physical environment enables us how jewellery expresses these fundamental beliefs. This characteristic can still be seen in remote communities. It is important that artists and designers today are aware of philosophy of the nature. Their work should reflect today’s intellectual values, in other words, life and wisdom of the nation.

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.designinnovathai.com/th/article/detail/28
ที่มา : http://www.designinnovathai.com/th/designer/page/2
ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์นวัตกรรมการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

ที่อยู่ : มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
โทรศัพท์ : ๐๓๔ ๒๗๕ ๐๓๐ , ๐๘๑ ๘๐๙ ๖๘๖๗
โทรสาร : ๐๓๔ ๒๗๕ ๐๓๐
อีเมล์ : contact@designinnovathai.com
เว็บไซต์ : www.designinnovathai.com
 

 

 

You may also like...